หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 318
2 มิถุนายน 2556 23:08 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 3 ถึงวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2556
       
       “การสลับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ”
       
                       เมื่อวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ได้มีหนังสือเชิญให้ผมไปร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการเพื่อปรึกษาหารือและขอคำแนะนำในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของคุณชัช ชลวร ภายหลังการลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ
                       เดิมนั้น ผมเข้าใจว่าเรื่องข้อกังขาเกี่ยวกับสถานะของคุณชัช ชลวร นั้นคงไม่มีใครนำมาพูดถึงอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาเมื่อครั้งที่คุณชัช ฯ ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เลขานุการของคุณชัชฯ ก็ได้สร้างข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการเข้าไปมีส่วนพัวพันกับปัญหาการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในตอนนั้นก็มีการตั้งประเด็นกันว่า คุณชัช ฯ ตั้งคนๆ นั้นเข้ามาเป็นเลขานุการตนเองได้อย่างไร เรื่องดังกล่าวจบลงด้วยการปล่อยให้ผ่านไปจนคนลืม ผมก็เลยคิดว่าเรื่องของสถานะการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของคุณชัช ฯ ก็คงเป็นเช่นเดียวกับเรื่องก่อนก็คือเงียบแล้วปล่อยให้ผ่านไปจนคนอื่นลืมๆ กันไปเอง แต่เมื่อได้รับหนังสือจากคณะกรรมาธิการจึงทราบว่ายังมีผู้ติดตามเรื่องนี้อยู่ โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้มีหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา เพื่อขอให้สอบสวนการงบประมาณของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการจ่ายเงินเดือนหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นให้นายชัช ชลวร ในสถานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้รับการโปรดเกล้าตั้งแต่วันที่ลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ว่า การงบประมาณที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2554 มาถึงปัจจุบันให้แก่นายชัช ชลวร นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                       เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบเกี่ยวกับเรื่องเงิน คณะกรรมาธิการมีความจำเป็นที่จะต้องทราบถึง “สถานะ” ของคุณชัช ชลวร ว่าปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงได้เชิญผมและนักวิชาการบางคนไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว
                       บทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจึงขอนำเอาข้อมูลที่ได้จากการไปแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการนำมาเสนอเพื่อให้เรื่องดังกล่าวถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะมีในวันข้างหน้าต่อไปครับ
                       เรื่องเริ่มต้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2551 ราชกิจจานุเบกษาได้พิมพ์ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 โดยในตอนต้นของประกาศ เป็นการเล่าถึงกระบวนการได้มาซึ่งบุคคลเก้าคน โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ...ซึ่งบุคคลทั้งเก้าคนได้ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ... ในวรรคต่อมาของประกาศเป็นพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีชื่อของคุณชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนอีก 8 คนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
                       ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 คุณชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญแถลงขอสลับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญโดยยังดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมเสียงข้างมากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คน มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้คุณชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 210 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยยังดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้คุณชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ปรากฎว่า คุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
                       ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2554 เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ คือนำชื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ขึ้นกราบบังคมทูล โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า ...ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ประธานศาลรัฐธรรมนูญแถลงต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าการสลับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญอยู่จนกว่าจะมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่... และต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2554 เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีหนังสือไปถึงเลขาธิการวุฒิสภา อธิบายขยายความรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้นดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยอีกสถานะหนึ่ง และการสลับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้
                       ในวันที่ 13 ตุลาคม 2554 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญขอให้ตรวจสอบพิจารณาร่างหนังสือกราบบังคมทูลและร่างประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันถัดมา คือวันที่ 14 ตุลาคม 2554 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีหนังสือไปยังเลขาธิการวุฒิสภา อธิบายเรื่องของการสลับตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับขอให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
                       (1) นายชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
                       (2) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
                       ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 ราชกิจจานุเบกษาได้พิมพ์ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 โดยมีข้อความว่า
                       “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง นายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 แล้วนั้น
                   บัดนี้ นายชัช ชลวร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ
                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญตามคำแนะนำของวุฒิสภา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
                       ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง คุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้เกิดข้อโต้เถียงทางวิชาการตามมามากมาย
