|
|
|
|
|
(๒) ความเห็น ของนักวิชาการ
บทความที่วิจารณ์ คำวินิจฉัย(อย่างไม่เป็นทางการ)ของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ เท่าที่ผู้เขียนอ่านพบ มีอยู่ ๓ บทความด้วยกัน คือ (ก) บทความ ของนายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ (วันที่ ๒ - ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓) ; (ข)บทความของ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ๒ ความ (วันที่ ๖ และวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ ) และ (ค) บทความของ คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ ๗ ท่านได้แก่ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ / อ.จันจิรา เอื่ยมมยุรา / นายประสิทธิ ปิวาวัฒนพานิช / นายฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล / นายธีระ สุธีวรางกุร / อ.สาวตรี สุขศรี / และนายปียบุตร แสงกนกกุล) (วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓) ; และเพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเกินไป ผู้เขียนจะขอเพียงสรุป ประเด็น และ เหตุผล ที่ท่านนักวิชาการดังกล่าวได้ยกขึ้นพิจารณาอย่าง รวบรัด หากจะตกหล่นไปบ้าง ก็ขออภัย [หมายเหตุ สำหรับท่านผู้อ่านที่ประสงค์จะทราบรายละเอียด ก็คงต้องไปหาอ่านจากบทความเต็มของท่านนักวิชาการเหล่านี้ ]
(ก)บทความของ นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ (นิติศาสตร์มหาบัฒฑิต ฮาวาร์ด รางวัลทุนฟุลไบรท์ และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม - และนิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เรื่อง มโนธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ใน วันที่ ๒ - ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ อันเป็น วัน ก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเขียน คำวินิจฉัย(ฉบับทางการ) ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เสร็จ และออกเผยแพร่ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ ; บทความนี้ แบ่งเป็น ๒ ตอน มีความยาวประมาณ ๑๔ หน้าเศษ ได้ให้ความเห็นแยกไว้เป็น ๒ หัวข้อ ซึ่งผู้เขียนขอสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
หัวข้อที่ (๑) วิธีการกำหนดประเด็น(ของศาลรัฐธรรมนูญ)เพื่อลงมติ เป็นที่กังขา (ยาว ๑ ๑/๒ หน้า)
ประเด็นว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยกคำร้องกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ เป็นมติโดย เสียงข้างมาก ขององค์คณะ หรือไม่ ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ กล่าวว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย โดยเสียงข้างมาก ๔ เสียง ต่อ ๒ เสียงให้ยกคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้(ศาลรัฐธรรมนูญ)มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย และทำรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยให้เหตุผลว่า กระบวนการยื่นคำร้อง ขอให้ยุบพรรค ปชป. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมี ที่มา ของตุลาการเสียงข้างมาก (๔ เสียง) แยกออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ๓ เสียง เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มี ความเห็นให้ยุบพรรค และกลุ่มที่สอง ๑ เสียง เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อพ้นระยะเวลา ๑๕ วันตามที่ศาลกำหนดแล้ว นั้น
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า ถ้าพิจารณาใน สาระของเหตุผล จะเห็นได้ว่า ในจำนวนตุลาการทั้งหมด ๖ เสียงนั้น มีตุลาการ ถึง ๓ เสียง ที่เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นยุบพรรคการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว (คือ ตุลาการที่เป็นเสียงข้างน้อย ๒ เสียง รวมกับตุลาการที่เป็นเสียงข้างมาก กลุ่มที่สองอีก ๑ เสียง) ซึ่งจะเป็นผลให้ ตุลาการที่ค้านเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมาก มีเสียงเท่ากับ ตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มแรก ๓ เสียง
ปัญหามีว่า ในการลงมติของศาลนั้น จำเป็นจะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดของเหตุผลของการลงมติ หรือไม่ หรือว่าพิจารณาเพียง ผลสุดท้าย ของการลงมติ คือ พิจารณาว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรค ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็พอ โดยไม่ต้องพิจารณาถึง เหตุผล ; ซึ่งนายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า ก็อาจมีบุคคลบางคนที่เห็นว่า การลงมติของศาลนั้น ควรดูผลสุดท้าย ของการลงมติ เท่านั้น ก็ได้
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ กล่าวว่า วิธีการลงมติที่น่ากังขาเช่นนี้ ได้เคยมีนักวิชาการแสดงความเห็นทักท้วงไว้แล้ว เช่นในคดีซุกหุ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในปี ๒๕๔๔ โดยนายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ มีความเห็นว่า ถ้าหากจะใช้ตรรกเดียวกัน (คือ ดูเพียง ผลสุดท้าย ของการลงมติ) ความเห็นที่เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นยุบพรรคการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว ก็ควรถือได้ว่า มี ๓ เสียงได้เช่นเดียวกัน ; แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ สาระแห่งเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมาก ๔ เสียง ซึ่งแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม (กลุ่มแรก ๓ เสียง และกลุ่มที่สองะ ๑ เสียง) มีลักษณะที่ขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง จนมิอาจถือได้ว่า เป็นมติตุลาการเสียงข้างมากที่ชอบธรรมได้
