หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 33
14 ธันวาคม 2547 18:20 น.
"5 ปีรัฐธรรมนูญ : มีปัญหาหลายอย่าง"
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอยู่หลายต่อหลายเรื่องแล้วแต่ว่าใครจะสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ ข่าวใหญ่ที่ผ่านมาก็มีทั้งข่าวที่ให้ความบันเทิง เช่น การแข่งขันฟุตบอลโลก หรือข่าวคราวที่นักกฎหมายมหาชนหลายต่อหลายคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือข่าวการเตรียมตัวแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีอายุครบ 5 ปีในอีก 3-4 เดือนข้างหน้านี้ กับข่าวการเลือกตั้ง สก. และ สข. ในเขตกรุงเทพมหานครที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้เอง
       ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก ผมยังมีความรู้สึกว่าเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง สสร. กำลังจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ปัจจุบันนี้ตามกำแพงหรือตู้ไปรษณีย์บางแห่งแม้กระทั่งบางจุดในมหาวิทยาลัยยังพอพบเห็น sticker สีเขียวที่เขียนว่าเราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอยู่ ระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านไปกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้เองที่ทำให้เกิด “ความเปลี่ยนแปลง” ขึ้นในระบบสังคมไทยหลายๆสิ่งไม่ว่าจะเป็นความตื่นตัวทางด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตลอดจนกระทั่งถึงกระบวนการตรวจสอบทางการเมืองที่มีความเข้มข้นอยู่ในระดับที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พบเห็นในบ้านเรา ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น พอจบการอภิปรายแล้วสิ่งที่ตามมาก็คือว่า มีการฟ้องหมิ่นประมาทกันเต็มไปหมด การฟ้องนั้นก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ผู้ฟ้อง” ต้องปกป้องชื่อเสียงตนเองเพราะไม่ได้มีพฤติกรรมเช่นที่ถูกกล่าวหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คดีประเภทนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัวที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนเลย เป็นการฟ้องเพื่อปกป้องตนเองแท้ๆ ไม่มีการกล่าวถึงประโยชน์ของประชาชนว่าไปอยู่ที่ไหนเสียเพราะไม่ว่าการฟ้องคดีจะแพ้หรือชนะ ประชาชนก็มักจะไม่ได้รับรู้คำตอบว่า พฤติกรรมหรือการกระทำที่มีการกล่าวหาหรือพูดถึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ที่ผ่านๆมานั้นหลายๆคนคงมีคำถามอยู่ในใจว่าประเทศชาติและประชาชนต้อง “เสีย” อะไรไปบ้างกับคนเหล่านั้น แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญได้วางกลไกในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้หลายขั้นตอนด้วยกัน ดังนั้น ในวันนี้เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านพ้นไปแล้ว กระบวนการ “ถอดถอน” ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านั้นก็ยังดำเนินการต่อไป และหากพบว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริงบุคคลนั้นก็จะต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและยังมีโอกาสที่จะถูกลงโทษด้วยเพราะองค์กรสำคัญอีกองค์กรหนึ่งคือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีหน้าที่ที่จะต้อง “ลงโทษ” ผู้กระทำความผิดเหมือนกับที่ได้เคยดำเนินการมาแล้วในคดีตัวอย่างที่ผ่านมาเมื่อต้นปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะสร้างกลไกที่ดีขึ้นมาดังที่ได้กล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความพยายามหรือข้อเสนอที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ก็มีการพูดถึงประเด็นสำคัญที่หลายๆกระแสเห็นสมควรให้มีการแก้ไขนั่นคือ กระบวนการสรรหาบุคคลให้เข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบทั้งหลาย หากกระบวนการสรรหามีความ “ผิดปกติ” ก็จะส่งผลทำให้ผู้ที่เข้าไปสู่ตำแหน่งนั้น “ผิดปกติ” และจะทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่าง “ผิดปกติ” ด้วย ท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็จะไม่ “ขลัง” เท่ากับที่ตั้งใจไว้ การเมืองก็จะ “ย้อนกลับ” ไปสู่ระบบเดิมที่เราพยายามกันแทบแย่ที่จะหนีจากระบบนั้น ก็ขอฝากประเด็นนี้ไว้ให้ช่วยคิดกันด้วยครับว่าจะทำอย่างไรที่จะได้ “คนดี” และ “คนเก่ง” เข้าสู่ระบบดังเช่นที่เราได้คาดหวังกันเอาไว้ ส่วนความเห็นที่ว่าสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อครบ 5 ปีหรือไม่นั้น ผมได้แสดงความแล้วไว้แล้วในเวทีทรรศนะ ในการตอบคำถามของคุณจาเร ลำเจียก ว่า “แม้รัฐธรรมนูญจะใช้บังคับมาเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้วก็ตาม แต่การจัดให้มีกลไกตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อม
       รัฐธรรมนูญ บางกลไกเพิ่งเริ่มแสดงให้เห็นผลงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากจะให้รอบคอบ ผมคิดว่าควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปสักระยะหนึ่ง อาจเป็น 2 ถึง 3 ปี รอให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญและกลไกตามรัฐธรรมนูญดำเนินการไปอีกสักพัก จึงค่อยทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด โดยฝ่ายที่เป็นกลาง (มิใช่องค์กรหรือผู้ใช้กลไกนั้น) ว่าสมควรปรับปรุงอย่างไรที่จะทำให้องค์กรหรือกลไกนั้นปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
       ผมคงต้องขอชี้แจงเกี่ยวกับบทความ “หลักกฎหมายมหาชนว่าด้วยสัญญาทางปกครอง” ของผมก่อน ในคราวนี้เราลง “ภาคทฤษฎี” ครบถ้วนแล้ว ผมตั้งใจว่าจะเสนอประเภทต่างๆของสัญญาทางปกครองของฝรั่งเศสต่อไป แต่เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่น้อยและไม่สมบูรณ์จึงขอ “พัก” ไว้ก่อน และต่อไปนี้ผมจะนำเสนอ “สัญญาทางปกครองของไทย” ไปพลางๆก่อน เมื่อจบเรื่องสัญญาทางปกครองของไทยและได้เอกสารเกี่ยวกับประเภทต่างๆของสัญญาทางปกครองของฝรั่งเศส มาแล้วผมก็จะนำเสนอต่อไป แต่ผู้ใช้บริการคงไม่ต้องกังวลใดๆทั้งนั้น แม้ผมจะ “กระโดดไปกระโดดมา” แต่ในบทความผมก็จะแบ่งแยกชัดเจนว่าเป็นสัญญาทางปกครองของไทยหรือของฝรั่งเศสครับ ไม่มีความลำบากใดๆในการค้นคว้าหาความรู้จาก pub-law.net ครับ
       ในคราวนี้เรามีบทความส่วนสุดท้ายของ“หลักกฎหมายมหาชนว่าด้วยสัญญาทางปกครอง” (ตอนที่ 8) และบทความของ ผศ.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (บางประเด็น)” ที่อาจารย์มานิตย์ฯ ได้นำเสนอประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมต่อจากที่ได้เคยนำเสนอไว้แล้วใน pub-law.net เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2545 ที่ผ่านมา นอกจากบทความแล้วก็มีการตอบคำถามในเวทีทรรศนะ พร้อมกับมีการแนะนำหนังสือใหม่ในหนังสือตำราด้วยครับ แม้จะเป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยแต่ผมก็พยายามทำอย่างเต็มที่แล้วครับ ยังไงก็จะต้อง “ประคับประคอง” pub-law.net ให้อยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน (เท่าที่จะทำได้) ครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2545 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544