|
|
|
|
|
"จัดระเบียบสังคมโดยใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ"
สองสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้อากาศจะเย็นสบายแต่ผมเข้าใจว่าอากาศคงทำให้หลายๆคนไม่สบายรวมทั้งตัวผมด้วย การไม่สบายไป 3-4 วัน ทำให้งานที่คั่งค้างอยู่ไม่สามารถสะสางไปได้ แต่ก็คงต้องพยายามต่อไปเรื่อยๆเพราะหากในชีวิตประจำวันไม่มีงานทำหรือไม่ทำงานแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้หรือไม่เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปีคุ้นเคยกับการทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง
เหตุการณ์บ้านเมืองช่วงนี้นอกเหนือจากข่าว ดวงเฉลิม ที่ อาจ มีปัญหาในการนำกฎหมายมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในกรณีดังกล่าวแล้ว ข่าวสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ข่าว การจัดระเบียบสังคม ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มีแนวคิดที่จะ ควบคุม การเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนของผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี อันรวมทั้งการ ควบคุม การจำหน่ายของมึนเมาให้กับบุคคลดังกล่าวด้วย โดยจะมีการนำเอาประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 และฉบับที่ 294 ที่ออกใช้บังคับในปี พ.ศ.2515 มาปรับปรุงเพื่อใช้ในการ ควบคุม การกระทำดังกล่าว แนวความคิดนี้คงมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในส่วนตัวผมนั้นคงมีความเห็นในเรื่องดังกล่าวสองประการ ประการแรก เป็นเรื่อง รูปแบบ ของกฎหมาย จะเห็นได้ว่า กฎหมายในรูปแบบของ ประกาศคณะปฏิวัติ ที่ยังใช้อยู่ในบ้านเรามีจำนวนมากทั้งๆที่เราผ่านเหตุการณ์ปฏิวัตินั้นมากว่า 20 ปีแล้ว สมควรหรือไม่ที่จะมีการ สังคยานา กฎหมายประเภทดังกล่าวเสียใหม่ให้ทันสมัยและพ้นสภาพจากการเป็นประกาศคณะปฏิวัติ เราเองอาจไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่กับคำเหล่านี้แต่เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายเหล่านี้กับคนต่างชาติไม่ว่าในกรณีใดๆก็ตาม พอแปลคำว่าประกาศคณะปฏิวัติทีไรชาวต่างชาติก็พาลนึกไปว่าเรายังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติหรือไม่ก็ปกครองโดยระบบทหาร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญพอสมควรที่ผมอยากขอร้องนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาหาทางปรับปรุงบรรดา กฎหมาย เหล่านี้ทั้งในด้านรูปแบบและในด้านเนื้อหาด้วยเพื่อประโยชน์แก่วงการกฎหมายและแก่ประเทศไทยต่อไป ส่วนในประการที่สองนั้น ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ เนื้อหา ของกฎหมายว่า ในต่างประเทศนั้นมีการ ควบคุม เรื่องดังกล่าวมากกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว แม้ในสหรัฐอเมริกาที่นับได้ว่าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยก็ยังควบคุมการขายเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ บุหรี่ การเข้าสถานบันเทิง แม้กระทั่งการดูภาพยนต์ในโรงหนังก็ยังมีการกำหนดอายุผู้เข้าชม หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะปรับเนื้อหาของกฎหมายเก่ามาใช้ในกรณีดังกล่าว ผมอยากขอร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาดู มาตรการ ต่างๆที่ใช้บังคับอยู่ในต่างประเทศมาประกอบการตัดสินใจจัดทำกฎหมายของเราด้วย ผมยังเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า กฎหมายที่ดีควรเกิดจากการวิจัยค้นคว้า (research) ที่เป็นระบบ
สำหรับสาระของ pub-law.net ในสัปดาห์นี้นั้นเรามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกระบวนการ ขายหุ้น ของ ปตท. ที่เป็นข่าวครึกโครมไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้จัดทำบทความเรื่อง การแปรรูป ปตท. ขึ้นเพื่ออธิบายกระบวนการแปรรูปของ ปตท.อย่างละเอียด นอกจากบทความดังกล่าวแล้ว เมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้เชิญผมไปกล่าวปาฐกถานำการสัมมนาเรื่อง "ประชาชนกับการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่น" ซึ่งผมได้จัดทำเอกสารประมาณกว่า 80 หน้าไปใช้ประกอบการปาฐกถาดังกล่าวด้วย ผมเห็นว่า การสัมมนาในวันดังกล่าวแม้จะมีผู้เข้าฟังเกือบสองร้อยคนก็ตาม แต่ก็ยังนับได้ว่าเอกสารดังกล่าวยังหมุนเวียนอยู่ในวงจำกัด ผมจึงนำบทความดังกล่าวมาลงใน pub-law.net ครั้งนี้ด้วย โดยผมจะแบ่งลงเป็น 3 ครั้งเนื่องจากบทความมีความยาวพอสมควร ในครั้งแรก คือ สองสัปดาห์นับจากวันนี้จะนำเสนอบทนำไปจนถึงหัวข้อ 2.1 ในสองสัปดาห์ต่อไปเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม จะเป็นการนำเสนอหัวข้อ 2.2 ของบทนำไปจนจบบทที่ 2 และในสองสัปดาห์ถัดไปอีกเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม จะเป็นการนำเสนอบทที่ 3 และ 4 อันเป็นตอนจบของบทความ
สำหรับสิ่งอื่นๆนอกจากบทความทั้ง 2 แล้ว pub-law.net โดยความร่วมมือของผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายมหาชนหลายคนได้ทำการตอบคำถามจำนวนมากที่คั่งค้างอยู่เนื่องจากความบกพร่องส่วนตัวของ webmaster ที่ผมต้องขออภัยผู้ถามมา ณ ที่นี้ด้วยสำหรับความล่าช้านั้น ส่วนการแนะนำหนังสือ ก็อย่างที่เรียนให้ทราบไปในสองสัปดาห์ก่อนแล้วว่า ยังไม่มีหนังสือกฎหมายมหาชนที่ดีๆออกวางจำหน่าย ในวันนี้คงต้องกล่าวเช่นเดียวกันอีกเพราะแม้ผมจะเข้าออกศูนย์หนังสือจุฬาฯและร้านหนังสืออื่นๆหลายต่อหลายครั้งในรอบสองสัปดาห์แต่ก็ยังไม่พบหนังสือกฎหมายมหาชนใหม่ๆเลยสักเล่ม ดังนั้นในครั้งนี้เราก็คงไม่มีการแนะนำหนังสือเช่นเคย
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2544
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|