ประเด็นว่า คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) ของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีความชัดเจน ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ให้ข้อสังเกตว่า คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) ของศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ไม่มีความชัดเจน ซึ่งทำให้การวิพากษ์วิจารณ์(คำวินิจฉัยของศาล)ของวงการภายนอก มุ่งไปสู่ ประเด็น ที่ศาลยกคำร้อง เพราะ เหตุ ที่นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องต่อศาลพ้นระยะเวลา ๑๕ วัน โดยประชาชนทั่วไปไม่ทราบว่า ประเด็นดังกล่าวนี้ เป็นความเห็นของตุลาการ เพียง ๑ เสียง (ในจำนวนเสียงข้างมาก) เท่านั้น ; จนเป็นเหตุให้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องออกเอกสารข่าว และ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ชี้แจงเพิ่มเติม คำวินิจฉัยของศาล ในวันถัดมา ; ซึ่งในปัญหานี้ นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้เสนอว่า โดยที่รัฐธรรมนูญเองได้กำหนดให้ ตุลาการแต่ละคนต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตน ให้เสร็จสิ้นก่อนการลงมติในคำวินิจฉัยกลางอยู่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรเผยแพร่ คำวินิจฉัยส่วนตน ของตุลาการแต่ละคน พร้อมกับการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งจะเป็นการป้องกันการถูกเข้าใจผิดว่ามติใดเป็นของตุลาการคนใด
หัวข้อที่ (๒) เหตุผลทางกฎหมาย (ของศาลรัฐธรรมนูญ) ไม่ชัดแจ้ง (ยาว ๙ ๑/๒ หน้า)
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้ให้ข้อคิดเห็นวิเคราะห์ต่อ เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมาก ๔ คน ซึ่งแยกออกเป็น ๒ กลุ่ม (๓ เสียง และ ๑ เสียง) โดยนายวีรพัฒน์ ขอให้ความเห็นต่อเหตุผลของตุลาการ ๑ เสียง ที่เห็นว่า ระยะเวลายื่นคำร้องต่อศาล ต้องนับจากวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ก่อน
(๒.๑) เรื่องระยะเวลายื่นคำร้อง
หัวข้อนี้ ( ยาว ๖ ๑/๒ หน้า) นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้ให้ความเห็นในข้อนี้ โดยเขียนอ้างอิง จาก ข้อความ ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งยากที่จะสรุปย่อ ดังนั้น ท่านผู้อ่านจึงจำเป็นจะต้องอ่านเอาเอง โดย ผู้เขียนจะขอสรุปเป็น ประเด็นอย่างสั้น ๆ ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้ให้ความเห็นในหัวข้อนี้ ไว้ ๒ ประเด็น ดังนี้
(ก) ประเด็น การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดผลที่แปลกประหลาด ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ มีความเห็นว่า ในคำวินิจฉัยของศาล ไม่มีส่วนใดเลยที่ศาลยกพยานหลักฐานมาแสดงอย่างชัดเจน ว่า ณ วันที่ ๑๗ ธันวาคม นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ให้การรับว่าตนได้เห็นเหตุความผิดปรากฎขึ้นแก่ตนแล้วหรือยัง ; แต่ในทางตรงกันข้าม ในวันเดียวกันนั้น (วันที่ ๑๗ ธันวาคม) ในคำวินิจฉัยศาลกลับรับฟังข้อเท็จจริงว่า นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นว่า ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสาร ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด (ข้อ ๒.๑.๑ และข้อ ๒.๑.๒); นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า การที่ศาลสรุปว่า เหตุความผิด ได้ปรากฎต่อนายทะเบียนในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ได้ทำให้เกิดความแปลกประหลาดในการวินิจฉัยของศาล กล่าวคือ นายอภิชาต (ซึ่งเคยเป็นถึง ประธานแผนกคดี ในศาลฎีกา) ที่กฎหมายให้สวมหมวก ๒ ใบ(ดำรงตำแหน่ง ๒ตำแหน่ง)ในเวลาเดียวกัน สามารถดำเนินภารกิจขององค์กร โดยมีความสามารถแยก ความคิดทางกฎหมาย (ซึ่ง นายวีรพัฒน์ เรียกว่า มโนสำนึกในทางกฎหมาย)ออกได้ เป็น ๒ มาตรฐาน คือ สามารถวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในกรณีเดียวกัน ไห้มีผลต่างกันและในเวลาเดียวกัน ได้
นอกจากนั้น นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ยังเห็นว่า ที่เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่านั้น ก็คือ ตุลาการเสียงข้างมาก(๔ เสียง)เอง ก็ดูเหมือนจะมี มโนสำนึกทางกฎหมาย ที่แยกออกเป็น ๒ มาตรฐานได้ เช่นเดียวกัน (ข้อ ๒.๑.๓)
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ กล่าวว่า ในการเขียนคำวินิจฉัยเดียวกันและในวันเดียวกัน ตุลาการเสียงข้างมาก(๔ เสียง)เอง แม้จะสวมหมวกเพียงใบเดียวในฐานะศาลรัฐธรรมนูญ) สามารถเขียนคำวินิจฉัยแยกได้เป็น ๒ ช่วง (ที่ขัดแย้งกัน) คือ ช่วงแรกของคำวินิจฉัย ศาล(ตุลาการเสียงข้างมาก กลุ่ม ๓ คน) อธิบาย มาตรา ๙๓ วรรคสองว่า กฎหมายได้บัญญัติให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง) และ นายทะเบียนพรรคการเมือง ใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะร่วมมือกันหรือถ่วงดุลกัน โดยศาลอธิบายว่า แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถบังคับให้นายอภิชาติในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตราบใดที่นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่พบเหตุการกระทำความผิด ฯลฯ แต่ในช่วงหลังของคำวินิจฉัย ศาล(ตุลาการเสียงข้างมาก กลุ่ม ๑ คน) กลับอธิบายทำนองเป็นเหตุผลทางเลือกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจที่จะควบคุมและกำกับการดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ และนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยื่นคำร้อง - ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามขั้นตอนและระยะเวลา ที่(กฎหมาย)กำหนด ฯลฯ ; ดังนั้น สาระ ของตุลาการเสียงข้างมาก (๔ เสียง) เอง ที่แยกเป็น ๒ กลุ่ม จึงขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง
