|
|
|
|
|
สมมติว่าคุณเป็นเจ้าหน้าทีฝ่ายบุคคลของหน่วยงานหนึ่งในภาครัฐ และหนึ่งในนโยบายสาธารณะของหน่วยงานคุณที่จะให้บริการแก่ประชาชนคือ การให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชน หลังจากทำเรื่องอนุมัติซื้อเครื่องปั่นไฟฟ้าแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการผลิตไฟฟ้าให้ได้มากพอกับปริมาณการอุปโภคของประชาชน
สมมติอีกว่าวิธีการเดียวที่จะผลิตไฟฟ้าได้นั้น คือการปั่นไฟฟ้าโดยใช้แรงงานคน ดังนั้นหน่วยงานคุณจึงต้องการคนมาปฏิบัติหน้าที่นี้ คุณจึงต้องจัดหาอัตราลูกจ้างและทำประกาศรับสมัครคนที่จะมาทำหน้าที่ ซึ่งในใบประกาศ กำหนดคุณสมบัติไว้ดังต่อไปนี้ 1)เป็นเพศหญิง/ชาย อายุไม่เกิน 25 ปี 2)จบมัธยมศึกษาตอนปลาย 3)จะต้องปั่นไฟได้ไม่ต่ำกว่า 60 ยูนิตต่อชั่วโมง(สมมติถ้าผลิตได้ต่ำกว่านี้ ไฟฟ้าจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน) หลังจากติดประกาศไปสักระยะ ปรากฏมีผู้ชาย 2 คนมาสมัคร ได้แก่ นาย ก และนาย ข เมื่อดูใบสมัครพบว่าทั้งสองมีอายุเท่ากันและจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการทดสอบความสามารถในการปั่นไฟ หลังจากทดสอบแล้ว ผลออกมาว่านาย ก สามารถปั่นไฟฟ้าได้ 70 ยูนิตต่อชั่วโมง ขณะที่นาย ข ปั่นไฟฟ้าได้เพียง 45 ยูนิตต่อชั่วโมง
ถามว่าคุณจะรับใครเข้าทำงานนี้ ?
แน่นอนที่สุด คุณคงตอบในทันทีว่ารับนาย ก เพราะเขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาประวัติของผู้สมัครแต่ละคนในรายละเอียด พบว่านาย ก จบมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 จากโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ทั้งยังมีประวัติการทำกิจกรรมดีมีความสามารถทางด้านดนตรี กีฬา รวมถึงเป็นนักเรียนดีเด่น นอกจากนี้ยังมาจากตระกูลที่ค่อนข้างมีฐานะทางเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้ารับนาย ก เข้าทำงาน นอกจากจะสามารถทำให้หน่วยงานของคุณบรรลุเป้าหมายในการบริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแล้ว หน่วยงานยังจะได้คนที่มีคุณสมบัติความสามารถอื่นๆพร้อมกับมีศักยภาพทางครอบครัวที่จะส่งเสริมให้หน่วยงานสามารถบริการสาธารณะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
ส่วนประวัติของนาย ข นั้น ปรากฏว่าเขาจบมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยเกรดเฉลี่ย 2.75 และไม่มีประวัติอะไรโดดเด่น อีกทั้งพบคำรายงานของอาจารย์ว่า เขามาเรียนสายและเลิกเรียนก่อนเวลาเสมอ แถมยังขาดเรียนบ่อยๆ แต่บังเอิญคุณเกิดแอบทราบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขามีประวัติเช่นนี้ เป็นเพราะ เขามีปัญหาทางบ้าน เขาต้องดูแลแม่ที่ป่วยเรื้อรังและตาที่พิการ ส่วนพ่อของเขาก็ทิ้งไปตั้งแต่ยังเด็ก เขาต้องดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำแม่และตาก่อนมาเรียน และต้องกลับไปตอนกลางวันเพื่อทำหน้าที่เดียวกันกับตอนเช้า ส่วนตอนบ่ายบางวัน เขาต้องรีบไปรับจ้างส่งของเพื่อหารายได้เสริม เขาจึงมีฐานะยากจน มีหนี้สินและค้างค่าเช่าห้องพักมาเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเขาขอผ่อนผันกับเจ้าของห้องพักว่าเดือนนี้เขาเรียนจบแล้วและกำลังสมัครงานอยู่ หากได้เงินเดือนก้อนแรกก็จะนำมาจ่ายทันที ส่วนสาเหตุที่เขาไม่สามารถปั่นไฟได้ 60 ยูนิตต่อชั่วโมง เนื่องมาจากเขาร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอเหนื่อยง่ายและตัวเล็ก
เมื่อทราบประวัติของทั้งสองคนแล้ว ถ้าจะถามอีกครั้งว่า คุณจะรับใครเข้าทำงาน ?
