หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 74
15 ธันวาคม 2547 13:54 น.
"ปัญหาร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฎ"
       เรากำลังจะผ่านเดือนแรกของปี พ.ศ.2547 ไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้วครับ ผมมีความรู้สึกว่าแม้เวลาจะผ่านไปเร็วเหลือเกิน แต่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรากลับเป็นไปได้อย่างเชื่องช้ามากดังเช่นปัญหาร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ขณะนี้เวลาก็ผ่านไปนานพอสมควรแล้วแต่ก็ยังหาทางออกไม่ได้ครับ ล่าสุดเท่าที่ตรวจสอบได้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ที่ประธานรัฐสภาคือนายอุทัย พิมพ์ใจชน โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา ประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งรัฐสภาที่ 1/2547 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปัญหาการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการสามฝ่ายคือ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน คณะกรรมการสามฝ่ายนี้ได้มีข้อเสนอแนะเป็นทางออกรวมสองแนวทางใหญ่ ๆ คือ ทูลเกล้า ฯ ถวายร่างดังกล่าวพร้อมกราบบังคมทูลถวายข้อเท็จจริงและเหตุผลให้ทรงทราบถึงความไม่สอดคล้องกันของร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนแนวทางที่สองนั้น แยกออกเป็นหลายแนวทางซึ่งสรุปแล้วก็คือ ให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขร่างดังกล่าวใหม่ โดยอาจทำใหม่ทั้งฉบับเริ่มกระบวนการนิติบัญญัติกันใหม่ หรือให้รัฐสภาทบทวนร่างเดิม ซึ่งในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ (23 มกราคม 2547) ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีทางออกกันอย่างไรครับ
       ผมได้เคยกล่าวไว้หลายหนในบทบรรณาธิการของ www.pub-law.net และในการให้สัมภาษณ์สื่อต่าง ๆ ว่า ปัญหาร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่จะ “สร้าง” หรือ “ทำลาย” กระบวนการนิติบัญญัติที่ถูกต้อง และนอกจากนี้แล้วยังเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถานะและความสัมพันธ์ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอีกด้วย จากการติดตามปัญหาดังกล่าวเราจะพบว่า ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการจัดทำกฎหมายนั้นมีที่มาจากหลายฝ่ายด้วยกัน ซึ่งฝ่ายที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ “เต็มๆ” ก็คือฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยธุรการของฝ่ายนิติบัญญัติ เราลองนึกภาพดูว่าหากวันนี้เรามีฝ่ายนิติบัญญัติที่มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของตนเป็นอย่างสูง (อาจให้ลองนึกภาพดูว่าได้แก่คณะกรรมการกฤษฎีกา) และมีหน่วยธุรการที่ประกอบไปด้วยนักกฎหมายระดับแนวหน้าที่มีความรอบรู้ทางด้านวิชาการและมีความละเอียดรอบคอบ (เทียบได้กับนิติกรของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) ปัญหาเหล่านี้คงเกิดขึ้นยาก ดังนั้น เมื่อหาทางออกให้กับปัญหาร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏได้แล้ว มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการ “ปรับ” ระบบการทำงานของรัฐสภาและหน่วยธุรการของรัฐสภาเสียใหม่ รวมทั้งสรรหาคนดีมีฝีมือและสร้างคนดีมีฝีมือมาเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติในการจัดทำร่างกฎหมายต่อไป
       แต่อย่างไรก็ดี ในวันนี้ เมื่อพิจารณาดูมาตรา 93 แห่งรัฐธรรมนูญก็จะพบว่า ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏน่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ “ท่านผู้นำ” ของเราทำผิดรัฐธรรมนูญไปแล้วครับ เพราะมาตรา 93 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายนั้นจากรัฐสภา ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า “ท่านผู้นำ” จะว่าอย่างไร เพราะเรื่องดังกล่าวตรวจสอบได้ไม่ยากครับ รัฐสภาส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมาถึงมือฝ่ายบริหารวันใดก็ให้เริ่มนับ 20 วันในวันนั้น ส่วนฝ่ายบริหารจะส่งกลับคืนไปยังฝ่ายนิติบัญญัติอีกทีนั้น ผมว่าไม่มีผลทำให้ระยะเวลา 20 วันสะดุดหยุดลงนะครับ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวเอาไว้และนอกจากนี้ก็ยังไม่มีประเพณีปฏิบัติที่ทำกันแบบนี้อีกด้วยครับที่ให้ฝ่ายบริหาร “ส่ง” ร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติไปเรียบร้อยแล้วกลับไปยังฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้งหนึ่ง สงสัยประธานรัฐสภาคงต้องส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียแล้วว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแต่ยังไม่ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายหรือไม่ แต่ต้องตั้งประเด็นไปให้ครบด้วยนะครับว่า ร่างกฎหมายนั้น “ออกเดินทาง” จากรัฐสภามาแล้วและมาอยู่ในมือของฝ่ายบริหารครับ
