|
|
|
|
|
"คุ้มกันไหม! การสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่"
การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของรัฐบาลเมื่อสองสัปดาห์เศษที่ผ่านมา ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ทุกวงการก็ยังกล่าวถึงไม่รู้จบ แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังเป็นข้อสงสัยของผู้คนหลาย ๆ คนอย่างไร ก็ยังไม่ทำให้ผู้สงสัยเกิดความกระจ่าง ผมเข้าใจว่า นี่คือ ผลลัพธ์ โดยตรงของการออกพระราชกำหนดครับ หากเรา มอง พระราชกำหนดว่าเป็น กฎหมาย ฉบับหนึ่ง ข้อแตกต่างระหว่างพระราชกำหนดกับกฎหมายธรรมดาที่มีอยู่ก็คงมี 2 ข้อ คือ รูปแบบในการจัดทำ และเนื้อหาของกฎหมาย ก็อย่างที่ได้กล่าวถึงไปในบทบรรณาธิการคราวที่แล้วนะครับว่าเนื้อหาของพระราชกำหนดนั้นจัดทำได้ ง่าย และ เร็ว กว่าการจัดทำกฎหมายธรรมดาที่มีกระบวนการตรวจสอบและกลั่นกรองหลายกระบวนการและหลายขั้นตอนกว่าจะประกาศใช้บังคับได้ ดังนั้น จึงเป็นที่วิพากษ์ของสังคมอย่างนี้ในทุกครั้งที่มีการออกพระราชกำหนดด้วยผู้คนส่วนหนึ่งแล้วก็ไม่ เชื่อมั่น ในฝ่ายบริหารที่เลือกรูปแบบของการมีกฎหมายใหม่ด้วยการออกพระราชกำหนด กับไม่เชื่อมั่นในเนื้อหาสาระของพระราชกำหนดว่าจะ สอดคล้อง กับรัฐธรรมนูญหรือไม่ครับ
ข่าว เล็กๆ อีกข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือข่าวการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ครับ จริง ๆ แล้วข่าวนี้ควรจะเป็น ข่าวใหญ่ สำหรับสังคมไทย แต่ก็ถูกกระแสของสถานการณ์ภาคใต้ การออกพระราชกำหนด และการปรับ ครม.ใหม่กลบเสียหมดครับ คงจำกันได้ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2548 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาว่า กรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเนื่องจากร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้พิพากษาให้จำคุกกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน มีกำหนดคนละ 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ด้วยเหตุจากคำพิพากษาดังกล่าว กรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนจึงได้ลาออกจากกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้ต้องมีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ โดยกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้นตามมาตรา 297 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.จำนวน 15 คน ที่กว่าจะได้ตัวกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ครบ 15 คน เวลาก็ผ่านไปนานพอสมควรทีเดียวครับ ในที่สุดเมื่อได้กรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ครบ คณะกรรมการสรรหาฯ ก็เริ่มกระบวนการสรรหาด้วยการเปิดให้ผู้สนใจเสนอตัวเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ ซึ่งจากการรับสมัครในระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคมถึงวันที่ 3 สิงหาคม มีผู้สมัครเข้ามาจำนวน 80 คน ซึ่งผมเห็นรายชื่อผู้สมัครที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์แล้ว ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่า รู้จักชื่ออยู่ไม่กี่คนครับ!
