หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 8
13 ธันวาคม 2547 15:27 น.
"จะใช้หลักนิติศาสตร์ตัดสินคดีหรือ"
       
การเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ยากพอสมควรเพราะพอจะเริ่มเขียนก็มีนิสิตเข้ามาพบ เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเพิ่งจะเปิดเทอมเป็นสัปดาห์แรก ดังนั้น ทั้งอาจารย์และนิสิตต่างก็ต้องวุ่นวายกับภารกิจต่างๆที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องดำเนินการ
       ปีการศึกษาหนึ่งผ่านไปเร็วมาก ปีการศึกษาที่ผ่านมาเรามีนิสิตจบปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีการเปิดสอนกฎหมายมหาชนจำนวนไม่มาก ในขณะนี้ความต้องการนักกฎหมายมหาชนในปัจจุบันมีจำนวนมากเนื่องจากองค์กรต่างๆที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่ “ต้อง” ใช้นักกฎหมายมหาชนในการทำงานทั้งสิ้น ดังนั้น การผลิตนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ออกมาเพื่อไปทำงานในองค์กรต่างๆเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่สมควรดำเนินการอย่างรีบเร่ง แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตนักกฎหมายมหาชน “คุณภาพดี” ในปัจจุบันยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะมิใช่แต่เพียงส่วนราชการทั้งหลายจะอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนนักกฎหมายมหาชน แต่ในแวดวงมหาวิทยาลัยเองก็ประสบภาวะการขาดแคลนอาจารย์สอนกฎหมายมหาชนและตำราด้านกฎหมายมหาชนด้วยเช่นกัน
       ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้พบข่าวแปลกๆค่อนข้างมากซึ่งแต่ละเรื่องก็ล้วนแล้วแต่สร้างความเจ็บปวดและสับสนให้กับสังคมไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนของตำรวจที่สร้าง “ข้อกังขา” ให้กับสังคมในหลายๆกรณีตั้งแต่กรณีมีการกล่าวหาว่า “หมอฆ่าหมอ” หรือข่าว “ตำรวจ” บุกจับ “ทหาร” เป็นต้น ข่าวทั้งสองข่าวนี้มีบางลักษณะที่เหมือนกันและบางลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ที่แน่ๆ คือ บทบาทของ “สื่อมวลชน” ในการทำข่าวทั้งสองที่นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและสับสนให้กับสังคม ส่วนข่าวสำคัญอีกข่าวหนึ่งที่อยู่ในความสนใจร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศ คือ ข่าวนายกรัฐมนตรีซุกหุ้น ที่มีกระแสออกมาเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้หลักรัฐศาสตร์ในการพิจารณาคดี ผมเข้าใจว่าประเด็นดังกล่าวคงเป็นประเด็นที่นักกฎหมายทั้งหลายโดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชนคงจะให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตัวผมเองนั้นมีความสนใจเป็นอย่างมากว่า การใช้หลักรัฐศาสตร์ในการพิจารณาคดีนั้นจะทำอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึก “ชอบใจ” กับคำให้สัมภาษณ์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งซึ่งบอกว่าจะใช้
       “รัฐธรรมนูญ” ตัดสินคดี ซึ่งผมมีความรู้สึกเห็นด้วยกับผู้ที่กล่าวเช่นนั้น ผมไม่เข้าใจว่าทำไมการตัดสินคดีที่มีกฎหมายและรัฐธรรมนูญบัญญัติถึงความผิดและโทษไว้โดยชัดแจ้งจึงจะต้องใช้หลักรัฐศาสตร์มาตัดสิน เพราะหากตุลาการไม่พิจารณาตัดสินคดีความผิดที่เกิดขึ้นตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ตุลาการนั้นเองก็จะเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง
       สัปดาห์นี้ pub-law.net ได้ลงบทความตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบของบทความเรื่อง “บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครอง” โดย ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ และนอกจากนี้ pub-law.net ยังได้รับความกรุณาจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
       คุณชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและแนวทางในการพัฒนาบุคลากรด้านกฎหมายมหาชนสำหรับประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นคำสัมภาษณ์ที่นักกฎหมายมหาชนทุกคนและนิสิตนักศึกษาสาขากฎหมายมหาชนทุกคนควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง
       พบกันใหม่วันที่ 18 มิถุนายน 2544
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544