       เมื่อเรื่องนี้หาทางออกได้ ท่านผู้นำอย่าลืมที่จะพิจารณาดูด้วยนะครับว่า ความผิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่กับใครบ้างและอยู่ในขั้นตอนใด แถลงให้ประชาชนทราบและวางแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดลักษณะนี้ขึ้นมาอีกครับ
       นอกจากเรื่องร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏแล้ว เรื่องค่าโง่ทางด่วนก็ยังเงียบอยู่ครับ ในวันนี้ผมก็ยังหาคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้กับคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่ได้ ใครมีช่วยบอกผมด้วยนะครับ ผมยังขอยืนยันแบบเดิมว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิทราบข้อมูลของเรื่องดังกล่าว รวมทั้งวิธีการคำนวณ “ค่าโง่” จำนวนมหาศาลนั้นด้วยครับ ผมไม่อยากให้รัฐต้องนำเงินจำนวนมหาศาลที่จะไปทำอย่างอื่นเพื่อประโยชน์มหาชนได้ไปจ่ายให้กับคนกลุ่มเดียวครับ ส่วนเรื่องอื่นที่น่าติดตามดูเป็นอย่างยิ่งในวันนี้ก็คือ เรื่องโครงการทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ กว่า 2.2 หมื่นล้านที่ว่ากันว่ามีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่หลายคน ขอความกรุณาจาก “ท่านผู้นำ” ช่วยจัดการกับคนและปัญหาคอรัปชั่นให้จบสิ้นไปเสียทีนะครับ ประชาชนเบื่อที่จะมานั่งตาละห้อยดูนักการเมืองและข้าราชการไม่ดีเหล่านี้เต็มทนแล้วครับ
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพื่อนอาจารย์ต่างมหาวิทยาลัยได้ส่งเอกสารชิ้นหนึ่งให้ผม เอกสารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “คำนำ” ของหนังสือเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นได้ “พาดพิง” มาถึง www.pub-law.net ในทำนองที่ว่ามีนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นว่า บทความของผู้เขียนที่ปรากฏใน www.pub-law.net นั้น เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วตัวอักษรเล็กอ่านยาก หากจะให้อ่านง่ายก็ต้องใช้เวลาใช้การปรับเปลี่ยนตัวอักษร และบทความที่ถ่ายหรือพิมพ์ออกจาก www.pub-law.net เมื่อศึกษาเสร็จแล้ว แนวโน้มว่าจะไม่เก็บรักษาค่อนข้างสูงเพราะไม่ได้ทำเป็นรูปเล่มไว้
       โดยข้อเท็จจริงแล้ว แทบจะไม่ต้องชี้แจงให้ผู้ใช้บริการและผู้ที่ใช้ website อยู่เป็นปกติให้ทราบเลยว่า การเปลี่ยนขนาดของตัวอักษรเพื่อการอ่าน website ทั่ว ๆ ไปรวมทั้ง www.pub-law.net นั้นทำได้ง่ายมาก แค่ “คลิกเดียว” ก็อ่านได้ตามขนาดที่ต้องการแล้วครับ ส่วนการเก็บบทความนั้น www.pub-law.net ของเราเก็บบทความที่เคยลงไว้เกือบหมด (มีการ “ตัด” บทความที่เคยลงไปแล้วและคณะกรรมการกลั่นกรองบทความ (peer review) ของเราเห็นว่าไม่สมควรให้คงไว้ออกครับ) และนอกจากนี้ในแต่ละปีเรายังรวบรวมบทความบางส่วนจัดพิมพ์เป็นหนังสือและแจกฟรีให้กับผู้ใช้บริการครับ เพราะฉะนั้นข้อพาดพิงดังกล่าวจึงเป็นข้อพาดพิงที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงครับ แต่น่าจะเป็นข้ออ้างที่ยกขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนให้สำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือของตนมากกว่าครับ ก็ต้องขอชี้แจงให้ผู้ที่บังเอิญ “พลัดหลง” ไปเห็นข้อความดังกล่าวทราบไว้ด้วยครับว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงไม่ใช่เป็นการหาเรื่องทะเลาะ เพราะผมไม่ประสงค์ที่จะ "ลงบันได” ไปหาเรื่องทะเลาะครับ !!!
       เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา จำนวนยอดการใช้บริการของเราผ่านหลัก 200,000 ไปแล้วครับ จากการตรวจสอบข้อมูลเท่าที่เก็บไว้พบว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานี้มีคนเข้าประมาณกว่า 100,000 ครั้งครับ ก็ต้องขอขอบคุณผู้ใช้บริการทุกคนที่สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของ website นี้ครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความเรื่อง “สิทธิพลเมือง อธิปไตยของปวงชน : ฐานะและบทบาทที่ลดลง” ของอาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มานำเสนอให้กับผู้อ่านครับ บทความนี้เป็นบทความที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาครับ นอกจากบทความนี้แล้วเรามีการตอบคำถามจำนวนมากใน “เวทีทรรศนะ” มีการแนะนำหนังสือใหม่ 1 เล่มใน “หนังสือตำรา” และในหน้าแรกของเราก็มีการประชาสัมพันธ์หนังสือดี ๆ จำนวน 10 เล่มจากสถาบันพระปกเกล้าด้วยครับ
       พบกันใหม่วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544