หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 370
16 กันยายน 2561 21:15 น.
"แผนต่อต้านความยากจน"

       
       เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Emmanuel Macron แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้นำเสนอ แผนต่อต้านความยากจน ( plan pauvreté) ของรัฐบาลต่อสาธารณชน โดยประธานาธิบดีและรัฐมนตรีอีกประมาณ 10 คนได้นำเสนอแผนดังกล่าวที่พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา (Musée de l’Homme) และมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ มีรัฐมนตรีสำคัญที่ร่วมในการนำเสนอแผนต่อต้านความยากจนอยู่ด้วยคือ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องความสามัคคีและสุขภาพ (des solidarités et de la santé) ซึ่งจะต้องเป็นคนทำให้แผนดังกล่าวเกิดผลสำเร็จ ในการนี้ โฆษกรัฐบาลได้แจ้งให้ทราบว่า จะต้องใช้เงินประมาณจำนวน 8,000,000,000 ยูโร เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผน
       แผนต่อต้านความยากจนมุ่งใช้กับเด็ก (les enfants)และวัยรุ่น (les jeunes) ที่ด้อยโอกาส (privé de distin) เพื่อให้ได้รับการฝึกอาชีพและมีงานทำ โดยจะมีการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ (un nouvel état providence ) เพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้ในการดำเนินการดังกล่าวซึ่งน่าจะทำได้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี ค.ศ.2020 เพื่อที่จะยกเลิกสิ่งที่ทำให้เกิดการจำกัดบริเวณ (l’assignation à résidence) การเข้าไปใช้ สวัสดิการของรัฐ แผนต่อต้านความยากจนจะเปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่เผชิญหน้ากับความยากจนมีต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ โดยแผนดังกล่าวจะเริ่มต้นที่เด็กเล็กๆก่อนโดยจะมีการสร้างสถานที่ดูแลเด็กเล็ก (crèche ) สำหรับเด็กด้อยโอกาส ( les enfants défavorisés ) จำนวน 30,000 คน สถานที่ดูแลเด็กเล็กนี้จะต้องเป็นสถานที่ที่เด็กทุกสถานะทุกคนสามารถเข้าไปใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่สามารถเข้าไปอยู่ในสถานที่ดูแลเด็กเล็กที่มีอยู่ได้ ในแผนต่อต้านความยากจนได้กำหนดเอาไว้ว่าจะสร้างสถานที่ดูแลเด็กเล็กเพิ่มขึ้นอีกเพื่อรองรับเด็ก 30,000 คนในระยะเวลาห้าปีในย่านที่มีคนยากจนอยู่หรือย่านที่ไม่ดี (quartier défavorisé) รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นกับสถาบันต่างๆที่เข้าไปดูแลเด็กเหล่านั้น เพื่อที่จะให้ครอบครัวที่มีเด็กด้อยโอกาสสามารถเข้าไปใช้บริการหรือได้รับความช่วยเหลือจากสถานที่ดูแลเด็กได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
       เรื่องต่อมาที่อยู่ในแผนต่อต้านความยากจนคือการจัดให้มีอาหารเช้าในโรงเรียนสำหรับเด็กเล็กจนกระทั่งถึงชั้นมัธยม รัฐบาลคาดว่าในประเทศฝรั่งเศสมีเด็กระหว่าง 200,000 ถึง 300,000 คนที่มีปัญหาเรื่องอาหารและมีความตั้งใจที่จะก่อตั้งสิทธิในการได้รับอาหาร (droit à l’alimentation )โดยในแผนกำหนดเอาไว้ว่าให้มีการจัดตั้งกองทุน (fonds)ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้ในการจัดอาหารให้กับเด็กโดยประสานกับโรงเรียนแต่ละโรงเรียน อาหารที่จะจัดให้นี้อาจจัดให้ทุกวันวันละมื้อหรือบางวันเช่นสองวันต่อสัปดาห์ก็ได้ แต่ในการจัดอาหารเช้าให้กับเด็กนั้นให้โรงเรียนเคารพความแตกต่างทางด้านต่างๆของเด็กและของสุขภาพของเด็กแต่ละคนด้วย เช่น การแพ้อาหารบางประเภทหรือข้อห้ามในด้านศาสนา เป็นต้น
       เรื่องที่อยู่ในแผนต่อต้านความยากจนอีกเรื่องหนึ่งก็คือการที่รัฐจะเข้ามารับผิดชอบเด็กข้างถนน (les enfants à la rue) รัฐบาลคาดว่ามีเด็กประมาณ30,000 ถึง 40,000 คนที่ไม่มีที่นอนต้องอาศัยอยู่ข้างถนน เพราะฉะนั้นจะจัดสรรเงินจำนวน 100,000,000 ยูโรเพื่อที่จะสร้างบ้านพักฉุกเฉินรับรองเด็กเหล่านี้รวมทั้งครอบครัวของเด็กด้วย
       อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในแผนต่อต้านความยากจนคือการจัดให้มีอาหารราคาถูกลงไปอีกสำหรับนักเรียน นักศึกษาโดยให้จ่ายค่าอาหารกลางวันมื้อละ 1 ยูโร ปัจจุบันในโรงอาหารของโรงเรียนมัธยม (collège ) เด็กจ่ายค่าอาหารเพียงหนึ่งในสี่ แต่แม้จะจ่ายค่าอาหารเพียงหนึ่งในสี่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนพอสมควรที่ครอบครัวไม่สามารถที่จะให้เงินเด็กเพื่อมากินอาหารได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็จะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อจะให้ครอบครัวเด็กเหล่านั้นจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันให้เด็กเพียงมื้อละ 1 ยูโร
