หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 64
14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
"สัมปทาน"
       เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2546 หลายๆคนที่เป็นผู้ใช้บริการทางด่วน ก็คงนั่งกระสับกระส่ายลุ้นระทึกว่า จะต้องเสียเงินค่าทางด่วนเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งในที่สุดแล้ว ผลการพิจารณาที่มาคงเป็นที่ทราบกันไปทั่วแล้วว่า ผู้ใช้รถยนต์ปกติยังคงเสียค่าใช้ทางด่วนในอัตราเดิมครับ
       ปัญหาเรื่องค่าใช้บริการทางด่วนเป็นหนึ่งในปัญหาหลายๆปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบ “สัญญาทางปกครอง” ของไทยที่ทำขึ้นในอดีตที่ผ่านมาและดูท่าว่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าสัญญาสัมปทานเหล่านั้นจะสิ้นอายุลง หรือไม่ก็คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอเลิกสัญญาไปก่อนที่สัญญาจะครบกำหนด ปัญหาทั้งหลายเป็นปัญหาที่เกิดจากอะไร ? หลายๆคนคงตอบได้ แต่หลายๆคนก็คงตั้งเป็นข้อสงสัย ส่วนผมนั้นก็มีทั้งตอบได้และมีข้อสงสัยด้วยครับ
       จากการศึกษาถึงระบบการมอบบริการสาธารณะให้เอกชนไปจัดทำจะพบว่า ในประเทศไทยเรานั้นมีการดำเนินการดังกล่าวกันมานานแล้ว และมีทั้งการมอบที่ “มีหลักเกณฑ์” และการมอบที่ “ไม่มีหลักเกณฑ์” เราคงเคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการให้ “สัมปทาน” แก่ภาคเอกชนไปหลายๆอย่างว่า รัฐได้ประโยชน์คุ้มค่าไหม หรือว่าเอกชนได้ประโยชน์คุ้มค่ากว่า ! เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละโครงการนี้ไม่เหมือนกัน ลองพิจารณาดูโครงการสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่เคยมีปัญหาว่าผู้รับสัมปทานจะขอขึ้นราคาค่าบริการเลยแม้แต่ครั้งเดียว แถมผู้รับสัมปทานก็ยังรวยเอา รวยเอา จนไม่มีอะไรมาฉุดความร่ำรวยนั้นไว้ได้ ในขณะที่สัมปทานบางประเภทก็ถึงกาลอวสานไปอย่างง่ายๆ เช่น สัมปทานเพจเจอร์ เป็นต้น ส่วนสัมปทานทางด่วนนั้นก็เป็นข่าวทุกครั้งที่จะขอขึ้นราคา ความแตกต่างของระบบสัมปทานเหล่านี้เป็นความแตกต่างที่น่าสนใจมาก ซึ่งผมคิดว่าเราคงต้องมองในภาพกว้างทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงเศรษฐศาสตร์ เอกชนคนหนึ่งต้องหอบเงินจำนวนมหาศาลมาลงทุนในบ้านเราเพื่อสร้างสาธารณูปโภคให้เราใช้แทนที่รัฐจะเป็นคนสร้าง หากจะถามว่าเอกชนควรได้อะไรเป็นการตอบแทน คำตอบก็คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ค่าบริการเป็นสิ่งที่เอกชนควรได้รับเพราะเขาเป็นคนลงทุนลงแรงทั้งหมด หากเอกชนต้องถูกบังคับให้ขาดทุนด้วยการไม่ให้ขึ้นราคาค่าบริการตามสิทธิที่เขาควรจะได้ ในวันข้างหน้าก็จะไม่มีใคร “กล้า” มาลงทุนในบ้านเรา ดังนั้น การที่รัฐใช้สิทธิในการไม่ให้เอกชนขึ้นราคาค่าใช้บริการ ในภาพรวมก็อาจกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของผู้รับสัมปทานได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้รับสัมปทานส่วนใหญ่ก็คงต้องใช้วิธีกู้เงินมา สร้างสาธารณูปโภคเหล่านั้น และ “ผ่อนชำระ” เงินกู้จำนวนมหาศาลจากค่าบริการที่ตนเก็บได้ เมื่อฝ่ายผู้รับสัมปทานถูกห้ามขึ้นราคาทั้งๆที่กำหนดไว้ในสัญญา ก็อาจกระทบต่อผู้รับสัมปทานได้ และคงส่งผลกระทบต่อโครงการนั้นในภาพรวมด้วยครับ
