หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 283
29 มกราคม 2555 21:12 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 30 มกราคมถึงวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555
        
       “เมื่อผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้กำหนดกติกาในการตรวจสอบ”
        
                 ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 280 ที่ได้เผยแพร่ใน www.pub-law.net ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2554 นั้น ผมได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ที่มีผลใช้บังคับไปเมื่อกลางปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา โดยในมาตรา 103/7 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้”  และต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับ “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” จากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามมาตรา 103/8 ที่ว่า “ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย........”
                 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 มีข่าวออกมาว่า มีรัฐมนตรีหลายคนที่ไม่พอใจกับมาตรการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการให้ข่าวลักษณะต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามเรื่องทั้งหมดก็เงียบหายไปไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
                 อย่างไรก็ตาม เมื่อผมมีโอกาสได้เห็นมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่อง “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปนั้น ก็พบว่า น่าจะมีปัญหาข้อขัดข้องเกิดขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ผมจึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ โดยในเบื้องต้น ขอนำเอาข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมานำเสนอ  คณะรัฐมนตรีมีความเห็นเรื่องนี้ใน 3 ประเด็น คือ
                 1. ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของฝ่ายบริหารได้ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยหลายหน่วยงานได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้อยู่แล้ว สมควรให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ส่วนหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารนั้น สมควรรับทราบกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
                   2. อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างฯ บางเรื่องอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และอาจไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ประกอบกับขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Collective Action) โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน โดยเน้นความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้ สมควรมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการฯ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป
                   3. สำหรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมอีก อาจไม่สอดคล้องกันมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่2) พ.ศ. 2554 ที่ประสงค์ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาตามความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะมีผลกระทบกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐตามความเห็นกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ สมควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว  ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง
                 จากนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติในรายประเด็นดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
                 1. ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้และความเห็นของสำนักงบประมาณ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วย
                   2. รับทราบรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการที่กำหนดต่อไป ตามรายละเอียดแนวทางการดำเนินการประกาศราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กฎหมายกำหนด
                   3. การแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานต่อคณะรัฐมนตรีก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
       มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นน่าจะไม่ถูกต้องในหลาย ๆ เรื่อง เพราะเมื่ออ่านดูแล้วทำให้เข้าใจไปได้ว่า คณะรัฐมนตรี “ปฏิเสธ” อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยคณะรัฐมนตรีอาศัย “ช่องว่าง” ของกฎหมาย “สร้าง” อำนาจ “เหนือ” คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนต้นของมติคณะรัฐมนตรี ข้อ 1 ที่ว่า “ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด” ซึ่งมีผลเท่ากับการ “ปฏิเสธ” สิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ แต่สั่งการ “ให้ทำตามกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน” แทน
       เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็น “เรื่องใหญ่” ที่จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นอย่างมาก จึงสมควรนำเสนอประเด็นต่อสาธารณชนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในวงกว้างต่อไป
       ในมุมมองส่วนตัวของผมนั้น เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนก็คือ เรื่องบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากพิจารณาอย่างเป็นธรรม ไม่มีอคติต่อฝ่ายใดและไม่พิจารณาถึง “ตัวบุคคล” ที่เกี่ยวข้อง คงพอมองออกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจและหน้าที่ในการ“ตรวจสอบ” ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมืองซึ่งรวมไปถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย ด้วยเหตุนี้เองที่กฎหมายเกี่ยวกับ ป.ป.ช. ทั้งหมดจึงวางกลไกในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้อย่างละเอียดและเป็นระบบ ทั้งในส่วนของการ “ป้องกัน” และการ “ปราบปราม” การทุจริต โดยในส่วนของการ “ป้องกัน” การทุจริตนั้น มาตรา 103/7 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งเพิ่มเติมเข้าไปใหม่โดยรัฐสภาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ได้กำหนดมาตรการสำคัญใน “การป้องกัน” การทุจริตที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างไว้ว่า “ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้”   จากการตรวจสอบ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ตั้งใจกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วตั้งแต่ตอนที่มีการร่างกฎหมายฉบับนี้ และมีการอภิปรายให้ความเห็นกันอย่างชัดเจนแล้วว่า การทุจริตในประเทศไทยนั้นมีที่มาจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ หากแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ด้วยการหาทาง “ป้องกัน” ก็จะทำให้ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างลดน้อยลง ดังนั้น เรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรีบด่วน กฎหมายจึงได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ให้ทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะรัฐมนตรีรีบเร่งดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรหลักทั้งในด้านการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต จึงได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นองค์กรระดับสูงของฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจ “บังคับบัญชา” ของตนเองสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ปฏิบัติตาม “กติกา” ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด แทนที่จะไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งการไปยังหน่วยงานของรัฐเหล่านั้นเป็นรายหน่วย
