หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 154
18 กุมภาพันธ์ 2550 23:50 น.
ครั้งที่ 154
       สำหรับวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2550
       
       “การออกเสียงประชามติ”
       
       บทบรรณาธิการคราวที่แล้วที่ผมได้ตั้งประเด็นเอาไว้ในตอนท้ายถึงเรื่องการรับเงินเดือน 2 ทางของผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ได้กลายเป็นเรื่องที่พูดกันในหลายวงการ แล้วเชื่อว่าอีกไม่นาน เราคงได้เห็นอะไร “ดี ๆ” ที่เกี่ยวกับเรื่องการรับเงินเดือน 2 ทางกันบ้างครับ เพราะการรับเงินเดือน 2 ทางของบุคคลเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับข้าราชการอื่น ๆ รวมทั้งยังเป็นการเอาเปรียบทางราชการอย่างมากด้วยครับ ก็คงต้องช่วยกันขยายผลออกไปด้วย เพราะเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นั้น สังคมคาดหวังเอาไว้ว่า “ทหาร” จะเข้ามา “กวาดล้าง” สิ่งที่ไม่เป็นธรรมในสังคม แต่ทำไมก็ไม่ทราบกลับเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้โดย “กฎ” ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของ “ทหาร” ครับ การรับเงินเดือน 2 ทางนั้น ไม่ว่าจะคิดยังไงก็ไม่มีเหตุผลที่ดีใด ๆ มาสนับสนุนได้เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนคนเดียวจะทำงานหลายที่ในเวลาเดียวกัน และนอกจากนี้ถ้าจะหวังผลว่างานที่ทำออกมาจะต้องดีด้วยก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่งานของคน ๆ เดียวที่ทำงานหลายทางจะออกมาดีสมบูรณ์ทุกงานครับ จริง ๆ แล้วที่ว่ารับเงินเดือน 2 ทางนี้ยังน้อยไปนะครับ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้พบเรื่องแปลก ๆ เข้ากับตัวเอง โดยในการประชุมของส่วนราชการแห่งหนึ่งที่มีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคนหนึ่งร่วมเป็นกรรมการด้วย กรรมาธิการคนนี้เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งและเงินเดือนประจำอยู่แล้วและถูกยืมตัวไปช่วยงานของ “หน่วยงานอิสระ” แห่งหนึ่งที่ “เข้าใจ” ได้ว่ามี “ค่าตอบแทน” เป็นรายเดือนด้วย ปัจจุบันบุคคลผู้นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีเงินตอบแทนรายเดือนด้วย ในวันนั้นมาประชุมร่วมกับผมในระหว่างเวลา 9.00-12.00 น. ซึ่งก็มีเบี้ยประชุมด้วยเช่นกัน และในเวลาเดียวกันก็มีประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมาธิการคนนั้นก็ออกจากห้องประชุมที่ประชุมร่วมกับผมไปตอน 11 โมงเศษ เพื่อไปประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สรุปได้ว่า ผู้นั้นรับเงินเดือน 3 ทางในเวลาเดียวกัน และยังได้เบี้ยประชุมอีก 2 ทางด้วย เพราะสามารถ “บริหาร” เวลาให้สามารถเข้าประชุมและ “รับ” เบี้ยประชุมได้ครบทุกทางครับ ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่อง “เงิน” นั้น ผมคงไม่มีข้อสงสัยเพราะผมคิดว่าผู้นั้นคงรับทุกทางจนครบไม่มีขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าหากพูดถึง “งาน” แล้วก็คงต้องถามต่อไปว่า ทำได้ดี ถูกต้อง ครบถ้วน ตามจำนวนเงินที่รับไปทั้งหมดทุกทางได้หรือไม่ครับ ก็ขอฝากประเด็นนี้ไว้กับสังคมให้ช่วยตรวจสอบด้วยครับ
       ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ “ปล่อย” ประเด็นที่จะนำเสนอไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาหลายประเด็น ซึ่งก็มีทั้งประเด็นที่ “ได้เรื่อง” บ้าง “ไม่ได้เรื่อง” บ้าง ที่ว่า “ไม่ได้เรื่อง” ก็เพราะประเด็นเหล่านั้นเกิดจากความคิดเห็นของคนบางคนที่ “แค่คิด” แล้วก็ “พูด” ออกมาให้เป็นข่าวโดยยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและข้อเสนอดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ผมเคยเสนอเรื่องนี้มาเป็นปีแล้วว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ก็ต้องรวบรวมปัญหาข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ครบถ้วนก่อนแล้วค่อยนำมาวิเคราะห์แยกแยะดูว่า ข้อบกพร่องนั้นเกิดจากความเข้าใจผิด หรือเกิดจากการตีความผิด ๆ หรือเกิดจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเองที่มีข้อบกพร่อง เมื่อทราบปัญหาและสาเหตุแล้วก็ค่อยเสนอแนวทางในการแก้ไขที่อาจมาจากการศึกษาเปรียบเทียบจากประสบการณ์ของต่างประเทศก็ได้ แต่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นที่ผมว่า เพราะใครนึกจะพูดอะไรก็พูดโดยไม่มี “ฐาน” ทางวิชาการมาสนับสนุนเลยครับ!