(ข) ประเด็นว่าด้วย เจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนด ระยะเวลา : นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้ให้ข้อสังเกตเป็นประเด็นสุดท้ายในหัวข้อนี้ว่า การที่จะวินิจฉัยว่าการยื่นคำร้องพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ มโนสำนึกทางกฎหมายจะนำไปสู่การพิเคราะห์ว่า ระยะเวลา ๑๕ วันดังกล่าวนั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์และความมุ่งหมายเพื่อการใด (ข้อ ๒.๑.๔)
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้กล่าวถึง อายุความการฟ้องคดีแพ่ง (๑ ปีหรือ ๑๐ ปี) ว่า เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายแพ่ง ที่จะให้ผู้เสียหาย ไม่เพิกเฉยต่อการใช้สิทธิของตน และไม่ใช่มาตั้งเป็น คดี เมื่อตนได้เปรียบ ; และนอกจากนั้น เมื่อเวลาผ่านไป พยานหลักฐานอาจสูญหาย และยากแก่การพิสูจน์
ระยะเวลาฟ้องคดีปกครอง ซึ่งกำหนดให้ฟ้องภายในกำหนด ๙๐ วันนับแต่วันรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ก็เพราะว่า การเพิกถอนการกระทำทางปกครองที่มีผลใช้บังคับแล้ว หากปล่อยให้เนิ่นนานออกไปก็อาจเกิดความวุ่นวายได้ ; และ ในกรณีที่เป็นคดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ศาลปกครองก็ยังมีอำนาจที่จะรับการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีได้ เพราะเจตนารมณ์และความมุ่งหมายสำคัญของกฎหมายปกครอง ก็คือ การดุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
สำหรับระยะเวลาในกรณีนี้ นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า เจตนารมณ์และความมุ่งหมายของการกำหนดระยะเวลา ๑๕ วันในบริบทของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง คือ ความต้องการสอดส่องติดตาม กิจกรรมและการเงินของพรรคการเมืองอันเป็นเรื่องสำคัญของพรรคการเมือง กฎหมายจึงกำหนดเวลาให้นายทะเบียนเร่งรัดการตรวจสอบ ; ดังนั้น กำหนดระยะเวลา ๑๕ วันจึงสั้นมาก ต่างกับบริบทของกฎหมายอื่น
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า ผลของการยื่นคำร้องเกินกำหนด ๑๕ วันตามที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด อาจนำไปสู่ ความต้องรับผิด ของผู้มีหน้าที่ยื่นคำร้องตามกฎหมายได้ แต่การยื่นคำร้องเกินกว่ากำหนด มิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ต่อพรรคประชาธิปัตย์ และหากพรรคประชาธิปัตย์ จะมี ข้อเสียเปรียบ ในการต่อสู้คดี เช่น การฟ้องคดีนานเกินไป ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มิได้เก็บพยานหลักฐานไว้ ก็อาจเป็น ข้อต่อสู้ ที่ศาลจะต้องพิจารณาเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นขัอเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ สรุปความเห็นในประเด็นนี้ หากถือตามแนวคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ก็จะทำให้มี ข้ฮโต้เถียงในอนาคตว่า จริง ๆ แล้ว ข้อเท็จจริงที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยพรรคการเมือง ได้ปรากฎต่อนายทะเบียนตั้งแต่เมื่อใด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีปริมาณพยานหลักฐานมาก) และ(การถือเช่นนั้น) ซ้ำยังจะเป็นการกดดันนายทะเบียนและคณะกรรมการเลือกตั้ง ลังเลเพื่อพิจารณา เหตุความผิดโดยละเอียดอีกด้วย
๒.๒ เหตุผล เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่มี ความเห็น ให้ยุบพรรคการเมือง ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้ให้ความเห็นในข้อนี้ไว้ ๒ ประเด็น สรุปได้ดังนี้
(ก)ประเด็นว่า การตีความของศาล เป็นการ เพิ่มกฎเกณฑ์ที่ยึด รูปแบบมากกว่าสาระ และก่อให้เกิดผลที่แปลกประหลาด (๒.๒.๑) ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ มีข้อสังเกตว่า ตามข้อความที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาล ไม่อาจทราบได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญนำเอา หลักอะไรมาตีความมาตรา ๙๓ วรรคสอง ว่า นายทะเบียนจะต้องแจ้ง ความเห็น ต่อที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในรูปแบบเฉพาะที่ศาลพอใจ โดยที่ศาลมิได้ระบุว่า การแจ้ง ความเห็น ของนายทะเบียนฯ ในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องมี รูปแบบและกฎเกณฑ์อย่างไร เช่น จะต้องทำเป็นหนังสือ หรือกล่าวโดยวาจาในที่ประชุม
การวินิจฉัยของศาลก่อให้เกิด ผลประหลาด โดยทำให้นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถมี มในสำนึกในทางกฎหมายแยกได้เป็น ๒ มาตรฐาน พร้อมกันได้ คือ ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาตในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มี ความเห็นส่วนตน( ตามที่ลงมติ) ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง)ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ... แต่ในขณะเดียวกัน นายอภิชาติในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่มี ความเห็น ให้ยุบพรรค กระนั้นหรือ (?)
