|
|
|
|
|
เรากลับมาแล้ว
วันนี้ 28 กันยายน 2560 เป็นวันแรกที่ผมพ้นจากตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 28 กันยายน 2556 รวมเวลาที่เป็นคณบดี 4 ปีเต็ม
หลายๆคนบอกว่า การเป็น คณบดี คือ จุดสูงสุดของชีวิตความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สำหรับผมแล้ว การเป็น ศาสตราจารย์ ต่างหากที่เป็นจุดสูงสุดของชีวิตความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งผมผ่านจุดนั้นมาเกิน 10 ปีแล้ว
การเป็นศาสตราจารย์ได้นั้น เกิดจาก ความสามารถทางวิชาการส่วนตัว คือต้องมีการเขียนผลงานทางวิชาการในรูปแบบต่างๆที่ต้องผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในขณะที่การเป็นคณบดีได้นั้นเกิดจาก กระบวนการสรรหาของผู้ที่เกี่ยวข้องและอยู่รอบตัวเราแต่เพียงอย่างเดียว
ตำราเกือบ 30 เล่ม งานวิจัยเกือบ 30 ชิ้นบทความเกือบ 500 บทความ การจัดทำเว็บไซต์ www.public-law.net นี้มาตั้งแต่ปี พศ. 2544 การได้รับเชิญไปเป็น visiting professor ต่างประเทศกว่า 10 ครั้ง รวมทั้งรางวัลต่างๆอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลเอกสารวิจัยส่วนบุคคลดีเด่นจาก วปอ. รางวัลเมธีวิจัยอาวุโสจาก สกว. รางวัล TTF Award จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รางวัลอาจารย์แบบอย่างและรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติด้านการเรียนการสอนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งการได้รับรัฐอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ สิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้น ก่อน การเป็นคณบดีของผมทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม การทำงานวิชาการของผมต้องมาหยุดลงเมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งคณบดีเนื่องจากต้องทำงานบริหาร ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำงานวิชาการ ซึ่งจริงๆแล้ว การไม่ทำงานวิชาการเป็นสิ่งที่ขัดกับหน้าที่ขั้นพื้นฐานของความเป็นนักวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่งครับ
สิ่งที่ขาดหายไปในระหว่างการเป็นคณบดีมีอยู่มาก การทำงานบริหารทำให้เวลาส่วนตัวลดน้อยลง เมื่อเวลาส่วนตัวลดน้อยลงทำให้เราต้องเลือกใช้เวลาส่วนตัวไปกับเรื่องที่เป็นส่วนตัวจริงๆ การไปร่วมงานต่างๆไม่ว่าจะเป็นการแสดงความยินดีหรือแสดงความเสียใจจึงทำไม่ได้เต็มที่ เพื่อนเริ่มไม่ชวนไปไหนเพราะชวนแล้วไม่เคยไป ส่วนงานวิชาการนั้นแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะนึกถึงเลย ก่อนเป็นคณบดีผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอยู่ครึ่งๆกลางๆ เมื่อเข้ารับตำแหน่งคณบดีก็หยุดเขียน ตอนนั้นอยู่ในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากเพราะหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เราก็มีแล้วรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตามมาด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สปช. และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับปี 2560 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมากมายจนทำให้ผมแทบไม่กล้าคิดว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานขนาดไหนกว่าจะรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ถึงปัจจุบันเพื่อนำมาเขียนต่อในหนังสือรัฐธรรมนูญของผม
สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากการเป็นคณบดี คือ ความอดทนและอดกลั้น การทำงานบริหารทำให้ต้องเจอปัญหาต่างๆมากมาย ซึ่งผมก็ไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับการแก้ปัญหาทั้งนั้นเพราะคิดอยู่เสมอว่าปัญหามีไว้ให้แก้ แต่สิ่งที่เป็นเรื่องหนักอกหนักใจที่สุดก็คือเรื่อง คน เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ติดอยู่ที่ปัญหาเรื่อง คน ทั้งนั้น เรื่อง คนจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่สร้างความเหนื่อยใจให้กับผมตลอดระยะเวลา 4 ปีของการทำงานบริหาร แล้วก็เรื่อง คนอีกเช่นกันที่ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังพอสมควรเพราะเมื่อได้ทำงานกับ คน ก็ทำให้เรารู้จัก คน และ ความเป็นคน ของคนมากขึ้น เป็นปกติที่การยึดมั่นในประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับผู้ยึดมั่นในประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมหรือนึกถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว การปรับตัวเข้ากันจึงเป็นไปอย่างยากลำบากและนำไปสู่ความบาดหมางใจในที่สุด
ในช่วงเวลาที่ผมเป็นคณบดีนั้นมีปัญหาทางการเมืองขึ้นมามากมายจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผมได้รับคำขอจากหลายๆฝ่ายว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผมแม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ตาม แต่ในเมื่อผมมีตำแหน่งเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกโยงความเห็นส่วนตัวของผมเข้ากับตำแหน่งของผม ด้วยเหตุนี้เองผมจึงได้หยุดการจัดทำ www.public-law.net เป็นการชั่วคราว เมื่อพ้นจากตำแหน่งคณบดีแล้วก็จะย้อนกลับมาทำใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้แม้ผมจะพ้นจากตำแหน่งคณบดีแล้วแต่ผมก็ยังไม่ทราบชัดเจนว่าจะทำ www.public-law.net ได้เข้มข้นเหมือนเดิมหรือไม่เพราะเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการยังไม่เปิดอิสระอย่างเต็มที่ครับ
วันนี้เป็นวันแรกที่ผมพ้นจากตำแหน่งคณบดีและเป็นวันแรกที่ www.public-law.net เริ่มกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นทางการครับ ข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดที่มีอยู่ใน www.public-law.net นั้น ทีมงานของเรากำลังไล่ตามปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ที่สุด ส่วนบทบรรณาธิการของผมก็จะเผยแพร่เหมือนเดิมคือจันทร์เว้นจันทร์ โดยจะเริ่มในวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม นี้ ส่วนใครที่มีบทความที่จะนำลงเผยแพร่ใน www.public-law.net ก็ขอให้ส่งมาที่ wmpublaw@public-law.net หรือ ที่ Facebook : Public Law Net ครับ
เรากลับมาแล้วครับ
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
28 กันยายน 2560
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|