หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 61
14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
“สินบน/วีซีดีส่วนตัว”
       ในช่วงนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะได้ยินคนพูดถึงเรื่องสองเรื่อง คือเรื่อง
       “สินบน” กับเรื่อง “วีซีดี” ส่วนข่าวคราวด้านกฎหมายมหาชนก็ดูเงียบๆครับ ไม่มีอะไรใหม่ๆและไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น
       ข่าวเรื่องพ่อค้าให้ “สินบน” ตำรวจเป็นข่าวใหญ่ที่พาดหัวหนังสือพิมพ์มากว่าสองสัปดาห์แล้ว จริงๆแล้วเรื่อง “สินบน” นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมเคยได้ยินได้ฟังเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่ผมเด็กๆแล้วครับ แล้วก็ไม่ใช่ที่ประเทศไทยที่เดียวที่มีเรื่องประเภทนี้ อ่านหนังสือต่างประเทศ หรือดูข่าวจากต่างประเทศ ก็จะพบเรื่องการรับ “สินบน” อยู่บ่อยๆ สมัยเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศก็เคยได้รับฟังเรื่อง “สินบน” มามากเช่นกัน เอาเป็นว่าเรื่อง “สินบน” นี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้าง “นานาชาติ” ก็แล้วกันครับ แต่อย่างไรก็ตาม หากเราติดตามดูข่าวเกี่ยวกับเรื่อง “สินบน” ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราพบได้แทบจะเรียกได้ว่าทุกครั้งก็คือ การเอาตัวผู้ให้และผู้รับสินบนมาลงโทษ ในส่วนของผู้ให้สินบนนั้นส่วนใหญ่แล้วเราจะไม่ค่อยได้รับทราบข่าวว่ามีโทษอย่างไร แต่ในส่วนของผู้รับซึ่งก็มักจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ข่าวที่เราได้รับบางครั้งก็น่า “สะใจ” เช่นข่าวอดีตประธานาธิบดีบางประเทศต้องถูกจำคุกเป็นระยะเวลานานเนื่องจากรับสินบน เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงต้องออกจากงานเนื่องจากมีส่วนพัวพันกับการประกอบธุรกิจของเอกชน สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นภาพของความพยายามที่จะปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาดูในบ้านเราโดยเทียบเคียงกับข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมเห็นว่า เรายังอยู่ห่างไกลจากการ “ตรวจสอบ” การทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่มากครับ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีกฎหมาย ไม่ใช่ว่าเราไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เรามีครับ มีมากกว่าบางประเทศเสียด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นแค่ “มี” เท่านั้นเองเพราะทุกวันนี้ “ผู้ให้สินบน” ก็ยังสามารถให้ข่าวรายวันที่มีลักษณะว่าจะ “เปิดเผย” ข้อมูลลับอยู่ตลอดเวลา ผมไม่ทราบว่า เหตุใดจึงปล่อยให้มีการให้ข่าวลักษณะแบบนั้นอยู่ทุกวันๆละหลายๆรอบ ที่ถูก (หมายความว่า ถูกใจประชาชนและถูกต้องด้วยกระบวนการตรวจสอบ) ฝ่ายรัฐควรจะ “ขอ” ให้ “ผู้ให้สินบน” เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดทันทีเพื่อที่ฝ่ายรัฐจะได้ดำเนินการเอาตัวผู้กระทำความผิด (ในคดีนั้น !) มาลงโทษ แต่ถ้า “ผู้ให้สินบน” ไม่สามารถหรือไม่ให้ข้อมูล ก็ต้องหยุดพูดล่ะครับ หากพูดต่อก็จะทำให้สังคมไม่สงบและไม่สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องจากเรื่องดังกล่าวได้ครับ ผมอยากเห็นกระบวนการตรวจสอบของไทยสามารถดำเนินการได้ผลดีอย่างเช่นในบางประเทศมากครับ เมื่อไหร่ที่ถึงเวลานั้น เราคงเห็นภาพ “ผู้เคยมีอำนาจ” เดิน คอตกเข้าคุกกันบ้างล่ะครับ และเมื่อนั้น การทุจริตคอรัปชั่นก็คงจะค่อยๆลดน้อยลงไปเรื่อยๆเช่นเดียวกันครับ
