หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 268
3 กรกฎาคม 2554 15:56 น.
ครั้งที่ 268
        สำหรับวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2554
       
       “เสพสามัคคีรส”
       
       ช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่บทบรรณาธิการนี้เผยแพร่ พอเดาออกได้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยเราคงสนุกน่าดูเพราะภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้งหมดคงวุ่นวายอยู่กับการตั้งรัฐบาล ผลเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไปครับ
       เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยให้ไปเป็นวิทยากรในการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง : วิกฤตหรือโอกาส” เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับการทำงานมากเกินไป ผมจึงตัดสินใจเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้เพื่อนำไปใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการดังกล่าว ส่วนชื่อบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมพบคำดังกล่าวในบทความเรื่อง “24 มิถุนายนมหาศรีสวัสดิ์” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม และได้ลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา “เสพสามัคคีรส” เป็นคำที่เพราะมาก หมายความว่า “รู้รักสามัคคี” ซึ่งน่าจะเป็นคำที่เหมาะสำหรับบรรยากาศหลังการเลือกตั้งในบ้านเราเพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม หากคนไทยทุกฝ่าย ทุกสี ทุกกลุ่ม รู้จักคำว่า “สามัคคี” การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็จะเป็น “โอกาส” ที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไปอยู่ในจุดที่ควรเป็นครับ



“ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง : วิกฤตหรือโอกาส” คงไม่มีใครตอบได้ชัดเจนไปกว่า “ตัวละคร” ต่าง ๆ ที่อยู่ในแวดวงการเมืองตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “ผู้เล่นเอง” “ผู้เชิด” หรือ “ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง” ทั้งหมด วิกฤตหรือโอกาสจึงไม่ได้เกิดจากประชาชนเช่นเราครับ
       เรื่องที่จะทำให้ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งเกิด “วิกฤต” น่าจะมีอยู่เพียงประการเดียวในตอนเริ่มต้นก็คือ การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง แต่อย่างไรก็ตาม หากเราจะ “คาดการณ์ร้าย” จนเกินไปก็คงไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติเท่าไร ผมจึงขอมอง “โอกาส” ที่จะมีหลังการเลือกตั้งดีกว่า สำหรับผมนั้น เหตุที่จะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 กรกฎาคม ประสบผลสำเร็จและเป็น “โอกาส” มีอยู่ 4 กรณีใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ การยอมรับผลการเลือกตั้ง การปรองดอง บทบาทของพรรคการเมือง และพลังของภาคประชาชน ครับ
       ในเรื่องแรกคือ การยอมรับผลการเลือกตั้ง นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดที่จะทำให้การเมือง “นิ่ง” และการบริหารประเทศโดยรัฐบาลชุดใหม่ทำต่อไปได้ ก่อนที่จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวไว้ว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรก็เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสิน เพราะฉะนั้น เมื่อประชาชนได้ตัดสินไปแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายควรจะต้องยอมรับ การยอมรับ “น่าจะ” เป็นโอกาสที่ประเทศไทยเราจะ “รอด” จากการติดหล่มการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา
       เรื่องการยอมรับผลการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกของ “การเดินหน้า” ของประเทศไทย ที่ผ่านมา เราเคยมีเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายตามมา สภาพสังคมของเราในวันนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ย้อนไปในอดีต พวกที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็เคยได้ “ชัยชนะ” ไปแล้วครั้งหนึ่ง คงจำกันได้ว่ามีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งตัดสินใจที่จะไม่ส่งผู้สมัครจากพรรคการเมืองของตนลงสมัครรับเลือกตั้ง จนในที่สุดทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและก็ถูกล้มไปในที่สุด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่าฝ่ายผิดที่ไม่ยอมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะเป็นฝ่ายชนะได้ !!! ในวันนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็ได้ใช้ “รูปแบบใหม่” คือ รณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ “ไม่เลือกใคร” โดยคิดกันไปไกลถึงขนาดที่ว่า หากเสียง “ไม่เลือกใคร” มี มากพอ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรคงเกิดขึ้นไม่ได้เพราะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญครับ
       การยอมรับผลการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญเพราะในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง ทุกฝ่ายต่างก็มีโอกาสกันอย่างเต็มที่แล้วที่จะ “ให้ความคิด” หรือ “ชักจูงใจ” ให้คนเชื่อหรือเห็นคล้อยตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาจึงควรต้องยอมรับ ซึ่งเรื่องการยอมรับผลการเลือกตั้งนี้เองเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะทุกวันนี้มีการแบ่งฝ่าย แบ่งพวก แบ่งสีกันในสังคมอย่างชัดเจน ถ้าไม่ใช่ “พวก” ของตัวเองเข้าป้าย การยอมรับก็คงเป็นไปได้ยาก ในส่วนตัวของผมเองนั้น แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเพราะไม่ทำให้ประชาชนได้อะไรเลย แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาเพราะเพียงนายกรัฐมนตรีลาออกก็น่าจะแก้ปัญหาของประเทศไทยได้หลายอย่างแล้ว แต่เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเดินทางมาถึงวันนี้แล้ว เราก็ต้องเคารพในสิ่งที่เกิดขึ้น ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แทนที่จะหาเสียงกันอย่างสร้างสรรค์ด้วยการนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม แต่ที่เกิดขึ้น เรากลับได้ยินการกล่าวหากันด้วยข้อหาที่ร้ายแรง เช่น มือเปื้อนเลือด/เผาบ้านเผาเมือง เป็นต้น หรือไม่ก็นำเอารูปสัตว์มาเทียบกับนักการเมือง เอาเป็นว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งก็เล่นกันเสียจนย่ำแย่ไปแล้ว เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้ง เรื่องทุกอย่างควรจบ ทุกฝ่ายควรอยู่อย่างสงบ ปล่อยให้การเมืองเดินไปตามระบบ ปล่อยให้มีการตั้งรัฐบาลตามวิถีทางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้โอกาสรัฐบาลใหม่ทำงานสักพักหนึ่งแล้วค่อยมาว่ากันใหม่ ฝ่ายที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลก็ควรทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้เต็มที่ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเพื่อประโยชน์อันแท้จริงของประเทศชาติและประชาชน ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงพรรคการเมืองของตนให้พร้อมที่จะสู้ศึกครั้งต่อไป
       อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วคือ “การเล่นนอกระบบ” โดยใช้ตัวช่วยหรือไม่ก็มือที่มองไม่เห็นมาเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งรัฐบาล เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกเพราะในเมื่อประชาชนได้ตัดสินไปแล้วว่าเลือกใครและพรรคการเมืองใด ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับและเลิกหา “ทางลัด” ที่จะทำให้ตัวเองได้เป็นรัฐบาลทั้ง ๆ ที่เสียงข้างมากของประชาชนไม่ได้เลือกพรรคการเมืองของตนเข้ามา นอกจากนี้แล้ว การยอมรับกติกาในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว ต้องถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่ควรสร้างกระแสหรือสร้างความวุ่นวาย ใด ๆ ให้เกิดขึ้นอีก เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาลเสียก่อน หากไม่สำเร็จ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงลำดับรองลงไปจึงค่อยกระโดดเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เพราะไม่อยากคาดเดาว่าถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ผู้คนคงออกมาเต็มถนนอีกเป็นแน่ คงต้องเคารพและให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากครับ
       เรื่องต่อมาคือเรื่องการปรองดอง ที่ผ่านมาพูดกันมากเหลือเกินถึงเรื่องการปรองดอง แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายหรือคำตอบที่ชัดเจนว่าการปรองดองคืออะไร !!!