หลายคนคงไม่สามารถตอบแบบฟังธงเหมือนในตอนแรกได้ว่าเป็นนาย ก บางคนอาจตอบว่าคงต้องรับนาย ข และแน่นอนว่าบางคนคงจำเป็นต้องยืนยันว่าต้องเป็นนาย ก
คนที่คิดว่าต้องรับนาย ข น่าจะมาจากเหตุผลเชิงจริยธรรม คือความเมตตากรุณา ช่วยเหลือคนดีที่ต้องประสบชะตากรรมมีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก ไม่มีใครปฏิเสธว่านาย ข เป็นคนดี เป็นเด็กกตัญญู ยอมเสียสละเวลาเรียนมาดูแลแม่และตา อีกทั้งยังต้องยอมถูกตำหนิและหักคะแนนที่ขาดเรียนไปรับจ้างทำงานเสริมในบางวัน ซึ่งถ้าไม่รับเขาเข้าทำงาน ตัวเขารวมทั้งครอบครัวอาจถูกไล่ออกจากห้องเช่า ชีวิตต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนไม่มีที่พักอาศัย ส่วนนาย ก แม้ว่าเขาจะไม่ได้งานนี้ เขาก็น่าจะหางานอื่นทำได้ไม่ยากหรือหากยังหางานทำไม่ได้ เขาและครอบครัวก็ไม่ได้ลำบากเดือดร้อนอะไรมากนัก
ทั้งนี้ ถ้าคุณไม่รับนาย ข ด้วยเหตุผลที่ว่าเขามีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ คุณอาจจะรู้สึกเป็นบาปในใจ เพราะคุณจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนใจร้าย ไร้เมตตาธรรมและปล่อยให้คนดีที่ตกทุกข์ได้ยากต้องผจญกรรมทั้งที่คุณสามารถช่วยเขาได้ ถ้าสังคมไม่ช่วยสนับสนุนคนดี มีความกตัญญูอย่างนาย ข สังคมนั้นก็คงจะเป็นสังคมที่เลวร้ายมาก และต่อไปคงไม่มีใครคิดจะเป็นคนกตัญญูอีกต่อไป เพราะทำดีไปก็ไม่มี ใครเห็น ดังคำกล่าวที่ว่า ฟ้าไม่มีตา
สำหรับคนที่รับนาย ข แต่แอบเอาเงินส่วนตัวช่วยเหลือเขาไปบ้าง คุณอาจจะไม่รู้สึกผิดหรือเลวร้ายไปเสียทั้งหมด อาจจะรู้สึกดีขึ้นมาบ้างที่ได้ช่วยเหลือ แต่กระนั้น คุณย่อมรู้ดีว่าอนาคตของเธอก็ยังมืดมนอยู่ แต่คนที่ตัดสินใจรับนาย ข ด้วยเหตุผลทางจริยธรรมนั้น จะต้องคิดหาทางแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น กล่าวคือ 1)จะทำอย่างไรกับหลักฐานผลการทดสอบปั่นไฟฟ้าของผู้สมัครทั้งสอง โดยเฉพาะของนาย ข ที่ตกเกณฑ์ 2)จะทำอย่างไรกับการให้บริการไฟฟ้าที่อาจจะขาดตกบกพร่องเพราะนาย ข ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปริมาณความต้องการใช้งาน และ3) จะอธิบายกับประชาชนผู้เสียภาษีและได้มอบความไว้วางใจในหน้าที่การงานของคุณอย่างไร
บางครั้ง หากทุกคนในหน่วยงานมีความคิดและจิตสำนึกทางจริยธรรมเหมือนกับคุณ ทุกคนคงพร้อมใจกันทำบุญ โดยการรู้เห็นเป็นใจกลบเกลื่อนหลักฐาน เปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติ ฯลฯ แต่บางคนอาจไม่เห็นด้วย เพราะเสี่ยงต่อการผิดระเบียบกฎหมาย คุณอาจต้องพยายามโน้มน้าวเขาให้เห็นแก่เหตุผลทางจริยธรรม มากกว่าทำตามระเบียบกฎหมายแต่ไร้จริยธรรม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาข้อที่หนึ่ง ในการแก้ปัญหาข้อต่อมา หากทุกคนในหน่วยงานเห็นไปในทิศทางเดียวกันตามข้อแรก ทุกคนก็คงทำเป็นไม่สนใจ ดังสุภาษิตไทยที่ว่า เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และหวังว่าเมื่อไม่มีบริการไฟฟ้าที่เพียงพอให้แก่ประชาชน คงไม่มีใครมาร้องเรียน ถึงมาร้องเรียนก็คงไม่มากนักเพราะในบางครั้งไฟฟ้าก็พอใช้ หากมีการร้องเรียนมากยิ่งขึ้น ก็ตั้งกรรมการตรวจสอบและซื้อเวลาแก้ตัวไปเรื่อยๆ เนื่องจากคิดว่าประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้บ้างในบางครั้งก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะสมัยก่อนก็ไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่แล้ว คนก็ยังสามารถดำรงชีวิตกันได้ ไม่น่าเดือดร้อนอะไรมากนักเมื่อเทียบกับความเดือดร้อนของนาย ข และปัญหาข้อสุดท้ายที่จะตามมาเมื่อปัญหาข้อสองไม่ยุติ คือมีประชาชนไม่พอใจเป็นจำนวนมากมาร้องเรียนและติดตามเอาเรื่องอย่างจริงจัง ซึ่งคุณจะอธิบายอย่างไรให้ประชาชนผู้เสียภาษี เข้าใจและยินยอมที่จะให้คุณและพรรคพวกช่วยเหลือนาย ข ซึ่งเป็นคนดีที่ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยการเอาเงินภาษีของพวกเขามาจ้างนาย ข ซึ่งเป็นคนดีแต่คุณสมบัติไม่ถึง
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ คุณมีสิทธิอันชอบธรรมหรือไม่ ที่นำเอาเงินภาษีของประชาชนมาจ้างคนที่ไม่สามารถทำงานตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีและไว้วางใจให้คุณเข้ามาบริหารจัดการสาธารณะประโยชน์ของเขา เพียงเพราะคุณต้องการเป็นคนมีจริยธรรมโดยขัดกับจริยธรรมทางการเมือง ?
แต่ถ้าเปลี่ยนหน่วยงานที่คุณทำงาน จากหน่วยงานภาครัฐมาเป็นหน่วยงานภาคเอกชนและ คุณเป็นเจ้าของหน่วยงานนั้น ซึ่งต้องการรับสมัครพนักงานบัญชีที่มีวุฒิปริญญาตรีและต้องสามารถคำนวณเลขได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง โดยเฉลี่ยต้องสามารถจัดทำบัญชีหนึ่งๆให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง และผู้สมัครคือนาย ก และนาย ข โดยทั้งสองคนมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ข้างต้น เพียงแต่นาย ก สามารถจัดทำบัญชีได้สำเร็จตามเกณฑ์ ขณะที่นาย ข ก็มีปัญหาทางครอบครัวแบบกรณีข้างต้น และไม่สามารถจัดทำบัญชีโดยเฉลี่ยเสร็จสิ้นทันตามเวลาที่กำหนด
คุณจะพบว่า คุณควรต้องรับนาย ก เข้าทำงานด้วยเหตุผลของประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการทำงาน และถ้าคุณสงสารนาย ข คุณอาจตัดสินใจรับเขาในอีกตำแหน่งหนึ่งได้โดยพลการ โดยคุณยอมที่จะให้บริษัทมีกำไรน้อยลงเพื่อเหตุผลทางจริยธรรม ซึ่งคุณสามารถทำได้โดยไม่มีใครต่อว่าได้เพราะคุณเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีที่แล้ว กล่าวคือในหน่วยงานภาครัฐ เป็นปัญหาอย่างมากเมื่อคุณคิดจะเปิดอัตราตำแหน่งเพิ่มสำหรับนาย ข โดยที่คุณสมบัติของเขาไม่ครบ หรือคุณอาจมีปัญหาในเรื่องงบประมาณประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ การตัดสินใจไม่รับนาย ข ทำให้คุณเป็นคนใจดำ ไร้จริยธรรมหรือ ? การที่คุณใจแข็ง ยอมที่จะไม่ช่วยเหลือคนดีคนหนึ่งให้มีงานทำโดยใช้เงินภาษีของประชาชน แต่คุณสามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะไว้ได้ แสดงว่าคุณจะไม่มีจริยธรรมหรือ ? และหากคุณรับนาย ข เข้าทำงาน บุญกุศล ความดีความชอบจะตกอยู่กับใคร ตัวคุณหรือประชาชนผู้เสียภาษี ?
