หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 168
3 กันยายน 2550 06:59 น.
ครั้งที่ 168
       สำหรับวันจันทร์ที่ 3 กันยายน ถึง วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2550
       
       “ไม่ใช่ปฏิรูปการเมืองอย่างแน่นอน”
       
       ในที่สุด เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีผลใช้บังคับ วิวาทะเรื่องรัฐธรรมนูญที่มีผลมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนก็จบลงอย่างง่ายดาย เปิดพื้นที่ให้นักการเมืองฟาดฟันกันต่อไปจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้งซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายก็กล่าวว่าน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ครับ
       การออกเสียงประชามติครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมาให้ทั้ง “บทเรียน” และ “แง่คิด” ต่าง ๆกับสังคมมากมาย แม้การออกเสียงประชามติจะผ่านไปแล้วแต่ก็ยังมีประเด็นให้ถกเถียงกันต่อไปอีกรวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวกับ “ความชอบธรรม” ในผลของการออกเสียงประชามติด้วยครับ
       หากพูดถึง “ความชอบธรรม” ของการออกเสียงประชามติครั้งแรกของประเทศไทยแล้ว ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวถึงเพราะความชอบธรรมที่ว่านั้นไม่มีมาตั้งแต่ต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2549 (ฉบับชั่วคราว) ที่กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติเป็นรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้นโดยปราศจากความยินยอมของประชาชน สภาร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็เกิดขึ้นมาในลักษณะเดียวกันคือ ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนแต่กลับมีบางส่วนที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญก็มีบทบัญญัติที่ “น่าสงสัย” ว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะในมาตราสุดท้ายที่จนถึงวันนี้ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ยังบอกว่า “ชอบธรรม” อยู่ดี แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามถือเป็นความ “ชาญฉลาด” ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2549 (ฉบับชั่วคราว)เป็นอย่างยิ่งที่กำหนดให้นำกระบวนการออกเสียงประชามติมาใช้ในร่างรัฐธรรมนูญที่ปราศจากความชอบธรรมในหลาย ๆประการจนทำให้กลายมาเป็น “รัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรม” ได้ครับ เพราะฉะนั้น ในวันนี้ แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากก่อนการออกเสียงประชามติ แต่เมื่อประชาชนเสียงข้างมากเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชนเสียงข้างมากเพราะนี่คือระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องครับ
       คงไม่สายเกินไปที่จะกล่าวถึงการออกเสียงประชามติครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมานะครับ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้ข้อมูลบางอย่างและความเห็นบางเรื่องสูญหายไปจากเหตุการณ์ครับ ผมจะขอกล่าวถึงการออกเสียงประชามติไทยโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาที่สำคัญคือ ก่อนการออกเสียงประชามติ ผลการออกเสียงประชามติ และสิ่งที่ตามมาหลังการออกเสียงประชามติครับ
       ก่อนการออกเสียงประชามตินั้นมีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติแก่ประชาชนซึ่งหากจะว่าไปแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความ “ไม่ชอบธรรม” ให้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อยู่บ้าง เริ่มตั้งแต่กรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาให้ข่าว “โน้มน้าว” ในเบื้องต้นว่าจากผลการสำรวจคาดว่าประชาชนจะมาออกเสียงประชามติเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเกินกว่าร้อยละ 70 จากนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือ หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานต่างก็ประชาสัมพันธ์กันหลายรูปแบบผ่านสื่อทุกประเภทชักชวนให้คนไปออกเสียงประชามติซึ่งตรงนี้ก็มีข้อสังเกตตามมาหลายประการ เช่น การใช้งบประมาณจำนวนมากของรัฐบาลในการประชาสัมพันธ์โดยไม่คำนึงถึง “ผลที่จะเกิดขึ้น” ตัวอย่างก็คือการจัดมหกรรมประชาธิปไตย 3 วันที่ใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท เป็นต้น การใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์จำนวนกว่า 200 ล้านบาทของกกต. การใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของสสร.ที่ยังมี “แง่มุม” ให้สงสัยว่าทำเพื่อประโยชน์อื่นหรือไม่ ตัวอย่างคือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่มากบนถนนที่เชิญชวนให้คนไปออกเสียงประชามติแต่กลับมีรูปภาพของขนาดใหญ่ของ สสร.บางคนติดอยู่ด้วย เป็นต้น นอกเหนือไปจากนี้ฝ่ายรัฐบาลก็มีการเร่งดำเนินการส่งทั้งพลเรือน (วิทยากรแม่ไก่)และทหารลงพื้นที่ไป “อธิบาย” ให้ประชาชนฟังถึงเรื่องการออกเสียงประชามติครับ โดยเฉพาะการที่ทหารเข้าไป “ยุ่งเกี่ยว” กับการออกเสียงประชามตินั้นเข้าใจว่ามีอยู่มาก หากผู้ใดสนใจข้อมูลลองเข้าไปศึกษาเอกสาร 2 ชิ้นที่ปรากฏอยู่ใน www.prachathai.com คือรายงานขององค์กรกลางเรื่องทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติชัดเจนและรายละเอียดผลประชามติที่เชียงใหม่และการขยับของรัฐและทหารก่อนวันลงประชามติ เรียกกันว่าฝ่ายรัฐบาลนั้นออกมา “รณรงค์” กันทุกขั้นตอนทุกรูปแบบเลยทีเดียว ในขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมหลายรูปแบบ นักวิชาการที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญด้วยการทำเอกสารโฆษณาในหนังสือพิมพ์ถูกตั้งข้อสงสัยว่า รับเงินมาจากกลุ่มอำนาจเก่า นักการเมืองที่คัดค้านลงพื้นที่ก็มีการตั้งประเด็นว่าลงไปซื้อเสียงหรือแจกเงิน แต่วันนี้เมื่อการออกเสียงประชามติผ่านไปก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้กันอีก จริงๆแล้วน่าจะ “สืบ” กันให้เห็นดำเห็นแดงไปเลยนะครับว่า มีการรับเงินจากกลุ่มอำนาจเก่าจริงไหม หรือมีการแจกเงินเพื่อให้ล้มร่างรัฐธรรมนูญจริงไหม ต้องขอบันทึกไว้ด้วยว่าศูนย์รับแจ้งเหตุ กกต.ได้เคยเสนอรายงานออกมาว่าระหว่างวันที่ 10-19 สิงหาคม มีผู้ร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในการออกเสียงประชามติ 178 คดีครับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้อง “มีคุณธรรม” ช่วยชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วยครับว่า ที่พากันออกมาพูดก่อนวันออกเสียงประชามติข้างต้นน่ะคืออะไรครับ และจนถึงวันนี้มีข้อพิสูจน์หรือได้ผลออกมาอย่างไรครับ !!!
       ผลการออกเสียงประชามติ ประเทศไทยเรามีพลเมือง 60 ล้านคนเศษ ในจำนวน 60 ล้านคนเศษนั้นเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 45 ล้านคนเศษ ในจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 45 ล้านเศษนั้นมีผู้มามาออกเสียงประชามติ 25 ล้านคนเศษ ในจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติ 25 ล้านคนเศษ เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 14 ล้านคนเศษ และไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 10 ล้านคนเศษ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่กล่าวไปก็จะเห็นได้ว่าเสียงของประชาชนจำนวน 14 ล้านเสียงเศษที่เห็นชอบด้วยกับรัฐธรรมนูญเมื่อเทียบกับประชาชนทั้งประเทศแล้วไม่ถึง 1ใน 4 ด้วยซ้ำไปครับ คงไม่ต้องบอกนะครับว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะขนานนามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครับ! ผลของการออกเสียงประชามติจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงของประชาชน 24 จังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสานที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทันทีทันควันจากอีกฝ่ายหนึ่งว่าเกิดจากการ “ซื้อเสียง” ครับ น่าเห็นใจผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญนะครับที่ไม่ว่าก่อนการออกเสียงประชามติหรือแม้กระทั่งในการออกเสียงประชามติ หากไม่เห็นด้วยหรือเห็นไม่ตรงกับ “ผู้มีอำนาจ” ในปัจจุบันก็จะเป็นเสียงที่มีที่มาอย่างไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมในทันทีครับ ผมคิดว่าถ้าจะมองอย่างใจเป็นธรรมแล้ว คงทราบตรงกันว่า