       ข่าวอีกข่าวคือ ข่าวเรื่องวีซีดีที่มีการนำภาพความสัมพันธ์ส่วนตัวของชายหญิงคู่หนึ่งมาผลิตออกเผยแพร่และจำหน่ายโดยเจ้าตัวไม่ได้อนุญาต (แต่ถึงอนุญาตก็คงไม่ได้อีกเช่นกันเพราะผิดกฎหมายครับ !) เรื่องทำนองนี้ก็เช่นเดียวกันกับข่าวแรกครับคือ เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ ผมคงไม่วิจารณ์อะไรทั้งนั้น คงบอกไว้ ณ ที่นี้ได้แต่เพียงว่า เมื่อไหร่สังคมของเราจึงจะ “เคารพ” ความเป็นส่วนตัวกันจริงๆจังๆเสียทีครับ เราชอบอ้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ทำไมสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้คือมาตรา 34 ที่ว่า สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้…… จึงไม่ได้รับการยึดถือปฏิบัติตามครับ ที่ผ่านมา ประชาชนมักกล่าวหาว่าฝ่ายปกครองไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แล้วประชาชนด้วยกันเองล่ะครับ เคารพและปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย หรือว่านึกแต่เพียง “การประกอบธุรกิจ” หรือ “ความสะใจ” ส่วนตัวจนลืมนึกถึงสิทธิของประชาชนด้วยกันที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ครับ ผมว่าเราคงต้องช่วยกัน “รณรงค์” ในประเด็นนี้หน่อยนะครับว่าไม่ใช่รัฐหรือฝ่ายปกครองเท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตามและเคารพในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ประชาชนด้วยกันก็ต้องทำด้วยนะครับ !
       อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม แล้วครับ ขณะนี้เท่าที่ทราบที่นั่งสำหรับการสัมมนาเรื่อง “นิติรัฐกับประชาสังคม” เต็มไปเรียบร้อยแล้วครับ ก็เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่การดำเนินกิจกรรมทางวิชาการของเราได้รับความสนใจจากสาธารณชนครับ โอกาสต่อไปผมจะพยายามหาสิ่งใหม่ๆมามอบให้กับผู้ใช้บริการครับ
       ในช่วงที่ผ่านมา หลายๆคนคงสังเกตเห็นว่าเรามี “หน้าต่าง” เพิ่มขึ้นมาใหม่คือหน้าต่างของ “สมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย” ครับ หลายคนคงสงสัยว่าคืออะไร จริงๆแล้วสมาคมนี้เกิดขึ้นมานานมากแล้วครับ ปัจจุบันมี รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นนายกสมาคมครับ สมาคมได้ขอให้ทาง pub-law.net ช่วยเป็นสื่อกลางระหว่างสมาคมกับนักกฎหมายมหาชน ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมกำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อมูลของสมาคมอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกสักหนึ่งเดือนครับ ส่วนผู้ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกของสมาคม เมื่อข้อมูลสมาคมเสร็จเรียบร้อยแล้วก็สามารถทำได้โดย print ใบสมัครได้จาก pub-law.net ครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ “สำคัญ” บทความหนึ่งครับ เมื่อเดือนที่ผ่านมาคงได้รับทราบข้อมูลกันแล้วว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน” ขึ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในร่างดังกล่าว อ.เจริญ คัมภีรภาพ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เองก็ได้ใช้สิทธิดังกล่าววิเคราะห์ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยจัดทำเป็นบทความที่เราได้นำมาเผยแพร่ในครั้งนี้คือ “วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ….” นอกจากบทความนี้แล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือกฎหมายมหาชนใหม่ๆจำนวนหลายเล่มใน “หนังสือตำรา” มีการตอบคำถามใน “เวทีทรรศนะ” และก็มีการปรับปรุงข้อมูลพื้นฐานให้ทันสมัยเพื่อที่ผู้ใช้บริการจะได้ข้อมูลที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดครับ
       พบกันในงานสัมมนาเรื่อง “นิติรัฐกับประชาสังคม” วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 เวลา 8.30-13.00 น. ณ โรงแรมสยามซิตี้ ครับ
       พบกันใหม่ใน pub-law.net วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544