และถ้าระบบราชการ ไม่ว่าจะราชการประจำหรือราชการการเมืองช่วยเหลือคนแบบนาย ข บ่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับประสิทธิภาพของการบริหารรัฐกิจ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือ ผลประโยชน์สาธารณะ
การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในการตัดสินใจรับคนเข้าทำงานในหน่วยงานของตน ถ้ามีผู้สมัคร 2 คน หลังจากที่ผ่านกระบวนการทดสอบความสามารถแล้ว ปรากฏว่าคนหนึ่ง มีความสามารถตามเกณฑ์หรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมถึงเป็นคนที่มีประวัติการศึกษาดี มีประสบการณ์โดดเด่น มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะทางเศรษฐกิจ ขณะที่อีกคนมีความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์ ประวัติการศึกษาและประสบการณ์ไม่โดดเด่น และมาจากครอบครัวที่ยากจนลำบาก แต่หลังจากผ่านการสัมภาษณ์และการตรวจสอบคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน พบว่าเขาเป็นลูกกตัญญู ต้องดูแลแม่ที่เจ็บป่วยเรื้อรังและตาที่พิการ ร่วมกับมีภาวะของการค้างค่าเช่าห้องมาเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งถ้าไม่จ่ายภายในเร็ววันนี้จะถูกขับออกจากห้องพัก
แม้ว่าตัวเจ้าหน้าที่รัฐจะรู้สึกสงสารผู้สมัครคนที่สอง แต่ถ้าพิจารณาตามหลักการบริหารรัฐกิจ เจ้าหน้าที่นั้นไม่มีสิทธิรับผู้สมัครคนนี้ได้ เพราะการบริหารรัฐกิจคือการหาวิธีการใช้ทรัพยากรทุกประเภทให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งเป้าหมายของการบริหารรัฐกิจก็คือ ผลประโยชน์สาธารณะ
เงื่อนไขของการบริหารรัฐกิจนั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการมีจริยธรรมต่อผู้คนได้ หากการมีจริยธรรมนั้นขัดกับหลักจริยธรรมในอาชีพ
ถ้าจะกล่าวว่า สังคมควรช่วยเหลือคนดีมีศีลธรรมอย่างผู้สมัครคนที่สองที่ต้องลำบากยากแค้นเพราะสภาพครอบครัว แต่กระนั้นก็ยังเป็นลูกที่ดี กตัญญู มีความเพียร ทำงานพิเศษระหว่างเรียนหนังสือ ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐตัดสินใจรับผู้สมัครคนนี้ เจ้าหน้าที่นั้นอาจต้องเผชิญความขัดแย้งระหว่างการทำดีช่วยเพื่อเหลือคนบางคนโดยต้องบกพร่องต่อการบริการสาธารณะให้ประชาชนทั่วไป เรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างจริยธรรมส่วนบุคคลกับจริยธรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นจริยธรรมที่จำเป็นของผู้ที่ทำงานสาธารณะในฐานะที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐ
ในทางตรงกันข้าม หากเจ้าหน้าที่คนนั้นไม่ได้อยู่ในการบริหารภาครัฐ แต่อยู่ในการบริหารภาคเอกชนและเป็นเจ้าของกิจการ หากเขาต้องเผชิญกรณีดังกล่าว เขาสามารถตัดสินใจรับผู้สมัครคนที่สองไว้โดยไม่มีใครกล่าวว่าอะไรได้รวมถึงสามารถรับได้ในทันที แสดงถึงการที่เขาสมัครใจที่จะอยู่ในสภาพการบริหารกิจการที่ไม่ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลเต็มที่ เพื่อที่จะช่วยเหลือคนดีแต่ตกทุกข์ได้ยาก หรือตัดสินใจรับผู้สมัครทั้งสองหากมีกำลังมากพอ แต่กระนั้นบริษัทคงต้องเผชิญกับกำไรที่จะลดน้อยลง
การบริหารธุรกิจมีส่วนที่ทั้งคล้ายและแตกต่างจากการบริหารรัฐกิจ ส่วนที่คล้ายคือ เป็นการหาทางใช้ทรัพยากรทุกประเภทหรือบริหารให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด แต่ความแตกต่างที่ใหญ่ที่สุดนั้นอยู่ที่เป้าหมาย ในขณะที่ภาคเอกชนเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหากำไรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การบริหารภาครัฐจะอยู่ที่การก่อให้เกิดผลประโยชน์สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
การกำหนดว่าอะไรคือผลประโยชน์สาธารณะ ก็คือการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการจะกำหนดนโยบายสาธารณะที่ดีนั้น จะต้องกำหนดให้ไม่เกินกำลังความสามารถของหน่วยงาน แต่ก็ต้องปฏิบัติให้เต็มกำลังศักยภาพที่มีอยู่ ส่วนการกำหนดว่ากำไรสูงสุดควรจะได้เท่าไรก็เช่นกัน ต้องกำหนดให้ไม่เกินความจริงในทางศักยภาพและไม่เกินจริงในทางการตลาด
ทรัพยากรบุคคลคือกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ดังนั้น การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานจึงเป็นกิจกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคล ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ยกตัวอย่างการรับคนเข้าทำงานจะต้องสามารถผลิตไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 60 ยูนิตต่อชั่วโมง ถ้ารับคนที่ผลิตได้ต่ำกว่าเกณฑ์นี้ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลก็ย่อมลดลง ในภาคเอกชนจะทำให้ไม่สามารถได้กำไรตามเป้าที่วางไว้ แต่ถ้าเป็นภาครัฐจะส่งผลให้บริการสาธารณะไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้เท่าที่ควร
แต่การที่เจ้าของกิจการในภาคเอกชนยอมลดกำไรเพื่อรับคนดีแต่ต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะว่าต้องการช่วยเหลือคนดีที่ตกทุกข์ ถือได้ว่าเจ้าของคนนั้นเป็นคนมีจริยธรรม ขณะเดียวกันอาจเป็นไปได้ว่าเขาจะถูกครอบครัวต่อว่า แต่การจะโน้มน้าวสมาชิกในครอบครัวให้ร่วมกันมีเมตตา ยังง่ายกว่าการโน้มน้าวประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีอากร เพราะคุณเป็นเจ้าของกิจการ เป็นเจ้าของเงิน
ในทางกลับกัน ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อยากจะมีจริยธรรมช่วยเหลือคนอย่างที่เจ้าของกิจการทำ เขาจะต้องคิดให้ดีว่า เงินเดือนที่จะนำมาจ่ายให้กับคนดีแต่คุณสมบัติไม่ถึงนั้น ไม่ใช่เงินของเขา แต่เป็นเงินภาษีของประชาชนที่เสียให้กับรัฐ และรัฐต้องจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆบริหารงานตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งการที่เขาในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐนั้นจะรับคนที่คุณสมบัติไม่ถึงเข้ามา เขาคงต้องไปขออนุญาตประชาชนเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากและไม่แน่นอนว่าประชาชนจะเห็นพ้องต้องกันให้นำเงินของพวกเขาไปช่วยเหลือจ้างคนที่ไม่สามารถทำงานตอบสนองประโยชน์สาธารณะได้เท่าที่ควร
หากรับเขาเข้าทำงาน ความดีความชอบจะตกอยู่กับใคร ตัวเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนผู้เสียภาษี ? คนคนนั้นและญาติของเขาจะรู้สึกเป็นหนี้ใคร ระหว่างตัวเจ้าหน้าที่หรือประชาชน?และถ้าระบบราชการ ไม่ว่าจะราชการประจำหรือราชการการเมือง มีจริยธรรมแบบนี้บ่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับประสิทธิภาพของการบริหารรัฐกิจ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือ ผลประโยชน์สาธารณะ
จะเห็นได้ว่าการบริหารภาครัฐไม่เปิดพื้นที่ให้เป็นคนมีจริยธรรมได้เท่ากับการบริหารภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ระหว่างทางสองแพร่งของการช่วยเหลือคนบางคนกับการบริการสาธารณะนั้น ดูเหมือนว่าการช่วยเหลือคนจะเป็นสิ่งที่หันเหความคิดได้มากกว่าการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ เพราะการช่วยเหลือคนบางคนที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่มีตัวตน เวลาที่ช่วยใครที่ตกทุกข์ได้ยาก คนที่ได้รับการช่วยเหลือรวมถึงญาติๆจะรู้สึกเป็นหนี้ของผู้ที่ทำการช่วยเหลือ แต่ถ้ายึดมั่นในหลักการประโยชน์สาธารณะของประชาชน คนทั่วไปที่ได้รับประโยชน์คงไม่รู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณ เพราะมันเป็นหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพิจารณาให้ลึกลงไปในแง่ของบุญกุศลจะดูเหมือนว่าการเลือกช่วยเหลือคนดีที่ยากลำบากให้มีงานทำ น่าจะได้บุญ แต่การตอบสนองต่อผลประโยชน์สาธารณะอย่างเคร่งครัดจะได้บุญหรือไม่ก็ไม่แน่ และที่สำคัญคือ ถึงแม้จะปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐไปเรื่อยๆ ก็ได้เงินเดือนเป็นที่แน่นอนอยู่แล้ว
ถ้ามองให้ลึกลงไปอีก การที่ยึดมั่นในประโยชน์สาธารณะเหนือการช่วยเหลือคนบางคนจะกลายเป็นว่า เป็นการไม่มีจริยธรรมเลยหรือ ?
