หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 350
26 พฤศจิกายน 2560 16:50 น.
การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ

       
นักกฏหมายทุกคนคงรู้จักกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการกันเป็นอย่างดีแล้วเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แล้ว กฎหมายฉบับนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบราชการของไทยเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นการให้สิทธิประชาชนที่จะขอดูข้อมูลข่าวสารของราชการ สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศที่มีการปกครองในระบบประชาธิปไตย การให้สิทธิประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆของราชการซึ่งรวมไปถึงการบริหารงานในด้านต่างๆของรัฐด้วย นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการยังมีผลเป็นการสร้างกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชนได้อีกด้วยเพราะเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้ง่าย ประชาชนก็จะทราบถึงกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมของรัฐได้ ทำให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐระมัดระวังในการใช้อำนาจของตนมากขึ้น ซึ่งก็มีผลเป็นการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานของรัฐ

       
กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการใช้บังคับมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว เป็นธรรมดาที่แม้กฎหมายจะเขียนได้ดีและครอบคลุมเพียงใดก็ตามแต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องมีการปรับปรุงทบทวนให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ 

       
ในฐานะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ผมได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการให้เป็นประธานอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายและอนุบัญญัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในการทำงาน คณะอนุกรรมการได้มีการประชุมกันมาหลายสิบครั้งและได้เสนอ ร่างกฎหมายไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อพิจารณาหลายครั้ง จนกระทั่งในที่สุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารก็ได้มีมติเห็นชอบร่างกฏหมายที่คณะอนุกรรมการได้จัดทำแล้วเสร็จและให้เสนอร่างกฏหมายดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานด้านข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

       
ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมขอนำเอาร่างกฏหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการที่คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายและอนุบัญญัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารดำเนินการยกร่างเสร็จเรียบร้อยมาเล่าให้ฟังเฉพาะในประเด็นที่น่าสนใจของการแก้ไขกฎหมาย 3 ประเด็นด้วยกันคือ

       
ประเด็นแรก การกำหนดให้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการมีสถานะเป็นกฎหมายที่มีสถานะเป็นกฎหมายกลาง หากกฎหมายอื่นกำหนดวิธีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ก็ให้ใช้บทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการแทน

       
เหตุผลที่ต้องกำหนดให้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นกฎหมายกลางก็เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมามีกฏหมายหลายฉบับที่พยายามไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารบางเรื่องบางอย่างของบางหน่วยงานให้ประชาชนรับรู้ ถือเป็นการดำเนินการที่ปิดกั้นสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการของประชาชน ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จึงนำเอารูปแบบความเป็นกฎหมายกลางของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้โดยกำหนดให้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นกฎหมายกลางที่มีผลทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการโดยหน่วยงานของรัฐทั้งหมดต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการไว้โดยเฉพาะและมีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการแก่ประชาชนหรือมีหลักประกันการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ก็ให้เป็นไปตามที่กฎหมายนั้นกำหนด

       
ประการที่สอง การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องแต่งตั้งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐนั้น คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่ในการจัดวางระบบการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการของหน่วยงานนั้นและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลข่าวสาร 

       
การกำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงานก็เพราะที่ผ่านมานั้น มีหน่วยงานของรัฐจำนวนหนึ่งไม่กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ร้องขอและมักจะใช้วิธีปกปิดข้อมูลข่าวสารนั้นไว้ก่อน ผู้ร้องขอข้อมูลจึงต้องมาอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทำให้คณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีเรื่องต้องพิจารณาจำนวนมาก ทั้งๆที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่จบภายในหน่วยงานได้ การกำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานให้แล้วเสร็จภายในหน่วยงานก่อนที่จะเป็นปัญหามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

       
ประการที่สาม การกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสาร ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการโดยมิชอบหรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีเหตุผลอันควร ให้ผู้ขอข้อมูลแจ้งไปยังผู้มีอำนาจบังคับบัญชา ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ผู้กำกับดูแล หรือผู้ควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเพื่อสั่งการหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือลงโทษทางวินัยต่อไป

       
จริงอยู่ที่แม้จะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะสั่งการหรือลงโทษทางวินัย ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเพื่อเป็นการยืนยันหลักการของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการต่อประชาชน จึงมีการนำบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวข้างต้นมาบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการอีกชั้นหนึ่ง

       
ประการที่สี่ การกำหนดให้การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สามารถทำได้โดยยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดได้โดยตรงในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ผู้อุทธรณ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยนั้น

       
เดิมเมื่อหน่วยงานของรัฐหรือผู้ขอข้อมูลข่าวสารไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ก็จะต้องไปดำเนินการฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไป การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะเสร็จกระบวนพิจารณาของทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดในตอนที่มีการยกร่างกฏหมายฉบับนี้ก็คิดกันว่า หากคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสามารถปรับกระบวนพิจารณาของตนเองให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับศาลปกครองชั้นต้นได้ เมื่อมีผู้ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็ให้ไปฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้เลยก็จะเป็นการลดระยะเวลาในการดำเนินการไปได้พอสมควร จึงมีการนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใส่ไว้ในกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ

       
จริงๆแล้วอย่างที่เรียนให้ทราบไปในตอนต้นว่า การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายดังกล่าวไปกว่า 10 ประเด็น แต่บางประเด็นก็เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยเช่น มีการเพิ่มเติมคำนิยามของคำว่าข้อมูลข่าวสารสาธารณะให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่าหน่วยงานของรัฐให้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภท มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบุคคลต่างด้าวเพื่อให้สิทธิบุคคลต่างด้าวเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเหมาะสม มีการกำหนดวิธีการเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ดังนั้น ผมจึงได้นำเพียงประเด็นใหญ่ๆ 4 ประเด็นมาเล่าให้ฟังครับ

       
ปัจจุบัน มีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่จะขอให้มีการจัดทำกฎหมายในทำนองเดียวกันกับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น กฎหมายว่าด้วยข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กฎหมายว่าด้วยข้อมูลความมั่นคงและความลับของทางราชการ เป็นต้น ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าในที่สุดแล้ว เราจะมีกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารเพิ่มมาใหม่อีกกี่ฉบับหรืออาจเป็นไปได้ว่าจะมีการยุบรวมกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารเข้าเป็นฉบับเดียวกันก็ได้นะครับ

       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. ... ตอนที่ 1" ที่เขียนโดย อาจารย์ ปีดีเทพ อยู่ยืนยง จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง "เมื่อพระราชบัญญัติแย้งต่อคำสั่ง คสช." ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2560 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544