หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 305
2 ธันวาคม 2555 18:31 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
        
       
       “ถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง”
        
       
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสองสัปดาห์ที่น่าตื่นเต้นของบรรดา “คอการเมือง” ทั้งหลาย เพราะมีเหตุการณ์การเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการล้มรัฐบาลการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งก็มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการล้มรัฐบาล และการอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ สรุปแล้วรัฐบาลก็ได้เจอกับกระบวนการตรวจสอบทั้งในและนอกสภาครบแทบจะทุกรูปแบบครับ
       ในส่วนของการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนั้นเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก ข่าวที่ออกมาจากทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการปิดกั้นทางสัญจรไปมาหลายแห่งเพื่อจำกัดสถานที่ในการชุมนุม การตรวจค้นผู้ที่จะเดินทางเข้ามากรุงเทพมหานครอย่างเข้มงวด การประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งวิตกว่าคงมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นแน่ ๆ และเมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมให้ข้อมูลว่าจะมีผู้มาชุมนุมเป็นล้านคน ก็ยิ่งทำให้เกิดความวิตกในหมู่ประชาชนเลยไปถึงว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้นอีก แต่พอเอาเข้าจริงๆ ในวันชุมนุมเมื่อรัฐบาล “เอาจริง” กับผู้ชุมนุมที่ไม่เคารพต่อกฎหมาย การชุมนุมก็ยุติลงอย่างง่ายดายเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทิ้งความเสียหายเอาไว้ข้างหลังไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพพจน์ของประเทศ การสูญเสียงบประมาณแผ่นดินที่ต้องนำมาใช้กับการเตรียมการต่างๆ เกี่ยวกับการชุมนุมมีผู้บาดเจ็บทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนผู้มาชุมนุม  ความสูญเสียเหล่านี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบครับ แกนนำของการชุมนุมควรจะออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนใช่หรือไม่ครับ !!!
       ในส่วนของการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เหมือนๆ กับทุกครั้งครับ !! คนพูดก็คงเดิม ลีลาแบบเดิม เรื่องที่นำมาอภิปรายส่วนใหญ่ก็ไม่มีความชัดเจนพอที่จะ “คว่ำ” รัฐบาลได้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้อย่าง “สบาย ๆ” เช่นเดียวกับการอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นสำหรับรัฐบาลเช่นกัน
       ผมให้ความสนใจในเรื่องที่ผู้นำฝ่ายค้านหยิบยกเรื่องที่รัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันมาพูดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครับ !!!
       ผู้ใช้บริการ www.pub-law.net คงจำได้ว่า ผมได้เขียนบทบรรณาธิการไปหลายครั้งเกี่ยวกับการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากเรื่องดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันในวงแคบ ผมเข้าใจว่ามีเพียงผมเท่านั้นที่นำเรื่องดังกล่าวออกมาเขียนให้สาธารณชนรับทราบเนื่องจากผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักเกณฑ์ในเรื่อง “ราคากลาง” ดังกล่าวให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนอกจากนี้เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยป้องกันให้การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ยากกว่าที่เป็นอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรัฐมนตรี “ปฏิเสธ” ที่จะทำตาม “ข้อเสนอแนะ” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่อง “ราคากลาง” ฝ่ายค้านจึงได้นำมาเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครับ
        รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับ “เรื่องการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” ที่ผมเขียนปรากฏอยู่ในบทบรรณาธิการ 4 ครั้งคือ บทบรรณาธิการ ครั้งที่ 280 วันที่ 19 ธันวาคม 2554 ครั้งที่ 283 วันที่ 29 มกราคม 2555 ครั้งที่ 291 วันที่ 20 พฤษภาคม 2555 และล่าสุดครั้งที่ 298 วันที่ 26 สิงหาคม 2555
       ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ผู้นำฝ่ายค้านได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่ารัฐบาลปฏิเสธที่จะดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องการเปิดเผยราคากลางซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ตอบคำถามของผู้นำฝ่ายค้านอย่างตรงประเด็น คงตอบเลี่ยงๆ ไปว่า รัฐบาลไม่ได้ละเลยและไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการที่ยังไม่สิ้นสุด
       ผมคงไม่เขียนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เพราะได้เขียนมาหลายครั้งแล้วและก็ยังยืนยันในความเห็นเดิมของตนเองคือ หากรัฐบาลจริงใจกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็ควรจะต้องดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐคือกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณต่างก็เห็นว่าควรดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การที่รัฐบาลเลือกที่จะ “ถาม” และ “เชื่อ” คณะกรรมการกฤษฎีกามากกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงทำให้มาตรการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีผลใช้บังคับมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บังคับมาตั้งแต่กลางปี 2544 แล้วครับ !!!
       ล่าสุดผู้นำฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อประธานวุฒิสภาไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน เพื่อขอให้มีการถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ด้วยเรื่องการจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่อง “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจึงขอนำเอาคำร้องของผู้นำฝ่ายค้านมาเสนอเอาไว้โดยมีรายละเอียดคือ
        “..... ด้วยข้าพเจ้าผู้ลงลายมือชื่อท้ายคำร้องฉบับนี้ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ขอยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน แต่ได้บังอาจกระทำการขัดต่อกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแหงราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ดังนี้
       ข้อ 1. ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีจงใจบังอาจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย กล่าวคือ สืบเนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และได้มีผลบังคับใช้ในวันที่19 เมษายน 2554 ซึ่งมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และในมาตรา 103/7 วรรคสี่ นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเนื่องจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นสมควรในการกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับไปปฏิบัติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดมาตรการในเรื่องนั้น แล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบก็ได้ และเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ซึ่งมาตรา 103/8 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าวและให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่ติดตามผลดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย
       หน่วยงานของรัฐฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี
