หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 174
25 พฤศจิกายน 2550 22:25 น.
ครั้งที่ 174
       สำหรับวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2550
       
       “ การสร้างภาพทางการเมือง ( 1 ) ”
       
       ในที่สุดเราก็จะได้ “เลือกตั้ง” กันอีกครั้งหนึ่งในเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน หลังจากที่ “ว่างเว้น” มาร่วม 2 ปีครับ คงยังจำกันได้นะครับว่าการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของเราเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 นั้นมีปัญหามาก หลายๆ ปัญหาก็มีทางออก “ข้างๆ คูๆ” ที่ไม่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้ รวมทั้งยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ด้วยครับ หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น บ้านเมืองเราก็เข้าสู่ “วิกฤติทางการเมือง” อย่างเต็มรูปแบบ มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายทำให้สังคมแตกแยกมาจนกระทั่งถึงวันนี้ครับ เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 23 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้เหตุการณ์ทั้งหลายที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ยุติลงได้หรือไม่ครับ
       เมื่อเข้าสู่ฤดูหาเสียง บรรยากาศทางการเมืองก็ “มัน” ไปอีกแบบหนึ่ง ยิ่งบรรดา “นักพูด” รุ่นเก่าๆ กลับมาขึ้นเวทีใหม่ทำให้ “ผู้ฟัง” รุ่นเก่าคึกคักตามไปด้วย ก็อย่างว่านะครับ บ้านเรา การหาเสียงเลือกตั้งกี่ครั้งกี่ครั้งก็เหมือนๆ กันไปหมด ด่ากันไปด่ากันมา เสนอสิ่งต่างๆ ให้ประชาชนในลักษณะที่ข่มกันไปข่มกันมาเช่นกัน พอการเลือกตั้งผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งก็ “หายไป” เช่นกันเหลือไว้แค่เพียง “ความทรงจำ” ในรูปแบบต่างๆ ให้กับผู้คนครับ
       การหาเสียงเลือกตั้งในบ้านเรานั้น มองยังไงก็รู้ว่ายังไม่เป็น “ระบบ” เหมือนกับที่เป็นอยู่ในต่างประเทศ ตัวบุคคลนั่นถือว่าเป็น “จุดขาย” ที่สำคัญของพรรคการเมืองและของการเลือกตั้งในบ้านเรามากกว่า “นโยบาย” ของพรรคการเมืองครับ ผมพูดเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองมาหลายครั้งแล้วว่า พรรคการเมืองในบ้านเรานั้นไม่มี “นโยบายทางการเมือง” ที่แน่นอนและชัดเจนดังเช่นนโยบายของพรรคการเมืองในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้เองที่ “นโยบายประชานิยม” ของรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่ “โดนใจ” ประชาชนจำนวนมาก จึงถูกทุกพรรคการเมืองนำมาใช้เป็น “จุดขาย” ของพรรคการเมืองของตนในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เพื่อให้แตกต่างพรรคการเมืองบางพรรคจึงพยายามเพิ่มโน่น ขยายนี่ ให้ดูแตกต่างไปจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านมาครับ ซึ่งสำหรับผมนั้นก็ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนักเพราะรู้อยู่แล้วว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งนั้น “ไม่ใช่ของจริง” ครับ คิดง่ายๆ ว่า หากประชาชนได้ทุกอย่างและรัฐบาลต้องทำทุกอย่างที่ถูกเสนอโดยพรรคการเมือง ในวันนี้ ประเทศชาติล่มจมแน่เพราะคงต้องกู้เงินมหาศาลมาทำโครงการเหล่านั้นครับ ก็แค่ภาพลวงตาในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเองครับ  โดยสรุป นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในวันนี้จึงไม่มีอะไรน่าสนใจนักสำหรับประชาชน เพราะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคใดเข้ามาเป็นรัฐบาล ประชานิยมกลับมาแน่นอนครับ