       มีอยู่เรื่องหนึ่งที่พูดกันมากในวันนี้ก็คือ เรื่อง “การออกเสียงประชามติ” เพราะไม่ว่าจะไปทางไหนก็จะได้ยินเสียงพูดกันว่าเป็นห่วงรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ ในส่วนตัวนั้น ผมยังไม่มองไปไกลถึงผลของการออกเสียงประชามติเพราะที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นก็คือ “คุณภาพ” ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่จะทำให้ “อาการ” ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าเป็นห่วงครับ ในเรื่องการออกเสียงประชามตินั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 บัญญัติไว้ในมาตรา 29 ว่า เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญและพิจารณาแล้วเสร็จ ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่รัฐธรรมนูญก็สร้าง “ข้อยกเว้น” ไว้ด้วยว่า ถ้าสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก หรือถ้าสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการจัดทำของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือถ้าประชาชนโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ให้ คมช.ประชุมร่วมกับ ครม.เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบครับ เพราะฉะนั้น การออกเสียงประชามติที่ “วิตก” กันนักว่า หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบแล้วจะเกิดปัญหาขึ้น ก็ไม่ใช่วิถีทางเดียวที่จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีผลใช้บังคับได้ครับ คงต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญกับวิธีการอื่นในมาตรา 29 ที่กล่าวไปแล้วด้วยครับ เพราะอาจเกิดอะไรขึ้นมาก็ได้!
       ในเรื่องการออกเสียงประชามตินี้ ผมมีประเด็นที่คิดเอาไว้ 2 ประเด็น คือ หลักเกณฑ์ในการออกเสียงประชามติ และ ผลของการออกเสียงประชามติ ซึ่งในประเด็นหลังนี้ผมขอไม่วิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ในตอนนี้เพราะคงต้องรอดู “เนื้อหา” ของรัฐธรรมนูญก่อนว่า “คนเก่ง” ของเราจะเขียนรัฐธรรมนูญ “ได้ดี” แค่ไหนครับ คงขอพูดถึงประเด็นแรกคือ หลักเกณฑ์ในการออกเสียงประชามติที่วันนี้ก็มีหลายองค์กรเหลือเกินที่ “คิด” จะร่างกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ทั้ง ๆ ที่มาตรา 29 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 บัญญัติไว้ว่า การออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญประกาศกำหนดครับ อ่านยังไงก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียงประชามติของสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง ไม่ใช่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติไปออกกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียงประชามติครับ แถมบางความเห็นยังเสนอให้มีการ “กำหนดโทษ” ของการก่อกวนการออกเสียงประชามติไว้ในกฎหมายอีกด้วยครับ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปเช่นกันว่า ในที่สุดแล้ว จะทำตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือจะทำตามใจฉันกันครับ!
