หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 371
1 ตุลาคม 2561 13:07 น.
ร่างกฏหมายว่าด้วยการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม

       
       
บทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว ผมได้เล่าให้ฟังถึง “แผนต่อต้านความยากจน” ของประเทศฝรั่งเศสว่า รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังจะทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่างเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเห็นได้ว่าเป็นการเพิ่มประเภทสวัสดิการต่างๆ ในตอนท้ายของบทบรรณาธิการครั้งนั้น ผมได้ทิ้งประเด็นเอาไว้ว่าในประเทศไทยเรามีร่างกฏหมายฉบับหนึ่งคือ ร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งผมเข้าใจว่า ร่างกฎหมายของไทยเราน่าจะมีส่วนคล้ายคลึงกับแผนต่อต้านความยากจนของฝรั่งเศส ดังนั้น ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะขอเล่าให้ฟังถึงร่างกฏหมายว่าด้วยการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมครับ

       
ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายสั้นๆที่มีอยู่เพียง 28 มาตราเท่านั้น เป็นร่างกฏหมายที่ผ่านกระบวนการต่างๆมาอย่างเรียบร้อยแล้วคือ ผ่านการตรวจพิจารณาร่างกฏหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผ่านการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีการรับฟังความคิดเห็น มีการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติไปเรียบร้อยแล้วครับ เพราะฉะนั้น ร่างกฏหมายฉบับนี้จึงอยู่ในระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

       
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีชื่อเดิมว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กระทรวงการคลังได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน

       
สาระสำคัญของร่างกฏหมายฉบับนี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ มีการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เป็นทุนหมุนเวียนในสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเพื่อทำหน้าที่เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดประชารัฐสวัสดิการตามมติคณะรัฐมนตรีครับ ส่วนที่มาของเงินนั้น กองทุนมีเงินและทรัพย์สินจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐจัดสรรให้และเงินบริจาคภาคเอกชนและประชาชนสำหรับไว้ใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือโครงการอื่นๆตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ในร่างกฏหมายกำหนดให้มี คณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม รวมทั้งยังมีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในสังคม ขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเพื่อบริหารกองทุนด้วย

       
ในชั้นตรวจพิจารณาร่างกฏหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการแก้ไขชื่อร่างกฏหมายเป็นร่างบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม รวมทั้งมีการกำหนดบทนิยามของคำว่า ประชารัฐสวัสดิการ และ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เอาไว้ด้วย โดยในคำนิยาม ประชารัฐสวัสดิการ นั้น ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า หมายความว่า สวัสดิการที่รัฐจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมแก่ประชาชน โดยมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนอันจะเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่วนคำนิยามของ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ กฎหมายได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า หมายความว่า โครงการที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีคุณสมบัติมาลงทะเบียนเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

       
เมื่อได้พิจารณาร่างกฏหมายทั้ง 28 มาตราแล้วก็จะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนหรือจัดระบบสวัสดิการให้กับประชาชนเหมือนกับเรื่องแผนการต่อต้านความยากจน ของฝรั่งเศส โดยในร่างกฎหมายของไทยประกอบด้วยมาตราที่เกี่ยวข้องกับการจัดโครงสร้างขององค์กรเสียเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ มีการตั้งคณะกรรมการ มีการตั้งกองทุน และมีการตั้งสำนักงาน ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการนั้นแทบจะไม่มีเลยครับ ที่เห็นมีรายละเอียดอยู่มากก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมการที่มีชื่อว่า คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจรากฐานฐานรากและสังคม มีบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการอยู่หลายมาตรา ในส่วนของอำนาจหน้าที่จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่อยู่หลายประการ เช่น เสนอนโยบาย แผนการดำเนินงาน มาตรการหรือโครงการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่จัดทำขึ้นโดยเอกชน เป็นต้น ส่วนมาตราอื่นๆ ก็เป็นเรื่องการตั้งสำนักงานการจัดตั้งกองทุนและการบริหารกองทุน

       
บทบัญญัติที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการน่าจะมีอยู่ในมาตราเดียวคือในมาตรา 12 ที่พูดถึงการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ดำเนินการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ครับ

       
โดยสรุปแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ใช่เป็นร่างกฏหมายที่มีขึ้นมาเพื่อ “ต่อต้านความยากจน” หรือให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือมีสวัสดิการหรือเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนตามที่ผมคิดเอาไว้ หรือเหมือนกับที่เขียนเอาไว้ในเหตุผลประกอบร่างกฏหมายว่า

       
โดยที่เป็นการสมควรให้มีการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน อันจะมีผลทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีปัจจัยที่เพียงพอและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพรวมทั้งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการนี้ เพื่อให้การดำเนินการจัดสวัสดิการเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

       
ในชั้นการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นนั้น มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและประชาชนเพียง 27 รายเท่านั้นเองครับ !!!!!