คำตอบ คือ มี เพียงแต่เป็นจริยธรรมคนละชนิดกับการช่วยเหลือคนบางคน กล่าวคือ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งนักการเมือง หากปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง เคร่งครัด จะถือว่ามีจริยธรรม แต่เป็นจริยธรรมที่เรียกว่า จริยธรรมทางการเมือง ขณะที่จริยธรรมในแบบที่เข้าใจกันโดยปรกติ คือ จริยธรรมส่วนบุคคลหรือจริยธรรมทั่วไป ซึ่งเป็นการทำดีในฐานะคนปกติทั่วไปที่พึงกระทำต่อกัน แต่จริยธรรมทางการเมืองเป็นการทำดีในฐานะที่เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมือง โดยฐานะนั้นมีขอบเขตกว้างขวางกว่าจริยธรรมทั่วไปกล่าวคือมีความเป็นสาธารณะ
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิอันชอบธรรมหรือไม่ ที่นำเอาเงินภาษีของประชาชนมาจ้างคนที่ไม่สามารถทำงานตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีและไว้วางใจให้คุณเข้ามาบริหารจัดการสาธารณะประโยชน์ของเขา เพียงเพราะคุณต้องการเป็นคนมีจริยธรรมโดยขัดกับจริยธรรมทางการเมือง ?
ตอบได้ว่า ไม่มีสิทธิ เนื่องจากเงินที่นำมาจ้างนั้น ไม่ใช่เงินของเจ้าหน้าที่รัฐคนนั้น เหมือนดังเช่นเจ้าของกิจการในภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของเงินเอง ที่สำคัญการจะจ้างคนที่ไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผลประโยชน์สาธารณะได้นั้น เป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ สังคมไทยยังไม่คุ้นเคยกับการให้ความสำคัญในเรื่องจริยธรรมทางการเมือง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐใจแข็งไม่ช่วยเหลือคนบางคนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ แสดงว่าเจ้าหน้าเป็นคนมีจริยธรรมทางการเมือง แม้ว่าจะไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ แต่ก็สามารถช่วยเหลือในช่องทางอื่นๆได้ เช่น การช่วยเหลือส่วนตัว การส่งต่อไปยังหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่สงเคราะห์ช่วยเหลือ เป็นต้น
ดังนั้น การบริหารรัฐกิจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น จะต้องเกิดจากเจ้าหน้าที่ถือจริยธรรมทางการเมืองอย่างเคร่งครัด เพราะการบริหารรัฐกิจ คือ การกระทำของส่วนต่างๆของรัฐบาล ตามวิธีการที่ต้องการให้บรรลุตามเป้าประสงค์และจุดมุ่งหมายของรัฐบาลซึ่งก็คือผลประโยชน์สาธารณะ โดยต้องบริหารให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด จึงเป็นการไม่สมควรเลยที่ภาครัฐจะนำเงินภาษีประชาชนมาจ้างคนดีแต่ไม่สามารถทำงานเพื่อตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างเหมาะสม และการบริหารรัฐกิจนั้น จำเป็นต้องใช้จริยธรรมทางการเมืองมากกว่า โดยเป็นจริยธรรมคนละชุดกับจริยธรรมทั่วไป ซึ่งเป็นการรักษาผลประโยชน์สาธารณะไว้เป็นสำคัญ
หน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะนี้เอง ทำให้ข้าราชการถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ต้องใจแข็งเพื่อบริการประโยชน์เพื่อสาธารณะ ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น หรือการมีญาติผู้ใหญ่มาฝากหรือมีสินบนมาแลกเปลี่ยน ดังนั้น การบริหารรัฐกิจที่มีประสิทธิภาพต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่มีจริยธรรมทางการเมืองที่เคร่งครัด และใจแข็งที่จะก้าวข้ามทางสองแพร่งทางจริยธรรมนี้ไปได้
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|