       ผมเข้าใจว่า ผมน่าจะเป็นนักวิชาการคนแรกของไทยที่ “เขียนหนังสือ” เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติครับ เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 มีการตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย” (คพป.) ขึ้นมา โดยมีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน คพป.มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในการทำงานของ คพป.นั้นได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งทำการศึกษาประเด็นสำคัญของประเทศไทยและต่างประเทศอย่างละเอียดเพื่อสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาของประเทศ โดยผมได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาเรื่อง ระบบการออกเสียงประชามติ ในที่นี้ ผมขอนำสาระสำคัญบางส่วนที่ได้จากการศึกษาครั้งนั้นและยังทันสมัยอยู่มาเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ
       การออกเสียงประชามติ (referendum) เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญ ๆ ของประเทศ มีประเทศต่าง ๆ หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรป เช่น เดนมาร์ก สเปน กรีซ อิตาลี โปรตุเกส เยอรมัน ฝรั่งเศส ฯลฯ ประเทศในทวีปอเมริกา เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล อุรุกวัย ฯลฯ ประเทศในทวีปอาฟริกา เช่น กาบอง นามิเบีย ตูนีเซีย เซเนกัล โมรอคโค ฯลฯ หรือแม้ในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น ต่างก็มีการนำเอาระบบการออกเสียงประชามติมาใช้ในหลาย ๆ เรื่องที่สำคัญ เช่น การออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมาย หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยเรานั้น ในอดีต (ไม่นับรวมรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2549) เรามีรัฐธรรมนูญอยู่ถึง 5 ฉบับที่บัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่เคยมีการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นในประเทศไทยครับ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2492 ฉบับปี พ.ศ.2511 และฉบับปี พ.ศ.2517 ได้บัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ โดยบัญญัติไว้ทำนองเดียวกันว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงพระราชดำริเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่นำมาทูลเกล้าฯ กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศหรือประชาชน และทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 6 พ.ศ.2539) ได้บัญญัติให้มีหมวด 12 เพื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยได้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และได้กำหนดกระบวนการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 211 ปัณรส ว่า เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ต้องไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติลงความเห็นว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอ ในทางปฏิบัติ การออกเสียงประชามติไม่เกิดขึ้นเพราะรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการออกเสียงประชามติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 214 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเช่นกัน ก็ได้บัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยให้อำนาจคณะรัฐมนตรีที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติในกิจการที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าอาจกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชนครับ โดยสรุปก็คือ ประเทศไทยเรามีการวางระบบเรื่องการออกเสียงประชามติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 แล้ว แต่ในทางปฏิบัติเรายังไม่เคยมีการออกเสียงประชามติในประเทศไทยครับ
       เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การออกเสียงประชามติครั้งแรกของประเทศไทย” ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา และได้เชิญให้ผมเป็นผู้นำเสนอประสบการณ์ในการออกเสียงประชามติของประเทศฝรั่งเศส ผมจึงขอนำเอาสิ่งที่ได้พูดไปในวันดังกล่าวมาเล่าให้ฟังพอสังเขปด้วยครับ โดยในฝรั่งเศส ภายหลังการปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) มีการนำเอาระบบการออกเสียงประชามติมาใช้หลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มาใช้เอามากและประสบผลสำเร็จก็ในสมัยที่นายพล Charles de Gaulle ที่ได้นำเอาระบบการออกเสียงประชามติกลับมาใช้ใหม่ในปี ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติในการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นเป็นต้นมา การออกเสียงประชามติก็แทรกเข้าไปเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของระบบประชาธิปไตยของฝรั่งเศสเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ ฉบับปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) ที่ผ่านการออกเสียงประชามติและได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนกว่า 31 