       ในแผนต่อต้านความยากจนกำหนดให้มีการฝึกอาชีพภาคบังคับ (formation obligatoire) สำหรับเยาวชนอายุ 16 ถึง 18 ปี ปัจจุบันมีเยาวชนจำนวน90,000 คนที่ต้องออกจากโรงเรียนศึกษาภาคบังคับกลางคัน (décrocheurs)ในแผนจึงได้กำหนดให้มีการสร้างการฝึกงานภาคบังคับให้กับเยาวชนเหล่านั้นโดยเยาวชนทุกคนจะต้องลงทะเบียนเข้ารับการฝึกอบรมด้านอาชีพ หมายความว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทุกคนจะต้องมีคำตอบให้กับชีวิตว่าตัวเองจะทำอะไรต่อไปในอนาคต เรื่องนี้ในแผนกำหนดให้รัฐต้องทำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องการเสนอให้รายได้ขั้นต่ำ (revenue de solidarité active RSA) แก่ผู้ที่ไม่มีรายได้โดยขึ้นอยู่กับจำนวนคนในครอบครัว กล่าวคือ ผู้ที่มีอายุ 18 ถึง 24 ปีที่พ่อแม่ทิ้งแต่เคยทำงานมาแล้วและมีปัจจุบันไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ รัฐก็จะให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินกับคนเหล่านั้น ในอดีต เรื่องการให้เงินช่วยเหลือแบบนี้เคยมีมาแล้วโดยรัฐได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดเป็นผู้จ่ายเงินช่วยเหลือซึ่งก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก แต่ในแผนต่อต้านความยากจนนี้ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น จึงกำหนดให้รัฐเข้าไปช่วยโดยรัฐจะจ่ายสวัสดิการให้กับคนบางประเภทเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ขยายเงินช่วยเหลือเดือนละ 500 ยูโรสำหรับเยาวชนที่อายุ 16 ถึง 25 ปีที่ไม่มีงานทำหรือไม่ได้รับการฝึกอาชีพซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 100,000 คนแต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คนในปีค.ศ.2022 มีการเพิ่มค่ารักษาพยาบาลบางประเภท (couverture maladie universelle complémentaire ) ที่แต่เดิมนั้นผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง รวมทั้งยังจะมีการเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านการเงินด้วย นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลก็ยังจะทำให้การจ่ายเงินสวัสดิการทำได้ง่ายและเป็นระบบอัตโนมัติ รวมทั้งยังจะเพิ่มความช่วยเหลือด้านอื่นให้กับครอบครัวที่ไม่ยากจนแต่เป็นครอบครัวที่มีรายได้น้อย (revenus modestes)โดยจะให้ความช่วยเหลือในด้านการเข้าถึงสถานที่เล่นกีฬาหรือสถานที่ดูแลเด็กเล็ก เป็นต้น
       ที่เล่าให้ฟังทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนของแผนต่อต้านความยากจน (plan pauvreté) ของรัฐบาลที่ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งได้แถลงต่อสาธารณชนไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ส่วนที่ว่ารัฐจะเอาเงินจากที่ไหนมาจัดสวัสดิการเหล่านี้ ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ประชาชนจ่ายภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ทำงานมีรายได้ระดับประมาณ 4500 ยูโรต่อเดือน จะต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลถึงร้อยละ 30 ส่วนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลที่อยู่ในอัตราสูงที่สุดคือร้อยละ 45 ใครที่มีรายได้ต่ำกว่า 6011 ยูโรต่อปีไม่ต้องเสียภาษี ปัจจุบันคนฝรั่งเศสร้อยละ 60 เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลครับ
       เคยเขียนเรื่องพวกนี้มานานมากแล้วว่าประเทศไทยควรจะเป็นรัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบเสียทีหรือไม่ เพราะรัฐสวัสดิการจะสร้างความเสมอภาคขึ้นในระหว่างประชาชนซึ่งจะลดความเหลื่อมล้ำและลดช่องว่างระหว่างประชาชน คนที่มีรายได้สูงก็ต้องเสียภาษีสูง สวัสดิการทุกอย่างรัฐเป็นคนรับผิดชอบและควรจะเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าคือ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าไปใช้สวัสดิการหรือได้รับสวัสดิการตามที่รัฐกำหนด ประเทศฝรั่งเศสเองก็มีการเพิ่มประเภทสวัสดิการให้มากขึ้นตลอดเวลาและแทบจะทุกรัฐบาล แม้ประเทศฝรั่งเศสจะไม่ใช่รัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบเช่นในบางประเทศก็ตาม แต่ประเทศฝรั่งเศสก็มีสวัสดิการให้กับประชาชนเป็นจำนวนมากมาเป็นเวลานานแล้ว แผนต่อต้านความยากจนนี้จะเพิ่มประเภทและเพิ่มจำนวนเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนมากขึ้น ก็คงต้องดูกันต่อไปนะครับว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่
       ในส่วนของประเทศไทยเรานั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เองผมมีโอกาสได้เห็นร่างกฏหมายฉบับหนึ่งคือร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งเมื่อผมเห็นชื่อร่างกฏหมายดังกล่าวผมก็รู้สึกตื่นเต้นและคิดว่าว่าเราน่าจะมีโอกาสที่จะเป็นรัฐสวัสดิการได้ในไม่ช้า แต่เมื่อได้ดูสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วกลับเห็นว่า ชื่อของกฎหมายกับเนื้อหาของกฎหมายนั้นเป็นคนละเรื่องกันครับ ถ้ามีโอกาสผมจะนำร่างนี้มาเสนอเล่าให้ฟัง ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความเรื่อง “สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง มานำเสนอครับ ขอขอบคุณคุณชำนาญฯ เป็นอย่างยิ่งครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544