|
|
|
|
|
"ให้ประชาชนแสดงความเห็นในร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน"
เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแรกของการเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ครับ ก่อนอื่นคงต้องขอแสดงความยินดีกับนิสิตนักศึกษาใหม่ทั้งหลายกันก่อนที่สามารถผ่านการสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ตามที่ต้องการ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามความประสงค์ของตนนั้น ยังมีทางเลือกอีกมากมายในชีวิต ยังไงก็คงต้องพยายามกันต่อไป อย่าเพิ่งท้อแท้หรือสิ้นหวังนะครับ เรียนอยู่ที่ไหนก็ตามขอให้ตั้งใจใฝ่หาความรู้ มานะอดทน มีความรู้อยู่กับตัวไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้นครับ เรียนกันแค่ 4 ปี แต่ต้องไปทำงานอีก 40 ปี ความรู้ที่มีอยู่กับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำงานครับในขณะที่เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแรกของการเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ในประเทศไทยนั้น ในต่างประเทศส่วนใหญ่ เดือนมิถุนายนกลับเป็นเดือนสุดท้ายของปีการศึกษา นักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะทำการสอบกันในเดือนมิถุนายนนี้แหละครับ ผมขอส่งกำลังใจไปยังผู้ที่จะทำการสอบในไม่กี่วันข้างหน้านี้นะครับ และขออวยพรให้สอบผ่านได้ดังใจปรารถนาครับ จะได้รีบกลับมารับใช้ประเทศชาติกันต่อไปสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวคราวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวด้านกฎหมายมหาชนที่น่าสนใจอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องที่ผมพยายามติดตามอยู่ตลอดเวลา 1 เดือนที่ผ่านมานี้ คือเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 ซึ่งในที่สุดแล้ว คำวินิจฉัยกลาง ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ก็ได้รับการเผยแพร่ไปเมื่อประมาณวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมาครับ ส่วนคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ (29 พ.ค. 46) ผมทราบมาว่ากำลังจะทยอยตามมาครับ ก็คงต้องรอกันต่อไปจนกว่าจะได้อ่านคำวินิจฉัยทั้งหมดอย่างครบถ้วนแล้วจึงค่อยทำการศึกษาอย่างละเอียดต่อไปครับ ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกาศเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจแสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฉบับใหม่ โดยให้ผู้สนใจขอรับร่างกฎหมายได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสามารถแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวได้ภายในวันที่ 6 มิถุนายน 2546 ครับ ในเรื่องที่สองนี้เองที่ผมอยากจะขอชื่นชม มิติใหม่ ของการจัดทำร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพราะการดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่งในกระบวนการด้านกฎหมายของไทยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่จะใช้บังคับในวันข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อเสนอแนะอยู่บ้างครับ ร่างกฎหมายที่จะให้ประชาชนทั่ว ๆ ไป (ซึ่งอาจไม่ใช่นักกฎหมายก็ได้!) แสดงความคิดเห็นนั้น ควรมีคำอธิบาย (exposé des motifs) ที่ค่อนข้างละเอียด อธิบายโครงสร้างของกฎหมายและเหตุผลในการเขียนมาตราแต่ละมาตรา เพื่อให้ผู้อ่านร่างกฎหมายสามารถเข้าใจกลไก และกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกฎหมายฉบับนั้นได้ครับ เพราะผมมีโอกาสไปร่วมในงานสัมมนาที่มีผู้จัดขึ้นเพื่อแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ผมพบว่าผู้ที่แสดงความคิดเห็นส่วนมากจะ สงสัย ในเหตุผลของมาตราแต่ละมาตราว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นหรือทำไมจึงกำหนดอย่างนั้น ซึ่งก็ทำให้การแสดงความเห็นเป็นไปอย่างไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะความไม่เข้าใจในโครงสร้างและสาระของร่างกฎหมายนั่นเองครับ ก็ขอฝากไว้สำหรับ งานหน้า ก็แล้วกันครับว่าหากเป็นไปได้ควรทำคำอธิบายร่างกฎหมายโดยละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องครับ
ในที่สุด หนังสือ รวมบทความกฎหมายมหาชน จาก เว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 2 ก็จะเริ่มแจกได้ในวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายนนี้แล้วครับ ขอให้ผู้ที่ลงชื่อขอรับหนังสือมารับหนังสือได้ที่ห้องทำงานผมที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันและเวลาราชการครับ กรุณาถ่ายสำเนาบัตรแสดงตนมาด้วยนะครับ และนอกจากนี้ เนื่องจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือเพื่อแจกให้กับผู้สนใจขอรับ ผมอยากขอความกรุณาผู้ขอรับหนังสือช่วยทำจดหมายสั้น ๆ ขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ความสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ โดยนำจดหมายมามอบให้กับผมในวันที่มาขอรับหนังสือ จากนั้นผมจะรวบรวมจดหมายและนำส่งไปยังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญต่อไปครับ
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความสองบทความ บทความแรกเป็นตอนจบของบทความเรื่อง สัญญาทางปกครองในกฎหมายไทย ของรองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล ครับ ส่วนบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง การบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ทรงอิทธิพลในประเทศไทย ที่เขียนโดย รองศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับ นอกจากบทความทั้งสองแล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่จำนวนมากในหนังสือตำรา รวมทั้งมีการตอบคำถามในเวทีทรรศนะด้วย รวมทั้งยังมีการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตฯ มานำเสนอไว้ด้วยแล้วครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|