       ข้อเท็จจริงในหลักเกณฑ์ของกฎหมายย่อมเห็นโดยชัดแจ้งว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการที่จะให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในทุกหน่วยงานของรัฐเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่จัดทำรายงานกำหนดหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 และต้องดำเนินการตามมาตรา 103/8 ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ใช้บังคับ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง
       ข้อ 2. ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมแนบรายงานซึ่งเป็นรูปแบบดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
       แต่นายกรัฐมนตรีรวมทั้งคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้เห็นชอบกับรายงานที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอ โดยคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ยังได้ทำหนังสือขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยให้เหตุผลว่ามติคณะรัฐมนตรียังไม่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ พ.ศ.2542 แต่มติคณะรัฐมนตรีได้มีมติไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
       ข้อ 3 จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนมาดังกล่าวข้างต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีได้มีพฤติกรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้
       3.1) จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง, มาตรา 103/8 และ
       3.2) จงใจที่จะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และ
       3.3) จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178
       3.4) การกระทำตาม ข้อ 3.1 ข้อ 3.2 ข้อ 3.2 ที่ ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องดังกล่าวจึงเป็นมูลเหตุที่มีการทุจริตกันหลายโครงการ และเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งพฤติกรรมของผู้ถูกร้องซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีย่อมรับฟังโดยชัดแจ้งว่าเป็นกรณีที่ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างสิ้นเชิง
       ข้อ 4. ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี โดยหลักความเป็นจริงแล้วมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จำต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ก็มีเจตนารมณ์ในการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณของประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเชื้อร้ายอยู่ในสังคมขณะนี้ แต่สิ่งที่ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีได้กระทำกลับตรงกันข้ามกับหลักกฎหมายและหลักความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง รายงานกำหนดรูปแบบดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้นำเสนอตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้รับการสนใจใยดีจากคณะรัฐมนตรีเลยแม้แต่น้อย
       ทั้งๆ ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ให้คณะรัฐมนตรีเมื่อได้รับรายงานจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว มีหน้าที่โดยตรงในการสั่งการหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าวและให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ติดตามผลดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย แต่รัฐมนตรีก็มิได้ดำเนินการสั่งการตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาโดยชัดแจ้งว่า นอกจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วยังมีเจตนาที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการทุจริต
       ผู้ถูกร้อง เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี มีพฤติกรรมกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ข้อต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ใช้อำนาจไปในทางทุจริต อันเข้าลักษณะที่จะต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270
       ข้าพเจ้าดังมีรายนามแนบท้ายซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ประกอบ มาตรา 270 ร้องขอมายังท่านในฐานะประธานวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวน และดำเนินการเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนผู้ถูกร้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
       ส่วนรายละเอียด ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ ข้าพเจ้าขอส่งในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
       จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการตามกระบวนการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ต่อไป .....”
       ในฐานะผู้เกี่ยวข้องและติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น บอกได้ว่าสนุกแน่ๆ ครับ เพราะอย่างน้อยก็มีเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญทางกฎหมายที่จะต้องเกิดขึ้นตามมา 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก ในส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเป็น “คู่กรณี” กับคณะรัฐมนตรีนั้น ผมได้เขียนเอาไว้ในบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 298 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็น “ข้อขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเข้าใจว่าตนเองมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กับ คณะรัฐมนตรีซึ่งเข้าใจว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงควรส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 214 แห่งรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ใครกันแน่ที่เป็น “ผู้มีอำนาจ” ครับ ส่วนในเรื่องที่สองเมื่อวุฒิสภาส่งเรื่องการถอดถอนที่ผู้นำฝ่ายค้านเสนอขอถอดถอนนายกรัฐมนตรีไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คงมีประเด็นโต้เถียงทางกฎหมายและมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอย่างมากมายเพราะคณะกรรมการ ป.ปช. ซึ่งเป็น “คู่กรณี” กับคณะรัฐมนตรี ต้องเข้าไปทำอีกหน้าที่หนึ่ง คือ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ไต่สวนกรณีที่มีการร้องขอให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ในมูลเหตุเดียวกันกับที่ตนเองเป็น “คู่กรณี” กับคณะรัฐมนตรีครับ !!!
       
       อย่างนี้จะไม่เรียกว่าสนุกได้อย่างไรครับ !!!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ ดร.ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ จากสำนักงานศาลปกครอง ที่เขียนเรื่อง "Jurislateur ในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส" บทความที่สอง เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง "ถอดบทเรียนจากเหตุปัจจัยของการปฏิวัติและรัฐประหาร" บทความที่สาม เป็นบทความของคุณไกรพล อรัญรัตน์ ที่เขียนเรื่อง "ผลกระทบของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 ต่อความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญา" และบทความที่สี่ เป็นบทความของคุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล ที่เขียนเรื่อง ความท้าทายและการปรับตัวขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยในฐานะองค์การสาธารณะรูปแบบใหม่" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสี่บทความด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544