หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 129
6 มีนาคม 2549 06:52 น.
ครั้งที่ 129
       สำหรับวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2549
       
       “ผลย่อมเกิดจากเหตุ”
       
       เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา www.pub-law.net ของเรามีอายุครบ 5 ปี ไปแล้วครับ นึก ๆ ดูแล้วก็ไม่อยากเชื่อว่าเราจะอยู่ได้นานขนาดนี้นะครับ จริง ๆ ผมอยากจะเลิกทำ website นี้หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ติดตรงที่เรามีผู้เข้าใช้บริการมากเหลือเกินและเราก็เป็น website ด้านกฎหมายมหาชนเพียง website เดียวตั้งแต่เริ่มตั้งในปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน หากเลิกไปผู้ใช้บริการก็จะขาดแหล่งข้อมูลด้านกฎหมายมหาชนไป คิดอย่างนี้ก็เลยทำต่อมาจนกระทั่งวันนี้ครับ เป้าหมายของผมคงไม่มีอะไรมากนอกจากจะพยายามทำให้ website นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการต่อไปเรื่อย ๆ ครับ
       เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วผมไปราชการต่างประเทศ ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ “ตื่นเต้น” ทางการเมืองในประเทศไทย เพื่อนหลาย ๆ คนคิดว่าผม “พลาด” เหตุการณ์สำคัญไป แต่จริง ๆ แล้วผมไม่ได้พลาดข่าวสำคัญใดเลยแม้แต่น้อยเพราะผมร่วมทางไปกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 2 คนที่มีบทบาทสำคัญมาก ๆ ในระบบราชการ ก็เลยรับรายงานข่าวจากกรุงเทพฯ แทบจะเรียกได้ว่าทุกนาทีเลยทีเดียวครับ
       ครั้งแรกที่ผมได้ยินข่าวว่านายกรัฐมนตรีจะยุบสภา ผมก็ไม่คิดว่าจะเป็นไปตามนั้นเพราะตามความเข้าใจของผมนั้น การยุบสภาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาการทำงานขึ้นระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐบาล หรือเกิดข้อขัดแย้งขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรจนไม่อาจทำงานได้หรืออาจเป็นกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้คือ การชุมนุมของประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเกิดขึ้นในหลายประเทศครับแล้วก็เกิดขึ้นตลอดเวลาครับ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผมแปลกใจพอสมควรทีเดียวที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ “ทำผิด” อะไรเลยครับ
       นึก ๆ ดูแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็เป็นสิ่งที่ “แปลก” สำหรับ “การเมือง” ในประเทศไทย การ “กดดัน” ให้นายกรัฐมนตรีลาออกที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดจาก “น้ำผึ้งหยดเดียว” ก็เป็นได้เพราะจุดเริ่มต้นไม่ได้เป็นเรื่อง “ร้ายแรง” อะไรมาก เป็นปัญหาระหว่าง “คุณสนธิฯ” กับ “รัฐบาล” ที่ต่อมาก็เลยเถิดไปจนถึงการห้ามคุณสนธิฯ จัดรายการโทรทัศน์ คุณสนธิฯ ก็เลยต้องออกมาใช้เวทีข้างนอกซึ่งดู ๆ ไปแล้วก็ไม่ค่อย “น่ากลัว” เท่าไรนัก แต่แล้วเมื่อเกิดกรณีขายหุ้นชินคอร์ปให้กับบริษัทสิงคโปร์ เหตุการณ์ก็เริ่มรุนแรงและบานปลายออกไป ประชาชนที่ไม่พอใจนายกรัฐมนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ออกมาร่วมขบวนกับคุณสนธิฯ ด้วย เลยกลายเป็นความขัดแย้งในสังคมที่ยืดเยื้อมาจนกระทั่งทุกวันนี้
       ที่ผมกล่าวไปข้างต้นว่า ประชาชนไม่พอใจนายกรัฐมนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดขึ้นเองนะครับ ที่ผ่านมาเราลองทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นดูไม่ว่าจะเป็นกรณี “ซุกหุ้น” ที่แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินไปแล้วว่านายกรัฐมนตรี “ไม่ผิด” แต่หลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว (เช่นการให้แม่บ้านหรือคนขับรถถือหุ้นแทน) ก็ทำให้หลาย ๆ คน “กังขา” ในความ “โปร่งใส” ของนายกรัฐมนตรีหรือกรณีสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับบริษัทสิงคโปร์ซึ่งมี “คำถาม” ที่สำคัญเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการขายหุ้นแต่ก็ไม่มีใครสามารถให้ความ “กระจ่าง” กับสังคมได้ ภาพของการเป็นนักธุรกิจที่ “ไม่โปร่งใส” จึงติดอยู่ในใจของประชาชนจำนวนหนึ่ง เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นในการขายหุ้นชินคอร์ป คนเหล่านี้จึงออกมาร่วม “ขับไล่” นายกรัฐมนตรีครับ แล้วอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนออกมาร่วมขับไล่นายกรัฐมนตรีก็คือ ลักษณะอาการและคำพูดที่ “ท้าทาย” ของนายกรัฐมนตรีเองที่เมื่อมีปัญหาแทนที่จะ “ชี้แจง” ทุกเรื่องเพราะตนเป็น “บุคคลสาธารณะ” แต่ในบางเรื่องนายกรัฐมนตรีกลับเลือกใช้วิธี “อัดกลับ” ด้วยคำพูดแรง ๆ คำพูดยั่วยุ หรือคำพูดท้าทาย ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีของเราจึง “ย่ำแย่” กับกระแส “ไม่เอา” นายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นครับ นี่แหละครับที่เราเรียกกันว่า “ผลย่อมเกิดจากเหตุ”
       
มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ นั่นคือ การที่นายกรัฐมนตรีคนเก่งของเราจะ “ปฏิรูปการเมือง” ครับ เรื่องปฏิรูปการเมืองนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าคนทั่ว ๆ ไปจะเข้าใจ เดิมในปี 2540 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้บังคับ เราก็บอกกันว่านี่คือการปฏิรูปการเมือง เมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับใหม่ ๆ มีหลาย ๆ คนที่ “พยายาม” แย่งกันเป็น “เจ้าของ” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งเขียนหนังสือ ทั้งออกโทรทัศน์วิทยุ ทำให้คนเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ใครพูด ใครว่า ใครแตะรัฐธรรมนูญไม่ได้ ล่าสุดเมื่อไม่เกิน 6 เดือนมานี้เอง เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บรรยายถึง “ข้อบกพร่อง” ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและ “ความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ท่านก็ถูก “ท้าทาย” ในลักษณะที่ว่า ให้ลองยกร่างรัฐธรรมนูญมาให้ดูสักฉบับเพื่อดูว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่วันนี้ วันที่เราคิดว่าปัญหาหลายประการเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ เรากลับไม่ได้ยินเสียงจากบรรดา “เจ้าของ” รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลยครับ แถมพอนายกรัฐมนตรีบอกจะปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เห็นเงียบกันไปหมด น่าจะลองออกมาเถียงนายกรัฐมนตรีดูหน่อยนะครับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้วไม่ต้องแก้ก็ได้!!!
       ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้ว่า มีนักวิชาการกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่สนใจปัญหาของบ้างเมืองและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ นักวิชาการกลุ่มนี้มีศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นหัวขบวน ได้พยายามชี้แจงกับสังคมมากว่า 2 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีผู้ใดขานรับ ใครที่เป็น “แฟนประจำ” ของ www.pub-law.net ก็จะสังเกตเห็น “หน้าต่าง” ของ “การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2” เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว แม้กระทั่งร่างมาตรา 313 เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ในวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ “ขอยืม” ไปใช้ก็ปรากฏอยู่ใน website ของเรามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 แล้วครับ เพราะฉะนั้น จึงพอกล่าวได้ว่า เรามองเห็นเหตุผลและความจำเป็นของการปฏิรูปการเมืองด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากว่า 2 ปีแล้วครับ
       สาเหตุที่เราคิดว่าต้องทำการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่งนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งมาจากนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองบางส่วนครับ เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนอย่างมากทั้งจากประชาชนและจากสภาผู้แทนราษฎร แทนที่การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะเป็นการ “ปฏิรูปการเมือง” แต่กลับทำให้การเมืองของเรา “ถอยหลังลงคลอง” ครับ คงปฏิเสธไม่ได้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน การแทรกแซงหรือการเข้าครอบงำองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จนทำให้ไม่สามารถทำการตรวจสอบได้ รวมไปถึงวุฒิสภาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตั้งความหวังเอาไว้สูงมากก็เช่นกัน เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการยอมรับในที่ประชุมวุฒิสภาว่ามีสมาชิกบางคนรับเงินจากพรรคการเมือง มีการ “แจกโผ” และ “แจกเงิน” ทุกครั้งที่มีการเลือกคนเข้าสู่องค์กรอิสระ ทั้ง กทช. กสช. ป.ป.ช. ก็เลือกกันหลายรอบ รัฐธรรมนูญใช้มา 8 ปีกว่าแล้ว กสช.ก็ยังเกิดไม่ได้เสียทีครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีเศษที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งนี้ เราไม่เคยได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่เคยได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดถึงการปฏิรูปการเมืองเลยครับ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ภายหลังจากที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่าง “ขาดลอย” ผมก็ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีทำการปฏิรูปการเมืองด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ในบทความของผมเรื่อง “ถึงท่านผู้นำ” แม้บทความจะลงในหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับ แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงตอบรับจากผู้ใดเลย (แถมยังมีคนมา “ดุ” ผมอีกด้วยที่เขียนบทความในลักษณะนั้น!!!) แล้วทำไมวันนี้ นายกรัฐมนตรีถึงจะปฏิรูปการเมืองครับ ผมไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีคิดอะไรอยู่ ผมไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรี “เข้าใจ” การปฏิรูปการเมืองและสาเหตุของการปฏิรูปการเมืองได้ดีเพียงใด เพราะวันนี้ หลาย ๆ คนในบ้านเรามองเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปการเมืองอันเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง นั่นก็คือ ตัวนายกรัฐมนตรีเองที่เป็นเหตุให้ต้องทำการปฏิรูปการเมืองครับ!!!
