|
|
|
|
|
ครั้งที่ 151
สำหรับวันจันทร์ที่ 8 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2550
รัฐธรรมนูญใหม่ควรมีสาระและประเด็นอย่างไร (3)
เหตุลอบวางระเบิด 8 จุดในกรุงเทพมหานครเมื่อเย็นวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมาสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมและทำให้เกิดความวิตกกังวลในหลาย ๆ ด้านต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงปลอดภัยของสังคมและของประเทศ ด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศ ด้านความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในรัฐบาล บางรายก็วิตกกังวลไปว่าจะเกิดการปฏิวัติซ้ำหรือปฏิวัติซ้อน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ชีวิตของเราก็ต้องดำเนินต่อไปตามปกติครับ คงต้องพยายามทำตัวให้อยู่อย่างสงบและช่วยกันเพิ่มความระมัดระวังกับสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายที่พบเห็นครับ ส่วนปัญหาที่ว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นนั้นก็คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายปกครองที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป การสงสัยกันไปกล่าวหากันมามีแต่จะสร้างความแตกแยกและก่อให้เกิดความระแวงซึ่งกันและกันอันจะนำมาซึ่งความไม่สงบสุขในสังคมต่อไปครับ
ในส่วนของการ ปฏิรูปการเมือง นั้น ในวันนี้เรามีสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คนแล้ว ส่วนใครจะเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับกลุ่มใดและมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ผมเข้าใจว่าเราก็คงทราบกันดีอยู่แล้วจากข่าวสารที่ปรากฏออกมา ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 35 คนจะเป็นใครบ้าง ซึ่งพอถึงจุดนั้นเราก็คงพอจะคาดเดาได้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรครับ
ช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ตั้งคำถามกับผมมากมายว่าทำไมผมถึงไม่ได้มีชื่ออยู่ในสมัชชาแห่งชาติหรือยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ คำตอบของผมก็มีอยู่หลายแบบสุดแล้วแต่ว่าผู้ถามจะเป็นใคร แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว ชื่อผมคงไม่สามารถไปปรากฏอยู่ที่ใดได้ หากหน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่ไม่เสนอ ผมเข้าใจเอาเองว่า การเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนระดับ 10 (ที่มีอายุน้อย!!) การเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ การดำเนินการจัดทำเว็บไซต์กฎหมายมหาชนแห่งเดียวของประเทศไทยมากว่า 5 ปี การมีผลงานทางวิชาการทั้งหนังสือ บทความ และงานวิจัยด้านรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา คงไม่เป็นการเพียงพอที่หน่วยงานจะเสนอชื่อผมไปครับ เพราะฉะนั้นผมก็เลยไม่ได้มีส่วนร่วมทั้งในสมัชชาแห่งชาติและในสภาร่างรัฐธรรมนูญครับ ก็ไม่เป็นไรครับ นักวิชาการที่ดี อยู่ตรงไหนก็สามารถให้ความเห็นทางวิชาการได้อยู่แล้ว ผมว่ายังดีกว่าคนที่ไม่รู้เรื่องแล้วเข้าไปมีตำแหน่ง คงนั่งประชุมไม่มีความสุขเท่าไหร่เพราะตำแหน่งที่มีกับความรู้ความสามารถของตนนั้นไม่สัมพันธ์กันครับ!
บทบรรณาธิการ 2 ครั้งที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอประเด็นที่ควรนำมาคิดเพื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตั้งสมมติฐานว่า หากสภาร่างรัฐธรรมนูญจะนำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาเป็น พิมพ์เขียว จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นใดบ้าง ซึ่งผมตั้งประเด็นไว้ 8 ประเด็นด้วยกัน และในบทบรรณาธิการ 2 ครั้งที่ผ่านมาผมนำเสนอไปแล้ว 3 ประเด็น คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ส่วนในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมขอนำเสนอต่ออีก 4 ประเด็นคือ สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการกระจายอำนาจครับ
สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็น จุดเด่น และ จุดขาย ประการสำคัญที่สุดประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ว่ากันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิเสรีภาพมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและก็เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม ในส่วนตัวของผมเองนั้นผมคิดว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 นั้นดีอยู่แล้ว อาจมีประเด็นเล็กน้อยบางประเด็นที่ต้องทบทวน เช่น การเลือกตั้งควรเป็น สิทธิ หรือเป็น หน้าที่ เป็นต้น ส่วนเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้คนออกมาให้ความเห็นกันมากก็คือ ในบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 นั้นเป็นบทบัญญัติที่ไม่สมบูรณ์ในตัวเองเพราะในแต่ละมาตราต่างก็กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายตามมาโดยใช้คำว่า ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ จริง ๆ แล้ว เรื่องมันไม่ควรเป็นเรื่องเพราะตามความเข้าใจและตามหลักการของรัฐธรรมนูญนั้น สิทธิต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เกิดขึ้นทันทีที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การกำหนดให้มีกฎหมายตามมาก็เพื่อกำหนดกลไกหรือวิธีการในการใช้สิทธินั้นให้เป็นระบบ แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัย เป็นบรรทัดฐาน ไว้ในปี พ.