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า การที่ศาลเพิ่ม กฎเกณฑ์อันเข้มงวด ที่ยึด รูปแบบมากกว่าสาระ ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้ อำนาจตุลาการ เข้าไปกำหนดการทำงาน ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์การอิสระ ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นตรงกัน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ และ ต่อมาในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ก็เพียงพอที่จะเข้าเงื่อนไข ตามบทยัญญัติ ตาม มาตรา ๙๓ วรรคสองแล้ว (ข้อ ๒.๒.๒)
(ข) ประเด็นว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเหตุว่า กระบวนการในการยื่นคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง ผิดขั้นตอนของกฎหมายอันเป็นส่วนที่เป็น ส่วนสาระสำคัญ ที่เป็นเหตุไให้ศาลยกคำร้อง นั้น ศาลไม่ได้อธิบายว่า ในส่วนสาระสำคัญนั้น คืออย่างไร (ข้อ ๒.๒.๓)
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า ถ้าจะอธิบายด้วย หลัก due process of law ศาลรัฐธรรมนูญก็จะต้องอธิบายว่า การดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ริดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือสร้างความไม่เป็นธรรมแก่พรรคประชาธิปัตย์ อย่างไร หรืออธิบายว่า ในการดำเนินการของนายทะเบียนฯดังกล่าว ได้ทำให้ ระบบการใช้อำนาจระหว่างนายทะเบียนฯและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เสียหาย อย่างไร ; แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อพิจารณาตาม หลัก proportionality principle แล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำข้อขัดข้องหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้มาอ้าง กลับทำให้กระบวนการยุติธรรมต้องชะงักงัน และเดินต่อไปไม่ได้ และเป็นการทอดทั้ง เจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งหวังให้มีการตรวจสอบพรรคการเมือง
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ให้ความเห็นต่อไปว่า โดยที่การตีความของศาลที่ถือ รูปแบบ มากกว่า สาระ จึง ย่อมต้องถือว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มี ความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ข้อ ๒.๒.๔) และดังนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ย่อมกลับไปเริ่ม กระบวนการใหม่ ได้
และนอกจากนั้น นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้กล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่า ตุลาการเสียงข้างมาก ๔ เสียงเอง ก็มี มโนสำนึก เป็น ๒ มาตรฐาน เพราะ ตุลาการเสียงข้างมาก กลุ่มแรก ๓ เสียง เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องแสดงความเห็นเป็น รูปแบบเฉพาะ แต่ตุลาการเสียงข้างมาก กลุ่มที่สอง ๑ เสียง เห็นว่า มาตรา ๙๓ วรรคสอง มิได้บัญญัติกำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอความเห็น ฯ ซึ่งแตกต่างกับกรณีตามข้อกล่าวหาตามมาตรา ๙๔ ซึ่งมาตรา ๙๕ บัญญัติว่า เมื่อเรื่องปรากฎต่อนายทะเบียนและนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้ว ; นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ เห็นว่า เหตุผลของเสียงข้างมากทั้ง ๒ กลุ่มนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ไม่ตรงกันเท่านั้น แต่กลับหักล้างและขัดแย้งกันในสาระอย่างสิ้นแชิง ยากที่จะถือว่าเป็นมติเสียงข้างมากโดยชอบธรรมได้
ในท้ายที่สุดของบทความ( ข้อ ๓ ข้อ ๔ และบทส่งท้าย ยาว ๑ ๑/๒ หน้า) นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้ให้ข้อคิดเห็นเป็นการทั่วใป ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ควรปรับปรุง ระบบการบริหารคดี เพื่อให้มีการพิจารณา เรื่องเขตอำนาจและความชอบของกระบวนการยื่นคำร้อง ให้เสร็จ ก่อนที่จะทุ่มเวลากับการสืบสวนพยานหลักฐานที่เป็นเนื้อหาสาระของคดี
ศาลรัฐธรรมนูญควรเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ; ถ้าตุลาการมี ประเด็นที่เฉพาะเจาะจงอยู่ในใจ ศาลก็สมควรให้คู่ความได้ทราบถึงความสำคัญของประเด็นเฉพาะเจาะจงดังกล่าว ซึ่งคู่ความจะได้ซักถามนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อหน้าศาลอย่างละเอียด พร้อมกับประชาชนที่จะได้ติดตามรับฟัง เพื่อสุดท้าย ศาลจะได้สามารถรับฟังความอย่างรอบด้าน และนำความจริงในห้อง เปิดมาอธิบายให้ปรากฎ
นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์(บทส่งท้าย) แสดงความวิตกในความเป็นกลางและจริยธรรมของตุลาการ ที่ปรากฎพบเป็นครั้งคราว และโดยที่ กระบวนการตรวจสอบตุลาการ ตามรัฐธรรมนูญของเราไม่ชัด ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนพึงทำได้ ก็คือ การติดตามใคร่ครวญ และกล้าหาญหวงแหนใน เหตุผล และความยุติธรรมของคำวินิจฉัย เพราะความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยมิอาจดำรงอยู่ได้ ด้วยมาตรฐานทางเหตุผลหรือคุณธรรมจำเพาะของคนบางกลุ่ม แต่ทุกคนต้องร่วมกันสำนึก และอย่างน้อยก็โดยปฏิเสธความมักง่ายที่จะนิ่งดูดายภายไต้เงาของความเป็นกลางอันว่างเปล่า
(ข) บทความของ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ (บรรณาธิการของ www.pub-law.net ) ได้ให้ความเห็นในกรณีนี้ ไว้ใน ๒ บทความด้วยกัน โดยบทความแรก เป็นบทความที่เผยแพร่ในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ ; และ บทความที่สอง เผยแพร่ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓
(๑) บทความแรก ( ๖ ธันวาคม ๒๕๕๓) เรื่อง ความโชคดีซ้ำซากของพรรคประชาธิปัตย์ มีความยาวประมาณ ๖ หน้า’ เผยแพร่หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่าน คำวินิจฉัย(อย่างไม่เป็นทางการ)ของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ แต่ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะเผยแพร่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งศาลเขียนเสร็จและเผยแพร่ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ )
ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้ให้ข้อคิดเห็นขึ้นต้นไว้ว่า เป็นที่เข้าใจว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ก็เนื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้อง - ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ; และในระหว่างที่ยังไม่เห็นคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ ศ.ดร.นันทวัฒน์ ขอให้ข้อสังเกตบางประการ เกี่ยวกับ ๒ องค์กร คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้
(๑.๑) องค์กรศาลรัฐธรรมนูญ (๓ ๑/๒ หน้า)
ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวขึ้นต้นไว้ว่า ขณะนี้ มีประเด็นว่า มี ขบวนการที่จ้องทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ (ด้วยการปล่อยข่าวในเชิงลบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) หรือว่า ศาลรัฐธรรมนูญเองที่ทำให้องค์กรของตัวเองไม่น่าเชื่อถือ