       การที่นายกรัฐมนตรีออกมาหนุนกระแส “ปฏิรูปการเมือง” ด้วยการเสนอว่าจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้นั้น ถามจริง ๆ เถิดครับว่า นายกรัฐมนตรีมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาตรงส่วนใดบ้าง เพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องนี้เลยครับ!!! หากนายกรัฐมนตรี “เข้าใจ” การปฏิรูปการเมืองและ “มองเห็น” ความจำเป็นของการปฏิรูปการเมืองแล้ว ทำไมถึงต้องยุบสภาครับ! การยุบสภาทำให้ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ภายใต้กฎกติกาเดิม มีการตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้กฎกติกาเดิม และนอกจากนี้ในอีกไม่กี่วันก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาภายใต้กฎกติกาเดิมเช่นกัน ผมอยากตั้งคำถามว่า เมื่อรัฐบาลใหม่ที่ค่อนข้างแน่นอนว่าจะเป็นรัฐบาลของพรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศ และตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมมติว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เห็นความจำเป็นของการมีวุฒิสภา เราจะทำอย่างไรครับ!!! เลือกตั้งวุฒิสภาเข้ามาทำงานไม่ถึง 1 ปี เสียเงินค่าจัดการเลือกตั้งไปหลายพันล้านบาทเพื่อที่จะมา “ยกเลิก” ผมคิดว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสำหรับประเทศไทยครับ ที่ถูกและประหยัดงบประมาณของประเทศ เราควร “ศึกษาวิเคราะห์” และ “จัดทำ” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จก่อน (ถ้าจำเป็นต้องจัดทำ!) จากนั้นการเลือกตั้งจึงค่อยเกิดขึ้นตามกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครับ ผมไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร “ข้อเสนอ” ของผมถึงจะใช้ได้เพราะวันนี้เรา “ผ่าน” จุดนั้นมาแล้วเนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรออกมาและคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกติกาโดยเในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครับ หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็สุดจะคาดเดาได้ คงต้องนั่งลุ้นกันต่อไปครับ
       ไม่น่าเชื่อจริง ๆ นะครับว่าพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็น “พรรคการเมืองแรก” ของไทยที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ สังคมยกย่อง มีความกล้าหาญที่จะทำอะไรให้กับบ้านเมืองได้หลาย ๆ อย่าง มีประชาชนอยู่เคียงข้าง จะ “ตกที่นั่งลำบาก” ทางการเมืองในวันนี้ ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไปภายหลังการเลือกตั้งครับ! ส่วนเรื่องการปฏิรูปการเมืองนั้น ผมขอฝาก “ข้อคิด” สำคัญไว้ด้วยว่า การปฏิรูปการเมืองจะเกิดผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทำโดยบุคคลที่เป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง และไม่ได้เป็น “ต้นเหตุ” หรือ “ส่วนหนึ่ง” ที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกันคือ “บทวิเคราะห์พระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548” โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล และ “ปัญหาคาใจในการเมืองไทยปัจจุบัน” โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ครับ ขอขอบคุณผู้เขียนทั้ง 2 ไว้ ณ ที่นี้ และนอกจากนี้ เรามีหนังสือดี ๆ จำนวนมากของสถาบันพระปกเกล้ามาแนะนำด้วยครับ
       ในระหว่างวันที่ 15-28 มีนาคมนี้ ผมจะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส หากพบอะไรที่น่าสนใจก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544