หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 244
1 สิงหาคม 2553 21:01 น.
ครั้งที่ 244
       สำหรับวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2553
       
       “เมื่อไรจะเลิกใช้กฎหมายแบบนี้เสียที”
       
       นับเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้นำเอา “กฎหมายพิเศษ” เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการ “แก้ปัญหา” ของประเทศดังที่เราทราบกันอยู่ โดยตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนเป็นต้นมา รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และใช้มาจนกระทั่งถึงวันนี้ หลายพื้นที่ในประเทศไทยรวมทั้งกรุงเทพมหานครก็ยังคงอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว
       คงจำกันได้ว่า ในปี พ.ศ. 2548 เมื่อรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในวันนั้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก นักวิชาการที่รักหลายคนออกมาต่อต้าน นักการเมือง ภาคประชาชน ต่างก็ออกมาโจมตี “กฎหมายติดหนวด” ฉบับนี้กันมากเหลือเกินว่าเป็นกฎหมายมีเนื้อหาสาระที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พระราชกำหนดดังกล่าวก็ยังคงอยู่ต่อไปและในที่สุดก็ถูกนำมาใช้อย่างเอาเป็นเอาตายแทนที่จะถูกยกเลิกหรือแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะได้ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในวันนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงกลายเป็นรัฐบาลที่ใช้ประโยชน์จากพระราชกำหนดฉบับนี้มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาครับ !!!
       เมื่อพิจารณาดู “เหตุผล” ของการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ก็จะพบว่า การที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกพระราชกำหนดดังกล่าวก็เนื่องมาจาก “โดยที่กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับเดิม คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 ) ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่าง ๆ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงได้โดยเร็ว รวมทั้งไม่อาจนำมาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะและการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายและเนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ สมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษเพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะและป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้”
       
