หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 12
14 ธันวาคม 2547 11:32 น.
"ความสัมพันธ์กับอาจารย์โภคิน"
       
สองสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องยุ่งยากลำบากใจกับผมพอสมควร เริ่มจากการปรับปรุง server ของpub-law.net ทำให้ยากต่อการเข้าไปใช้บริการและในบางสถานที่ก็ไม่สามารถเข้าสู่ pub-law.net ได้เลยดังเช่นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของผม !!! แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายกำลังพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ หากผู้ใดไม่สามารถเข้าใช้บริการ pub-law.net ได้ก็ขอให้ได้โปรดอดใจรอสักเล็กน้อยครับ นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาที่คณะนิติศาสตร์ของผมมีการสอบ mid-term ทำให้ต้องออกข้อสอบสำหรับนิสิตปริญญาตรี 2 วิชาซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร ยุคปัจจุบันต่างจากยุคก่อนค่อนข้างเยอะ ออกข้อสอบง่ายไปหรือยากไปก็ดูจะเป็นเรื่องอื้อฉาวไปเสียหมด ดังนั้นจึงต้อง "พยายาม" ออกข้อสอบด้วยความ "พอดี" นอกจากนี้แล้วเดือนกรกฎาคมยังเป็น "ฤดูกาล" ของนิสิตชั้นปริญญาโทที่จะต้องยื่นเสนอ "เค้าโครงวิทยานิพนธ์" เพื่อทำการสอบต่อไป ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมจึงไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรม "ส่วนตัว" เสียเท่าไหร่เพราะมัวแต่ยุ่งกับงานประจำที่คณะเกือบจะทั้งวันและทุกวัน
       สัปดาห์นี้ผมได้ไปสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทยที่ได้สร้างผลงานด้านกฎหมายมหาชนไว้มากมายไม่ว่าจะในขณะที่เป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสองครั้งและปัจจุบันในฐานะรองประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อกลับจากการสัมภาษณ์ ผมมานั่งทบทวนดูว่าผมมีความสัมพันธ์กับอาจารย์โภคินฯ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมรู้สึกแปลกใจมากที่พบว่าแท้จริงแล้วอาจารย์โภคินฯเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในชีวิตผมที่ทำให้ผมยืนอยู่ ณ ที่นี่ในวันนี้ เริ่มตั้งแต่การที่อาจารย์โภคินฯเป็นรุ่นพี่อัสสัมชัญแผนกฝรั่งเศส โดยเมื่อครั้งผมทำวิทยานิพนธ์ อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสก็ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์โภคินฯด้านข้อมูลต่างๆมากมาย ผมยังจำได้ว่าเมื่อผมกลับมาประเทศไทยเพื่อหาข้อมูลสำหรับทำวิทยานิพนธ์นั้นผมไปพบอาจารย์โภคินฯที่บ้านแต่เช้าอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อผมเรียนสำเร็จแล้วกลับมาทำงานอาจารย์โภคินฯก็นับได้ว่าเป็น "ครู" คนแรกที่สอนให้ผมเรียนรู้การ "สอนหนังสือ" โดยในขณะนั้นอาจารย์โภคินฯ สอนวิชา "กฎหมายว่าด้วยบริการสาธารณะหลัก" แก่นิสิตชั้นปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีในขณะนั้นได้ขอให้อาจารย์โภคินฯรับผมไปช่วยสอนวิชาดังกล่าวด้วย ในชั้นเรียน ผมนั่งฟังอาจารย์โภคินฯสอนร่วมกับนิสิต พยายามเรียนรู้เทคนิคการสอนต่างๆจากอาจารย์โภคินฯ ในบางครั้งอาจารย์โภคินฯก็ได้มอบให้ผมสอนแทนและต่อมาอาจารย์โภคินฯก็แบ่งให้ผมสอนครึ่งเทอม ครั้นเมื่ออาจารย์โภคินฯไปช่วยงานการเมืองก็ได้ชักชวนให้ผมไปทำงาน การช่วยงานการเมืองกับอาจารย์โภคินฯทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากขึ้นและเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับชีวิตผม งานวิจัยสองชิ้นแรกในชีวิตของผมก็เกิดขึ้นสมัยช่วยงานการเมืองนั่นเองโดยมีอาจารย์โภคินฯเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยทั้งสองซึ่งผมก็ได้เรียนรู้วิธีการทำวิจัยจากอาจารย์โภคินฯอีกเช่นกัน ต่อมาเมื่อพ้นจากงานการเมือง ผมก็กลับมาบทเป็นนักวิชาการเช่นเดิม งานเขียนชิ้นแรกๆที่ผมภูมิใจมากคือ บริการสาธารณะในระบบกฎหมายปกครองฝรั่งเศส นั้นเกิดขึ้นจากประสบการณ์และการเตรียมสอนในวิชา "กฎหมายว่าด้วยบริการสาธารณะหลัก" ร่วมกับอาจารย์โภคินฯนั่นเอง ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า อาจารย์โภคินฯเป็นผู้มี "อิทธิพล" อย่างสูงในการประกอบวิชาชีพนักกฎหมายมหาชนของผมในปัจจุบัน บทสัมภาษณ์อาจารย์โภคินฯใน
       pub-law.net จะทำให้ผู้อ่านทราบถึงเบื้องหลังการทำงานของนักกฎหมายมหาชนคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบกฎหมายมหาชนในปัจจุบัน
       นอกจากบทสัมภาษณ์อาจารย์โภคินฯแล้ว ผมได้นำบทความสั้นๆของผมเรื่อง "การรับสนองพระบรมราชโองการ" มาลงไว้ในคราวนี้ด้วย อีกทั้งยังมีการตอบคำถามด้านกฎหมายมหาชนอยู่หลายคำถามเช่นกันในเวทีทรรศนะ ส่วนการแนะนำหนังสือใหม่นั้น สองสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีหนังสือใหม่ๆด้านกฎหมายมหาชนออกมาจึงไม่ได้ทำการแนะนำไว้ในคราวนี้
       ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า ผมจะพยายามนำเสนอบทความขนาดยาวประมาณ 4 ครั้งจบซึ่งขณะนี้ยังกำลังเขียนอยู่แต่จะยังไม่ขอบอกว่าเรื่องอะไร นอกจากนี้แล้ว ผมก็จะพยายามนำเสนอสิ่งอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ pub-law.net ต่อไป
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2544
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544