หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 353
7 มกราคม 2561 17:40 น.
สิทธิที่จะตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการประชุมแห่งหนึ่ง เพื่อนข้าราชการคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่ามีปัญหาเรื่องการทำงานกับลูกน้องซึ่งเป็นคนสมัยใหม่ที่มักจะส่งงานทางอีเมลตอนดึก พอรุ่งเช้ามาทำงานก็มาถามว่าได้ตรวจงานให้ตัวเองหรือยัง ผมก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ผมเป็นคณบดีก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน สั่งงานเจ้าหน้าที่ตอนเช้าโดยกำชับว่าให้ส่งภายในวันนั้น ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ส่งวันนั้นจริงแต่เป็นการส่งผ่านอีเมลตอนสี่ทุ่มกว่า ผมก็เลยมานั่งนึกดูถึงเรื่องที่เคยคุยกับเพื่อนชาวฝรั่งเศสเมื่อเดือนที่ผ่านมาตอนที่ผมเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเรื่องปัญหาเรื่องแรงงาน เพื่อนเล่าให้ฟังว่าเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการปฏิรูประบบกฎหมายแรงงานครั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส เนื้อหาของกฎหมายแรงงานฉบับใหม่บางส่วนเอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างแต่บางส่วนก็เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างมีอยู่มาก จึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของสหภาพแรงงานต่างๆไปแล้วหลายครั้ง การปฏิรูปกฎหมายแรงงานนี้มีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนอกเวลางาน ก็เลยถือโอกาสนำมาเขียนเล่าสู่กันฟังในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ
       
       ปัจจุบัน ตามกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างในประเทศฝรั่งเศสทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 35 ชั่วโมง เรื่องชั่วโมงการทำงานของคนฝรั่งเศสเป็นเรื่องที่เอาจริงเอาจังและเป็นเรื่องใหญ่มาก สมัยผมเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าต่างๆปิดวันอาทิตย์ วันธรรมดาบางวันก็จะปิดเร็วอย่างเช่นปิดประมาณ 6 โมงเย็น แต่ในปัจจุบันนั้น ระบบการทำงานในประเทศฝรั่งเศสมีการปรับตัวในเรื่องเวลาทำงานไปมาก เช่น มีการทำงานในวันอาทิตย์ มีการทำงานกลางคืนตั้งแต่สองทุ่มถึง 7 โมงเช้าหรือทำงานในวันหยุด แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานเกินสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงก็เป็นเรื่องที่นายจ้างกับลูกจ้างจะต้องตกลงกัน นายจ้างไม่สามารถบังคับให้ลูกจ้างทำงานเกินสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงได้ ส่วนลูกจ้างที่ยอมทำงานเกินสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงก็จะได้รับค่าทดแทนหรือค่าล่วงเวลา ซึ่งลูกจ้างแต่ละคนก็ไม่อาจทำงานเกิน 10 ชั่วโมงต่อวันและรวมเวลาการทำงานตลอดทั้งสัปดาห์ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้แล้ว ประเภทของลูกจ้างในปัจจุบันก็ยังมีความหลากหลาย เช่น ลูกจ้างที่รับจ้างทำงานรายวัน ลูกจ้างที่รับจ้างทำงานรายสัปดาห์ เป็นต้น ลูกจ้างเหล่านี้อาจทำความตกลงกับนายจ้างกำหนดชั่วโมงทำงานเพิ่มได้เกินวันละ 7 ชั่วโมง ส่วนเมื่อพ้นเวลาทำงานแล้ว คนฝรั่งเศสมักจะให้ความสำคัญสูงมากกับการพักผ่อนไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนกับครอบครัวในตอนหลังเลิกงาน การพักผ่อนในวันหยุดหรือการพักร้อนประจำปี
       
