หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 118
2 ตุลาคม 2548 21:28 น.
"ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งหรือไม่"
       เมื่อมีการออกข่าวว่าคุณวิสุทธิ์ มนตริวัต ขอถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้คนก็ออกมาให้ความเห็นกันเป็นจำนวนมากว่าควรทำอย่างไรต่อไป แต่บทสรุปก็ยังคงไม่มีแล้วก็ยังไม่มีคำตอบว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ?
       ความเห็นที่มีคนออกมาแสดงนั้นมีอยู่มากมายหลายแบบ แล้วก็มีทั้งนักการเมือง นักกฎหมาย และนักอื่น ๆ ออกมาเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากันมาก นอกจากนี้แล้วก็ยังมีบางคนออกมา “ถามหา” ความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวจากหลาย ๆ บุคคลและองค์กร ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานวุฒิสภา ผมเชื่อว่าในรอบเกือบ ๆ 8 ปีของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่มีเหตุการณ์ใดเลยที่จะสร้างความสับสน ความขัดแย้ง และสร้างทางตันให้กับสังคมได้มากเท่ากับกรณีนี้
       คำถามที่ตามมาก็คือ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีคน “โทษ” รัฐธรรมนูญกันอยู่พอสมควร หรือเป็นปัญหาที่เกิดจาก “การใช้” รัฐธรรมนูญโดยบุคคลและองค์กรต่าง ๆ อย่างไม่ “ตรง” ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมากกว่าที่ทำให้เกิดปัญหา คำถามนี้คงตอบยากพอสมควรเพราะเราคงต้อง “รวบรวม” ข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น คือ การเริ่มการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปจนกระทั่ง “ตอนจบ” ของเรื่อง ที่เรายังมองไม่ออกว่าจะจบอย่างไร ในส่วนของผมนั้นก็จะพยายาม “ยุ” ให้นิสิตระดับปริญญาโทด้านกฎหมายมหาชนของผมสักคนหนึ่งศึกษาและหาทางพัฒนาประเด็นดังกล่าวเป็นวิทยานิพนธ์ต่อไปครับ
       ในฐานะ “นักกฎหมาย” คนหนึ่ง ผมก็อดมีความเห็นในเรื่องการถอนตัวของคุณวิสุทธิ์ มนตริวัต ไม่ได้ ผมคิดว่า ถึงแม้คุณวิสุทธิ์ ฯ จะถอนตัวไปแล้ว แต่การถอนตัวดังกล่าวก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะปัญหาที่แท้จริงของเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ความชัดเจนของสถานภาพของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ต่างหากว่า ณ วันนี้ คุณหญิงยังเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่หรือไม่ หากปัญหานี้ไม่ได้รับความ “กระจ่าง” เรื่องทั้งหลายก็ยังไม่จบลงอย่างง่าย ๆ ครับ
       ลองมาตั้ง “โจทย์” จากปัญหาข้างต้นกันดูดีกว่าว่าเหตุการณ์ต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หากเรามีโจทย์อยู่ 2 แนวทาง ในแนวทางแรกหากเราบอกว่า ณ วันนี้ คุณหญิงจารุวรรณ ฯ ยังเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ ปัญหาที่ตามมาก็คือเราจะเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 ไปไว้ตรงไหน เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คือคุณหญิงจารุวรรณ ฯ) นั้น มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากเราอ่านคำวินิจฉัยอย่างเป็นกลางและไม่พยายาม “สร้างทางตัน” ให้กับชีวิตเกินไปนัก เราก็คงพอเข้าใจได้ไม่ยากว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวมีความหมายค่อนข้างชัดเจนคือหมายความว่าคุณหญิงจารุวรรณ ฯ จะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเข้ามาสู่ตำแหน่งด้วยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น หากเราเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณ ฯ ยังคงเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ก็เท่ากับว่าเรา “ปฏิเสธ” คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่มาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองถึง “สถานะ” ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่าเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ การปฏิเสธดังกล่าวคงมีความ “รุนแรง” ค่อนข้างมากสำหรับประเทศไทยเพราะต่อไปในภายภาคหน้าหากมีใครที่คิดจะ “ไม่นำบทบัญญัติบางมาตราในรัฐธรรมนูญ” มาใช้บังคับก็สามารถทำได้อย่างไม่ยาก ซึ่งก็จะเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ ทำลายรัฐธรรมนูญ และทำลายการปฏิรูปการเมืองของเราลงอย่างง่ายดายครับ เพราะฉะนั้นในแนวทางแรกนี้เอง จึงมีประเด็นที่ต้องคิดตามมาว่า หากเราเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณ ฯ ยังเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ จะทำอย่างไรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 ส่วนแนวทางที่สองนั้น หากเราบอกว่า ด้วยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 คุณหญิงจารุวรรณ ฯ พ้นจากการเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ปัญหาที่ตามมาก็คือ เราจะทำอย่างไรต่อไปเพราะคุณหญิง ฯ ยังคงยืนยันอยู่ว่าตนเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ ! เพราะหากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่และส่งไปให้วุฒิสภา เรื่องก็จะ “ซ้ำรอยเดิม” ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกดังเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นในแนวทางที่สองนี้เองที่เราจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่า หากเราเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณ ฯ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เกิดการ “ยอมรับ” ได้ว่า คุณหญิงจารุวรรณ ฯ พ้นจากตำแหน่งนั้นไปแล้วจริง ๆ เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปแล้ว ก็ยังมีการ “ไม่ยอมรับ” กันอยู่เป็นอย่างมากดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ครับ
       อาจมีจุดสำคัญจุดหนึ่งที่เราต้อง “หาคำตอบ” ให้ได้ก่อนว่า การพ้นจากตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ ฯ นั้น ต้องมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ จุดนี้เองที่หากเราตอบได้ก็คงช่วยคลี่คลายให้ความกระจ่างในเรื่องดังกล่าวได้บ้าง ในส่วนตัวผมเองนั้นผมได้พยายามตรวจสอบดูรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลาย ๆ ฉบับแล้วเห็นว่ามีบางตำแหน่งที่กำหนดไว้ชัดเจนในกฎหมายว่าจะต้องมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เช่น มาตรา 217 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ มาตรา 227 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย หรือมาตรา 251 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ ทรงให้พ้นจากตำแหน่งเว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย หรือกฎหมายที่ใช้อยู่กับผมคือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 ว่า การออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตำแหน่งเทียบเท่าระดับ 10 ขึ้นไปหรือตำแหน่งศาสตราจารย์ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย ซึ่งเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 แล้วพบว่า ในหมวด 2 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ได้มีบทบัญญัติที่ใดเลยที่กล่าวถึงการพ้นจากตำแหน่งว่าจะต้องได้รับพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง นอกจากนี้แล้วเมื่อพิจารณามาตรา 34(6) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่สามารถมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง และวุฒิสภามีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ก็จะพบว่าการที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะพ้นจากตำแหน่งนั้น กฎหมายไม่ได้กล่าวไว้ว่าจะต้องมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ส่วนที่มีบางคนออกมากล่าวว่า มาตรา 227 ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง จะนำมาใช้กับกรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้นั้น เมื่อพิจารณาดูมาตรา 32(1) ประกอบกับมาตรา 34(5) แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องไม่เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือมีเงินเดือนประจำ ดังนั้น ในเมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่เป็นข้าราชการจึงไม่อาจนำความในมาตรา 227 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับได้ครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ผมคิดว่าคำตอบสำหรับปัญหาดังกล่าวก็น่าจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วเมื่อวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 ครับ!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความใหม่จากผู้เขียนคนเดิมของเรา คือบทความเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสำหรับผู้เริ่มเรียน” ของคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ ที่มานะอุตสาหะส่งบทความมาลงที่นี่อย่างสม่ำเสมอครับ ผมขอขอบคุณอีกครั้งหลังจากที่ได้ขอบคุณไปหลายครั้งจนไม่รู้จะขอบคุณอย่างไรดีแล้วครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544