       จริงๆแล้ว เรื่องสัมปทานในบ้านเรามีอะไรให้เขียนเยอะมากครับ แต่เนื่องจากเนื้อที่ในบทบรรณาธิการมีจำกัด จึงต้องขอติดเอาไว้ก่อนครับ ผมจะพยายามเขียนเรื่องนี้อีกครั้งในรูปของบทความครับ
       ผมต้องไปต่างประเทศอีกแล้วครับ คราวนี้ก็เหมือนเดิมคือเกือบสองเดือน โดยผมจะเดินทางวันอังคารที่ 9 กันยายน และจะกลับมาในวันที่ 23 ตุลาคมครับ ผมไปฝรั่งเศส ช่วงแรกนี้ไปงานสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งที่เมือง Aix en Provence โดยผมร่วมเดินทางไปกับเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คุณนพดล เฮงเจริญ ครับ งานสัมมนานี้จัดขึ้นโดยสมาคมรัฐธรรมนูญแห่งยุโรป มีการเชิญนักรัฐธรรมนูญจากทั่วโลกมาร่วมงานประมาณ 120 คนครับ พอเสร็จงานสัมมนาในวันเสาร์ที่ 12 กันยายน ก็จะเข้า Paris สักพัก แล้วก็ไปที่มหาวิทยาลัย Nantes ต่อเพราะผมมีเสนอผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่นั่นประมาณอาทิตย์ที่สองและสามของเดือนตุลาคมครับ
       ในช่วงที่ผมไม่อยู่ ก็เช่นเดียวกับที่ผ่านมา ผมจะส่งบทบรรณาธิการมาจากฝรั่งเศสครับ บทความมีเขียนตุนเอาไว้ 2-3 ตอนแล้ว ก็คงไม่มีปัญหาเท่าไหร่ ส่วนคำถามของดไว้ก่อนนะครับ ขอบคุณครับ
       ในสัปดาห์นี้ บทความเรื่องความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครอง ของผมลงเป็นตอนที่ 3 แล้ว และเรามีบทความของรองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา เรื่องสิทธิในการใช้นามสกุลของหญิงมีสามี เส้นบรรจบระหว่างความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลกับความเป็นเอกภาพของสถาบันครอบครัว อีกบทความหนึ่งด้วยครับ ส่วนคำถามที่ถามมาและค้างๆ อยู่ ผมไม่มีเวลาตอบเลยครับ คำถามที่ถามเพื่อ “ทำรายงาน” ผมไม่ขอตอบนะครับ เพราะผมมีเวลาน้อยมาก น้อยจนจะไม่มีเวลาส่วนตัวอยู่แล้ว หากต้องช่วยน้องๆทำรายงานสัปดาห์ละ 20-30 คน ผมคงแย่แน่ๆครับ ลองช่วยตัวเองดูก่อนแล้วกันครับ คำถามที่ยังไม่ได้ตอบและผู้ถามต้องการคำตอบจริงๆ ลองถามยืนยันมาอีกครั้งนะครับ ส่วนสาระสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยต่างๆ หรือรายชื่อหนังสือใหม่ เราก็ปรับให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาครับ
       ท้ายสุดขออวยพรให้นักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่กำลังจะสอบปากเปล่าในช่วงนี้สามารถผ่านการสอบไปได้ด้วยดีนะครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544