       
ผมมีความเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มิได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ตามที่เขียนเอาไว้ในบันทึกหลักการและเหตุผลของร่างกฏหมาย แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นมาเพื่อกำหนดกลไกในการจัดตั้งกองทุนและบริหารกองทุน ซึ่งการจัดตั้งกองทุนนั้น เงินส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาในกองทุนมาจาก เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้และเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่าย ส่วนการที่รัฐจะจัดให้มีสวัสดิการประเภทต่างๆ ให้กับประชาชนนั้น อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งในมาตรา 8 ของร่างกฎหมายกำหนดให้ คณะกรรมการมีหน้าที่เสนอนโยบาย แผนการดำเนินงาน มาตรการหรือโครงการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนที่จำเป็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนกระทรวงการคลังก็จะออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จากนั้น ก็จะเป็นเรื่องของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมที่จะทำหน้าที่จัดสรรเงินทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการและหรือสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานของเอกชน มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท

       
ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ไปถึงจุดที่คาดหวังเอาไว้ว่า จะมีการปรับเปลี่ยนหรือมีการจัดโครงสร้างของรัฐให้เป็นรัฐสวัสดิการอย่างถาวรโดยบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะในร่างกฎหมายฉบับนี้มิได้มีสาระสำคัญไปถึงการวางระบบสวัสดิการของรัฐอย่างเป็นระบบ เพียงแต่มีการจัดสรรเงินของรัฐจำนวนหนึ่งมาตั้งเป็นกองทุนและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบโครงการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการ และบริหารกองทุนตามร่างกฏหมายนี้ โดยในมาตรา 16 ได้กำหนดว่า เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อการจัดประชารัฐสวัสดิการและกิจการดังต่อไปนี้คือ การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานของเอกชน มูนิธิหรือองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท และการดำเนินงานและบริหารกองทุนตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า ในวันข้างหน้าพรรคการเมืองที่เข้ามาคุมกระทรวงการคลังก็จะเป็นคนกำหนดเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน ซึ่งจะแตกต่างไปจากการกำหนดเรื่องสวัสดิการเอาไว้ให้เป็นสวัสดิการภาคบังคับที่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตามก็จะมีประเภทต่างๆของสวัสดิการที่จะต้องจัดให้กับประชาชน การจัดให้มีสวัสดิการตามร่างกฎหมายนี้จึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในสังคมซึ่งก็คือพรรคการเมืองที่เข้ามาดูแลกระทรวงการคลังที่จะเป็นคนกำหนดถึงมาตรการหรือโครงการต่างๆที่จะให้เป็นสวัสดิการแก่ประชาชน ซึ่งก็จะกลายเป็นการใช้เงินรัฐเพื่อให้พรรคการเมืองนำมาอ้างว่าเป็นผลงานของพรรคการเมืองนั่นเอง ส่วนเงินที่นำมาเป็นกองทุนก็ยังคงทำแบบเดิมคือใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่มิได้มีการตั้งงบประมาณเป็นการเฉพาะสำหรับเรื่องสวัสดิการสังคมเอาไว้อย่างเป็นการแน่นอนตายตัวในแต่ละปีดังเช่นที่เป็นอยู่ในบรรดารัฐสวัสดิการทั้งหลายที่มีงบประมาณเฉพาะสำหรับการให้สวัสดิการกับประชาชน ดูแล้วทุกอย่างก็ยังคงขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองและนักการเมืองอยู่ดีครับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งมาจากพรรคการเมืองในวันข้างหน้าต้องการจะหาเสียงโดยการจัดสวัสดิการประเภทไหนให้กับประชาชนก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายซึ่งคงไม่ต่างไปจากนโยบายประชานิยมที่จัดทำโดยรัฐบาลหลายชุดก่อนหน้านี้เท่าไรนัก นอกจากนี้แล้ว การให้สวัสดิการตามร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังเป็นการให้สวัสดิการเฉพาะกลุ่ม คือให้สวัสดิการกับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้มีความยากลำบาก ไม่ได้เป็นการให้สวัสดิการอย่างถ้วนหน้าที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันครับ

       
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ในปัจจุบัน เรามี พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม .. 2546 ใช้บังคับอยู่แล้ว ในกฎหมายฉบับนี้มีการให้คำนิยามของคำว่าสวัสดิการสังคม การจัดสวัสดิการสังคม และผู้รับบริการสวัสดิการสังคมเอาไว้อย่างชัดเจนพอสมควรทีเดียว นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างของกฎหมายก็ยังพูดถึงเรื่องแนวทางในการจัดการสวัสดิการสังคม มีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัด มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับร่างกฏหมายว่าด้วยการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมคือ ประกอบด้วยเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้และเงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนขึ้นมา และนอกจากนี้ ก็ยังมีบทบัญญัติในหมวดหนึ่งที่พูดถึงเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรสาธารณประโยชน์ที่สามารถขอรับการสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมได้ ก็ไม่ทราบว่ากฎหมายฉบับนี้ในปัจจุบันยังใช้บังคับได้ดีอยู่หรือไม่และร่างกฎหมายฉบับใหม่นั้นไปซ้ำซ้อนกับกฎหมายฉบับเดิมที่มีอยู่แล้วหรือไม่ อย่างไร ซึ่งตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะต้องพิจารณาว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มีความซ้ำซ้อนกันกับกฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือไม่ครับ

       
       
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความเรื่อง "ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่" ของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง มานำเสนอครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความนะด้วยครับ

       
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2561 ครับ

       
       
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์



 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544