ทั้งเสียงที่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญและเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญต่างก็ประกอบด้วย “ตรรกะ” หลายๆตรรกะที่แตกต่างกันแต่มารวมอยู่ในคราวเดียวกัน ผู้ที่ไปออกเสียงให้ความเห็นชอบในรัฐธรรมนูญอาจประกอบด้วยผู้ที่เห็นด้วยกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญจริงๆ อาจประกอบด้วยผู้ที่เข้าใจตามคำโฆษณาชักจูงของฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการเลือกตั้งหากรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ อาจประกอบด้วยผู้ที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยว่ายังไงๆก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ อาจประกอบด้วยผู้ที่อยากเห็นบ้านเมืองมีความสงบสุขเพราะเข้าใจว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติบ้านเมืองก็จะวุ่นวายไปอีกนาน รวมทั้งอาจประกอบด้วยผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มอำนาจเก่าที่คิดว่าการเห็นชอบรัฐธรรมนูญคือการปฏิเสธกลุ่มอำนาจเก่า เป็นต้น ในขณะที่ผู้ไปออกเสียงไม่ให้ความเห็นชอบในรัฐธรรมนูญอาจประกอบด้วยผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญจริงๆ อาจประกอบด้วยผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร รวมทั้งยังอาจประกอบด้วยผู้ที่ชื่นชมกลุ่มอำนาจเก่าด้วยก็ได้ เป็นต้น ดังนั้นในบรรดาเสียงของผู้มาออกเสียงประชามติเองนอกที่จากจะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแล้ว เสียงต่างๆของประชาชนแต่ละคนยังประกอบด้วยความเห็นที่หลากหลายเช่นที่กล่าวไป จึงไม่ควรถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนเพราะประกอบด้วยเนื้อหาสาระที่ดีตามที่ได้มีการกล่าวอ้างกันเอาไว้ครับ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามเราเคยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมานานถึง 75 ปี จริงอยู่แม้จะมีคนบางกลุ่มทำลายความเป็นประชาธิปไตยของเราในบางช่วงเวลา แต่โดยหลักการแล้วเราก็ยังคงเป็นประเทศประชาธิปไตยประเทศหนึ่งในโลก ด้วยเหตุนี้เองที่เราจึงต้องยอมรับกับผลของการออกเสียงประชามติในครั้งนี้อย่างดีครับเพราะในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ไม่ได้บัญญัติไว้ถึงจำนวนขั้นต่ำของผู้มาออกเสียงประชามติเอาไว้ แม้จะมีคนมาออกเสียงประชามติเพียงร้อยละ 57.61 ก็ต้องยอมรับกันล่ะครับว่าใช้ได้
       สิ่งที่ตามมาหลังการออกเสียงประชามติ ที่แน่ๆคงไม่ใช่การปฏิรูปการเมืองเหมือนกับที่ทั้งคมช. ทั้งรัฐบาล ทั้งสสร. และทั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคุยนักคุยหนาตั้งแต่ตอนเริ่มร่างรัฐธรรมนูญว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง ผมมีเหตุผลสำคัญสองประการที่คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองและไม่อาจทำการให้การปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นได้เลยครับ เหตุผลประการแรกก็คือ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้อย่างไรครับที่บรรดาผู้นำของประเทศแม้กระทั่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองต่างพากันออกมาบอกเมื่อตอนช่วงก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติว่า “รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง” หลังทราบผลการออกเสียงประชามติหัวหน้าพรรคการเมืองบางคนก็ออกมาพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆกันมาก นักวิชาการจำนวนไม่น้อยก็ออกมาชี้ประเด็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันหลายสิบประเด็น รวมความแล้วก็คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระที่ “ไม่สมบูรณ์” ครับ เมื่อรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระไม่สมบูรณ์ มีปัญหา แต่ปล่อยให้มีผลใช้บังคับ กลไกต่างๆตามรัฐธรรมนูญก็ต้องทยอยกันเกิดขึ้น เมื่อเครื่องเดินแล้วการจะเข้าไปแก้ไขก็ลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือระบบรัฐสภาที่จะมีการเลือกตั้งกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ถามจริงๆนะครับว่าจะแก้กันได้อย่างไร ผมคิดว่าถ้าจะแก้ได้ก็คงแก้ประเด็นที่เป็นเรื่องทางเทคนิคเล็กน้อยที่ไม่กระทบกับนักการเมือง ประเด็นอื่นอย่าไปหวังแก้เลยครับเพราะต้องไม่ลืมว่านักการเมืองเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญนะครับ !!! ในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์แล้วรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร แถมบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้กรรมการการเลือกตั้ง(ซึ่งเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ?????) อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนสิ้นสุดวาระทั้งๆที่คมช.