ประเด็นแรก ข้อบกพร่องของ ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย
(การตรวจสอบ เรื่อง อายุความหรือระยะเวลาในการฟ้องคดี)
ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า ได้ตรวจดู ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้ว ไม่ปรากฎว่ามีข้อความใดที่กล่าวถึงการตรวจสอบเรื่องอายุความในการร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับวิธีพิจารณคดีของศาลปกครอง (พรบ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ และระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธึพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓) ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีการตรวจสอบคำฟ้องในเบื้องต้นก่อนที่จะรับเรื่องไว้พิจารณา และเท่าที่ทราบมา ในทางปฎิบัติของศาลปกครอง ศาลปกครองได้มีการตรวจสอบ อายุความ หรือ ระยะเวลาในการฟ้องคดี อย่างจริงจังและหลายขั้นตอน(ก่อนที่จะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง) คือ ตรวจสอบกัน ตั้งแต่ ตุลาการหัวหน้าคณะ และ ตุลาการเจ้าของสำนวน ; ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีกระบวนการดังกล่าว ก็ชอบที่จะพิจารณาปรับปรุง ข้อกำหนดนี้เสีย
ประเด็นที่สอง ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุว่า ตุลาการคนใด เป็น ตุลาการประจำคดี (ผู้รับผิดชอบ - โดยตรง)
ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ (ข้อ ๒๕) ได้กำหนดหลักการให้มี ตุลาการประจำคดี (คล้าย ๆ กับ ตุลาการเจ้าของสำนวนของศาลปกครอง) และในข้อ ๒๙ กำหนดว่า เมื่อศาลหรือตุลาการประจำคดี มีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณี ไว้พิจารณา ให้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่ผู้ถูกร้อง ........ ; ศ.ดร.นันทวัฒน์ สงสัยว่า ในกรณีนี้ ตุลาการผู้ใด เป็นตุลาการประจำคดี และทำไม ตุลาการประจำคดีจึงไม่ยกประเด็นเรื่องการยื่นคำร้องเกินระยะเวลามาพิจารณาตั้งแต่ต้น ปล่อยให้เสียเวลาไต่สวนข้อเท็จจริงมาตั้งหลายเดือน แล้วมาจบลงที่ว่า ยื่นคำร้องเกินเวลา
ประเด็นที่สาม อายุความ กับ ประโยชน์สาธารณะ ; ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวถึง ปัญหาเรื่องอายุความกับ ประโยชน์สาธารณะ ซึงในประเด็นนี้ พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ (มาตรา ๕๒) บัญญัติไว้ว่า การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ ....... และในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญนี้ เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ย่อมเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ดังนั้น การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวของพรรคการเมือง จึงเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ; หากศาลซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ อ้างว่า กระบวนการของการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และ ปฏิเสธไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวช้องกับประโยชน์สาธารณะ ศาลก็จะเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเสียเอง
ศ.ดร.นันทวัฒน์ มึความเห็นต่อไปว่า ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ (ข้อ ๕๐) ได้ระบุไว้ว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกำหนดมิได้ ; ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นไว้ถึง ๕ ประเด็น แต่ในการอ่านคำวินิจฉัยเมื่อบ่ายวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประแรกเพียงประเด็นเดียว ; และคำถามต่อเนื่อง ก็คือ จะทำอย่างไรกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการฝ่าฝืน ข้อกำหนดของตนเอง
(๑.๒) องค์กรคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประธานคณะกรรมการฯ)
ประเด็น ความรับผิดชอบของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง ; ศ.ดร.นันทวัฒน์ มึความเห็นว่า โดยที่ตามกฎหมายกำหนดให้ ประธานคณะกรรมการ และ นายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนคนเดียวกัน และผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ ก็เป็นผู้ที่ สมัครใจเข้ามาทำงาน และ ดังนั้น จึงต้องสันนิษฐานว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องเป็นผู้ที่รู้จริงและทำงานได้ดีไม่ผิดพลาด ; ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งคงไม่สามารถอ้างได้ว่า เกิดความสับสนในหน้าที่ ระหว่าง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กับ นายทะเบียนพรรคการเมือง และ ก็ไม่ควรสับสนในกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับ ระหว่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่กับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเก่า ; หากผู้นั้นทำงานผิด ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องไม่ควรผิด ก็ควรจะต้องรับผิดชอบ
ในตอนท้ายของบทความนี้ ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้กล่าวถึงประเด็น ความรับผิดชอบของบุคคลที่บกพร่องในหน้าที่ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในองค์กรศาลรัฐธรรมนูญและในองค์กรคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีตที่ผ่านมา บุคคลเหล่านี้ไม่มีการลาออก และจะปล่อยเวลาให้ผ่านไป ไม่ช้าเรื่องก็เงียบ กรณีนี้ก็คงเป็นเช่นนั้นอีก ; และนอกจากนั้น ศ.ดร.นันทวัฒน์ ยังกล่าวว่า มีข้อสงสัยอยู่ว่า ข้อพลาดเหล่านี้ เกิดจากความไม่รู้ หรือเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากความตั้งใจ
และ ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้กล่าวในประการสุดท้ายว่า ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่นักกฎหมายต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเห็นปัญหาของนักกฎหมายที่มีระดับ เนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ดี ต่างก็จะมาจากอัยการและผู้พิพากษา แตทำไม บุคคลเหล่านี้กลับมองและอ่านกฎหมายไม่เหมือนกัน
(๒)บทความที่ ๒ ( ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓) เรื่อง ความสับสนในคำวินิจฉัยแรกของศาลรัฐธรรมนูญ - กรณีไม่ยุบพรรค ปชป. มีความยาวประมาณ ๗ ๑/๒ หน้า; เผยแพร่หลังการเผยแพร่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ) ;
ในบทความนี้ ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้ของดเว้นไม่วิพากษ์วิจารณ์ เนื้อหา ของการตัดสินคดี ๒๙ ล้านของพรรคประชาธิปัตย์ (ทั้งใน คำวินิจฉัยกลางและความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการ) แต่จะขอพูดถึง รูปแบบและวิธีการในการเสนอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ต่อสาธารณชน ซึ่ง ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้ยกประเด็นไว้ ๓ ประเด็น คือ
ประเด็นแรก คำวินิจฉัยของศาล ย่อมมีผลเมื่อ อ่าน และ เมื่ออ่านแล้ว ตุลาการยังมีอำนาจแก้ไข หรือไม่ (?)
ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้ยกประเด็น ความแตกต่างของสาระ ในคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) กับ คำวินิจฉัยที่เป็นทางการ ; ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้นำข้อความในคำวินิจฉัย ๒ ฉบับ (ฉบับไม่เป็นทางการ กับ คำวินิจฉัยฉบับที่เป็นทางการ) มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งปรากฎว่า ได้มีการเพิ่ม ข้อความ เข้าไปใน ตอนจบ ของคำวินิจฉัยที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ มากพอสมควร ; โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ เห็นว่า ถ้าเป็นการแก้ไขถ้อยคำให้สละสลวยบ้างก็พอจะยอมรับได้ แต่ไม่ใช่ว่า เมื่ออ่านคำวินิจฉัยแล้ว พอเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว ตอน เขียน ก็เลยถือโอกาสเพิ่มเติมขยายความออกไป แถมยังให้ เหตุผล ต่างกับข้อความในคำวินิจฉัยที่ อ่าน ไปแล้ว ด้วย
ศ.ดร.นันทวัฒน์ เห็นว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ศาลรัฐธรรมนูญหรือเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญควรอธิบายต่อประชาชนให้ชัดเจนว่า อะไรเป็นอะไร ไม่ใช่เงียบหายไปเหมือนกับทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่สอง ควรเปิดเผย ความเห็นส่วนตน (ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ในวันที่ อ่าน คำวินิจฉัยของศาล
ศ.ดร.นันทวัฒน์กล่าวว่า ศ.ดร.นันทวัฒน์ เข้าใจว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่านคงจะต้องมี ความเห็นส่วนตน แล้วในวันวินิจฉัยคดี พอประชุมกัน แต่ละคนก็เสนอความเห็นและสรุปเป็นเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในแต่ละประเด็น จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไปทำ คำวินิจฉัยกลาง ; แต่เท่าที่ปรากฎ สาธารณชนไม่เคยได้ทราบความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ใด ก่อนเลย
ศ.ดร.นันทวัฒน์ เห็นว่า การไม่เปิดเผยความเห็นส่วนตน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องประชุมไม่มีความชัดเจน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ; ดังนั้น หากสามารถเปิดเผย ความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในทันทีที่อ่าน คำวินิจฉัยกลางได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก และจะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดหรือข้อครหาต่าง ๆ ที่จะตามมาอีกด้วย
ประเด็นที่สาม ความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มี วิธีการเขียนคำวินิจฉัย ที่แน่ชัด (ทำให้ผู้อ่านและสื่อมวลชน หลงทาง)
ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้นำ ความเห็นส่วนตน ของตุลาการเสียงข้างมาก ๔ ท่าน (นายจรัญ ภักดีธนากุล ,นายสุพจน์ ไข่มุกด์ , นายนุรักษ์ มาปราณีต , นายอุดมศักดิ์ นิติไมตรี) มาพิจารณาและสรุปเป็นรายบุคคล ไว้ดังนี้
(๑) ความเห็นส่วนตน ของนายจรัญ ภักดีธนากุล เขียนความเห็นไว้ ๑๖ หน้า หน้าแรก กำหนด ประเด็นพิจารณาไว้ ๕ ประเด็น และพิจารณาประเด็นที่ ๒ ก่อน ; ประเด็นที่สอง เห็นว่า เป็นความเข้าใจกฎหมายที่คลาดเคลื่อนของผู้ร้อง(พรรค ปชป) เอง ; ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน เห็นว่า เป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลตามกฎหมาย ; ประเด็นที่สาม เห็นว่า รายจ่ายสำหรับค่าป้าย (ที่เป็นรายรับสำหรับปี ๒๕๔๘ ที่จ่ายในปี ๒๕๔๗) ทึ่ต้องบันทึกใน ปี ๒๕๔๘ มิได้ผิดหลักเกณฑ์ทางบัญชีแต่ประการใด ; ประเด็นที่สี่ เห็นว่า ผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ได้จัดทำรายงานการใช้เงินสนันสนุน ถูกต้องแล้ว ; ประเด็นที่ห้า เห็นว่า เมื่อผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) มิได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ไม่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคต้องถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางกฎหมาย
ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ในความเห็นส่วนตน ของนายจรัญ ภักดีธนากุล นี้ ได้อ้าง มาตรา โดยระบุกฎหมายผิดพลาด ไว้หลายแห่ง คือ ที่ถูกต้อง ต้องเป็นบทมาตราของ พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ในความเห็นส่วนตน ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ระบุว่า เป็นบทมาตราของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๑ และ การอ้าง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็ยังผิดอีก เพราะที่ถูกต้องเป็น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ดูเหมือนว่า เว็บไซต์ ของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รีบไปแก้คำผิด หลังจากที่ได้อ่าน บทความของ ศ.ดร.นันทวัฒน์ แล้ว)
(๒)ความเห็นส่วนตน ของนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เขียนความเห็นไว้ ๑๕ หน้า หน้าแรกกำหนดประเด็นพิจารณาไว้ ๕ ประเด็น โดยรวมพิจารณาประเด็นหนึ่งและประเด็นที่สอง และเห็นว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ; ประเด็นที่สาม เห็นว่า พรรคผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.)ใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ....เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุมติจากผู้ร้อง(นายทะเบียน)แล้ว ; ประเด็นที่สี่ ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป. ) ได้จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ปี ๒๕๔๘ ถูกต้องตรงตามความจริง ; ประเด็นที่ห้า เห็นว่า กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ ; จบความเห็นส่วนตนว่า อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัย จึงเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะต้องยุบพรรคผู้ถูกร้องตามกฎหมาย
