หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 262
12 เมษายน 2554 01:26 น.
ครั้งที่ 262
       สำหรับวันจันทร์ที่ 11 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2554
        
       “มาตรการที่น่าสนใจในกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ (2)”
        
                 ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว ผมได้นำเอาเนื้อหาสาระบางส่วนของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วมานำเสนอ ปรากฏว่าได้รับความสนใจและมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเพราะกฎหมาย ป.ป.ช. นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกับนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนที่จะนำมาใช้ในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองและนอกจากนี้แล้ว สิ่งใหม่ ๆ ที่อยู่ในร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ได้นำเสนอไปก็เป็นสิ่งที่ “น่ากลัว” ที่หลาย ๆ ฝ่ายต่างวิตกว่าจะเป็นดาบสองคมที่ไม่ใช่เฉพาะการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ ป.ป.ช. มากเกินไปหรือไม่ด้วยครับ !!!
                 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะขอนำเอาสาระสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่มานำเสนอ โดยผมจะขอกล่าวถึงหมวด 9/1 การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งประกอบด้วยบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาใหม่รวม 8 มาตราด้วยกัน บทบัญญัติทั้ง 8 มาตรานี้นอกเหนือไปจากการ “เพิ่มอำนาจ” ให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างมากในหลาย ๆ กรณีแล้วยังเป็นบทบัญญัติที่ผมมองว่า น่าจะเป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยที่แก้กันไม่รู้กี่ปีแล้วก็ไม่หมดสิ้นไปเสียทีแถมดู ๆ แล้วน่าจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไปครับ  บทบัญญัติในหมวด 9/1 สามารถแบ่งได้เป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ การคุ้มครองผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการตอบแทน  ความพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดซื้อจัดจ้างและความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
                 ในเรื่องแรกคือเรื่อง การคุ้มครองผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการตอบแทนนั้น สามารถแยกออกได้เป็น 2 เรื่องคือ เรื่องการคุ้มครองกับเรื่องการตอบแทน ผมขอเริ่มที่เรื่องของการคุ้มครองก่อนโดยในร่างมาตรา 103/2 ที่เป็นมาตราแรกของหมวดที่ 9/1 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ในวรรคแรกที่จะต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีมาตรการในการคุ้มครองความช่วยเหลือแก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ การร่ำรวยผิดปกติหรือข้อมูลอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. โดยให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นพยานที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถเสนอความเห็นประกอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ด้วยว่า สมควรใช้มาตรการทั่วไปหรือมาตรการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ส่วนในวรรคสองของร่างมาตรานี้ก็เป็นบทบัญญัติที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินการหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อขอรับค่าตอบแทนเท่าที่จำเป็นและสมควรตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา บทบัญญัติในร่างมาตรา 103/2 วรรคสองนี้เองจึงเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องและมีลักษณะคล้ายกับการคุ้มครองพยานในคดีอาญาแต่ขยายความให้กว้างออกไปอีกโดยให้ครอบคลุมถึงผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลของการทุจริตต่อหน้าที่ การร่ำรวยผิดปกติหรือข้อมูลอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
                 ร่างมาตรา 103/6 ก็เป็นอีกร่างมาตราหนึ่งที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง โดยบัญญัติไว้ว่า บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา หากได้ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรกันผู้นั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็สามารถทำได้ บทบัญญัติในร่างมาตรานี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ “กลับตัวกลับใจ” ในภายหลังมีโอกาส “รอด” จากการติดคุก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบทบัญญัติมุ่งมั่นที่จะ “เอาผิด” กับเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเต็มที่  ส่วนมาตราสุดท้ายที่กล่าวถึงการคุ้มครองก็คือ ร่างมาตรา 103/5 ซึ่งเป็นมาตราเสริมอีกประการหนึ่งที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการปราบปรามการทุจริตก็คือ หากบุคคลผู้ร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามร่างมาตรา 103/2 วรรคแรกที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลนั้นร้องขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าถ้ายังทำงานอยู่ที่เดิมอาจถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะมีเหตุดังกล่าวจริงก็สามารถเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ได้รับความคุ้มครองหรือจัดให้มีมาตรการอื่นที่สมควรต่อไป
                 ในส่วนที่เกี่ยวกับการตอบแทนนั้นมีอยู่สองมาตราที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว มาตราแรกคือร่างมาตรา 103/3 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะจัดให้มีเงินสินบนแก่ผู้ชี้ช่อง ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกตรวจสอบ รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งจัดให้มีรางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามร่างมาตรา 103/2 วรรคแรกที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่วนอีกมาตราหนึ่งคือร่างมาตรา 103/4 ก็ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือระดับตำแหน่งให้แก่บุคคลที่ดำเนินการตามร่างมาตรา 103/2 วรรคแรกที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดำเนินการหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลของบุคคลผู้นั้นเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นอย่างยิ่งและสมควรได้รับยกย่องให้เป็นแบบอย่างแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไป
                 ในเรื่องที่สองคือเรื่องของความพยายามที่จะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในวงราชการที่เป็นที่ทราบกันดีแต่ก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้แม้ว่าจะมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานี้กันมาโดยตลอดเพราะหากแก้ปัญหานี้ได้ เราจะมีเงินเหลือพัฒนาประเทศอีกมากเพราะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้นดำเนินการอยู่ทุกวันทั่วประเทศวันหนึ่งไม่รู้กี่ราย หากการจัดซื้อจัดจ้างทุกรายการเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องและตรวจสอบได้ ไม่มีการสมยอมกัน ราชการก็จะได้ของดีที่สุดและราคาถูกที่สุดสมดังเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยเหตุนี้เองที่ร่างมาตรา 103/7 วรรคแรกได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจดูได้ ด้วยวิธีการนี้เองที่หากมีผู้ใดเข้าไปตรวจดูแล้วพบว่า ราคาวัสดุอุปกรณ์และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างมีลักษณะ “ผิดปกติ” หรือไม่เท่ากันในหลาย ๆ ที่ผู้นั้นก็สามารถดำเนินการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้คิดคำนวณหรือผู้ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่ปรากฏอยู่ในข้อมูลดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดยในเรื่องดังกล่าวได้มีการกำหนดกรอบไว้ในร่างมาตรา 103/8 ว่าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโดยหากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตาม ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัยและเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี  ส่วนในวรรคสองของร่างมาตราดังกล่าวก็ได้กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต้องแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต่อกรมสรรพากรนอกเหนือไปจากบัญชีงบดุลปกติที่ยื่นประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและแสดงการคำนวณภาษีเงินได้ในโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ
                 มากไปกว่านั้น ในวรรคสามของร่างมาตรา 103/7 ยังได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะประสานงานและสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือการชำระภาษีเงินได้ของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ  ส่วนในวรรคท้ายของร่างมาตรา 103/7 ก็เป็นบทบัญญัติกว้าง ๆ ที่ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของการดำเนินการเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่จะกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับไปปฏิบัติได้ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ
                 เรื่องสุดท้ายที่จะขอนำมาเล่าให้ฟังก็คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่บัญญัติไว้ในมาตราสุดท้ายของหมวด 9/1 คือ ร่างมาตรา 103/9 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้โดยจะต้องจัดให้มีข้อมูลเหล่านั้นไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ป.ป.ช.
                 มาตรการใหม่ ๆ ทั้งหมดที่อยู่ในหมวด 9/1 นี้สามารถแยกออกได้เป็นสามเรื่องสำคัญ ๆ ด้วยกัน  เรื่องแรกเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้ที่เข้ามาหา ป.ป.ช.  รวมไปถึงการตอบแทนผู้ที่เข้ามาหา ป.ป.ช. ด้วย  เรื่องต่อมาเป็นเรื่องการกันผู้ที่ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ไว้เป็นพยาน  และเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
                 ทั้ง 3 เรื่องนี้คงสร้างความ “ปั่นป่วน” ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร่างมาตรา 103/7 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการจ้างก่อสร้าง การจัดจ้างที่ปรึกษา การจัดจ้างทำงานวิจัย การจ้างควบคุมงาน การจ้างออกแบบ การจ้างที่ปรึกษาพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และการจัดซื้อจัดจ้างอื่น ๆ ที่มิใช่งานก่อสร้าง โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องทำการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น วงเงินงบประมาณที่จะจ้าง ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการกำหนดราคาต่าง ๆ ทั้งหมดให้ประชาชนตรวจสอบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานของรัฐต้องให้ความระมัดระวังกับการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเหล่านั้นเป็นอย่างมากเพราะหาก “ราคากลาง” มีความแตกต่างไปจาก “ราคาจริง” มากเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ในหลาย ๆ โครงการ นั่นก็หมายความว่า เกิดความไม่โปร่งใสขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว และคนที่จะไปตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าวกลุ่มแรกก็คือผู้ที่ “แพ้ประมูล” นั่นเองครับ งานนี้ต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ให้ดีเพราะคงมีการกล่าวหาตามมามากมายในแทบจะทุกโครงการก็ว่าได้ครับ
                 แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวคงไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การที่ร่างกฎหมายให้อำนาจกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้มาตรการเหล่านั้น รวมไปถึงการให้อำนาจกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างมากในหลาย ๆ กรณี ก็เป็นสิ่งทีผู้ใช้อำนาจต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากด้วยเช่นกันเพราะหากการใช้อำนาจเหล่านั้นไม่ชัดเจน สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะต้องได้รับผลกระทบอย่างมากด้วยเช่นกัน
        
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ที่เขียนเรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ” บทความที่สองคือบทความเรื่อง “ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับ กับผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง” ที่เขียนโดย คุณเฉลิมพล สุมโนพรหม นักศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และประธานคณะผู้ทำงานทางด้านกฎหมายของเครือข่ายพลังราม ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองด้วยครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2554
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544