เป็นคนแต่งตั้งรวมไปถึงกรรมการปปช.ด้วย คงไม่อาจกล่าวได้ว่านี่คือการปฏิรูปการเมืองนะครับ การเกิดข้อผิดพลาดของเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนี้คงโทษใครไม่ได้นอกจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผม “ไม่อยาก” วิจารณ์ในเรื่องนี้เพราะศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้วิจารณ์ไว้อย่างละเอียดแล้วในบทความของท่าน ลองอ่านดูแล้วจะทราบว่านักวิชาการที่มีความสามารถทางวิชาการนั้นเป็นอย่างไรครับ ส่วนเหตุผลประการที่สองของผมก็คือ บรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ดูแย่มาก มีความพยายามที่จะรวมกลุ่ม ตั้งพรรคการเมือง หานักการเมืองมาไว้ในสังกัด กล่าวร้ายป้ายสี ฯลฯ ดูไม่ต่างจากสมัยก่อน รสช.ปฏิวัติเลยครับ ในเมื่อนักการเมืองเองก็ยังมีพฤติกรรมที่ “ย้อนยุค” เช่นนี้ เราจะเรียกว่าปฏิรูปการเมืองได้อย่างไรครับ ทั้งสองเหตุผลที่กล่าวไปแล้วทำให้ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คงไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองได้อย่างแน่นอนครับ
       สิ่งที่จะดำเนินต่อไปในสังคมไทยภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 ใช้บังคับเป็นสิ่งที่เราไม่อาจคาดเดาได้ง่ายนัก องค์กรต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นจะสร้างปัญหาอะไรให้กับประเทศชาติต่อไปหรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเฝ้าดูและศึกษาวิเคราะห์กันต่อไป สิ่งที่ต้องจับตาดูก็คือการใช้อำนาจนอกระบบที่ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่เพราะเมื่อ 3-4 วันก่อนมีข่าวลือเรื่องการปฏิวัติออกมาอีก คนระดับนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นถ้าผู้บริหารยึดหลักธรรมาภิบาล คนระดับประธานคมช.ออกมาชี้แจงว่าจะไม่มีรัฐประหารถ้าผู้บริหารประเทศจงรักภักดีต่อบ้านเมืองและซื่อสัตย์สุจริต คำชี้แจงทั้งสองคงไม่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่นั้นจะเดินไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆที่ใช้กลไกรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศและไม่รู้จักการรัฐประหารเพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่และไม่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศประชาธิปไตยครับ ถ้าเราลองย้อนกลับมาดู “นักการเมือง” ที่ต่างก็พากันปรากฏตัวตามสื่อต่างๆทุกวันนี้ดูแล้วก็จะทราบว่าคืออะไรครับและน่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นวันข้างหน้าหรือไม่ สงสัยว่าเราคงต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยความวิตกกังวลและระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ ครับคงต้องตั้งความหวังเอาไว้ว่าถ้าเราโชคดีได้นักการเมืองที่ดีเข้ามาก็ดีไปแต่ถ้าโชคร้ายเจอนักการเมืองที่ไม่มีหลักธรรมาภิบาล ไม่จงรักภักดีต่อบ้านเมือง ไม่ซื่อสัตย์สุจริตก็คงต้องเจอกับการรัฐประหารอีกครับ!! น่าสงสารประเทศไทยครับ !!
       สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ คุณชนินทร์ ติชาวัน เรื่อง “การปฏิรูปวุฒิสภาแบบลิงแก้แห” ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงของชาติ” ส่วนบทความขนาดยาวของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ก็มีการเพิ่มเนื้อหาเข้าไปอีกครับ วันนี้ความยาวของบทความดังกล่าวรวมๆแล้วเกือบ 100 หน้ากระดาษธรรมดาแล้วครับ ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกับใหม่ วันจันทร์ที่ 17 กันยายน 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544