|
|
|
|
|
"ระเบิดรถไฟที่สเปน/การต่อต้านโฆษณาที่ฝรั่งเศส"
ผมมาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสได้สองอาทิตย์กว่าแล้วครับ อากาศกำลังสบาย ผมทำการบรรยายไปแล้วสองครั้งที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ครับ
ข่าวใหญ่ที่สุดของที่นี่ที่มีผู้คนสนใจกันมากก็คือข่าวการก่อวินาศกรรมรถไฟในประเทศ สเปนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก คงไม่ต้องเล่าสู่กันฟังเพราะเข้าใจว่าคงเป็น ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งสำหรับทุกประเทศเลยครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากเป็นประเด็นไว้ ณ ที่นี้คือ ความไม่แน่นอน กับความมั่นใจในศักยภาพของตนเองมากเกินไป ครับ! สองสิ่งนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความพลิกผันทางการเมืองขึ้นในประเทศสเปนไปแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เองครับ รัฐบาลที่กุมเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลที่ปกครองประเทศมา 8 ปีและก็ มั่นใจมากๆว่าจะได้ปกครองประเทศต่อไปอีกนาน รัฐบาลที่ตัดสินใจแบบเด็ดเดี่ยว ไม่ฟังเสียง อื่นๆ ในสภา ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังเสียงใครเลย ตัดสินใจส่งทหารไปอิรักเข้าร่วมกับ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ทั้งๆที่ประเทศอื่นๆในยุโรปส่วนใหญ่ต่างก็อยู่เฉยๆกัน ก่อนการ เลือกตั้งเพียง 4วัน เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้น ซึ่งในตอนแรกรัฐบาลก็ พยายามบิดเบือนว่าเป็นฝีมือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตอนเหนือของประเทศ แต่ในที่สุด ความจริงก็เปิดเผยออก มาก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงวันเดียวว่าเป็นการก่อวินาศกรรมจากองค์กรภายนอก ประเทศซึ่งเชื่อมโยงกับการที่ ผู้นำส่งทหารไปร่วมรบในอิรัก วันรุ่งขึ้นผลการเลือกตั้งก็เปลี่ยน ขั้วการเมืองไปทันทีอย่างไม่น่าเชื่อ ประชาชนแสดงความ โกรธ รัฐบาลที่เป็นต้นเหตุให้มี ผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากจากการตัดสินใจผิดๆของรัฐบาล จึงไปออกเสียงลงคะแนน เลือกพรรคฝ่ายค้านจนทำให้พรรคฝ่ายค้านสามารถเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลแทนครับ เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็น อุทธาหรณ์ สอนใจ บรรดา ท่านผู้นำ ทั้งหลายว่า หนึ่ง จะทำอะไร ก็ควรคิดให้รอบคอบ ฟังเสียงประชาชน ฟังพรรคการเมืองอื่นๆ ฟังวุฒิสภา ฟังสื่อมวลชนบ้าง อย่าเอาแต่ใจตัวเองแล้วก็ ทุบโต๊ะ เพราะมั่นใจศักยภาพของเสียงข้างมากของตนแต่เพียง อย่างเดียว สอง อย่ามั่นใจในอนาคตของตัวเองมากนัก วาดฝันกันว่าจะ อยู่นานๆ ไม่เห็นมีใคร อยู่ได้ สงบ สักทีครับ ตัวอย่างในประเทศเราก็มีที่ ท่านผู้นำ หลายคนที่แทบจะไม่มีแผ่นดิน อยู่ก็มีเพราะเหตุที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นได้เสมอครับ และ สาม อย่าโกหกประชาชนครับ สามสิ่งนี้เป็นสามสิ่งที่ทำให้รัฐบาลที่มั่นใจกันนักหนาว่าจะเป็นรัฐบาล ถาวรและตลอดกาล ของ ประเทศสเปนถึงจุดจบอย่างรวดเร็วและเข้าใจว่าคงใช้เวลาอีกนานเหลือเกินกว่าจะกลับมาเป็นรัฐบาลได้ใหม่อีกครั้งหนึ่งครับ
ผมไม่ได้เอาเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นที่ประเทศสเปนมาเปรียบเทียบหรือมาเป็นฐานในการมอง อนาคตประเทศไทยภายใต้การนำของ ท่านผู้นำ นะครับ เพียงแต่ผมอดเป็นห่วงประเทศของ ผมไม่ได้ครับ ท่านผู้นำ ท่านก็ส่งทหารไทยไปอิรักเหมือนกันครับ จนป่านนี้เราก็ยังไม่รู้ ความจริงเรึ่องไข้หวัดนกเพราะปิดกันไปปิดกันมาตั้งแต่ตัน แถมช่วงนี้ท่านผู้นำท่านแข็งกร้าว เหลือเกินกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครับ !!! เอาเป็นว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง คงต้องสวด ภาวนาขออย่าให้มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นกับประเทศเราเลยนะครับ ส่วนท่านผู้นำก็ต้องพิจารณา วิธีคิดและวิธีทำของท่านควบคู่ไปด้วยนะครับ การก้าวตามโลก การก้าวตามมหามิตรเป็นเรื่องดี แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังมากขึ้น ผมว่าการอยู่แบบ พอเพียง น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับ เวลานี้นะครับ !!!!!