ศ.2545 และ พ.ศ.2547 ทำนองว่า ถ้ายังไม่มีกฎหมายบัญญัติ สิทธิที่รัฐธรรมนูญให้กับประชาชนก็ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยการให้ความเห็นในลักษณะนี้เองที่ทำให้ความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเราสับสนและนำมาซึ่งความวุ่นวายในหลาย ๆ เรื่องครับ เพื่อปิดช่องว่างดังกล่าวและสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน หากจะให้บทบัญญัติทั้งหลายมีความชัดเจนยิ่งขึ้นก็ควรจะกำหนดไว้สักมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า สิทธิต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีผลสมบูรณ์ทันทีที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การออกกฎหมายตามมาก็เพื่อเป็นการกำหนดกลไก กระบวนการ และวิธีการในการใช้สิทธิดังกล่าวครับ
นอกจากนี้แล้ว หากเราพิจารณาดูรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ก็จะพบว่า บทบัญญัติในมาตรา 3 ที่ว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็จะพบว่าแม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะ ครอบจักรวาล ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ได้ขยายฐานสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไปอย่างมากและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็ควรนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยเพื่อให้สิทธิเสรีภาพของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพก็คือ การรับฟังความคิดเห็นประชาชน คงจำได้ว่าเราเคยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ซึ่งแม้จะเป็นระเบียบที่ ดูดี แต่ในทางปฏิบัติก็สร้างปัญหาให้กับการทำประชาพิจารณ์เป็นอย่างมาก เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชนก็สร้างความปิติยินดีให้กับผู้คนจำนวนมาก แต่จนแล้วจนรอด 8 ปีผ่านไปก็ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวออกมา เรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชนนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทีเดียวครับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรกำหนดให้ต้องมีกฎหมายดังกล่าวต่อไป และถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นก็ต้องกำหนดให้กฎหมายดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องออกภายในระยะเวลาไม่ช้านักด้วย กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายสำคัญอีกฉบับหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่าง ๆ ของฝ่ายปกครองได้อย่างดีครับ
ในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น คงต้องมีการปรับแก้ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องการออกเสียงประชามติคงต้องกำหนดไว้ให้ผลของการออกเสียงประชามติผูกพันรัฐบาลให้ต้องดำเนินการตามมติของประชาชน การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นต้องให้ทำได้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลงและควรกำหนดให้ฝ่ายปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดให้มีวิธีพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนเป็นวิธีพิเศษที่แตกต่างจากวิธีพิจารณาร่างกฎหมายทั่ว ๆ ไปโดยกำหนดให้ตัวแทนประชาชนผู้เสนอร่างกฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายได้ด้วย ส่วนการถอดถอนบุคคลต่าง ๆ ออกจากตำแหน่งก็เช่นเดียวกันคือต้องพยายามทำให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปได้ง่ายไม่สร้างภาระให้กับประชาชนมากเกินไปครับ หมวดสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนก็คงมีข้อเสนอเพียงแค่นี้ครับ
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการปรับแก้แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 จะวางระบบไว้ได้ดีพอสมควรแล้วก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วมาจาก คน มากกว่า ระบบ ดังนั้น หากเราให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่ง คน ที่เข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจ ระบบ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นครับ
การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นกระบวนการที่สำคัญกระบวนการหนึ่งในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่ผ่านมาเรากำหนดให้ นักการเมือง และ ข้าราชการระดับสูง ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งในสภาพความเป็นจริงนั้นเราพบว่า กว่าจะขึ้นมาเป็นข้าราชการระดับสูงที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน คนเหล่านั้นก็ได้ผ่านกระบวนการที่นำไปสู่ความ มั่งมี มาแล้วตั้งแต่ยังเป็นข้าราชการระดับผู้น้อย การจะแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้จึงต้องตามดูกันตั้งแต่ยัง เล็ก ๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ผมอยากเสนอว่า ผู้ที่เข้าเป็นข้าราชการทุกคนทุกระดับต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเป็นประจำทุกปีโดยอาจกำหนดให้ยื่นพร้อม ภ.ง.ด.ก็ได้ครับ ด้วยวิธีนี้ถึงแม้เราจะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีของทุกคนได้ทุกปีแต่ก็จะทำให้เราทราบถึง พัฒนาการ ของทรัพย์สินของข้าราชการผู้นั้นว่าเป็นอย่างไร ผมคิดว่าการดำเนินการเช่นนี้น่าจะอุดช่องว่างของการทุจริตไปได้บ้างเพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การทุจริตนั้นไม่ได้มีเฉพาะข้าราชการระดับสูงครับ
เนื่องจากหัวข้อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหัวข้อที่มีความเกี่ยวพันกัน ผมจึงขอถือโอกาสพูดหัวข้อองค์กรตามรัฐธรรมนูญควบคู่กันไปเลยครับ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ได้สร้างองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจำนวนมาก เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงองค์กรตรวจสอบที่เป็นศาลอีกจำนวนหนึ่งที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อ อำนาจตุลาการ ครับ ในเบื้องต้นผมจะขอพูดถึงองค์กรที่สำคัญองค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ผมเห็นว่าสมควรได้รับ ความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วนเพราะทราบมาว่างานมากเหลือเกิน จริง ๆ แล้วเราน่าจะปลุก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ขึ้นมาใหม่โดยแยกอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 องค์กรให้ชัดเจนคือ ให้ ป.ป.ป. ดูแล ข้าราชการประจำและให้ ป.ป.ช. ดูแล ข้าราชการการเมือง นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเน้นระบบการตรวจสอบให้เข้มขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าทำได้เราก็น่าจะปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่ายขึ้นและได้ผลดีกว่าที่เป็นอยู่ครับ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ก็เป็นองค์กรที่มีความสำคัญอีกองค์กรหนึ่งเพราะทำหน้าที่กลั่นกรองคนดีให้เข้ามาสู่รัฐสภา แม้ในทางปฏิบัติตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ก.ก.ต.ดูจะเป็นหน่วยงานที่มีปัญหาที่สุดแต่เราก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยตรงแต่เกิดจากวิธีการได้ คน ที่เข้ามาเป็น ก.ก.ต.มากกว่าครับ ดังนั้น หากเราปรับระบบของการได้คนเข้ามาสู่ตำแหน่งได้ เราก็จะได้คนที่มีความเหมาะสมและมีคุณธรรมเข้ามาทำงาน การดำเนินการขององค์กรเหล่านั้นก็จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ วิธีการได้คนเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรตรวจสอบที่ผมจะขอเสนอไว้เป็นแบบ ณ ที่นี้ก็เพื่อให้นำมาใช้กับองค์กรต่าง ๆ ได้โดยผมคิดว่าแบบที่ดีที่สุดนั้นไม่ใช่การเลือกตั้งเพราะมีการเมืองแทรกแซงได้เช่นเดียวกับระบบข้าราชการประจำครับ ที่น่าเชื่อถือที่สุดและน่าจะเรียกได้ว่าปลอดจากการแทรกแซงมากที่สุดก็คือการนำเอาระบบตุลาการเข้ามาคาน ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ากระบวนการสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่ผ่านวุฒิสภามีข้อบกพร่องอย่างมากจนทำให้ระบบการเมืองเข้าไปแทรกแซง ผลก็คือผู้ที่ได้รับการสรรหาเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบมีความใกล้ชิดกับการเมืองจึงทำให้กระบวนการตรวจสอบทำงานไม่ได้ผลเท่าไรนัก การแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างง่ายที่สุดก็คือต้อง ตัด หนทางที่จะให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงออกไปก่อน และเมื่อพิจารณาถึงสถานะขององค์กรเหล่านี้ประกอบจะพบว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งเป็นอำนาจ กึ่งตุลาการ ผมมองว่าหากเรา ไว้ใจ ในระบบตุลาการโดยให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว เราก็คงสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้หลายปัญหา เพราะผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นมีที่มาที่เข้ม ผ่านการตรวจสอบมาแล้วอย่างดี และดำรงตนอยู่ในกฎกติกาที่เข้มงวดกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่น รวมทั้งมีความชำนาญในการตรวจสอบด้วย ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่เข้ามาทำงานในองค์กรตรวจสอบเหล่านี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประเทศชาติได้มาก เพียงแต่เราคงต้องวางระบบการเข้าไปทำงานในองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ดีและสร้างแรงจูงใจให้มีผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ยอมเข้าไปทำงานในองค์กรเหล่านั้น วิธีการหนึ่งที่ผมอยากเสนอก็คือ กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้คัดเลือกผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลของตนเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้ เมื่อผู้พิพากษาหรือตุลาการใดเข้ารับตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ให้ขาดจากการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ แต่เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ให้กลับไปเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการได้ตามเดิม วิธีนี้จะทำให้เราได้คนดีมีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจกึ่งตุลาการได้จำนวนมากขึ้นเพราะคนเหล่านั้นมีหลักประกันในการประกอบอาชีพเช่นเดียวกับการอยู่ที่เดิมครับ และเมื่อพ้นจากตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้วก็ ยังมีงานทำ ต่อไปได้อีก ส่วนจำนวนนั้นก็คงต้องไปดูเอาเอง ถ้าองค์กรตามรัฐธรรมนูญไหนใช้กฎหมายมหาชนมากก็ให้มีองค์ประกอบจากศาลปกครองมากกว่าผู้พิพากษาที่มาจากศาลฎีกา เป็นต้น