       การปรองดองคงไม่ได้หมายความถึงการนิรโทษกรรมแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสำหรับผมแล้ว การปรองดองหมายความถึงการทำทุกอย่างให้กลับเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องมากกว่า เพราะทุกวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเราผิดเพี้ยนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานของรัฐ การเลือกปฏิบัติ การล่าช้าในหลาย ๆ เรื่องที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนบรรดาข้อกล่าวหาต่าง ๆ เช่น เรื่องล้มเจ้า เรื่อง 91 ศพ เรื่องชายชุดดำ เรื่องผู้ก่อการร้าย ก็ต้องพิสูจน์ออกมาให้ชัดเจนว่า สรุปแล้วเรื่องเหล่านั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่มีการนำมากล่าวอ้างทุกครั้งที่มีปัญหาและไม่มีทางออก เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการทำลายล้างทางการเมือง เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดอะไรเลยนอกจากความแตกแยกในสังคม เมื่อไรก็ตามที่ทุกเรื่องมีคำตอบ ปัญหาที่ค้างคาใจอยู่เป็นเวลานานจำนวนหนึ่งก็จะจบลง จะได้ไม่ต้องนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความแตกแยกและเพื่อทำลายล้างกันต่อไปอีก ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมนั้น คงมีอยู่ด้วยกันหลายเหตุ การยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิผู้บริหารพรรคการเมืองที่เกิดขึ้น ใคร ๆ ก็ทราบว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่ถูกต้อง” เพราะบรรดากฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หากจะนิรโทษกรรมในเรื่องนี้ก็คงเป็นไปได้เพราะที่มาของการลงโทษไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่สำหรับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโทษทางอาญาหรือการยึดทรัพย์สินนั้น เรื่องดังกล่าวผ่านการพิจารณาขององค์กรศาลไปแล้ว มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ก็คงจะต้องถือว่าเรื่องดังกล่าวจบลงไปแล้ว หากจะนิรโทษกรรมในเรื่องพวกนั้นจริง ๆ ก็อาจต้องทำกันถึงขนาดแก้รัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว แต่ถ้าจะทำเช่นนั้นจริง ๆ ก็อย่าลืมนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติด้วยนะครับ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันเล่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยตรง !!!
       การปรองดองจึงไม่ใช่การลืมแล้วปล่อยทุกอย่างให้ผ่านไป แต่เป็นการทำความจริงให้ปรากฏและจบเรื่องนั้นอย่างถูกต้องที่ควรเป็น คนผิดก็ต้องรับผิด รับโทษ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นใครก็ตาม
       นอกจากนี้แล้ว ขอฝากไปยังรัฐบาลใหม่ด้วยว่า บทเรียนของการปรองดองที่ผ่านมาที่ไม่ประสบผลสำเร็จก็เพราะทุกฝ่ายต่างดีแต่พูดแค่นั้นเองครับ ปากก็บอกว่าปรองดอง แต่ก็มีคนข้างเคียงออกมาพูดตลอดเวลาถึงข้อกล่าวหาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่ชัดเจน ส่วนการปรองดองโดยการตั้งคณะกรรมการก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ที่ถูก หน่วยงานทุกหน่วยงานควรรีบทำความจริงให้ปรากฏ คนที่อยู่รอบนอกมีหน้าที่เดียวคือ ดูเฉย ๆ ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎระเบียบ รัฐบาลใหม่ควรทำเช่นนี้และช่วย “ไขลาน” ให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหารให้รีบเร่งดำเนินการต่าง ๆ ให้เร็วที่สุด
       นอกจากนี้ หากรัฐบาลใหม่เป็นคนละฝ่ายกับรัฐบาลเก่าก็ขออย่าได้คิดแก้แค้นหรือทำอะไรกับข้าราชการประจำที่อยู่คนละขั้วกับตัวเองโดยเด็ดขาดเพราะจะเพิ่มความแตกแยกเข้าไปในกลุ่มคนเหล่านั้นเข้าไปอีก
       เรื่องที่สามคือ เรื่องบทบาทของพรรคการเมือง เป็นที่ชัดเจนว่านอกจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะพยายามแก่งแย่งกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งแล้ว ยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่มีความ “สมถะ” ไม่ต้องการเสียงมาก แต่มีเสียงพอที่จะเป็น “ตัวแปร” ที่ทำให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากแต่ไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ต้องวิ่งเข้ามาหา ตัวอย่างมีอยู่แล้วในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่พรรคการเมืองพวกนี้เมื่อเข้าไปอยู่ในรัฐบาลแล้วสามารถทำอะไรก็ได้ที่พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไม่กล้าทำอะไรทั้งนั้น เพราะหากทำอะไรลงไปแล้วพรรคการเมืองขนาดเล็กถอนตัว รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลจึงอยู่ในสภาวะที่จำยอมให้ทุกอย่างเกิดขึ้นและปล่อยผ่านไปแม้จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม ดูตัวอย่างจากการเช่าหรือซื้อรถเมล์ ขสมก. ก็ได้ครับ
