|
|
|
|
|
ปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน:ยึดองค์กรเป็นหลัก
ประเด็นร้อนทางการเมืองในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นประเด็นเกี่ยวกับตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่วันนี้สังคมก็ยัง งง ๆ กันอยู่ว่าในที่สุดแล้วผลจะออกมาอย่างไร?
ความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวมีลักษณะ เฉียด ๆ มหากาพย์เพราะมีระยะเวลานานและมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 คือคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2547 สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งก็ได้เสนอเรื่องถึงประธานรัฐสภาในขณะนั้นให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2547 ว่า กระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบที่ เกี่ยวข้อง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ได้ทำการเสนอชื่อ นายวิสุทธิ์ มนตริวัต ต่อวุฒิสภาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2547 เมื่อประธานวุฒิสภา ได้รับเรื่องก็ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตรวจสอบประวัติและในที่สุดวุฒิสภาก็ลงมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2548 เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายวิสุทธิ์ ฯ ประธานวุฒิสภาจึงได้นำชื่อนายวิสุทธิ์ ฯ ขึ้นทูลเกล้า ฯ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2548 และในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ (1 กันยายน พ.ศ.2548) นายวิสุทธิ์ ฯ ก็ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ฯ แต่อย่างใด
จากข้อเท็จจริงอย่างย่อที่เล่าไปข้างต้นก็นำไปสู่ปัญหาสำคัญที่เกิดเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในวันนี้ แต่จริง ๆ แล้วเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 แล้ว เพราะเมื่อประธานรัฐสภาในขณะนั้นเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก็เป็นข้อถกเถียงกันว่าเรื่องดังกล่าวประธานรัฐสภาสามารถทำได้หรือไม่เพราะ (น่าจะ) ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องดังกล่าวไว้วินิจฉัย ก็เป็นข้อถกเถียงกันว่าศาลรัฐธรรมนูญ ขยาย อำนาจของตนเองออกไปนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หรือในที่สุดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวออกมา ก็เป็นข้อถกเถียงกันว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการให้ ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง นั้น หมายความว่าอย่างไร และมีผลเป็นเช่นใด เพราะในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมิได้ชี้ชัดลงไป ด้วยถ้อยคำ ที่ว่าคุณหญิงจารุวรรณ ฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องมาจากกระบวนการสรรหาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบ ดังนั้น จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่าคุณหญิงจารุวรรณ ฯ ยังคงเป็น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อยู่หรือไม่
ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาวิเคราะห์วิจารณ์ในตอนนี้และในที่นี้เพราะคงไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อ บ้านเมือง เวลานี้สังคมสับสนไปหมดเพราะมี คนเก่งจำนวนมากออกมาให้ความเห็นที่ถูกบ้างผิดบ้างแล้วแต่จะพิจารณาจากจุดใด และนอกจากนี้แล้วก็ยังมีบางส่วนของสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ จนทำให้เกิดความ หมิ่นเหม่ ในหลาย ๆ ด้าน
ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้น ผมคงต้องแสดงทั้งความเห็นใจต่อประธานวุฒิสภาและแสดงความเห็นด้วยต่อสิ่งที่วุฒิสภาได้ทำลงไป เหตุผลคงไม่มีอะไรมากครับเพราะเมื่อประธานรัฐสภาในขณะนั้น ตัดสินใจส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินไม่ถูกต้อง และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีมติรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยในที่สุดว่ากระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ถูกต้อง เราก็คงต้อง เคารพ และ ยึดถือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักเพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในมาตรา 268 ว่า ให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ดังนั้น ไม่ว่า ผู้ใด จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะถูกหรือจะผิด เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้นนอกจาก ปฏิบัติตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครับ ส่วนกรณีที่ว่าคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน นั้นผมเองก็รู้สึกเช่นนั้นและได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 แล้ว แต่เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องในการดำเนินการขององค์กรของรัฐ ผมเข้าใจว่า หากเราพยายามมองด้วยใจเป็นธรรมแล้ว ผมคิดว่าเราก็คงเห็นภาพเหมือน ๆ กันว่าในเมื่อกระบวนการสรรหาที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ก็ต้องหมายความว่าผู้ที่ได้รับการสรรหาต้อง ยุติ บทบาทของตนลงด้วยการพ้นจากตำแหน่งไปในทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยครับ! เราคงไม่สามารถนำเอาความไม่ชัดเจนเพียงเล็กน้อยมา ลบ หรือ ระงับยับยั้ง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ด้วยเหตุนี้เองที่ผมเห็นว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็ต้องดำเนินกระบวนการสรรหาคนใหม่ และเมื่อมาถึงวุฒิสภา หากวุฒิสภาดำเนินกระบวนการของตนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เป็นหน้าที่ของประธานวุฒิสภาที่จะต้องนำชื่อผู้ได้รับการสรรหาขึ้นทูลเกล้า ฯ ครับ