(๓)ความเห็นส่วนตน ของนายนุรักษ์ มาปราณีต เขียนความเห็นไว้ ๙ หน้า หน้าแรกกำหนดประเด็นพิจารณาไว้ ๕ ประเด็น โดยได้วินิจฉัยประเด็นที่สองก่อน : ประเด็นที่สอง เห็นว่า กรณียุบพรรค ปชป. ต้องพิจารณาตาม พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ; ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า ผู้ร้อง(นายทะเบียนพรรคการเมือง) ยื่นคำร้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ; ประเด็นที่สาม เห็นว่าผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ..... เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว ; ประเด็นที่ ๔ เห็นว่า ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนุบสนุนพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๘ ถูกต้องตามความจริง ; ประเด็นที่ห้า เมื่อผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)มิได้กระทำผิด จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ; จบความเห็นส่วนตนว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว ให้ยกคำร้อง
(๔)ความเห็นส่วนตน ของนายอุดมศักดิ์ นิติไมตรี เขียนความเห็นไว้ ๒๕ หน้า หน้าแรกกำหนดประเด็นพิจารณาไว้ ๕ ประเด็น โดยรวมพิจารณาประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองเข้าด้วยกัน และเห็นว่า กระบวนการยื่นคำร้อง(ของนายทะเบียนพรรคการเมือง)ของให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ; และรวมพิจารณาประเด็นที่สามและประเด็นที่สี่เข้าด้วยกัน เห็นว่า ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๘ ถูกต้องตามความเป็นจริง ; ประเด็นที่ห้า เห็นว่า ไม่พิจารณา ; จบความเห็นส่วนตนว่า ผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป. ใข้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรตการเมือง เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ .และรายงานการใช้จ่ายเงินถูกต้องตามความจริง ฯ เห็นควรยกคำร้อง
เมื่อได้พิจารณาการเขียน ความเห็นส่วนตน ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากทั้ง ๔ คน แล้ว ศ.ดร.นันทวัฒน์ ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ รูปแบบการเขียน คำวินิจฉัยส่วนตนดังกล่าว ไว้ ๒ ประการ (ไม่นับการอ้างกฎหมายผิด) คือ (๑) ประการแรก การเขียนคำวินิจฉัย( กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เขียนว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (๔ ต่อ ๒) ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ไม่ชัดเจน เพราะในจำนวน ๔ คนนั้น มีเพียงหนึ่งคนเท่านั้น ที่เห็นว่า ประธานกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนด ๑๕ วันตามที่กฎหมายกำหนด และอีก ๓ คน เห็นคล้าย ๆ กัน คือนายทะเบียนยังไม่ได้ให้ ความเห็น (เว้นแต่จะถือว่า การที่นายทะเบียนยังไม่ให้ ความเห็น เป็นส่วนหนึ่งของ กระบวนการยื่นคำร้องฯ) ; และ (๒) ประการที่สอง ใน ความเห็นส่วนตน ของตุลาการแต่ละคน ไม่สามารถเข้าใจได้ในตัวของความเห็นเอง ว่า ตุลาการ ฯ ยกร้องด้วยเรื่องอะไร เพราะในตอนท้ายของความเห็น (ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนจะลงนาม) ซึ่งเป็นส่วนที่ สำคัญที่สุดของคำวินิจฉัยส่วนตน ไม่มีข้อความที่เป็น ข้อตัดสินชี้ขาดของเรื่องอยู่เลย เนื่องจากตุลาการแต่ละคนที่เขียน ความเห็นส่วนตน ได้นำเอาเหตุแห่งการยกคำร้อง ซึ่งเป็น ตอนจบของเรื่อง ไปซ่อนอยู่ตรงกลางของความเห็นส่วนตนกันหมด ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัย(กลาง) ที่ตอนจบของเรื่องอยู่ที่ท้ายคำวินิจฉัย
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หนังสือพิมพ์บางฉบับ นักการเมือง และนักวิชาการบางคน ออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างผิด ๆ ; ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้จบบทความของตนด้วยข้อความว่า เขียนแบบนี้ถ้าเป็น นิยาย คงเลิกอ่านไปแล้ว ไม่มาทนนั่งอ่านให้เสียเวลา
(ค)บทความของ คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ จำนวน ๗ ท่าน
คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ จำนวน ๗ ท่าน (นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ / อ.จันจิรา เอื่อมมยุยา / นายประสิทธิ ปิวาวัฒนพานิช / นายฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล / นายธีระ สุธีวรางกุร / อ.สาวตรี สุขศรี / นายปียบุตร แสงกนกกุล ) เผยแพร่วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ (หลังการเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ สงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ แต่เขียนเสร็จและเผยแพร่ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓)) บทความนี้ ขื่อว่า บทวิเคราะห์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ - กรณียกคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ยาวประมาณ ๑๐ หน้าเศษ โดยเป็นส่วนที่กล่าวถึง ข้อเท็จจริง ที่เป็นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ประมาณ ๗ หน้าเศษ และเป็นส่วนที่เป็น ความเห็นของคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ ๓ หน้า (เริ่มจาก ข้อที่ ๑๓ ถึง ข้อ ๑๗) ซึ่งอาจสรุป ความเห็น ของคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ ได้เป็น ๓ ประเด็น ดังนี้
(๑)ประเด็น ว่าด้วยการกำหนด ประเด็นในการพิจารณา ของศาล
คณาจารย์คณะนิติราษฎร์(ข้อ ๑๔) )เห็นว่า หลักการในการกำหนด ประเด็นในการพิจารณาคดี ศาลจะต้องวินิจฉัย เงื่อนไขที่ทำให้ศาลมีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณา (เช่น เขตอำนาจศาล / ความสามารถของผู้ฟ้องคดี / ความสามารถในการดำเนินกระบวนการพิจารณา / ระยะเวลาในการฟ้องคดี / ฯลฯ ) แยกออกจาก การวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี โดยศาลจะต้องดำเนินการตรวจสอบเงื่อนไขที่ทำให้ศาลมีอำนาจฯ ก่อน ; และหากเงื่อนไขเหล่านี้ดำรงอยู่โดยครบถ้วน ศาลจึงจะสามารถวินิจฉัยเนื้อหาของคดีได้
ถ้ามีโต้แย้งกันหลายประเด็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยชี้ขาดทีละประเด็น การกำหนดประเด็นวินิจฉัยช่นนี้ จะทำให้การวินิจฉัยเกิดจากเสียงข้างมากขององค์คณะ และจะปรากฎ เหตุผลในคำวินิจฉัยอย่างชัดเจน ; การกำหนดประเด็นรวม ๆ กันไป สุดท้ายย่อมหาเสียงข้างมากขององค์คณะไม่ได้ และการยกคำร้องโดยอาศัย เหตุใดเหตุหนึ่งนั้น จะมีผลต่อการนำคดีมาฟ้องใหม่ ที่ไม่เหมือนกัน
(๒) ประเด็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ เกิดจาก เสียงข้างมากขององค์คณะ หรือไม่ และ จะมีผลในทางกฎหมาย เพียงใด