ล้านคนเศษ (เท่ากับร้อยละ 84.9 ของผู้มาออกเสียงประชามติ) ได้บัญญัติวางหลักไว้ในมาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนซึ่งใช้อำนาจดังกล่าวโดยผ่านทางผู้แทนราษฎร และโดยผ่านทางกระบวนการออกเสียงประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1958 ได้บัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ “ระดับชาติ” ไว้ใน 3 กรณีด้วยกัน โดยในกรณีแรกนั้น มาตรา 89 ได้บัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อประชาชนได้ออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้ว ส่วนกรณีที่สอง ในมาตรา 11 ได้บัญญัติเอาไว้ให้อำนาจประธานาธิบดีที่จะประกาศกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในร่างกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบสถาบันการเมืองแห่งรัฐ การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อบริการสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น หรือเพื่ออนุญาตให้มีการให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาที่แม้จะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่ก็อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสถาบันต่าง ๆ สำหรับกรณีที่สาม เป็นเรื่องการออกเสียงประชามติในดินแดนตามมาตรา 53 วรรคท้าย ที่แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้ใช้คำว่าการออกเสียงประชามติ แต่ก็กำหนดไว้ด้วยถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นการแสดงประชามติคือ การยกให้ การแลกเปลี่ยน หรือการผนวกดินแดนใดจะมีผลใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอม (consentement) จากประชาชนที่เกี่ยวข้องแล้ว
       จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสจัดให้มีการออกเสียงประชามติระดับชาติมาแล้ว 24 ครั้งนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1789 และมีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่ผลของการออกเสียงประชามติของประชาชนออกมาว่าไม่เห็นชอบกับสิ่งที่นำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ซึ่งรวมถึงการออกเสียงประชามติครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ.2005 ด้วย การออกเสียงประชามติครั้งล่าสุดของฝรั่งเศสมีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.2005 เกี่ยวกับธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สมาชิกสหภาพยุโรปจำนวน 25 ประเทศได้ทำความตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.2004 ให้มีธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปเป็นกรอบในการดำเนินงานของประเทศสมาชิกและกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้สัตยาบันในสนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป (Traité établissant une constitution pour l’Europe) ด้วยการให้ประชาชนออกเสียงประชามติหรือให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งประเทศฝรั่งเศสได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.2005 เป็นวันที่ประชาชนทั่วประเทศมาออกเสียงประชามติ
       รัฐบาลได้ตั้งคำถามให้ประชาชนแสดงความ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” สำหรับการออกเสียงประชามติครั้งนี้ว่า “ท่านจะให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปหรือไม่?” โดยรัฐบาลซึ่งเป็น “เจ้าภาพ” ในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ได้จัดส่งเอกสารที่จำเป็นให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อันได้แก่ คำถามที่ให้ประชาชนแสดงความเห็น ร่างกฎหมายให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป และธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปฉบับสมบูรณ์ (190 หน้า) ในช่วงที่มีการออกเสียงประชามติครั้งนั้น บังเอิญผมไปเป็น visiting professor อยู่ที่เมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศส และพักอาศัยอยู่กับเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น จึงได้มีโอกาสซึมซับบรรยากาศของการออกเสียงประชามติที่ค่อนข้างสมบูรณ์เช่นคนฝรั่งเศส เพราะทุกวันก็ได้ฟังการอภิปรายทางวิทยุโทรทัศน์อย่างกว้างขวางของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน รัฐบาลออกแผ่นปลิวชี้แจงประโยชน์และความจำเป็นของธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป ฝ่ายค้านก็หาเหตุมาต่อต้านด้วยการยกข้อเสียของธรรมนูญฯ ที่จะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนฝรั่งเศส ต่อเศรษฐกิจ ต่อบริการสาธารณะ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ทำฉบับพิเศษแถมไว้ด้านใน นำเสนอความเห็นของนักวิชาการและบุคคลสำคัญในประเด็นต่าง ๆ ของธรรมนูญฯ แม้ในมหาวิทยาลัยก็มีการส่งตัวแทนของทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านมาพูดให้นักศึกษาฟังด้วยครับ