                       ข้อถกเถียงประการที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณชัช ชลวร ยังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่
                       ในประเด็นที่เป็นข้อกฎหมายนั้น หากพิจารณาด้วยถ้อยคำของมาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 204 บัญญัติว่า ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน มีที่มาจากการที่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในมาตรา 204 ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จึงเป็นการแต่งตั้งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ แต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญและอีก 8 คนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถลาออกได้ตามมาตรา 209 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ ผลของการลาออกก็เป็นไปตามหลักทั่วไปคือ พ้นจากตำแหน่งนั้น กล่าวคือ หากประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่ง ก็ต้องพ้นจากความเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่ง ก็ต้องพ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการลาออก รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดกระบวนการให้ได้ “คนใหม่” เอาไว้อย่างชัดเจนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสายไหนลาออกต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งในกรณีของคุณชัช ชลวร หากพิจารณาตามตัวบทอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเห็นได้ว่าทั้งรัฐธรรมนูญและประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อความที่สอดคล้องกันคือ แยกประธานศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากกัน ดังนั้น เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่งที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ก็จะต้อง “หลุด” ออกไปจากการเป็น 1 ใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย จึงต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ได้ 1 ใน 9 กลับคืนมาใหม่ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในมาตรา 210 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญ แล้วจึงค่อยทำการประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 204 แห่งรัฐธรรมนูญ
                       ในขณะที่โครงสร้างของข้อเท็จจริงนั้น อย่างแรกที่ต้องทำความเข้าใจกับนักกฎหมายด้วยกันก่อนก็คือ การสลับตำแหน่งทำไม่ได้ เพราะการแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้แต่งตั้งต้องคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และอื่นๆ อีกหลายอย่างประกอบ หากการสลับตำแหน่งสามารถทำได้คงต้องวุ่นวายกันน่าดู และเราก็คงได้คนใหม่ๆ มาอยู่ในตำแหน่งตลอดเวลา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าพลาดได้ และยิ่งไปอ่านหนังสือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2554 ที่มีไปถึงเลขาธิการวุฒิสภาก็ยิ่ง “เศร้า” เข้าไปใหญ่ เพราะเขียนเอาไว้ว่า ...คำว่า “สลับตำแหน่ง” เป็นคำที่ไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่การตีความการแสดงเจตนาย่อมต้องถือตามเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าลายลักษณ์อักษร...  ไม่ทราบว่า ข้อความดังกล่าวมีที่มาจากหลักกฎหมายใด หากถือถ้อยคำดังกล่าวเป็นหลัก คงไม่ต้องดูตัวบทกฎหมายเป็นแน่ เพราะเจตนาสำคัญที่สุด !!!  ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ในหนังสือฉบับเดียวกันนั่นเอง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ขอให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้คุณชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็หมายความว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเห็นปัญหาตั้งแต่ต้นและเข้าใจว่าต้องทำทั้ง 2 อย่างพร้อมๆ กัน แต่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ก็ได้โปรดเกล้าให้คุณชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
                       ด้วยเหตุนี้เองที่ความเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญของคุณชัช ชลวร ได้สิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554  ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันที่คุณ ชัช ชลวร แถลงขอสลับตำแหน่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้คุณชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปจนถึงวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้คุณชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่มีผลใดๆ ในทางกฎหมายต่อตัวคุณชัช ชลวร แต่อย่างใด คุณชัช ชลวร ยังคงเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว
                       หลังจากวันที่ 26 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไปต่างหากที่มีปัญหา เพราะหลังจากวันที่คุณชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว ไม่มีที่ใด ทั้งในรัฐธรรมนูญ หรือในประกาศพระบรมราชโองการที่บอกว่าคุณชัช ชลวร ยังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่  คงมีเพียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันเองที่เห็นว่าคุณ ชัช ชลวร ยังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ และยินยอมทำงานร่วมกับคุณชัช ชลวร อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาโดยไม่ตั้งข้อสงสัยถึงสถานะของคุณ ชัช ชลวร แต่อย่างใด
                       การยินยอมดังกล่าว มีผลเสมือนหนึ่งเป็นการเขียนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ประธานศาลรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งตำแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญสามารถลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญได้และเมื่อลาออกก็ยังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ไม่ต้องโปรดเกล้าฯ ก็สามารถเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้
                       ไม่ทราบว่ามีมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่ที่จะในการเขียนบทบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญได้ครับ
       
                       ดูๆ แล้ว เรื่องของคุณชัช ชลวร นี้มีลักษณะคล้ายกับเรื่องของมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปเขียนบทบัญญัติเพิ่มอำนาจให้ตนเองขึ้นมาใหม่นั่นเองครับ !!!
       
                       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ใจตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ เขียนเรื่อง “สถานภาพการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของ ชัช ชลวร” บทความที่สอง เป็นบทความของคุณชาติ ไทยเจริญ ที่เขียนเรื่อง “การปกครองแบบประชาธิปไตยในรูปแบบของประเทศไทย” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองบทความด้วยครับ
       
                       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2556
       
                       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544