       เหตุที่ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายแรงงานในปีที่ผ่านมาก็เพราะรัฐบาลต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นและลดอัตราการว่างงาน จึงต้องทำการปฏิรูประบบกฎหมายแรงงานใหม่ทั้งหมดเนื่องจากกฏหมายแรงงานเดิมนั้นใช้มาเป็นเวลานานมากแล้ว ว่ากันว่ากฎหมายแรงงานฉบับเดิมนั้นเป็นผลดีกับลูกจ้างมากเกินไปเพราะมีบทบัญญัติที่ปกป้องลูกจ้างและมีหลักประกันให้กับลูกจ้างสูงมาก ซึ่งก็กลายเป็นผลเสียกับนายจ้างเพราะการคุ้มครองแรงงานที่ดีกลายเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจ ทำให้การแข่งขันกับต่างประเทศเป็นไปอย่างลำบาก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ การปฏิรูปกฎหมายแรงงานในประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้จึงค่อนข้างที่จะเอาใจนายจ้างโดยเฉพาะในกิจการที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เนื้อหาของกฎหมายฉบับใหม่เปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถพิจารณาจ้างงานได้ง่ายขึ้น ดำเนินการกับลูกจ้างที่ไม่มีประสิทธิภาพโดยให้ออกจากงานได้ง่ายขึ้น เปิดช่องให้นายจ้างสามารถเจรจาต่อรองเรื่องวันหยุดวันลาได้สะดวกขึ้น เจรจาต่อรองกับลูกจ้างได้โดยตรงในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆโดยไม่ต้องให้สหภาพแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง นายจ้างสามารถปลดหรือไล่ออกลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนจำนวนมาก เป็นต้น เหตุผลที่มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานในครั้งนี้ก็เพราะประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่คือนาย Emmanuel Macron ต้องการให้ประเทศฝรั่งเศสมีระบบจ้างงานที่มีความเข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่มีสหภาพแรงงานต่างๆเป็นจำนวนมากและมีบทบาทสูงมาก ทำให้อัตราการว่างงานของประเทศฝรั่งเศสอยู่ในระดับ 10% ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆในยุโรปถึงสองเท่า
       
       กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ได้เข้าไปจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการทำงานนอกเวลางานด้วย ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีต่างๆได้พัฒนาไปมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านการสื่อสารซึ่งนอกจากจะเกิดผลดีทำให้เราสามารถติดต่อกันได้สะดวกมากขึ้นกว่าวิธีการติดต่อในระบบเดิมๆแล้ว เทคโนโลยีด้านการสื่อสารก็ยังสร้างภาระให้กับลูกจ้างด้วยเพราะนายจ้างสามารถติดต่อลูกจ้างและสามารถสั่งงานลูกจ้างได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะทางอีเมลหรือผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ลูกจ้างบางคนถูกนายจ้างสั่งงานหลังเลิกงาน ตามงานตอนกลางคืนหรือวันหยุด ทำให้ลูกจ้างต้องทำงานตลอดเวลาแม้จะพ้นเวลาทำงานไปแล้วก็ตาม การสั่งงานนอกเวลางานผ่านเทคโนโลยีด้านการสื่อสารต่างๆ ทำให้ลูกจ้างต้องทำงานเกินสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาด้วยซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกองค์กรในช่วงเวลาที่ผ่านมา
       
       เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสั่งงานนอกเวลางานผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2017 ที่ผ่านมา กฏหมายแรงงานของประเทศฝรั่งเศสในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อ (droit à la déconnexion) การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มีผลใช้บังคับโดยมาตรา L 2242-8 ของกฏหมายดังกล่าวได้กำหนดหลักการเอาไว้ว่า กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปต้องทำความตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับชั่วโมงในการทำงาน โดยต้องระบุว่า เวลาทำงานของพนักงานในแต่ละวันเริ่มต้นและสิ้นสุดลงในเวลาใด นอกเหนือเวลาทำงาน พนักงานมีสิทธิ์ที่จะตัดขาดการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ไม่อ่านและไม่ตอบอีเมลที่ถูกมาส่งมาจากบริษัทนอกเวลาทำงานได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดและจะไม่ถูกนำมาใช้ในการประเมินผลการทำงานของพนักงานคนนั้น ฐานความคิดของเรื่องดังกล่าวมาจากการที่คนฝรั่งเศสเคารพในหลักการของชั่วโมงทำงานอย่างเคร่งครัด กฏหมายแรงงานของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 กำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างเอาไว้ไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การสั่งงานนอกเวลางานผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จึงสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับลูกจ้างเพราะไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาทั้งๆที่ลูกจ้างต้องทำงานบางอย่างนอกเวลาทำงานซึ่งในบางกรณีลูกจ้างอาจต้องใช้เวลาในการทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ นอกจากนี้การใช้งานนอกเวลาทำงานยังเป็นการกระทำที่ไม่เคารพเวลาส่วนตัว เวลาอยู่กับครอบครัวหรือเวลาพักผ่อนของลูกจ้างอีกด้วย
       