เมื่อพิจารณาดูเหตุผลของการประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าว ก็จะพบว่าเจตนารมณ์เงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งของการนำเอามาตรการในพระราชกำหนดมาใช้ในการแก้ไขปัญหาร้ายแรงของประเทศก็คือ การแก้ไขปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นจะต้อง “...ไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้…” ครับ !! นี่คือ “หัวใจ” สำคัญของพระราชกำหนดฉบับนี้
       ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 241 ซึ่งได้เผยแพร่ไปในระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้เล่าให้ฟังถึง การใช้ “กฎหมายพิเศษ” ของประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งแม้จะเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่มีบทบัญญัติรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ประธานาธิบดีก็ไม่สามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้อย่างเสรีเพราะการใช้อำนาจยังคงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายประการ ใครที่ยังไม่ได้อ่านก็ลองย้อนกลับไปอ่านดูได้ครับ
       จะว่าไปแล้ว พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถูกนำมาใช้กับการชุมนุมทางการเมืองของ “คนเสื้อแดง” หลายครั้ง ก่อนวันที่ 7 เมษายน เมื่อมีข่าวว่าคนเสื้อแดงจะชุมนุม รัฐบาลก็ประกาศใช้พระราชกำหนด พอคนเสื้อแดงตัดสินใจที่จะไม่ชุมนุมรัฐบาลก็เลิกใช้พระราชกำหนด เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันอย่างนี้หลายครั้งโดยไม่ได้พิจารณาสักนิดว่า “เหตุการณ์” ที่ร้ายแรงยังไม่เกิดขึ้นเลยแต่กลับไปใช้กฎหมายที่เข้มข้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการ “ป้องกัน” เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและคาดว่า “...ไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้…” ครับ เป็นอย่างนี้หลายครั้งจนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกันอีกรอบและคราวนี้ประกาศดังกล่าวก็ “ลากยาว” มาจนกระทั่งปัจจุบันแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะ “ยกเลิก” กันเมื่อไร เพราะพอมีเสียงเรียกร้องขอให้ยกเลิกก็จะต้องมี “เหตุการณ์” แปลก ๆ เกิดขึ้นทุกครั้ง ล่าสุดเกิดระเบิดขึ้นที่ราชประสงค์ มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง รัฐบาลก็ออกมาให้ข่าวว่ายังคงไม่ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้เพราะเหตุการณ์ยังไม่สงบครับ
       เกิดอะไรขึ้นเมื่อรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ? ก็ต้องไปดูในมาตรา 9 ถึงมาตรา 13 ของพระราชกำหนดดังกล่าวที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีอย่างมากที่จะสามารถ “ห้าม” และ “สั่งการ” ต่าง ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้เองที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงเกิดการกระทำของภาครัฐที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยรัฐได้ใช้มาตรการต่าง ๆ ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การจับบุคคลไปคุมขัง ปิดสื่อ ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง จำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง อายัดการทำธุรกรรมทางการเงิน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนจำนวนหนึ่ง และสร้างความหนักใจให้กับนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งเป็นอย่างมาก
       จริงอยู่ที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งรวมทั้งรัฐบาลด้วย ออกมาแสดงความเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้มีผลกระทบกระทบต่อความเป็นอยู่ตามปกติของผู้คนทั่ว ๆ ไป แต่โดยสภาพแล้ว เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ประเทศไทยเรายังอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นปกติ โดยเฉพาะในมุมมองของต่างประเทศ การที่ประเทศหนึ่งอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสิ่งบอกถึงความไม่ปกติของระบบ ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
       เมื่อพิจารณาในแง่ของผู้ใช้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นผลดีกับผู้ใช้โดยตรง โดยเฉพาะผู้ใช้ที่ต้องการอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไว้ในมือเพราะสามารถ “ควบคุม” ประชาชนได้ง่าย และไม่ต้องกังวลไปกับการกระทำของตนเองว่าจะไปคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้หรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ที่ดำเนินการตามบทบัญญัติในพระราชกำหนดดังกล่าวยัง “ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย” อีกด้วยครับ แต่อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยก่อนและหลัง 19 พฤษภาคม 2553 ก็จะพบว่า มีความแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นในปัจจุบันที่คนส่วนหนึ่งเห็นว่าเหตุการณ์บ้านเมือง “น่าจะ” อยู่ในสภาวะปกติ จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ยอมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสียทีครับ !!
       “รัฐบาลกลัวประชาชน” หรือ “รัฐบาลยังคงต้องการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามพระราชกำหนดเพื่อควบคุมบ้านเมืองและขจัดศัตรูทางการเมืองให้สิ้นซาก” เป็นคำกล่าวที่เราพบเห็นได้ตามกระทู้ต่าง ๆ ใน internet ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจริงเท็จอย่างไร แต่สำหรับผมนั้น การใช้พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเพราะเรามีกฎหมายต่าง ๆ จำนวนมากมายหลายฉบับที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้ และผู้ใช้กฎหมายเหล่านั้นก็อาจถูกตรวจสอบโดยกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐได้ หากการใช้อำนาจดังกล่าวไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนครับ
       ในระยะสั้น คงต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายได้ตั้งนานแล้ว แกนนำทั้งหลายก็อยู่ในคุกเรียบร้อยหมดแล้ว เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติ การคงไว้ซึ่งสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ “ไม่สอดคล้อง” กับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ครับ ส่วนในระยะยาวนั้น คงต้องพิจารณาเป็นสองแนวทางด้วยกัน แนวทางแรกคือ ยกเลิกพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งฉบับ และใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในกรณีที่มีปัญหาร้ายแรงของประเทศเกิดขึ้น ส่วนแนวทางที่สองนั้น หากรัฐบาลคิดว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายดังกล่าวอยู่ต่อไป ก็คงต้อง “รื้อ” กฎหมายใหม่โดยต้องสร้างระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดให้ชัดเจน โดยอาจจะต้องไปแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ในส่วนของเขตอำนาจศาลปกครองที่ปัจจุบันกำหนดให้ศาลปกครองตรวจสอบได้สูงสุดแค่พระราชกฤษฎีกามาเป็นสามารถตรวจสอบพระราชกำหนดได้ ซึ่งประเทศที่มีระบบศาลปกครองเช่นฝรั่งเศสนั้น ศาลปกครองสามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของเนื้อหาของพระราชกำหนดที่รัฐสภายังไม่ได้ให้สัตยาบันได้ เพราะพระราชกำหนดก็เป็นเพียงแค่ “กฎ” หรือ “การกระทำทางปกครอง” ประเภทหนึ่งครับ ควรต้องให้มีองค์กรใดสักองค์กรเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจพิเศษนี้เพราะการใช้อำนาจพิเศษส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าจะให้ดีก็ควรดูแบบจากการตรวจสอบการใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ผมได้เขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 241 ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นครับ โดยจะต้องกำหนดให้สามารถตรวจสอบเหตุผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยดูว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ จนทำให้รัฐบาล “...ไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้…” ครับ !!! ไม่ใช่แค่นึกอยากจะประกาศเมื่อไรก็ประกาศ นึกอยากจะเลิกเมื่อไรก็เลิก ดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
       ก็ลองช่วยกันพิจารณาดูนะครับ เราคงปล่อยให้ “กฎหมาย” แบบนี้ “ลอยนวล” อยู่ต่อไปไม่ได้นะครับ เห็นฤทธิ์กันแล้วนะครับว่า พระราชกำหนดนี้คุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากเหลือเกิน ขนาดเด็กนักเรียนอายุเพียงไม่กี่ขวบชูป้ายเพื่อเป็นการแสดงออกทางการเมืองแต่ดันไปมีผลกระทบต่อรัฐบาลและมีผลกระทบต่อพระราชกำหนดก็ยังถูกจับเลยครับ !!
       เป็นที่น่าแปลกใจมากว่า พระราชกำหนดที่ออกในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 นั้น เป็นพระราชกำหนดที่มีปัญหามากและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เป็นการออกกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ของตัวเอง จนต่อมาก็นำไปสู่การ "ยึดทรัพย์" ในที่สุด แต่พระราชกำหนดอีกฉบับหนึ่ง ที่ออกโดยคนคนเดียวกัน ที่แม้จะไม่มีผลเป็นการหาประโยชน์ที่เป็นเงินเป็นทองให้กับตนเอง แต่ก็มีผลเป็นการสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กับตนเองพร้อมทั้งยังทำให้เกิดการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย กลับถูกนำมาใช้โดยไม่ได้คำนึงถึง "ที่มา" และ "ผล" ที่เกิดขึ้นจากการใช้กฏหมายนั้นเลย ไม่ทราบว่าอย่างนี้จะเรียกว่าอะไรจึงจะเหมาะสมกว่ากัน ระหว่าง "สองมาตรฐาน" กับ "เกลียดตัวกินไข่" ครับ !!!!!!!!!!
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ ผศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต แห่ง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง "หลักกฎหมายเยอรมันเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง (ตอนจบ)"  บทความที่สองเป็นบทความของ อาจารย์โชต อัศวลาภสกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่เขียนเรื่อง "ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายกับการปรองดอง" และบทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง "ผมเห็นเด็กกำลังจะตายเพราะ พรก.ฉุกเฉินที่เชียงราย" ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544