ในการกำหนดประเด็นในการพิจารณาในคดีนี้ (ข้อ ๑๕) ; คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ เห็นว่า ตุลาการที่ยกคำร้องเพราะ เหตุ ที่การยื่นคำร้องกระทำข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มีจำนวน ๓ คนจากองค์คณะตุลาการจำนวนทั้งหมด ๖ คน ไม่ถือว่าเป็นเสียงข้างมากขององค์คณะ ; และตุลาการอีก ๑ คนที่ยกคำร้องเพราะเห็นว่าการยื่นคำร้องได้กระทำเพื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเสียงข้างมาก เช่นเดียวกัน
คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องลงมติทีละประเด็น โดยต้องกำหนดประเด็นและลงมติเสียก่อนว่า ผู้ร้องมีอำนาจในการยื่นคำร้องหรือไม่ และตุลาการทุกคนต้องลงมติ ; หากยังหาเสียงข้างมากไม่ได้ ก็ต้องกำหนด ประเด็นย่อย ลงไปอีก โดยฝ่ายข้างน้อยต้องยอมรับผลของการลงมติในแต่ละประเด็น และต้องลงมติในประเด็นถัดไปด้วย ; แต่โดยที่ ศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ไม่ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าว (และเขียนเหตุผลรวมกันไปทั้ง ๒ กรณี) จึงทำให้เกิดความสับสนว่า ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของนายทะเบียนฯ เพราะ เหตุผล อย่างใด และทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันบางส่วน ( คือตุลาการ ๓ คน เห็นว่า นายทะเบียนต้องมี ความเห็นให้ยุบพรรคฯ ก่อน ที่จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นชอบ แต่ตุลาการอีก ๑ คน เห็นว่า นายทะเบียนจะเสนอความเห็นฯ หรือไม่ ก็ได้
ด้วยเหตุนี้ คณาจารย์นิติราษฏร์ มีความเห็นในประเด็นนี้ ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดจากเสียงข้างมากขององค์คณะ และไม่ชอบด้วยหลักการของการทำคำวินิจฉัยในทางตุลาการ และทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว จะมีผลในทางกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร
(๓)ประเด็นในปัญหาข้อเท็จจริง ว่า นายทะเบียนได้ให้ ความเห็นให้ยุบพรรคฯ แล้วหรือยัง (ข้อ ๑๖)
คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ เห็นว่า ตามที่ ตุลาการเสียงข้างมาก ๓ คน เห็นว่า การลงมติของนายอภิชาตให้ยุบพรรคฯในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นั้น เป็นความเห็นของนายอภิชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ฯลฯนั้น คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ พิเตราะห์แล้วเห็นว่า ในที่สุด เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคฯ ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เท่ากับนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นโดยปริยายแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้กระทำการอันต้องด้วยเหตุที่กฎหมายกำหนดและสมควรถูกยุบพรรค ; ซึ่งกรณีนี้ เป็นกรณีที่เทียบเคียงได้กับ มาตรา ๔๑ แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่กำหนดให้ คำสั่งทางปกครอง (ที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่อื่น ต้องให้ความเห็นชอบก่อนที่จะออกคำสั่งทางปกครอง) ย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมายได้ แม้ในขณะที่ออกคำสั่งจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่อื่น แต่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่อื่นนั้นในภายหลัง
คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ เห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยแยกกระบวนการและขั้นตอนออกเป็นส่วน ๆ อย่างสิ้นเชิง โดยมิได้พิเคราะห์ เจตนาที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่ที่ทรงอำนาจ ซึ่ง คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ ไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้
ในท้ายที่สุด คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ สรุปว่า การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ มีปัญหาว่า เป็นคำวินิจฉัยที่เกิดจาก เสียงข้างมากขององค์คณะ หรือไม่ และยังมีปัญหาในแง่เหตุผลในข้อกฎหมาย ที่ศาลนำมายกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง สมควรที่องค์กรในเรื่องนี้ จะต้องทำความกระจ่างต่อไป และสมควรที่จะต้องตรวจสอบกฎเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ / การรักษากฎเกณฑ์ดังกล่าว / และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ; และคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ เห็นว่า โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้พิจารณาใน เนื้อหาของคดี จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะได้ให้ ความเห็นในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อจะได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ศาลวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีต่อไป
ผู้เขียนหวังว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนรวบรวมและสรุปไว้ ในที่นี้ จะเป็น ข้อมูล ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาวิเคราะห์ ของวงการวิชาการกฎหมายของเราต่อไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคณาจารย์ที่สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย จะได้นำ ข้อเท็จจริง เหล่านี้ ไปปรับปรุงและอ้างอิงในการเขียน ตำรา(กฎหมายมหาชน) (ดังเช่นตำรากฎหมายของต่างประเทศ) เพื่อยกระดับการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย และเพื่อให้นักศึกษากฎหมายของเราในอนาคต สามารถเรียนรู้และหาประสบการณ์(จากตำราเรียน)ได้ โดยไม่ต้องหลงวนเวียนอยู่ใน vicious circle ซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังเช่นที่ผ่านมา กว่า ๗๕ ปีของ การเป็นประชาธิปไตย (แบบ ไทย ๆ )
ในส่วนต่อไปนี้ ผู้เขียนจะได้สรุป สาระของ คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) ของศาลรัฐธรรมนูญ (อ่านเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓) และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (แต่เขียนเสร็จและเผยแพร่ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ - แบบไทย ๆ)
๑๒ มกราคม ๒๕๕๓
[จบส่วนที่หนึ่ง บทควานี้ยังมีต่อ ]
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|