หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 56
14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
"ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพระราชกำหนดเพื่อเก็บภาษีสรรพสามิตจากบริการบางประเภท"
       
สองสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนอยู่หลายข่าวด้วยกัน แต่ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมและเพื่อนนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งก็คือข่าวการวินิจฉัยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 ของศาลรัฐธรรมนูญครับ
       เรื่องดังกล่าวเริ่มต้นมาจากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 113 คน ได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า พระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับ ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ซึ่งต่อมาประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และต่อมาเมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2546 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ออกจดหมายข่าวสรุปความได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
       ประเด็นปัญหาสำหรับเรื่องนี้คงมีอยู่สองประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสาระสำคัญหรือเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว กับประเด็นที่สองเป็นเรื่องที่ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่แสดงอาการไม่เห็นด้วยกับ
       คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และพยายามหาเหตุผลที่จะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในประเด็นแรกนั้นผมเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งที่นักกฎหมายทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายมหาชนควรให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 218 นี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับ “เหตุผล” ในการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดไว้ในมาตรา 219 ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ “ตรวจสอบ” เหตุผลในการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหารครับ แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้คงจะลำบากที่จะวิจารณ์ในขณะนี้เพราะจากการสอบถามไปครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ยังไม่มีคำวินิจฉัยส่วนตนและคำวินิจฉัยกลางในเรื่องดังกล่าวออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการครับ ก็คงต้องรอคำวินิจฉัยเหล่านั้นก่อนจึงค่อยทำการวิเคราะห์ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งตามข้อ 32 แห่งข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญจัดทำคำวินิจฉัยของศาลให้เสร็จภายใน 30 วันหลังจากการลงมติเสร็จสิ้น เพื่อส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคน ส่วนประเด็นที่สองนั้นผมเองยังค่อนข้างสับสนว่าผู้ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะในเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 268 บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด ดังนั้น กรณีมีเสียงบางเสียงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญทบทวนคำวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในระบบปัจจุบันครับ ทางเดียวที่สามารถทำได้ก็คือ การดำเนินการตามมาตรา 218 วรรค 3 ที่ให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดครับ ซึ่งขณะนี้พระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับก็ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติของสภาผู้แทนราษฎรไปเรียบร้อยแล้วครับ
       หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net” ใกล้คลอดแล้วครับ ผมคาดว่าสามารถแจกให้กับผู้ที่ลงชื่อขอรับหนังสือไว้ได้ในสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายนครับ
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความพิเศษ 1 บทความครับ เป็นบทความเรื่อง “สัญญาทางปกครองในกฎหมายไทย” ที่เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุดครับ บทความนี้เป็นบทความที่ท่านอาจารย์โภคินฯ ได้เขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบการสัมมนาเรื่องสัญญาทางปกครองระหว่างตุลาการศาลปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทย กับผู้พิพากษา นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกา ในระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2546 และต่อมาท่านอาจารย์โภคินฯ ก็ได้มอบบทความดังกล่าวให้ผมนำไปใส่ไว้ในหนังสือ “สัญญาทางปกครอง” ของผมด้วยครับ ผมจะขอแบ่งการนำเสนอบทความนี้เป็น 2 ครั้งนะครับ โดยในคราวหน้าจะนำตอบจบของบทความออกเผยแพร่ครับ นอกจากบทความแล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่ 3 เล่มครับ ส่วนคำถามที่ถามมา ขอติดเป็นคราวหน้านะครับ เพราะช่วงนี้ผมค่อนข้างยุ่งครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544