|
|
|
|
|
"นายกรัฐมนตรีคนนอก"
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นและได้เชิญผมไปอภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง นายกรัฐมนตรีคนนอกและแนวโน้มการเมืองไทย บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจะขอนำสิ่งที่ผมได้ไปอภิปรายมาเล่าให้ฟังครับ
จุดใหญ่ใจความของการอภิปรายในวันนั้นก็คือเรื่อง ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเป็นที่พูดถึง วิพากษ์วิจารณ์และวิตกกังวลกันว่า เมื่อเกิดการเลือกตั้งขึ้น ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติเอาไว้ให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกซึ่งก็หมายความถึงนายกรัฐมนตรีที่มิได้เป็นไปตามกระบวนการปกติที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้
ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าตัวแทนประชาชนจะเป็นผู้เข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศแทนประชาชน ตัวแทนประชาชนเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการสรรหาอย่างถูกต้องจึงจะถือได้ว่าประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยให้กับตัวแทนประชาชนไปทำงานแทนประชาชน
ระบบที่เราคุ้นเคยกันอยู่ก็คือประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าไปบริหารประเทศ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญจำนวนมากทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับในช่วงรัฐประหาร รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญรูปแบบไหนก็ตามจะกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นแต่เทียบเท่านายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้บริหารประเทศ เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญและเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนับแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พบว่า ที่มาของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมี 2 แนวทาง คือ รัฐธรรมนูญที่ไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นหรือมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นหรือมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร มี รัฐธรรมนูญอยู่เพียง 4 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สี่ พ.ศ. 2535 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ 2550 บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับก็คือ นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นจากสมาชิกภาพในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ยังได้บัญญัติเอาไว้อีกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...
ประเด็นเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวไว้ทั้ง 2 แนวทางข้างต้นนี้ ที่ผ่านมามีการให้ความเห็นทางวิชาการอยู่สองฝ่ายโดยฝ่ายที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีเหตุผลสนับสนุนว่า เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีและประชาชนเพราะเท่ากับว่าประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีทางอ้อม ทำให้การเลือกตั้งมีความหมาย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรกำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีเอาไว้ตายตัว ควรเปิดโอกาสให้มีทางเลือกมากขึ้นเพราะบางสถานการณ์อาจมีความจำเป็นที่ต้องการให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้
นอกจากการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทั้ง 2 แนวทางที่กล่าวไปแล้ว ในประเทศไทยยังมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารอีกจำนวนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือภายหลังการรัฐประหาร หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง กลุ่มแรกนี้เมื่อพิจารณาดูรายชื่อก็จะพบว่าเป็นทหารทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือหัวหน้าคณะรัฐประหารไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแต่แต่งตั้งคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเหล่านี้มีบางส่วนเป็นพลเรือน เช่น นายควง อภัยวงศ์ นายพจน์ สารสิน นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และนายอานันท์ ปันยารชุน แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นทหาร เช่น พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว เรายังมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอกที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากวิกฤติทางการเมืองอยู่ 2 กรณีด้วยกัน กรณีแรกก็คือกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมพ.ศ. 2516 ที่เกิดวิกฤติทางการเมืองขึ้นและนายกรัฐมนตรีลาออก เกิดการจลาจลขึ้นในประเทศ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนในปีพ.ศ. 2535 เกิดวิกฤติทางการเมืองเมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ต่อมาประธานรัฐสภาก็ได้ตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
เคยมีข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีอีกข้อเสนอหนึ่งที่สมควรบันทึกไว้ด้วยคือในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลมีปัญหา เกิดการชุมนุมทางการเมือง เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในประเทศ นักวิชาการกลุ่มหนึ่งร่วมกับพรรคฝ่ายค้านได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีให้ขอพึ่งบารมีพระมหากษัตริย์ขอพระราชทานรักษาการนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองและมีความเป็นกลางมารักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งเสร็จและได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยกลุ่มผู้เสนอได้ขอให้นำมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มาใช้ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเพราะมีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นเป็นที่ยุติว่า มาตรา 7 นั้นนำมาใช้ในการอุดช่องว่างในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติในเรื่องใดไว้เป็นการเฉพาะ แต่ในเรื่องการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเอาไว้โดยเฉพาะ จึงไม่สามารถนำมาตราดังกล่าวมาใช้ได้
หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้นกำหนดเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีเอาไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรอาจเสนอชื่อบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ผ่านการเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่อมา จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีกชุดหนึ่งโดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเปิดเผยไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่าผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ แต่ต่อมาหลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ได้แสดงความวิตกในร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็น ก่อนที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญไปออกเสียงประชามติจึงเกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่าคำถามพ่วง เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความเห็นในเรื่องสำคัญโดยในคำถามพ่วงกำหนดเอาไว้ว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวพร้อมคำถามพ่วงผ่านการออกเสียงประชามติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งโดยในบทเฉพาะกาลเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาเสนอชื่อบุคคลภายนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีได้สองแบบคือแบบปกติและแบบพิเศษในบทเฉพาะกาล
กระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 แบบปกติบัญญัติไว้ในมาตรา 88 มาตรา 158 และมาตรา 159 สรุปความได้ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา 3 รายชื่อให้ประชาชนทราบ สภาผู้แทนราษฎรต้องเลือกนายกมนตรีจากผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว
มาตรา 88 ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ และให้นําความในมาตรา 87 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารง
ตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทํา
โดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาผู้แทนราษฎร
แต่อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีแบบพิเศษเอาไว้ในมาตรา 272 ว่า หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้แจ้งไว้ สมาชิกรัฐสภาอาจเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้มีการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มิได้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก็ได้โดยมีรายละเอียดคือ
มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่ การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งต้ังบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีช่ืออยู่ใน บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของท้ังสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อท่ีพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นน้ัน ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของท้ังสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดําเนินการตามวรรคหน่ึงต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายช่ือท่ีพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
กล่าวโดยสรุปสำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีแบบปกติตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ก็คือ พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามชื่อก่อนปิดการสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือ จากนั้นก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบ เมื่อเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบโดยพรรคการเมืองที่สมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบและสภาผู้แทนราษฎรต้องมีมติมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดให้ความเห็นชอบ บุคคลดังกล่าวจึงเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีแบบพิเศษตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลที่เกิดจากคำถามพ่วงนั้นจะนำมาใช้กับห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกโดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมให้ความเห็นชอบโดยต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแต่ถ้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ สมาชิกรัฐสภารวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งสามารถเข้าชื่อกันขอประธานรัฐสภาให้ยกเว้นไม่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ นี่คือที่มาของนายกรัฐมนตรีที่เรียกกันเป็นการทั่วไปว่านายกรัฐมนตรีคนนอก
ในการอภิปราย ผมได้เสนอความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีควรมาจากกระบวนการตามมาตรา 88 แห่งรัฐธรรมนูญคือ พรรคการเมืองเสนอชื่อและประชาชนได้รับทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า ถ้าพรรคการเมืองพรรคนั้นเข้ามาเป็นรัฐบาลจะต้องตั้งบุคคลที่เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี กระบวนการดังกล่าวแม้นายกรัฐมนตรีจะมิได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ถือว่าประชาชนได้รับรู้รับทราบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า พรรคการเมืองที่ตัวเองเลือกหากชนะการเลือกตั้งเข้ามาจะให้ผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี จึงอาจถือได้ว่าประชาชนให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งแตกต่างไปจากกรณีตามบทเฉพาะกาลที่สมาชิกรัฐสภาอาจเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้ที่มิได้อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้ประชาชนทราบมาตั้งแต่ต้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากบุคคลภายนอก และประชาชนก็มิได้รับรู้รับทราบมาตั้งแต่ต้นว่าบุคคลดังกล่าวจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
กระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเมื่อพิจารณาดูจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้วจะพบว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิได้กำหนดไว้ว่า กระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากี่วันซึ่งแตกต่างไปจากกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 ที่บัญญัติเอาไว้ชัดเจนว่าจะต้องได้นายกรัฐมนตรีภายใน 30 วันนับแต่วันประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพราะฉะนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเราคงต้องมานั่งลุ้นกันกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาเพราะในการประชุมรัฐสภาครั้งแรกนั้น ถ้ารัฐสภาเกิดต้องการทำข้อบังคับการประชุมรัฐสภาว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีเองก็จะต้องใช้เวลาพอสมควร นอกจากนี้แล้ว ยังไม่ทราบว่าจะมีพรรคการเมืองจำนวนกี่พรรคที่จะมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลในบัญชีรายชื่อของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เมื่อเสนอชื่อแล้ว กระบวนการจะเป็นอย่างไร ต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ มีการตรวจสอบประวัติหรือไม่ กระบวนการทางรัฐสภาเหล่านี้แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันหรือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะเตรียมทำล่วงหน้าเอาไว้ก่อน แต่ก็ไม่แน่ว่า รัฐสภาชุดใหม่ต้องการที่จะทำข้อบังคับเองหรือไม่ เพราะฉะนั้น กระบวนการทางรัฐสภาเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาไว้ในรัฐธรรมนูญอาจใช้เวลานานกว่าที่คิดก็เป็นไปได้ ส่วนเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันซึ่งมีข่าวออกมามากมายว่าน่าจะเป็น นายกคนนอกนั้น จนถึงปัจจุบันเราก็ยังไม่ทราบท่าทีที่ชัดเจนของนายกรัฐมนตรีว่า จะเป็นคนในหรือคนนอก การเป็นคนในหมายความว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อตนเองเอาไว้ในรายชื่อ ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยอมให้เสนอชื่อของตนเองไว้ในรายชื่อของพรรคการเมืองที่จะต้องประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้า คำถามที่ตามมาก็คือ เพื่อความเป็นกลาง นายกรัฐมนตรีควรลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพื่อความเป็นกลางรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นผู้เชิญมาร่วมรัฐบาลควรลาออกทั้งชุดหรือไม่ นี่คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะต้องตอบต่อประชาชนด้วยความกล้าหาญ เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดปัญหาตามมามากมายถึงเรื่องความเป็นกลาง แต่ถ้านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่ยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อและต่อมาเมื่อมีการได้มาซึ่งสมาชิกรัฐสภาเรียบร้อยแล้วและในที่สุดสมาชิกรัฐสภาเลือกใช้กระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลโดยเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป คงไม่มีใครกล้ายืนยันว่าจะเกิดความวุ่นวายตามมาเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬหรือไม่ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะตัดสินใจอย่างไรหากต้องการที่จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "คนอยากเลือกตั้งทำไม - ทำไมคนอยากเลือกตั้ง" ผมขอขอบคุณคุณชำนาญฯไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|