ผมไม่ทราบว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นผิดหรือถูกเพราะผมก็เป็นเพียงหนึ่งในบรรดานักวิชาการจำนวนมากที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องดังกล่าว แม้สิ่งที่ผมคิดนั้นแม้จะเป็นสิ่งง่าย ๆ แต่ก็น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่เป็นสูญญากาศอยู่ในขณะนี้ที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สำคัญมาก ๆ องค์กรหนึ่งต้อง ปั่นป่วน ไปและแทบจะ เรียกได้ว่า หยุดทำงาน กันเลยทีเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมเราไม่ลองมองดูอีกมุมหนึ่งที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติเพื่อให้องค์กรของรัฐสามารถทำงานต่อไปได้ครับ
ประเด็นสำคัญที่ผมวิตกในขณะนี้คือประเด็นที่เป็น ความเห็น ในการหาทางออกเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏอยู่ตามสื่อต่าง ๆ ครับ จนถึงวันที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ คือเช้าวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ.2548 พระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงโปรดเกล้า ฯ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ตามคำกราบบังคมทูลของประธานวุฒิสภาที่ได้ทูลเกล้า ฯ ไปตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2548 เหตุการณ์นี้ทำใหมีคนเก่งจำนวนมากพากันแสดงความเห็นอย่างหลากหลายผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อหาทางออกให้กับเรื่องดังกล่าว เช่น
- ทูลเกล้า ฯ ขอพระราชทานอภัยโทษและนำเรื่องกลับมาพิจารณาใหม่
- ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นปัญหาระหว่างสถานภาพของผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
- ส่งเรื่องกลับไปพิจารณาใหม่ในวุฒิสภา
- สมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งจะขอเข้าพบราชเลขาธิการสำนักพระราชวังเพื่อขอความชัดเจน
ฯลฯ
ในความเห็นส่วนตัวผมนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นข้างต้น เราคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ที่พระเจ้าอยู่หัวแล้วและเป็น พระราชอำนาจ ของพระองค์ท่านที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยครับ เราต้องไม่ลืมว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวสารต่าง ๆ ทุกอย่างจากสื่อทุกประเภท การแสดงความคิด เห็นบางอย่างหากพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วจะพบว่ามีลักษณะเป็นการ สร้างกระแส หรือ กดดัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ มิบังควร เป็นอย่างยิ่งครับ ผมว่าในจุดนี้และในเวลานี้ เราคงไม่มีทางแก้หรือไม่มีทางที่จะทำอะไรอย่างอื่นได้แล้ว ที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการรอครับ รออย่างสงบ รออย่างเชื่อมั่น และรอโดยไม่วิพากษ์ วิจารณ์เรื่องดังกล่าวในทุกแง่มุมด้วยเพราะนอกจากจะไม่เกิดผลดีอะไรแล้วยังทำให้สังคมเกิดความสับสนมากยิ่งขึ้นอีกด้วยครับ ผมมั่นใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นสิ่งที่ ดีที่สุด สำหรับเรื่องนี้และสำหรับบ้านเมืองครับ!
ในช่วงนี้มีผู้ออกมาพูดเรื่อง พระราชอำนาจ กันมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรืออาจเป็นเพราะมีหนังสือที่นักการเมืองผู้หนึ่งเขียนออกมาชื่อเรื่องว่า พระราชอำนาจ ก็เป็นไปได้ครับ ขอบอกกล่าวสำหรับผู้ที่สนใจหาความรู้เพิ่มเติมนะครับว่ามีวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับเรื่องของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นวิทยานิพนธ์ที่มักจะมีผู้นำไปอ้างอิงตลอดครับ วิทยานิพนธ์เล่มนี้ คือ วิทยานิพนธ์เรื่อง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยกับ ประเทศอังกฤษ ของ นายเจษฎา พรไชยา ได้รับการจัดพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2546 นี้เองครับ สนใจลองหาดูได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ครับ รับรองว่าละเอียดและกระจ่างกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ ที่นำสาระของวิทยานิพนธ์เล่มนี้ไปอ้างอิงครับ
ในสัปดาห์นี้เพื่อเป็นการสอดคล้องกับบทบรรณาธิการ ผมขอนำเสนอบทความ ของ นาย สโรช สันตะพันธุ์ นิสิตสาขากฎหมายมหาชน ชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำการปรับปรุงบทความที่เคยลงไปแล้วใน www.pub-law.net ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นคือ บทความเรื่อง ปัญหาการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ.2548 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|