       ในช่วงเวลาที่มีการออกเสียงประชามตินั้น ความนิยมในรัฐบาลและในตัวประธานาธิบดีลดลงอย่างมากและอยู่ในช่วง “ขาลง” ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสไปออกเสียงประชามติเพียงร้อยละ 69.37 ของผู้ลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนผลของการออกเสียงประชามตินั้น ร้อยละ 54.67 ของผู้ไปใช้สิทธิไม่เห็นด้วย ส่วนผู้เห็นด้วยมีเพียงร้อยละ 45.33 ครับ ผลของการออกเสียงประชามติครั้งนี้เป็นสิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปที่ประชาชน “ไม่เอา” แต่เป็น “รัฐบาล” ต่างหากที่ประชาชนไม่พอใจจึงออกเสียงประชามติไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลสนับสนุน การออกเสียงประชามติในครั้งนั้นจึงกลายเป็นการให้ความเห็นชอบในตัวบุคคลหรือคณะบุคคล (Plébiscite) ไปโดยปริยายครับ
       กลับมาสู่การออกเสียงประชามติของไทยกันสักเล็กน้อย ประสบการณ์ของการออกเสียงประชามติครั้งล่าสุดของฝรั่งเศสอาจสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยเช่นกัน ที่ถ้าหากในช่วงเวลาของการออกเสียงประชามติ ประชาชน “ไม่พอใจ” รัฐบาลหรือ คมช.ก็ลองคิดดูแล้วกันว่าผลการออกเสียงประชามติของเราจะเป็นอย่างไรครับ
       หากจะถามความรู้สึกส่วนตัวของผม ผมไม่อยากให้มีการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เลยครับ ผมมองว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ได้วางกลไกไว้อย่างดีที่จะนำเอาประชาชนมาเป็น “เสา” ในการ “ค้ำ” เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรม อย่าลืมนะครับว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 นี้เกิดมาจากการรัฐประหาร เกิดมาจากกลไกและกระบวนการตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ที่คณะรัฐประหารเป็นผู้กำหนด สมัชชาแห่งชาติที่จะเข้าไปเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็มีที่มาบางส่วนที่ไม่โปร่งใสจากการดำเนินการเสนอชื่อกันเอง คน 200 คนที่มาจากสมัชชาแห่งชาตินั้น คมช.ก็เป็นผู้เลือกให้เหลือ 100 คน ให้เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ก็มาจาก คมช.10 คน จะเห็นได้ว่า ทุกขั้นตอน คณะรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น การนำเอากระบวนการออกเสียงประชามติมาใช้กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นกระบวนการอัน “แยบยล” ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ที่จะ “หลอกใช้” ประชาชนให้เป็นเครื่องมือของตนในการ “รับรอง” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า มาจากการให้ความเห็นชอบของประชาชนทั้งประเทศ ก็ขอฝากประเด็นไว้กับผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติด้วยว่า คงต้องดูรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ดี ๆ ว่าต้อง “ดีจริง ๆ” จึงจะให้ความเห็นชอบ เพราะถ้าไม่ดีจริงแล้วประชาชนให้ความเห็นชอบ ในวันข้างหน้าการแก้ไขเพิ่มเติมอาจลำบากครับ
       เหตุผลที่ผมไม่อยากให้มีการออกเสียงประชามติก็เพราะผมเสียดายเงินหลายพันล้านที่จะนำมาใช้ในการนี้ครับ ผมได้แสดงจุดยืนของตนเองไว้ชัดเจนในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้ว่า ผมเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ “ถาวร” เนื่องมาจากทั้ง “รูปแบบ” และ “เนื้อหา” ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ถาวรจริง ๆ วันข้างหน้าก็คงต้องเสียเงินเสียเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมจึงอยากทิ้งประเด็นไว้ตรงนี้ว่า ขอฝากความหวังไว้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งแม้บ้างคนจะน่าสงสัยในความเป็นกลาง!) ว่า หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ดีจริงหรือไม่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ก็ควรมีมติ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” ในร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้เสียเงินและเสียเวลา จากนั้นก็ต้องเจรจากับ คมช.และรัฐบาลให้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาแก้ไขเฉพาะประเด็นที่จำเป็นหรือที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอไว้แล้วก็ได้ พร้อมทั้งจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เวลาศึกษาและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สัก 1 ปี ทำให้ดี ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาก ๆ จากนั้นค่อยมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็น “ประชาธิปไตย” มากกว่าฉบับที่เรากำลังร่างกันอยู่ในบรรยากาศที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ครับ!
       ในครั้งนี้ เรามีบทความมานำเสนอทั้งหมด 2 บทความ บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “อย่าร่างรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อหนีคนคนเดียว” โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง และบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “อำนาจศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญควรเป็นเช่นไร?” โดยคุณชนินทร์ ติชาวัน นักศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองคนครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544