       กลไกเรื่องสิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อ (droit à la déconnexion) การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานฉบับใหม่นี้อยู่ตรงที่นายจ้างกับลูกจ้างของบริษัทหรือองค์กรที่มีลูกจ้างเกินกว่า 50 คนจะต้องเจรจาตกลงกันโดยนายจ้างและลูกจ้างอาจทำข้อตกลงยกเว้นเรื่องดังกล่าวก็ได้หากบริษัทหรือองค์กรใดที่การทำงานจำเป็นต้องติดต่อกับลูกจ้างนอกเวลางานหรือเป็นการทำงานที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศที่เวลาของแต่ละประเทศแตกต่างกันก็ต้องกำหนดเงื่อนไขเงื่อนเวลาต่างๆเอาไว้ให้ชัดเจน กล่าวโดยสรุปก็คือกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ไม่ได้ห้ามขาดการสั่งงานนอกเวลางานผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่าจะทำงานกันอย่างไรหลังเวลาเลิกงาน มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเช่นบริษัท Orange ของฝรั่งเศสทำความตกลงกับพนักงานว่าเวลาประชุมห้ามใช้โทรศัพท์หรือส่งข้อความหรืออีเมล์ส่วนตัว บริษัท Michelin ทำความตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างว่า วันศุกร์ตั้งแต่เวลา 21.00 น.ถึงวันจันทร์ 7.00 น.จะไม่มีการติดต่อกันระหว่างหน่วยงานกับพนักงานในเรื่องงาน เป็นต้น
       
       เข้าใจว่า ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฏหมายลักษณะนี้ กฎหมายได้รับการตอบรับจากลูกจ้างเป็นอย่างดีเพราะทำให้ลูกจ้างมีเวลาพักผ่อนและถือเป็นการวางหลักของการแยกเวลางานและเวลาส่วนตัวออกจากกันด้วยครับ
       
       คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องสิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อ (droit à la déconnexion) การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆดังกล่าวในประเทศไทยนะครับเพราะผมเข้าใจว่าพนักงานหรือลูกจ้างของเราต่างก็มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมากและเนื่องจากเราไม่มีสหภาพแรงงานในหน่วยงาน ความยินยอมพร้อมใจร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพจึงเกิดขึ้นได้ยาก หากหน่วยงานหรือองค์กรใดในประเทศไทยนำสิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อ (droit à la déconnexion) การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆมาใช้ คาดเดาได้ว่าคงจะต้องมีพนักงานหรือลูกจ้างที่เต็มใจและแย่งกันรับงานไปทำในวันหยุดหรือวันพักผ่อนเพื่อให้ตัวเองได้เป็นคนโปรดของนายอย่างแน่แท้ทีเดียวครับ
       
       ท้ายที่สุดคงต้องขอออกตัวไว้ด้วยว่าผมไม่ใช่นักกฏหมายแรงงาน ข้อเขียนข้างต้นอาจมีข้อผิดพลาดได้ ถือว่าเป็นการเล่าสู่กันฟังถึงพัฒนาการด้านกฏหมายแรงงานของฝรั่งเศสก็แล้วกันครับ ถ้าผู้อ่านพบข้อผิดพลาดก็ช่วยแจ้งมาด้วยนะครับจะได้แก้ไขข้อเขียนข้างต้นให้ถูกต้อง ขอบคุณครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอหนึ่งบทความ คือบทความเรื่อง "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2561 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544