มาสู่ข่าวที่น่าสนใจอีกข่าวหนึ่งที่ผมอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังดีกว่าครับ ข่าวนี้เป็นข่าว เล็กๆที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสครับ แม้ในบ้านเราอาจจะยังมองไม่เห็น ประเด็น กันเท่าไหร่ แต่ในวันข้างหน้าผมเชื่อว่าคงมีคนสนใจมากขึ้นครับ ผมมาได้ยินข่าวนี้ก็เมื่อมาอยู่ที่ประเทศ ฝรั่งเศสแล้ว ถ้ายังอยู่ที่เมืองไทยก็คงต้องวิ่งไปคุยกับ รศ. สุษม ศุภนิตย์ ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วครับ ! หาก อ. สุษมฯ ได้อ่านหรือรับทราบเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ ผมก็ขอฝากเป็นประเด็นไว้ด้วยนะครับ กลับไปผมจะไปขอความรู้ครับ ! เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา การรถไฟใต้ดินแห่งกรุงปารีส (RATP) ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบุคคลจำนวน 62 คน ต่อศาลยุติธรรมชั้นต้นแห่งกรุงปารีส เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้ทำลายป้ายโฆษณา ต่างๆจำนวนหนึ่งที่ติดไว้ในสถานีรถไฟใต้ดินหลายๆแห่งในกรุงปารีส การฟ้องครั้งนี้การรถไฟ ใต้ดินแห่งกรุงปารีสเรียกค่าเสียหายจากบุคคลดังกล่าวเป็นจำนวนสูงถึงหนึ่งล้านยูโร (ห้าสิบล้านบาท) ครับ !
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้มีที่มาจากเมื่อเดือนตุลาคม 2003 ที่ผ่านมา มีการเชิญชวนใน Internet ของกลุ่มผู้ต่อต้านการโฆษณา (antipublicitaire) ที่เรียกร้องให้ช่วยกัน ทำลาย ป้าย โฆษณาต่างๆที่ติดอยู่ มากเกินไป ในสถานีรถไฟใต้ดิน โดยชี้ให้เห็นว่า การโฆษณาทำใน สถานที่สาธารณะ (espace public) อันเป็นสมบัติของประชาชนทุกคน การติดป้ายโฆษณาในสถานที่สาธารณะดังกล่าวก่อให้เกิดมลภาวะทางสายตา (pollution visuelle) แก่ผู้ใช้ บริการรถไฟใต้ดินที่ บังคับ ให้ผู้ใช้บริการรถไฟใต้ดินต้องมองดูโฆษณาเหล่านี้ตลอดเวลา ซึ่งต่างไปจากการโฆษณาทางวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ผู้ไม่ต้องการรับฟังหรือรับชมก็สามารถเปลี่ยน ช่องได้ หรือการโฆษณาในหนังสือต่างๆที่สามารถพลิกไปดูหน้าอื่นได้ แต่การโฆษณาในสถานี รถไฟใต้ดิน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินทางของคนปารีสบังคับให้ผู้ใช้บริการ ต้อง เผชิญ กับมลภาวะทางสายตาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงขอให้ช่วยกันทำลายป้ายโฆษณาทั้งหลายเสีย จากนั้นในวันที่ 17 ตุลาคม ปฏิบัติการทำลายป้ายโฆษณาครั้งแรกก็เกิดขึ้น และเกิด ขึ้นอีก 3 ครั้งในรอบปี 2003โดยกลุ่มผู้ต่อต้านโฆษณาได้ทาสีทับปัายโฆษณา บ้างก็เอากระดาษ ขาวปิดทับป้ายโฆษณาพร้อมเขียนข้อความในทำนองที่ว่า การโฆษณาบั่นทอนสุขภาพของผู้มอง ปฏิบัติการดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงปารีสเท่านั้น เพราะในเวลาต่อมาก็มีผู้ต่อต้านในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่เมืองอื่นๆของประเทศฝรั่งเศสอีกหลายเมือง และยังลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆในยุโรป เช่น