หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 11
14 ธันวาคม 2547 11:29 น.
"ข้อคิดสำหรับบัณฑิตคณะนิติศาสตร์"
       เมื่อวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ 12-13 กรกฎาคมที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2543 ขึ้น โดยในปีนี้คณะนิติศาสตร์มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีรวม 175 คน และระดับปริญญาโทรวม 74 คน ซึ่งในระดับปริญญาโทนั้นแยกเป็นผู้สำเร็จการศึกษาสาขากฎหมายมหาชนรวม 22 คน
       ระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมาที่ผมรับราชการอยู่ในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น ผมได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของระบบการศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก มีลูกศิษย์หลายคนที่ประสบความก้าวหน้าและความสำเร็จในชีวิตการงาน ขณะที่ลูกศิษย์บางคนก็ประสบปัญหาจากหลายๆด้าน ความก้าวหน้าหรือข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นกับบุคคลเหล่านั้นส่วนหนึ่งแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากระบบการเรียนการสอนของเราที่ไม่สามารถทำให้บุคคลเหล่านั้นสามารถที่จะออกไปประกอบวิชาชีพได้อย่างดี ในขณะที่คนบางคนที่ประสบผลสำเร็จอาจรู้จักวิธี "ปรับ" สิ่งที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาให้เข้ากับ "การทำงาน" ได้ดีกว่าซึ่งก็เป็นเรื่องที่อยู่ "นอกเหนือ" การศึกษาในมหาวิทยาลัยและถือได้ว่าเป็น "ทักษะ" ส่วนบุคคล ดังนั้นนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่เหล่านี้จึงต้องทำตัวเป็นผู้ช่างคิดช่างจำและหูตากว้างไกลเพื่อให้สามารถอยู่รอดในสังคมได้ในวันข้างหน้า
       ลูกศิษย์หลายต่อหลายคนที่กำลังเรียนอยู่มักจะถามคำถามกับผมอยู่เสมอว่าจบแล้วจะไปทำอะไรดี คำถามเหล่านี้ผมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบเพราะผมเข้าใจว่าคงเป็น"ความถนัด" หรือ "ความสนใจ" ของแต่ละคนมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้ให้แต่คำแนะนำเด็กเหล่านั้นไปซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะพยายามบอกให้ไปใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ที่สุดด้วยการเรียนภาษาต่างประเทศให้ดีและให้มีความเชี่ยวชาญในภาษานั้นๆเป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากโลกปัจจุบันพัฒนาไปรวดเร็วมาก ความจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับต่างชาติ ศึกษาข้อมูลจากต่างชาติอย่างละเอียดเป็นสิ่งที่จะทำให้เรา "พัฒนาก้าวไกล" ทางด้านความคิดได้ ดังนั้น หากเราสามารถ "อ่าน" ภาษาต่างประเทศได้อย่างละเอียดลึกซึ้งก็จะทำให้เรา "พัฒนาระดับความคิด" ก้าวไกลไปกว่าคนอื่นได้ในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็น "ข้อได้เปรียบ" สำหรับผู้นั้นในการทำงานในที่ต่างๆได้เป็นอย่างดี
       ในสัปดาห์นี้ ผมได้นำเอาคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาลงไว้ในคำวินิจฉัยแล้วโดยได้แยกบรรดาคำวินิจฉัยเหล่านั้นออกเป็น 4 กลุ่ม คือ การทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเรื่องอื่นๆที่มิได้อยู่ใน 3 กลุ่มแรกดังกล่าวไปแล้ว คำวินิจฉัยเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้เปิดเผยไปแล้ว โดยข้อมูลบางส่วนไม่มีความละเอียดเท่าที่ควร ดังนั้น หากผู้ใช้บริการสนใจที่จะได้ข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียดก็ต้องติดต่อขอข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไป ส่วนคำพิพากษาของศาลปกครองและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้น ดังที่ผมได้เรียนให้ทราบไปแล้วในบทบรรณาธิการคราวก่อนว่าผมได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังองค์กรทั้งสององค์กรตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว โดยในขณะนี้ผมยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากองค์กรทั้งสอง เมื่อใดที่ได้ข้อมูลผมจะรีบดำเนินการเผยแพร่ทาง pub-law.net ต่อไป
       นอกเหนือจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่นำมาลงเผยแพร่แล้ว ผมได้ทำการสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนคนล่าสุดของเมืองไทยที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ผู้นั้นคือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ โดยอาจารย์สุรพลฯ ได้กล่าวถึงระบบการศึกษากฎหมายของไทยและของธรรมศาสตร์ไว้อย่างละเอียด พร้อมทั้งยังได้ให้ความรู้และสาระอื่นๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนอีกด้วย นอกจากบทสัมภาษณ์แล้วบทความของ ผศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ เรื่อง "หลักความเป็นเอกภาพของรัฐและหลักกระจายอำนาจในการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย" ก็เป็นบทความที่ได้นำมาเสนอในครั้งนี้ด้วย ส่วนอื่นๆที่มีการเปลี่ยนแปลงก็คือมีการแนะนำหนังสือใหม่ 5 เล่ม ซึ่งเป็นหนังสือชุด "สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 " ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2544
       
       รองศาสตราจารย์นันทวัฒน์ บรมานันท์
       คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544