หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 13
14 ธันวาคม 2547 14:57 น.
"รัฐบาลยังไม่ชัดเจนในหลายๆเรื่องสำคัญ"
       ข่าวเด่นข่าวดังในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นข่าวการวินิจฉัยกรณี “ซุกหุ้น” ของนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าจะตัดสินอย่างไรก็คงต้องตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมทั้งนั้น มีผู้ติดต่อเข้ามาสอบถามความเห็นผมเกี่ยวกับผลคำวินิจฉัยดังกล่าวอยู่หลายคนซึ่งผมก็ได้ตอบไปแล้วว่าขอให้อดใจรออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลก่อนจึงค่อยวิจารณ์จะเหมาะสมกว่า แต่อย่างไรก็ตาม สมควรให้ความสำคัญกับ “การให้ข่าว” ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยศาลรัฐธรรมนูญและโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนในเรื่องดังกล่าวด้วยเพราะหากประเด็นที่มีการหยิบยกมาให้ข่าวไม่ปรากฏในคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญอาจประสบความยุ่งยากพอควรในการ “ตอบคำถาม” ต่อสาธารณชนได้
       เพื่อให้สอดคล้องกับ “สถานการณ์” ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในสัปดาห์นี้ผมได้ลงบทความ ของผมเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศฝรั่งเศส” เพื่อนำเสนอระบบศาลรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสว่าเป็นอย่างไรและมีอำนาจหน้าที่เช่นไร โดยบทความดังกล่าวได้คัดมาจากงานวิจัยของผมเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบที่ได้เสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสองปีที่ผ่านมา นอกจากบทความแล้ว pub-law.net ยังได้ทำการแนะนำหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่งสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ” ที่มีรายละเอียดและสาระสำคัญที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับระบบศาลรัฐธรรมนูญทั้งของไทยและของต่างประเทศ รวมทั้งหนังสือเรื่องปรัชญาและพัฒนาการกฎหมายมหาชนของ รศ.ดร.ภูริชญา วัฒนรุ่ง แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้นำเสนอแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนทั้งในประเทศและในต่างประเทศ
       ระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมานับแต่ pub-law.net เปิดให้บริการนั้น จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของ website ของเราค่อนข้างจะเน้นหนักไปในด้านการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองทั้งๆที่ในทางทฤษฎีแล้ว กฎหมายมหาชนประกอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครองและกฎหมายการคลัง สาเหตุที่เรายังไม่เคยนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายด้านการคลังก็เพราะในปัจจุบัน นักกฎหมายมหาชนด้านการคลังในประเทศไทยมีอยู่เพียงไม่กี่คนและในจำนวนไม่กี่คนนี้เองก็มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ “ได้รับการยอมรับ” ในเรื่องความสามารถทางด้านวิชาการ ในสัปดาห์นี้ผมจึงได้ทำการสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป นักกฎหมายมหาชนด้านการคลังจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการของเราได้มองเห็นอีกสาขาหนึ่งของกฎหมายมหาชนซึ่งทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่จริงๆแล้วจะยากหรือไม่ยากนั้นปรากฏข้อเท็จจริงอยู่แล้วในบทสัมภาษณ์อาจารย์อรพินฯในบทสัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานวิญญูชนที่ได้กรุณาส่งหนังสือด้านกฎหมายมหาชนของสำนักพิมพ์มาให้ผมจำนวนหนึ่ง ผมได้พิจารณาดูแล้วเห็นว่าเป็นหนังสือที่ดีอยู่หลายเล่ม ก็จะพยายามทยอยแนะนำลงใน pub-law.net ต่อไป ขอขอบคุณสำนักพิมพ์วิญญูชนไว้ ณ ที่นี้ด้วย และหวังว่าคงจะได้รับความร่วมมือเช่นนี้ในโอกาสต่อไป
       ปัญหาเรื่องเวลายังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผมอีกเช่นเคย จากวันนี้ไปอีกสามสัปดาห์ ผมมีการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์จำนวน 14 เรื่อง ต้องไปบรรยายนอกคณะ 9 ครั้ง และยังต้องรีบส่งต้นฉบับงานเขียนอีก 2 ชิ้น แต่อย่างไรก็ตาม pub-law.net ก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป บางครั้ง หากหาบทความลงไม่ทันหรือไม่สามารถสัมภาษณ์นักวิชาการคนสำคัญๆได้ก็ต้องขออภัยผู้ใช้บริการไว้ ณ ที่นี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในส่วนอื่นๆทุกส่วนเราได้ปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2544
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544