หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 367
5 สิงหาคม 2561 20:12 น.
"กฏหมายห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในโรงเรียน"

       
       เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐสภาของประเทศฝรั่งเศสได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฏหมายห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตได้ในโรงเรียนระดับชั้นประถมไปจนถึงชั้นมัธยมต้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาเป็นสภาแรกและสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเป็นสภาที่สอง กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อเปิดเทอมในเดือนกันยายน ค.ศ.2018 ที่จะถึงนี้โดยกฎหมายฉบับนี้ได้เข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา L.511-5 แห่งประมวลกฎหมายการศึกษา (code de l'éducation)
        
       
คืนวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ได้ลงข้อความใน Twitter ของตนว่า การห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตได้ในสถาบันการศึกษาระดับเด็กเล็กไปจนกระทั่งถึงชั้นมัธยมได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแห่งชาติไปแล้วและนี่คือการดำเนินการตามนโยบายที่ตนได้นำเสนอต่อประชาชนชาวฝรั่งเศสในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง

        
       
เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ห้ามนักเรียนในโรงเรียนชั้นประถม (école) และชั้นมัธยมต้น (collège)ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตได้ไม่ว่าจะเป็น tablet หรือ smart watch ในบริเวณโรงเรียนและในห้องเรียน โดยมีข้อยกเว้นว่าหากเป็นการใช้เพื่อการศึกษา ใช้สำหรับนักเรียนพิการ หรือใช้สำหรับการศึกษานอกห้องเรียนเช่น การกีฬา ก็สามารถใช้ได้โดยให้สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งออกเป็นข้อบังคับภายใน (règlement intérieur) พื่อกำหนดข้อยกเว้นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้มิได้ห้ามการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารในโรงเรียนชั้นมัธยมปลาย (lycée) แต่ให้เป็นอำนาจของโรงเรียนชั้นมัธยมปลายแต่ละแห่งที่จะตัดสินใจว่าจะห้ามการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารในโรงเรียนหรือไม่โดยให้ออกเป็นข้อบังคับภายใน (règlement intérieur) ได้เช่นกัน

        
       
เดิมนั้น ประมวลกฎหมายว่าด้วยการศึกษามาตรา L.511-5 ซึ่งได้รับการแก้ไขไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.2010 ได้บัญญัติไว้ว่า โรงเรียนชั้นประถมจนกระทั่งถึงชั้นมัธยมต้นอาจกำหนดไว้ในข้อบังคับภายในของตนห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างการเรียนหรือในสถานที่ที่โรงเรียนกำหนดได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีผลเป็นการห้ามอย่างเด็ดขาด จึงได้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่มาเพื่อห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตได้อย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็น tablet หรือ smart watch ในบริเวณโรงเรียนและในห้องเรียน

        
       
ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในคำอธิบายเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมาย (exposé des motifs) ต่อสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวไว้ว่า ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น นาย Emmanuel Macron ได้ให้การยืนยันต่อประชาชนว่า ต้องการที่จะห้ามการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนกระทั่งถึงมัธยมต้น โดยมีเหตุผลระบุเป็นตัวเลขว่า ในปี ค.ศ.2016 เด็กนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ถึง 17 ปี ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กันมากถึงร้อยละ 93 ของจำนวนเด็ก ในขณะที่ในปี ค.ศ. 2005 มีเพียงร้อยละ 72 นอกจากนี้ จากการสอบถามความคิดเห็นในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2017 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยข้อมูลและเสรีภาพ ( Commission nationale de l’informatique et des libertés )ได้ให้ตัวเลขเอาไว้ว่า ร้อยละ 63 ของเด็กอายุ 11 ถึง 14 ปี ลงบัญชีเป็นผู้ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยเด็ก 4 ใน 10 คนให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเรื่องอายุของตน

        
       