ที่พูดกันมากสำหรับ ก.ก.ต.อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ศาลเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ให้อำนาจ ก.ก.ต.ตั้งแต่จัดการเลือกตั้ง ออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ควบคุมการเลือกตั้ง พร้อมทั้งวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้งได้ด้วย ซึ่งผู้คนก็วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ก.ก.ต.มีอำนาจมากไป ผมเห็นว่า ถ้าในรัฐธรรมนูญใหม่จะกำหนดให้ ก.ก.ต.มีอำนาจแบบเดิมก็ต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยของ ก.ก.ต.ที่ไปกระทบสิทธิประชาชน เช่น การให้ใบแดง ใบเหลือง เป็นต้น นั้น สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการ คุ้มครอง สิทธิประชาชนครับ แต่ถ้าไม่ให้อำนาจ ก.ก.ต. ก็คงต้องไปตั้งศาลเลือกตั้งให้เข้ามามีบทบาทในการวินิจฉัยชี้ขาด ศาลเลือกตั้งไม่ควรเป็นศาลถาวร เป็นศาลที่ตั้งขึ้นเฉพาะตอนเลือกตั้งโดยกำหนดให้มีองค์ประกอบง่าย ๆ ก็คือ ในแต่ละจังหวัดให้ตุลาการศาลปกครองระดับสูงในพื้นที่ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระดับสูงในพื้นที่ และข้าราชการระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคในพื้นที่ ร่วมกันทำหน้าที่เป็นศาลเลือกตั้ง ชี้ขาดข้อพิพาทให้เสร็จในระยะเวลาไม่ยาวนานนัก ส่วน ก.ก.ต.ก็ทำหน้าที่จัดและควบคุมการเลือกตั้งต่อไป นอกจากนี้คงต้องสร้างความชัดเจนให้กับปัญหาการตรวจสอบกฎระเบียบที่ออกโดย ก.ก.ต.ด้วยว่าจะให้ใครเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาเป็นข้อขัดแย้งทางวิชาการระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองที่ต่างก็อ้างว่าตนมีอำนาจในการตรวจสอบกฎขององค์กรตามรัฐธรรมนูญครับ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนั้นดีอยู่แล้ว คงไม่ต้องปรับปรุงอะไร ส่วนอีก 2 องค์กรที่ไม่มีอำนาจในตัวเอง คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คงต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ว่า จะให้มีอยู่ต่อไปหรือไม่ ถ้าจะให้มีอยู่ต่อไปควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไว้ในกฎหมายธรรมดา ควรจะให้มีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
ท้ายที่สุดคือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น ผมเห็นว่าควรให้มีอยู่ต่อเพราะเป็นองค์กรภาคประชาชน (โดยโครงสร้าง) ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่ควรเพิ่มบทบาทให้อีก เช่น เป็นองค์กรให้ความเห็นกับรัฐบาลหรือรัฐสภาในร่างกฎหมายที่สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
ส่วนหัวข้อสุดท้ายในคราวนี้คือการกระจายอำนาจนั้น ผมเห็นว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่ยังล่าช้าอยู่โดยเฉพาะการถ่ายโอนต่าง ๆ ก็คงต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และสมควรลดการกำกับดูแลจากส่วนกลางลงไปอีก และนอกจากนี้ หากเป็นไปได้ควรพิจารณาไปไกลถึงการลดรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เหลือน้อยลง เช่น ยุบเลิก อบต.หรือเทศบาลอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้การปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้ดีขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
ผมคงต้องขอจบการนำเสนอประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เพียงเท่านี้เพราะใช้พื้นที่ยาวเกินไปแล้วครับ ในคราวหน้า ผมขอนำเสนอเรื่องสุดท้ายที่ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งนำเสนอประเด็นปลีกย่อยที่สมควรเพิ่มไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกจำนวนหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและมีประโยชน์ครับ
ในครั้งนี้เรามีบทความมานำเสนอจำนวน 2 บทความ บทความแรกคือ บทความเรื่อง องค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ : ข้อเสนอสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคุณชนินทร์ ติชาวัน นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และบทความที่สองคือ บทความเรื่อง อำนาจตุลาการกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน โดยอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองคนไว้ ณ ที่นี้ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2550 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|