       ผมว่าถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลจะต้องคิดใหม่คือ คิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้ประเทศชาติอยู่ได้และเดินต่อไปข้างหน้าได้ เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับความบอบช้ำและเกิดผลเสียหายมากมายในหลาย ๆ ด้าน เมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา รัฐบาลควรร่วมกันคืนความสุข คืนความเชื่อมั่น คืนความก้าวหน้าให้กับประเทศไทยได้แล้ว อย่าใช้การเมืองเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวกันอีกต่อไปเลยเพราะในวันนี้ การเมืองได้ทำลายประเทศชาติจนย่อยยับไปหลายส่วน นักการเมืองต้องใช้การเมืองกู้ประเทศให้กลับคืนมาเหมือนเดิมให้ได้ บทบาทของพรรคร่วมรัฐบาลจึงน่าจะอยู่ที่คอยถ่วงดุลพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้ทำงานอย่างถูกต้อง สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยแท้จริง และควรถอนตัวเมื่อมีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล “ทรยศ” ต่อประเทศชาติและประชาชนครับ
       เรื่องสุดท้ายที่จะทำให้การเมืองหลังเลือกตั้งเป็นวิกฤตหรือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยก็คือ มวลชน ซึ่งในที่นี้ ผมหมายความรวมถึง คนทั่วไป กลุ่มการเมืองนอกสภา และสื่อทุกประเภท ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล มวลชนควรให้การยอมรับและสนับสนุนให้รัฐบาลพาประเทศไปข้างหน้า แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นมืออาชีพจริง ๆ ไม่ใช่ว่าพอเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นภรรยา หรือเป็นขวัญใจของนายทุนหรือผู้มีบารมีบางคนแล้วก็สามารถเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ นอกจากนี้ มวลชนยังต้องให้ความสำคัญกับการทำงานของรัฐบาล ควรที่จะต้องเพิ่มบทบาทในด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง การทุจริตคอร์รัปชันให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ต้องช่วยกันขุดคุ้ย เกาะติดและนำข้อมูลเหล่านั้นออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ ส่วนการคัดค้านหรือไม่ยอมรับรัฐบาลด้วยเหตุผลอื่นก็คงต้องละไว้ก่อนเพราะอย่างน้อย มวลชนควรยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นครับ
       เมื่อการเมืองมีเสถียรภาพพอสมควร รัฐบาลควรรีบเร่งทำแผนพัฒนาประเทศ และก็แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายจำนวนหนึ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ซึ่งผมจะได้กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ในโอกาสต่อไปครับ
       หลังเลือกตั้ง โอกาสดีของประเทศไทยที่จะก้าวไปข้างหน้าได้จึงอยู่ที่เหตุทั้ง 4 ประการดังที่กล่าวไปแล้ว ก็ต้องขอเชิญชวนให้นักการเมืองและพี่น้องประชาชนทั้งหลาย “เสพสามัคคีรส” ร่วมกันครับ หาไม่แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ทั้งของเก่าและของใหม่ก็จะพากันรุมเร้าจนทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสดีที่จะก้าวไปข้างหน้าหลังจากถอยไปข้างหลังมาเสียนานและอาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้งก็ได้ครับ วิกฤตครั้งใหม่หากยืดเยื้อก็คงสร้างความวิบัติให้กับประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความเรื่อง "ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาจริงหรือ ?" ที่เขียนโดย คุณนิธินันท์ สุขวงศ์ บทความที่สองเป็นบทความของคุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ ที่เขียนเรื่อง "การใช้และการตีความกฎหมายปกครอง" บทความสุดท้าย คือบทความเรื่อง "ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งแบบหมากัดกัน" ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามเป็นอย่างยิ่งครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544