หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 15
14 ธันวาคม 2547 15:02 น.
"รัฐบาลยังไม่ชัดเจนในหลายๆเรื่องสำคัญ"
       
ช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้คนต่างพากันพูดถึง “การจัดระเบียบสังคม” ที่กำลังดำเนินการอยู่ ผมเข้าใจว่า คนส่วนใหญ่คงจะเห็นด้วยโดยเจตนาอย่างยิ่งบรรดาผู้ปกครองทั้งหลายคงจะเบาใจไปได้มากกว่าจะสามารถ “คุม” บุตรหลานของตนเองได้ง่ายขึ้น ผมเองยังไม่ประสบปัญหาดังกล่าวเพราะลูกชายคนเดียวจะอายุครบ 12 ขวบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องเอาใจช่วยผู้ดำเนินการจัดระเบียบทางสังคมทั้งหลายเพราะผลที่เกิดจะเป็นประโยชน์กับทุกคนในวันข้างหน้า ส่วนข่าวใหญ่ระดับโลกที่น่าสะพรึงกลัวก็ได้แก่ข่าวการ “โจมตี” สหรัฐอเมริกาซึ่งผมเข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่คงร่วมรับรู้เนื่องจากมีการนำเสนอเป็นข่าวทางสื่อมวลชนทุกประเภทอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา นักวิชาการหลายๆคนต่างพากันให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในหลายๆด้าน อย่างน้อยน้ำมันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะแพงขึ้น ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท ผมขอเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการทุกคนร่วมใจกันประหยัดและยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดต่อไป
       บทบรรณาธิการคราวนี้ผมคงไม่มีอะไรจะกล่าวมากนัก ข่าวคราวต่างๆด้านกฎหมายมหาชนดูจะอยู่ในภาวะเงียบ มีงานสัมนาสองสามงานที่พูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจซึ่งผมดูๆแล้วยังสงสัยอยู่ว่ารัฐบาลจะเริ่ม “สนใจ” ปัญหานี้อย่างจริงจังเหมือนเช่นการ “สนใจ” การ “จัดระเบียบสังคม” ที่เป็นอยู่ในขณะนี้เมื่อไหร่ นอกเหนือจากการกระจายอำนาจที่ไม่รู้จะออกมาเป็นอย่างไรแล้ว ยังมีอีกสองเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผมและของคนส่วนใหญ่ที่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน นั่นคือเรื่อง “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” และการ “ออกนอกระบบ” ของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเข้าใจว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งเป็น “ภาค 2” ของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจที่ออกมาในปี 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนด “ครึ่งหนึ่ง” ของกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเอาไว้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็คงถามหาในร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งคงต้อง “อดใจรอ” ต่อไปว่า สรุปแล้ว รัฐวิสาหกิจจะแปรรูปไปในทิศทางใด ประเทศชาติจะได้หรือเสียประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในครั้งนี้ ส่วนการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนั้นในวันนี้ต่างคนก็ต่างทำร่างกฎหมายของตนเอง ผมยังวิตกอยู่ลึกๆว่า หากเป็นเช่นนั้นในวันข้างหน้าเราจะมี “ระบบ” ใหม่ๆเกิดขึ้นอีกจำนวนมากตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ปัญหานี้อยากฝากไว้ให้ช่วยคิดคือ ควรหรือไม่ที่รัฐจะกำหนด “เกณฑ์กลาง” สำหรับมหาวิทยาลัยนอกระบบทุกๆแห่ง เพื่อที่จะได้มี “ลักษณะสำคัญ” ร่วมกัน เช่นกำหนดองค์กรบริหารงาน รูปแบบการบริหารงาน เป็นต้น
       ในสัปดาห์นี้ pub-law.net ได้ตอบคำถามกฎหมายมหาชนที่สำคัญๆหลายคำถามใน “เวทีทรรศนะ” โดยบางคำถามนั้นยังเป็นคำถามที่ผู้ตอบไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ ขอความกรุณาส่งข้อคิดเห็นเข้ามาด้วยหากผุ้อ่านพบว่าน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น ส่วนบทความนั้น ผมได้นำบทความของผลเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศฝรั่งเศส” ตอนที่ 3 มาลงไว้พร้อมๆกับบทความตอนที่ 2 ของ ผศ.มานิตย์ จุมปา เรื่อง “การเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีเกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ” พร้อมนี้ยังได้ทำการแนะนำหนังสือดีอีก 3 เล่มด้วยกันไว้แล้วในหนังสือตำรา ส่วนอื่นๆนั้น ผมได้ปรับสารบัญคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญใหม่จากเดิมที่นำคำวินิจฉัยมาลงเรียงปี เรียงเลขที่ มาเป็นจัดหมวดหมู่ใหม่โดยแบ่งเป็น 4 เรื่องด้วยกัน คือ
       1. คดีเกี่ยวกับการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ
       2. คดีเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ
       3. คดีวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับสถานะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       4. คดีเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่อื่นๆตามรัฐธรรมนูญ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2544
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544