|
|
|
|
|
"เข้าสู่ปีที่สอง : แจกหนังสือรวมบทบรรณาธิการจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 1"
เมื่อปีที่แล้ว วันนี้เป็นวันแรกที่เราเริ่มให้บริการกับสาธารณชน 1 ปีที่ผ่านมาราบรื่นพอสมควร เนื้อหาสาระของเราเพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา คำชมมีอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
ผู้ใหญ่ในบางหน่วยงานหยิบยก website เราขึ้นมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบกับ website ในหน่วยงานของตนเพื่อให้ website ในหน่วยงานของตนเห็นแนวทางของเนื้อหาสาระและพัฒนาการที่ดีเช่น pub-law.net ภาพรวมโดยสรุปก็คือเป็นที่น่าพอใจว่า website นี้ประสบผลสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง
วันนี้เป็นวันแรกของปีที่สองของเรา ปีที่สองเป็นปีที่น่าจะหนักสำหรับผมเพราะนอกจากจะยังต้องรับตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อไปซึ่งมีภาระหนักหนาสาหัสหลายอย่างด้วยกันแล้ว ในปีการศึกษาหน้าโดยเฉพาะเทอมแรกผมมีงานสอน 6 วิชา รวม 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งนับว่าเป็นงานสอนที่หนักพอสมควร
มีวิทยานิพนธ์กว่า 10 เล่มที่ผมรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและนิสิตต้องจบในปีการศึกษา 2545 นี้เช่นกัน เท่านี้ก็แทบจะไม่มีเวลาเหลือสำหรับทำอะไรอย่างอื่นอีกแล้ว ผมคาดเดาว่าปีการศึกษา 2545 นี้ผมคงไม่สามารถผลิตผลงานทางวิชาการออกมาได้เลยเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเวลาดังที่กล่าวไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม pub-law.net ก็คงต้องดำเนินต่อไปเท่าที่ความสามารถจะมีและเวลาจะอำนวย คงมิใช่สัญญาแต่เป็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะพยายามทำให้ pub-law.net ก้าวไปสู่ความเป็น website ด้านกฎหมายที่ดีที่สุดต่อไป
บทบรรณาธิการคราวที่แล้วสร้างความ ฮือฮา พอสมควร มีคนโทรศัพท์มาถามหลายคนว่าเกิดอะไรขึ้นผมถึงได้ แนะนำการทำอาหาร แทน บทวิเคราะห์ แบบที่เคยทำ ก็ไม่มีอะไรมากมายครับ มีคน ขัดขา ผมเล็กน้อยก็เลยต้อง ประท้วง กันบ้าง คราวหน้าหากเกิดอาการแบบนี้อีกก็ขออย่าได้แปลกใจเพราะเป็นอาการปกติของผมเมื่อถูก ขัดขา ครับ
ในบทบรรณาธิการคราวที่แล้วเช่นกันที่ผมได้เกริ่นเอาไว้แล้วว่าเราจะมี ของดี มาให้ผู้ใช้บริการ ผมขอถือโอกาสเล่าให้ฟังเลยนะครับ ผู้ใช้บริการจะเห็นได้ว่าเรามี บทความ มากมายในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา บทความทั้งหลายโดยทั่วไปจะเป็นบทความที่ดี มีสาระดี และเขียนโดยนักวิชาการที่ดีด้วย ผมเกรงว่าบทความเหล่านี้จะสูญหายไปเมื่อผ่านพ้นระยะเวลาไปนานเพราะเราคงไม่สามารถเก็บไว้ใน website ได้ตลอดไป ผมจึงได้ขอความร่วมมือไปยัง
คุณนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิมพ์รวมบทความวิชาการจาก pub-law.net บางบทความจำนวนประมาณ 500 หน้าให้ และจะแจกหนังสือนี้ไปยังรัฐสภาและห้องสมุดต่างๆรวมทั้งสิ้น 1,000 เล่ม น่ายินดีไหมครับ! แต่อย่างไรก็ตาม ผมมาคิดดูแล้ว 1,000 เล่ม หลังจากแจกสมาชิกรัฐสภาและห้องสมุดแล้วคงมีตกค้างอยู่อีกนิดหน่อยไม่พอแจกผู้ใช้บริการ pub-law.net ที่สนใจ ผมเลยขออนุญาตจากศาลรัฐธรรมนูญจัดพิมพ์เพิ่มอีก 300 เล่ม ด้วยเงินส่วนตัวของผมเองซึ่งครึ่งหนึ่งของเงินดังกล่าวผมออกเองส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นได้มาจากการบริจาคของศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บริจาคให้จากรายได้ที่ได้มาจากการจัดสัมมนาเรื่อง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย
หนังสือ 300 เล่ม ที่ผมจะแจกนั้นคงจะพิมพ์เสร็จประมาณเดือนเมษายน 2545นี้ ผู้สนใจสามารถสั่งจองหนังสือโดยส่งชื่อ ที่อยู่ พร้อมสำเนาบัตรนิสิต นักศึกษา บัตรข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานของรัฐวิสาหกิจหรือของเอกชน มาที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ส่วนวิธีการรับหนังสือ ผมจะแจ้งให้ทราบอีกทีเมื่อหนังสือจัดพิมพ์เสร็จแล้ว นอกจากหนังสือแล้ว เรามีเสื้อยืดสีขาวพิมพ์ตรา pub-law.net พร้อมปากกาจำนวน 40 ชุดแจกผู้ใช้บริการด้วย โดยผู้สนใจขอรับจะต้องส่งซองขนาด A4 จ่าหน้าซองชื่อที่อยู่ให้ชัดเจนติดแสตมป์ราคา 10 บาทพร้อมส่งสำเนาบัตรนิสิต นักศึกษา บัตรข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานของรัฐวิสาหกิจหรือของเอกชนมาด้วยโดยส่งมาตามที่อยู่ข้างต้นครับ นอกจากนี้ เพื่อให้เราสามารถแจกจ่ายของได้อย่างทั่วถึง ผู้ใช้บริการกรุณาเลือกหนังสือหรือเสื้อยืดแต่เพียงอย่างเดียวครับ เสื้อยืดเราสามารถจัดส่งได้ทันที แต่ถ้า หากสะดวกมารับด้วยตัวเองที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยินดีนะครับ แต่ขอให้แจ้งชื่อและเวลาที่จะมาล่วงหน้าด้วยครับ การที่ผมของสำเนาบัตรทั้งหลายไว้ด้วยก็เพื่อเป็นข้อมูลว่าผู้ขอรับเป็นใครซึ่งผมถือเป็นเรื่องสำคัญพอสมควร หากผู้ใดไม่ส่งสำเนาบัตรฯมาผมก็จะขอไม่ให้หนังสือหรือเสื้อยืดครับ อนึ่ง ทั้งหนังสือและเสื้อยืด ผมจะปิดรับการสั่งจองในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2545 ครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสาระของ pub-law.net หลายอย่างโดยเริ่มจากบทความก่อน เรามีบทความ ชิ้นเอก คือ บทความเรื่อง การปฏิรูประบบ
ราชการ ที่เขียนโดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช บทความนี้นับได้ว่าเป็นบทความที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์ของสังคมอยู่ในขณะนี้ ถ้าใครอยากรู้ เหตุผล ว่าทำไมอาจารย์ชัยอนันต์ฯ จึงเขียนบทความนี้ ก็ขอให้ดูในย่อหน้าสุดท้ายของ คำนำ ของบทความดังกล่าว ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของนิติกรหนุ่มและนักกฎหมายมหาชนชื่อดังแห่งยุคที่กำลังจะผันตัวเองจากนิติกรแห่งสำนักงานศาลปกครองไปเป็นอาจารย์หนุ่มประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ นั่นคือบทความของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ซึ่งเขียนร่วมกับคุณอนุชา ฮุนสวัสดิกุล แห่งสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง ปัญหาเรื่องการพิจารณาอุทธรณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนบทความที่สามเป็นบทความของผมเรื่อง องค์กรชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล บทความนี้ผมถือโอกาสนำเสนอในหนนี้ก็เพราะ pub-law.net ได้เพิ่มคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไว้ในคำวินิจฉัย แล้วในสัปดาห์นี้ ผู้ใช้บริการสามารถทำความเข้าใจกับองค์กรดังกล่าวได้จากบทความนี้โดยผมได้นำเสนอเหตุผลและความจำเป็นของการจัดตั้งองค์กรรวมทั้งนำเสนอองค์กรชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของฝรั่งเศสที่อาจนับได้ว่าเป็นต้นแบบขององค์กรประเภทนี้ รวมทั้งภาพรวมขององค์กรวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของไทยอย่างละเอียด นอกจากนี้แล้ว ผู้ใช้บริการยังสามารถทำการศึกษาคำวินิจฉัยทุกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้ที่ pub-law.net นี้นะครับ ขอเรียนให้ทราบเป็นข้อมูลด้วยว่า ในประเทศฝรั่งเศสนั้น คำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกัน (อาจเทียบเท่าได้กับคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล) นับเป็นที่มาที่สำคัญประการหนึ่งของหลักกฎหมายมหาชน ส่วนบทความเรื่องหลักกฎหมายมหาชนว่าด้วยสัญญาทางปกครองตอนต่อไปนั้น ขอเลื่อนไปในคราวหน้านะครับ เพราะว่าคราวนี้เรามีบทความมากพอควรแล้วครับ นอกจากบทความทั้ง 3 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลแล้ว ในคราวนี้เรามีการตอบคำถามในเวทีทรรศนะพร้อมทั้งแนะนำหนังสือดีอีก 2 เล่มใน หนังสือตำราด้วย ขอเชิญผู้ใช้บริการทุกท่านเข้าชมได้เลยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2545
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|