ในขณะที่ในทางปฏิบัติ การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดระหว่างการเรียนหนังสือหรือภายในโรงเรียนทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายเกี่ยวกับการเรียนหนังสือ ทำให้นักเรียนขาดความตั้งใจในการเรียนหนังสือเท่าที่ควรอันเป็นการทำลายบรรยากาศของการศึกษา ทำให้การดำเนินการของสถานศึกษาเป็นไปอย่างไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรเพราะนอกจากเด็กจะไม่ตั้งใจเรียนหนังสือแล้วก็ยังไม่พูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือเล่นกับเพื่อนในช่วงเวลาพักผ่อนขณะอยู่ที่โรงเรียน การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำให้การออกกำลังหรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างนักเรียนลดลง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์และพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้ เด็กส่วนหนึ่งยังใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการทำผิดหลายหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำเสนอข้อมูลที่ผิดหรือข้อมูลในด้านลบที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา ครูและเพื่อน มีการดูหนังหรือภาพลามกอนาจาร ดูหนังหรือภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง เป็นต้น และยังมีปัญหาอื่นอีกซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและก่อให้เกิดผลกระทบในโรงเรียน เช่น การเล่นกันแล้วทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่เสียหายหรือแม้กระทั่งการขโมย เป็นต้น

        
       
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายฉบับนี้ในระบบกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสเพราะประเทศฝรั่งเศสก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงในด้านการมีกฎหมายออกมาใช้บังคับกับประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ก็คือประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น การห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดระหว่างการเรียนหนังสือหรือภายในโรงเรียนจะเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้และผู้ที่ต้องการติดต่อกับผู้ใช้ซึ่งอาจเป็นผู้ปกครองของบรรดาเด็กนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนได้ ดังนั้น แม้จะมีผู้เสนอว่า ตามกฏหมายที่มีอยู่เดิม แม้โรงเรียนต่างๆสามารถออกกฎข้อบังคับภายในเพื่อห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดระหว่างการเรียนหนังสือหรือภายในโรงเรียนได้ แต่ผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าเพราะเกรงว่าจะเกิดการฟ้องร้องตามมาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่กระทบหรือขัดต่อเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ด้วยเหตุนี้เอง รัฐสภาจึงต้องออกกฎหมายฉบับนี้มาเพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้มีผลในการบังคับใช้

        
       
ผลข้างเคียงของการมีกฎหมายฉบับนี้เท่าที่ผมอ่านพบก็คือ มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอื่นๆเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการนำรูปถ่ายของสมาชิกรัฐสภาที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการประชุมมาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆหรือแม้กระทั่งการที่ประธานาธิบดีต้อนรับนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศสหลังจากประสบชัยชนะเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็จะเห็นภาพประธานาธิบดีหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกมาจากกระเป๋าแล้วถ่ายรูปที่เรียกว่าเซลฟี่กับบรรดานักฟุตบอลเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการผู้ใหญ่บางคนออกมาให้ความเห็นว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือครูเองก็ไม่ควรที่จะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารใดๆในสถานศึกษาเว้นแต่จะเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายก็เพื่อชี้ให้สังคมเห็นว่า ทำไมถึงต้องมาห้ามเฉพาะเด็กนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษา ผู้ใหญ่เองในเวลาทำงานก็ไม่ควรที่จะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเพราะจะทำให้เสียการเสียงานด้วยครับ

        
       
มีข้อสังเกตว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทลงโทษและไม่มีรายละเอียดด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละสถาบันการศึกษาที่เมื่อพบเด็กนักเรียนทำผิดกฎจะดำเนินการอย่างไรต่อไปซึ่งประเด็นนี้เองก็ถูกต่อว่าอย่างมากว่า เป็นการให้ดุลพินิจกับผู้บริหารสถาบันการศึกษาอย่างมาก

        
       
ของไทยเราเองเรื่องนี้ไม่ต้องพูดถึงนะครับ ใกล้ตัวที่สุดที่เคยพบเห็นก็คือมีผู้เรียนจำนวนมากที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆในห้องเรียน มีการพบการทุจริตในการสอบโดยใช้อุปกรณ์สื่อสารบางประเภท ต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้องดูว่าเราควรจะต้องมีกฎหมายลักษณะแบบนี้หรือไม่และสถาบันการศึกษาต่างๆควรจะต้องคิดดูว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างไรครับ

        
       
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอบทความเดียวคือบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "การเมืองหลังเลือกตั้งปี 62" ผมขอขอบคุณคุณชำนาญ ไว้ ณ ที่นี้ครับ

        
       
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2561 ครับ

        
       
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์



 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544