อะไรทำให้คนที่มีความสามารถจำนวนหนึ่ง กลัว ที่จะเสนอตัวเข้าไปทำงานในองค์กรสำคัญดังเช่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ? คำถามนี้คงเป็นคำถามที่ยากที่จะได้คำตอบแบบเดียวกันเพราะคงเป็นเหตุผลส่วนตัวที่ต่างคนต่างก็มีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ในส่วนของผมนั้น ผมมีความเข้าใจว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนมาเสนอตัวต่อคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.น้อย ก็เพราะกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ต้องผ่านด่านสำคัญ ๆ หลายด่าน ตั้งแต่ด่านแรกคือด่านของคณะกรรมการสรรหาฯ ไปจนถึงด่านวุฒิสภาที่มาตรา 297 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้วุฒิสภาเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งในการผ่านด่านแต่ละด่านนี้ผู้คนก็คงกลัวอิทธิพลทางการเมืองที่จะเข้าไปแทรกแซง กลัวการถูกเปิดเผยชีวประวัติบางส่วนของตน หรือกลัวว่าถ้าไม่ได้รับการสรรหาก็จะเสียชื่อ เสียหน้าและเป็นการเปลืองตัวโดยไม่จำเป็นครับ
ปัญหาในส่วนนี้คงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะได้คนดี คนเก่งและคนที่มีความสามารถตรงกับหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ครับ ปัญหานี้เราคงต้องคิดหนัก เริ่มตั้งแต่จุดที่ว่า คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. จะสามารถสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 18 คน เสนอต่อประธานวุฒิสภา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้หรือไม่ครับ เพราะการสรรหาคน 18 คนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ
ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ยังไม่ทราบผลการสรรหาของคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ครับ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าในที่สุดแล้ว คณะกรรมการสรรหาฯ จะสามารถเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิครบจำนวน 18 คนต่อประธานวุฒิสภาหรือไม่ครับ
ในกรณีเดียวกันนี้เอง ผมมานึก ๆ ดูแล้วก็ตั้งคำถามให้ตัวเองตอบว่า คุ้มไหม กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ผ่านมา เหตุการณ์เริ่มจากการที่สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งได้เข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผ่านประธานวุฒิสภาเพื่อกล่าวหาว่า กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน กระทำการทุจริตต่อหน้าที่เพราะออกระเบียบกำหนด ค่าตอบแทน ของตนเพิ่มเติมจาก เงินเดือน ที่ได้รับอยู่แล้ว โดยค่าตอบแทนดังกล่าวจ่ายให้เป็นรายเดือน ๆ ละสี่หมื่นกว่าบาทต่อคน ซึ่งต่อมาเมื่อเกิด ปัญหา ขึ้น กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนก็ได้นำเงินที่ได้รับไปคืนให้กับสำนักงาน ป.ป.ช.ทั้งหมด แต่ในที่สุด เมื่อประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 300 วรรค 3 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่ากรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนี้มิได้จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกคำร้องดังกล่าว ซึ่งในข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อรวมเวลานับแต่ประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2547 ไปจนถึงวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาคือวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2548 นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิมหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปเป็นเวลาทั้งสิ้น 7 เดือน 14 วัน ประกอบกับเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิมลาออกและต้องมีการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ เมื่อรวมเวลาที่หยุดปฏิบัติหน้าที่เข้ากับระยะเวลาในการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่จนกระทั่งถึงวันนี้ ก็เกือบ 10 เดือนเข้าไปแล้ว คำถามที่ผมถามว่า คุ้มไหม ที่ผมตั้งไว้ในตอนต้นจึงเป็นคำถามที่ผมอยากถามต่อสังคมครับ ผมไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่า ในระยะเวลา 10 เดือนที่เราไม่มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น ประเทศชาติ ผมใช้คำว่าประเทศชาตินะครับ! ประเทศชาติต้องเสียอะไรไปบ้าง มี คดี ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังพิจารณาอยู่ขาดอายุความไปมากน้อยแค่ไหน มี คนไม่ดี ที่ได้ประโยชน์จากการที่คดีขาดอายุความไปกี่คน มี ทรัพย์สิน ที่หลุดรอดจากการที่จะต้องตกเป็นของแผ่นดินไปจำนวนเท่าใด และมีคดีที่ค้างพิจารณาและการดำเนินการต่าง ๆ ที่ยังทำไม่ได้อยู่อีกมากน้อยแค่ไหนที่รอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการต่อ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคงต้องคิดและหาคำตอบร่วมกันนะครับ คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติกับสิ่งที่เราได้จากการดำเนินการกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิมว่ามันได้ สัดส่วน กันหรือไม่ อย่างไร ที่ผมเขียนไปเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับการกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ผ่านมานะครับ ผมมองอย่างไรก็เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ควรทำเช่นนั้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาแล้วเราใช้มาตรการเหล่านั้นมา ลงโทษ การ ลงโทษ ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อประเทศชาติและต่อระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วย มัน คุ้ม กันไหมครับ!
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความเรื่อง "เมื่อชาวฝรั่งเศสลงประชามติไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป (ตอนที่1)" โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากบทความนี้มีขนาดยาวผมจึงขอแบ่งลงเป็นสองตอนครับ และผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับที่ได้นำเสนอและรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาเผยแพร่ที่ www.pub-law.net อย่างสม่ำเสมอครับ
พบกันใหม่ในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2548
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|