       เมื่อนโยบายของพรรคการเมืองไม่สามารถนำมาเป็นจุดที่ดึงความสนใจจากประชาชนได้มากพอ คงต้องไปดูที่ “ตัวบุคคล” กันบ้าง วันนี้มีผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีกันหลายคน เรื่องนี้วันหลังต้องหาโอกาสพูดคุยกันบ้างเพราะผม “รำคาญ” พวก “คุณสมบัติไม่ถึง” แต่อยาก “มีตำแหน่ง” มากครับ คนพวกนี้มีอยู่ทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการการเมืองหรือแม้กระทั่งในวงการวิชาการครับ การเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วจะมีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นเป็นได้ไม่ยากนักหรอกครับ บางพรรคการเมืองอยาก “ปลดระวาง” คนแก่ก็เอาคนหนุ่มขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแทน บางพรรคการเมืองก็ให้ “นายทุน” เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มีหลายรูปแบบในการเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองครับ โดยส่วนตัวนั้น ผมคิดว่าคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากเป็นนักการเมืองอาชีพก็ควรจะมีประสบการณ์ในการทำงานการเมืองระดับสูงมาช่วงเวลาหนึ่ง เช่น เคยเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ มาแล้วสัก 3-4 กระทรวง หากเป็นคนนอกวงการเมืองก็ควรมีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่มาแล้ว เช่น อดีตปลัดกระทรวง หรืออดีตผู้บริหารกิจการในภาคเอกชน เป็นต้น ลำพังแค่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐมนตรี “เล็กๆ” มาแล้ว1หน ไม่สามารถ “ชนะใจ” ผมจนถึงขนาดที่จะ “ไว้วางใจ” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรอกครับ ประเทศชาติไม่ใช่ของที่ใครจะมา “ทดลอง” ได้นะครับ ที่ถูกควรจะต้อง “ฝึกหัด” ให้กระดูกแข็งอีกสักนิดด้วยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงที่สำคัญๆ ของประเทศ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น พอรู้ระบบงานหลักๆ ของประเทศและพอมีความชำนาญอยู่บ้างแล้ว จึงค่อยเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครับ ผมชอบคำพังเพยที่ว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” มากกว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ครับ ส่วนคนที่อยู่นอกวงการเมือง โดยเฉพาะบรรดา “นายทุน” ทั้งหลายนั้น หากจะให้เดาก็คงเดาได้ไม่ยากว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นอยู่ “ไกล” มากจนเอื้อมไม่ถึงแน่นอน คนไทยเคย “เจ็บปวด” มาแล้ว กับการนำเอา “นักธุรกิจ” มาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ครับ ก็ขนาดนักธุรกิจที่ว่ากันว่ารวยเหลือเกินยังมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตและกำลังถูกตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ แล้วนักธุรกิจอื่นที่ “รวยไม่เท่า” แถมบางคนยังมี “หนี้” อีกมากๆ ด้วย จะไหวเหรอครับ ! ผมคนนึงที่ขอบอกอย่างเปิดใจเลยว่า ไม่ไหวแล้ว ไม่ขอเอานักธุรกิจมาเป็นนายกรัฐมนตรีสักพักหนึ่งดีกว่าครับ ดีที่สุดในวันนี้และเพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ควรจะต้องมาจาก “นักการเมืองอาชีพ” จึงเหมาะสมที่สุดครับ
       กลับมาดูการเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธันวาคม กันดีกว่าครับ เมื่อพูดถึงการหาเสียงเลือกตั้ง ผมมีความรู้สึกว่านักการเมืองของไทยเราในวันนี้เริ่มรู้จักเทคนิคของ “การสร้างภาพทางการเมือง” กันมากขึ้นกว่าแต่เดิมครับ การสร้างภาพทางการเมืองไม่ใช่ “สิ่งเลวร้าย” หรือ “สิ่งไม่ดี” นะครับ แต่เป็น “เทคนิค” ที่จะทำให้ผู้คน “จดจำ” ซึ่งก็จะส่งผลโดยตรงต่อการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนครับ ถ้าจะให้ยกตัวอย่างผมคงไม่นึกถึง “หัวหน้าพรรคการเมืองรูปหล่อ” ที่อุตส่าห์ลงทุน “ตีปิงปอง” กับเด็กในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เหตุการณ์นี้ถึงแม้จะเรียกว่าเป็นการสร้างภาพทางการเมืองได้แต่ก็ไม่ “เฉียบขาด” ที่จะทำให้ประชาชนจดจำใส่ใจไปนานๆ ได้ครับ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต คงจำกันได้ว่าการหาเสียงหนก่อนๆ นักการเมืองบ้านเราเป็นโรคเดียวกันคือ “โรคอุ้มเด็ก” ครับ วันนี้อาการดังกล่าวหายไปหมดแล้วเพราะมันใช้ไม่ได้ผลตลอดเวลาครับ ผมอยากจะยกตัวอย่างนักการเมืองหน้าใหม่ไม่มากคนหนึ่งคือ คุณชูวิทย์ฯ ครับ โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าคุณชูวิทย์ฯ เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่รู้จักวิธีการ “สร้างภาพทางการเมือง” ด้วยการ “เล่นกับสื่อ” ครับ ทุกครั้งที่คุณชูวิทย์ฯ ให้สัมภาษณ์ เราก็จะได้ยินได้ฟังและได้เห็น “มุก” ใหม่ๆ และเด็ดๆ ที่คุณชูวิทย์ฯ เตรียมเอาไว้ ได้เห็นลีลาแปลกๆ ที่สามารถดึงดูดความสนใจทั้งจากสื่อและจากประชาชนได้มากกว่า “หัวหน้าพรรค” ของตนเสียอีก คุณชูวิทย์ฯ จึงน่าจะเป็นผู้หนึ่งที่รู้จักใช้กระบวนการ “สร้างภาพทางการเมือง” ในการหาเสียงเลือกตั้งของตนครับ
       การสร้างภาพทางการเมืองนั้นทำได้หลายอย่าง “สงครามข่าว” ก็ถือเป็นการสร้างภาพทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่เราได้เห็นกันอยู่ในวันนี้ครับ สงครามข่าวที่ติดอันดับหนึ่งในวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า ถ้าไม่มีการรัฐประหาร เศรษฐกิจของประเทศคงไม่แย่ขนาดนี้ ซึ่งฝ่ายที่ถูกกล่าวหาก็ออกมาตอบโต้ว่า เศรษฐกิจของประเทศพังมาก่อนการรัฐประหารแล้วเพราะโกงกันเหลือเกิน ข้อกล่าวหาของทั้งสองฝ่ายคงยากกับการพิสูจน์เพราะจริงๆ แล้ว เราก็ไม่ทราบความจริงว่า ไก่ กับ ไข่ ใครเกิดก่อนกัน ฉันใดก็ฉันนั้นครับ คงขึ้นอยู่กับว่าเราจะ “ยินยอม” เชื่อฝ่ายใดมากกว่าครับ
       ที่กล่าวมาเสียยืดยาวถึงเรื่อง “การสร้างภาพทางการเมือง” ก็เพราะต้องการนำไปสู่เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เป็นเทคนิคที่ใช้กันอยู่ในบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองในต่างประเทศที่เรียกกันว่า Political Marketing ครับ ผมพยายามจะแปลคำนี้ให้ถูกต้องตามความหมายที่สุด แต่แปลเท่าไหร่ก็ฟังไม่รู้เรื่อง ในที่สุดก็เลยต้องออกนอกกรอบการแปลด้วยการแปลให้ “มันๆ” ไปเลยโดยแปลว่า “การสร้างภาพทางการเมือง” ครับ จริงๆ แล้ว ถ้าจะให้ถูกต้องผมควรจะแปลว่า “การตลาดด้านการเมือง” มากกว่า แต่ก็อย่างที่พูดไปแล้วนะครับว่าพออ่านแล้วก็ไม่เข้าใจและฟังไม่รู้เรื่องจริงๆว่าหมายถึงอะไรครับ
       การสร้างภาพทางการเมืองที่ว่านี้ เป็นทั้ง “เทคนิค” ทั้ง “ศาสตร์” และทั้ง “ศิลป์” ที่ทั้งบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองในต่างประเทศใช้กันมานานกว่า 50 ปีแล้ว เพื่อที่จะดึง “ประชาชน” ให้เข้ามาสนับสนุนพรรคการเมืองและนักการเมืองครับ ในบางประเทศทำกันเป็นล่ำเป็นสันถึงขนาดมีผู้ทำธุรกิจด้าน Political Marketing กันเลยทีเดียวครับ
       ในบทบรรณาธิการครั้งต่อไป ผมจะขอนำเสนอสาระสำคัญบางประการที่เกี่ยวกับ Political Marketing ของต่างประเทศว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ เหตุที่ไม่อยากรีบนำเสนอในครั้งนี้เพราะนอกจากจะไม่มีเวลามากพอแล้วก็ยังเกรงว่าจะเขียนไม่ละเอียดพอหากมีผู้คนแอบเอาไปใช้หรือไม่ก็มีนักวิชาการขี้เกียจแอบลอกเอาไปพูดก็จะได้ความไม่ครบถ้วนเต็มที่ครับ บทบรรณาธิการครั้งนี้จึงต้องขอจบลงเพียงแค่นี้ก่อนครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 1 บทความ เป็นบทความที่คุณคริษฐา ดาราศร ส่งมาร่วมกับเราครับ เป็นบทความที่มีชื่อว่า “การบังคับใช้ประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ศึกษาเฉพาะกรณีการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ (Conflict of Interest)” ครับ ผมขอขอบคุณคุณคริษฐาฯ สำหรับการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544