ประเทศอิตาลีด้วยที่ผมนำมาเหล่าให้ฟังก็เพราะอยากให้พิจารณาถึง วิธีคิด ของคนที่นี่ครับว่าเขาสามารถสร้าง สิทธิ ใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ผมมีโอกาสได้รับฟังทนายของฝ่าย จำเลย ที่ออกมาพูดทางโทรทัศน์แล้วก็ยิ่ง ทึ่ง ในวิธีคิดครับ โดยทนายของฝ่ายจำเลยพยายามที่จะ ต่อสู้คดีในประเด็นที่ว่า เนื่องจากรถไฟใต้ดินแห่งกรุงปารีสเป็น บริการสาธารณะประเภทหนึ่ง ที่จัดทำขึ้นเพื่อ สนอง ความต้องการของประชาชน ดังนั้น สถานีรถไฟใต้ดินจึงเป็น ส่วนหนึ่ง ของการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งก็ต้อง สนอง ความต้องการของประชาชน เช่นกัน โฆษณาทั้งหลายที่ติดอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดินอันเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกัน นั้น ทำไปโดย ไม่คำนึงถึงความต้องการหรือ ประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ของ คนบางกลุ่ม เช่น เจ้าของสินค้า บริษัทโฆษณา และแน่นอนครับ การรถไฟใต้ดินแห่งกรุงปารีส ที่มีรายได้มหาศาลจากการอนุญาตให้ติดป้ายโฆษณาในสถานีรถไฟใต้ดินได้ ดังนั้น การอนุญาต ให้มีการติดป้ายโฆษณาในสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และในบริเวณที่มีการจัดทำ บริการสาธารณะ จึงเป็นการกระทำที่ ไม่สอดคล้อง กับภารกิจของการรถไฟใต้ดินแห่ง กรุง
ปารีสคือ การจัดให้มีบริการสาธารณะประเภทขนส่งมวลชน ครับ การติดป้ายโฆษณาในสถานีรถไฟใต้ดินดังกล่าวจึงเป็นการกระทำนอกกรอบวัตถุประสงค์ของ การจัดทำบริการสาธารณะและก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการครับ
ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าศาลจะว่าอย่างไรครับ หากฝ่ายประชาชนชนะ ก็คงยุ่งพอควร เหมือนกันนะครับสำหรับวงการโฆษณา จริงๆแล้วโฆษณาสวยๆก็มีเยอะ บางโฆษณาก็มีความหมายดีด้วยนะครับ ผมชอบโฆษณาอยู่ชิ้นหนึ่งที่เห็นเมื่อปีที่ผ่านมา คือโฆษณาผลิตภัณฑ์ Lacoste ที่เอาคำพูดของ Nietzshe นักปรัชญาชาวเยอรมันมาใช้คือ ? Deviens ce que tu es ? ครับ ในสัปดาห์นี้เรามีบทความดีๆนำเสนอสองบทความครับ บทความแรกเป็นบทความเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญไทยกับบทบาทที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ที่เขียนโดย คุณ นพดล เฮงเจริญ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนบทความที่สอง คือ เอกสารทางวิชาการของ ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ นักกฎหมายมหาชนไฟแรงแห่งสำนักท่าพระจันทร์ที่ได้จัดทำ สรุปการเสวนาวิชาการเรื่องเสรีภาพในการชุมชมตามรัฐธรรมนูญกับการสลายกาชุมนุม อันมีที่มาจากการเสวนาทางวิชาการที่จัดขึ้น ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่13มกราคมพ.ศ.2547 ครับ
ผมยังคงอยู่ที่เมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศสอีกหนึ่งเดือนครับ ช่วงนี้ยังขอไม่แนะนำ หนังสือใหม่และงดตอบคำถามครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2547 ครับ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|