       ในเรื่องต่อมาก็คือ บทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ยังมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกเห็นว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำรายละเอียดตามมาตรา 103/7 เสร็จก็จะต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อ “สั่งการ” ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว  ซึ่งในความเห็นแรกนี้ แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการในการป้องกัน ไม่ใช่มาตรการในการปราบปรามที่คณะรัฐมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยตรง แต่เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายบริหารที่ต้องถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบและคณะรัฐมนตรีก็ต้องอยู่ภายใต้การ “ตรวจสอบ” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายก็คือ สั่งการไปยังหน่วยงานที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรี “ปฏิเสธ” ที่จะสั่งการให้มีดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่กลับไปสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด จึงเป็นการกระทำที่ “ท้าทาย” อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอย่างยิ่ง ส่วนอีกแนวทางหนึ่งนั้นเห็นว่า คณะรัฐมนตรีต้องให้ความ “เห็นชอบ” ในเรื่องดังกล่าวก่อนจึงค่อย “สั่งการ” ต่อไปยังหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตาม ซึ่งในความเห็นหลังนี้เองที่เป็นความเห็นอันมีผลเป็นการ “เพิ่ม” อำนาจให้กับคณะรัฐมนตรีที่มีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
                 ปัญหาที่เกิดขึ้นมานี้น่าจะมาจากการใช้ถ้อยคำในมาตรา 103/8 ที่มีทั้ง “สั่งการ” และ “เห็นชอบ” ซึ่งก็คงต้องตีความอย่างเคร่งครัดโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาเป็นหลัก กล่าวคือ ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นการเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีปฏิบัติตาม หรือเป็นการเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน กล่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นอำนาจผูกพันหรืออำนาจในการใช้ดุลพินิจกันแน่ ซึ่งในเรื่องนี้ หากพิจารณาถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในตัวบทของมาตรา 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัด คงต้องแปลความเป็นอย่างหลังว่าเป็นอำนาจในการใช้ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี คือ ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ คณะรัฐมนตรีจึงค่อยสั่งการหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีให้ไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เองที่มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา จึงมีผลเป็นการ “ปฏิเสธ” หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองดูเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก คงต้องแปลความบทบัญญัติดังกล่าวไปในทางตรงกันข้ามกับความเห็นแรกว่าเป็นอำนาจผูกพันที่คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ เพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถให้ความเห็นชอบกับมาตรการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดได้เนื่องจากตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
                 ปัญหาของเรื่องดังกล่าวจึงอยู่ที่ความไม่ชัดเจนของตัวบทมาตรา 103/8 และอยู่ที่การเลือกใช้คำในตัวบทด้วยว่าจะเลือกใช้ในวัตถุประสงค์ใด เพราะหากจะเลือกใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ป้องกัน” การทุจริตที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ควรสั่งการให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด !!!
                 การทำงานของคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมานั้นมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งยังมีปัญหาการอนุมัติอนุญาตต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การทุจริตได้ มีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัวของสำนักงานสลากกินแบ่ง คดีเงินกู้ Exim Bank  คดีรถดับเพลิง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งนั้น คณะรัฐมนตรีซึ่งต้องถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะ “องค์กรกลุ่ม” และรัฐมนตรีเดี่ยว ๆ ในฐานะ “เจ้ากระทรวง” จึงไม่ควรมีอำนาจที่จะให้ความเห็นชอบกับ “มาตรการ” ที่ถูกวางขึ้นมาเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต เพราะหากคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบการดำเนินการดังกล่าวตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ การดำเนินการทั้งหลายตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กลไกในการตรวจสอบฝ่ายบริหารก็จะมี “ข้อบกพร่อง” ทำให้เกิด “รูรั่ว” และ “ช่องโหว่” ในการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป ท้ายที่สุด โชคร้ายก็ตกอยู่กับประเทศชาติและประชาชนเช่นเดิม
                 การที่คณะรัฐมนตรีใช้ “ถ้อยคำ” ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อหยุดยั้งการดำเนินการของ “องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” ในกรณีนี้ แม้จะเป็นการดำเนินภายใต้ถ้อยคำที่กฎหมายกำหนดและไม่อาจถือได้ว่าคณะรัฐมนตรี “เลี่ยง” กฎหมาย แต่ผลที่ตามมาก็ย่อมกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐซึ่งก็กระทบต่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยตรง
                 อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้กำหนดกติกาในการตรวจสอบเสียเอง
                 คงไม่ต้องตอบนะครับเพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วครับ !!
        
                 สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกเขียนโดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เรื่อง "เหตุที่ต้องยกเลิก MOU 2544 ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา" บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง “The USA Impeachment Overview : ระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของสหรัฐอเมริกา”  ที่เขียนโดย คุณปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ นิติกร กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544