หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 233
28 กุมภาพันธ์ 2553 22:52 น.
ครั้งที่ 233
       สำหรับวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553
       
       “ป.ป.ช.กับศาล : ใครคุมใคร”
       
       2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวของการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดี “ยึดทรัพย์” อดีตนายกรัฐมนตรี ชิงพื้นที่ข่าวทุกประเภทไปหมดจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีใครสนใจข่าวอื่นกันเลย ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ผมเฝ้าติดตามข่าวด้วยความ “หดหู่” เพราะสื่อจำนวนมากแสดงความ “ไม่เป็นกลาง” อย่างเห็นได้ชัดเจน ความไม่เป็นกลางที่แสดงออกมาส่วนหนึ่ง เช่น การ “สร้างข่าว” ความเลวร้ายให้กับอดีตนายกและครอบครัว การ “การสร้างข่าว” ให้กับสิ่งที่ “ผู้สร้างข่าว” คาดเดาหรือคิดไปเองว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือความวุ่นวายขึ้นในประเทศไม่ว่า “ก่อน” หรือ “หลัง” วันที่ศาลจะมีคำพิพากษา การ “สร้างข่าว” เกี่ยวกับเรื่อง “สินบน” ต่าง ๆ เป็นต้น ข่าวเหล่านี้ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ท่องเที่ยวและการเมือง แต่ที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งคือ “สื่อ” ที่รัฐเป็นเจ้าของที่ออกข่าว “รายวัน” จนในที่สุดแล้วคงมีหลายๆคนมีความรู้สึกเช่นเดียวกับผมคือ ไม่มีความอดทนมากพอที่จะทนดูต่อไปสื่อประเภทนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ในวันข้างหน้าก็ขอให้รัฐบาลใหม่ช่วย “ตรวจสอบ” ดูทีนะครับว่า ทำรายการประเภทนี้ออกมาได้อย่างไร ความคิดใคร แล้วก็ใครสั่ง เพราะรายการที่ผลิตออกมานั้น “ดูถูก” สติปัญญาประชาชนมากเหลือเกิน ซ้ำร้ายหากศาลพิพากษาไม่ตรงกับที่ “สื่อของรัฐ” ออกข่าวรายวัน ก็ยังจะมีผลกระทบต่อศาลอย่างมากอีกด้วยครับ!!!
       ในขณะที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ ยังไม่ถึง “วันพิพากษา” ครับ ป่านนี้คงรู้กันแล้วว่า “ยึด” หมดหรือบางส่วนครับ!!!
       ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน มีข่าวที่สำคัญมากข่าวหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจมากนักเพราะมัวแต่ไป “ติดกับดัก” ติดตามเรื่องการยึดทรัพย์เสียจนกลายเป็น “วาระสำคัญแห่งชาติ” ไป ข่าวดังกล่าวคือข่าวที่เกี่ยวกับ “ข้อขัดแย้ง” ทางความคิด ระหว่างศาลยุติธรรมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ “ระดับประเทศ” เรื่องหนึ่งที่สมควรทำการศึกษา ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจึงนำเรื่องดังกล่าวมานำเสนอ โดยจะแบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของข้อเท็จจริง และส่วนของปัญหา
       ในส่วนของข้อเท็จจริงนั้น เรื่องเริ่มต้นมาจากการที่ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาพนักงานสอบสวน 2 นาย ที่ดำเนินการขออนุมัติหมายจับ และผู้อนุมัติหมายจับ คือ นายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมกรณีออกหมายจับนายสุนัยฯ โดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่นายสุนัยฯ ส่วนเหตุผลที่ตำรวจออกหมายจับก็เนื่องมาจากได้ออกหมายให้นายสุนัยฯ มาพบพนักงานสอบสวนหลายครั้งแล้วแต่นายสุนัยฯ ไม่มา จึงได้ขอศาลออกหมายจับนายสุนัยฯ
       เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับคำร้อง ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงบุคคลทั้ง 3 ฐานกระทำความผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่นายสุนัยฯ ซึ่งต่อมา นายอิทธิพลฯ ผู้พิพากษา ก็ได้ทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ก.ต. พิจารณาแล้วมีหนังสือตอบกลับไปว่า นายอิทธิพลฯ มีสิทธิชี้แจงเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง และขอไปให้การในชั้นศาลได้ นอกจากนี้ ก.ต. ยังเห็นว่า ผู้พิพากษามีดุลพินิจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีรวมถึงการออกหมายจับโดยไม่อาจมีการแทรกแซงหรือก้าวล่วงจากหน่วยงานหรือบุคคลใด
       ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม 2553 นายอิทธิพลฯ ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง แต่ ป.ป.ช. ก็ยืนยันที่จะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจากเดิมที่มี นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน มาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน ประกอบเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงชุดใหม่แทน
       เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงตุลาการ มีการให้ความเห็นกันมากมาย ความเห็นที่สำคัญความเห็นหนึ่งเป็นของรองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ให้ความเห็นถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเอาไว้ว่า ในการทำงาน ผู้พิพากษามีอิสระและมีหลักประกันต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ให้ความเห็นยังได้อ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 2 ฉบับมาประกอบความเห็นของตนด้วย แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เอง ก็มีกรรมการบางคนออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกันว่า การตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนก็เพื่อตรวจสอบดูว่า ข้อกล่าวหามีมูลความจริงหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ยกคำร้อง นอกจากนี้ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้หนึ่งยังมีความเห็นด้วยว่า ป.ป.ช. เข้าใจถึงความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของศาล แต่ก็ต้องดูว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้ามีการใช้อำนาจเกินเลย ป.ป.ช. ก็มีอำนาจที่จะตรวจสอบได้ ซึ่งในความเห็นหลังนี้เองที่มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยว่า การออกหมายจับเป็นดุลพินิจโดยอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี หน่วยงานอื่นไม่สามารถที่จะแทรกแซงได้
       ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการรวบรวมมาจากหลาย ๆ แหล่ง ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ต้องขออภัยไว้ด้วยครับ
       เมื่อทราบความเป็นมาของเรื่องแล้ว เรื่องต่อมาที่จะกล่าวก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อขัดแย้งดังกล่าว โดยปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจที่จะตรวจสอบศาล หรือไม่
       เมื่อพิจารณาจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะพบว่า มีการให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบศาลอยู่หลายกรณีด้วยกัน จริงอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตรวจสอบทางการเมืองอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาไว้ด้วย เพราะฉะนั้น การพิจารณาถึงอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบศาล จึงต้องแยกพิจารณาใน 2 ส่วนสำคัญ คือ อำนาจ “โดยตรง” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบศาล และอำนาจ “ข้างเคียง” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่อาจนำมาใช้เป็นฐานอำนาจในการตรวจสอบศาลได้
       พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ได้กล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีต่อศาลไว้หลายกรณีด้วยกัน โดยใน หมวด 3 การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ส่วนที่ 2 การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ได้กำหนดไว้ในมาตรา 39 ให้ประธานและรองประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานและรองประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ในหมวด 7 การร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 75 ประกอบกับมาตรา 80 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่ ประธานและรองประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานและรองประธานศาลปกครองสูงสุด ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าบุคคลดังกล่าวร่ำรวยผิดปกติ ก็จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนในหมวดที่ 8 การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 308 ของรัฐธรรมนูญ ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและหากพบว่ามีการกระทำผิดวินัยจริง ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการอัยการ ก็ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นไปยังประธานศาลที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ หรือประธานคณะกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะของตน และเมื่อได้ผลประการใดก็ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 แห่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตครับ
       ส่วนอำนาจ “ข้างเคียง” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีต่อศาลนั้น เมื่อพิจารณาคำนิยามของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แม้จะไม่พบว่าคำนิยามดังกล่าวหมายความรวมถึง “ผู้พิพากษาหรือตุลาการ” แต่คำนิยามดังกล่าวก็ได้กล่าวรวมถึง “ข้าราชการ” เอาไว้ด้วย ซึ่งข้าราชการในประเทศไทย ได้แก่ ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ โดยในส่วนของข้าราชการประจำนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน อันได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการครู ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการและข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และข้าราชการทหาร ดังนั้น การที่กำหนดว่าข้าราชการถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจึงย่อมรวมถึงข้าราชการตุลาการด้วย และนอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตราต่างๆ ที่กล่าวถึงอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็จะพบว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้น รวมถึง ผู้พิพากษาและตุลาการด้วย การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการตรวจสอบผู้พิพากษาและตุลาการด้วยครับ
       จากบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กล่าวไปแล้วทั้งหมด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจในการตรวจสอบผู้พิพากษาได้ครับ
       มีคำถามที่ตามก็คือ ตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหนครับ!
       ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว คงต้องนำเอาคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 137/2545 มาพิจารณาประกอบ โดยเนื้อหาส่วนที่น่าสนใจที่สุดของคำสั่งดังกล่าวอยู่ตรงที่ว่า “...โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มาตรา 249 บัญญัติให้ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ในการพิจารณาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น นอกจากนั้น มาตรา 271 และ มาตรา 276 ยังได้แบ่งแยกอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองออกเป็นส่วนสัดต่างหากจากกัน จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวข้างต้น แม้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมจะเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการอื่น ๆ แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งได้แก่ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีนั้น ผู้พิพากษาจะมีอำนาจอิสระในการใช้ดุลพินิจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีระบบตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในระบบศาลยุติธรรมโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตามลำดับ ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วแต่ประเภทของคดี ซึ่งอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาดังกล่าวนี้ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ใดอีกสถานหนึ่งด้วย ดังนั้น ผู้พิพากษาถึงแม้จะเป็นข้าราชการก็เป็นข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในลักษณะพิเศษแตกต่างจากข้าราชการอื่น ๆ ผู้พิพากษาจึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 วรรคสอง (1)...” ครับ
       ตัวบทของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. “ตรวจสอบ” ผู้พิพากษาได้ในฐานะที่เป็น “ข้าราชการ” ประเภทหนึ่ง ซึ่งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 137/2545 ก็ “ยอมรับ” ว่าผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมมีข้อแตกต่างจากข้าราชการประเภทอื่น ๆ ก็ตรงที่มีอำนาจที่มีลักษณะพิเศษ ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมจึงไม่ได้เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ทำให้ไม่อยู่ในเขตอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง จากความเห็นของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จึงมีประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาว่า จะนำมาปรับใช้กับปัญหาระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับศาลยุติธรรมที่กำลังเป็นข้อโต้แย้งอยู่ในวันนี้ได้หรือไม่
       ในประเทศที่มีศาลปกครองและศาลยุติธรรมแยกออกต่างหากจากกันนั้น โดยหลักแล้ว ศาลแต่ละศาลต่างก็มีขอบอำนาจของตัวเองที่ชัดเจน ศาลปกครองจะไม่เข้าไปตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับศาลยุติธรรมที่จะไม่เข้าไปตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง จะมีเกี่ยวข้องกันบ้างก็ในเรื่องที่ “จำกัด” เช่น ศาลปกครองมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจ “ทางปกครอง” ของคณะกรรมการตุลาการในเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เป็นต้น แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น การเกิดขึ้นของศาลปกครองหลังจากที่ศาลยุติธรรมเกิดขึ้นก่อนเป็นเวลานานทำให้โดยสภาพแล้วศาลปกครองถูกจำกัดอำนาจไม่ให้เข้าไปตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ของศาลยุติธรรมได้ เรื่องดังกล่าวบัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองที่ห้ามศาลปกครองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ ดังนั้น การที่ศาลปกครองปฏิเสธที่จะไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลยุติธรรมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะต่างฝ่ายต่างก็ให้ความเคารพต่อ “เขตอำนาจศาล” ซึ่งกันและกัน และนอกจากนี้แล้ว หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ยังมี “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล” ที่จะเข้ามา “ให้ข้อยุติ” ในเรื่องเขตอำนาจของศาลทั้งสอง จึงทำให้เรื่องเขตอำนาจของศาลปกครองและศาลยุติธรรมมีข้อยุติได้ไม่ยากนัก แต่ในส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตรวจสอบผู้พิพากษาได้ในฐานะที่เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ประเภทข้าราชการ ซึ่งอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีข้อจำกัดอยู่ตามตัวบทที่ได้กล่าวไปแล้ว และอำนาจในการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี ที่มาตรา 194 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้การรับรองไว้ ด้วยเหตุดังกล่าว หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายที่ปรากฏอยู่ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกหมายจับอันเป็นการดำเนินการตามมาตรา 88 ประกอบกับมาตรา 92 วรรคสอง แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ครับ!!!
       แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาลักษณะดังกล่าวคงจะมีขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เพราะเหตุของการ “ตีความ” มาตรา 197 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้ไปเป็นไปโดยถูกต้อง…” มีความหมายกว้างออกไปไกลขนาดไหน การออกหมายจับเป็นของการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือไม่ และการเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจของผู้พิพากษาในการออกหมายจับจะกระทบหลักว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน คงต้องมีการดำเนินการหาข้อยุติบางอย่าง “ร่วมกัน” ระหว่าง องค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็น “ศาล” หรือไม่ก็ตามครับ คงต้องมาดูความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ให้ชัดเจนครับว่า ใครคุมใคร และคุมเรื่องอะไรบ้าง!!!
       ในส่วนตัวผมนั้น นับตั้งแต่มีการสร้างกระแสตุลาการภิวัตน์ขึ้นในประเทศไทย ผมมองว่า การควบคุมการใช้อำนาจตุลาการกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นเสียแล้วสำหรับประเทศไทย อย่างที่เราทราบกันดีว่า ในบรรดาอำนาจอธิปไตยทั้งสามนั้น มีเพียงอำนาจตุลาการเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นเหมือนกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เหตุผลก็คงมาจากความเป็นมาทาง “ประวัติศาสตร์” ของเรา ที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. 2475 เราก็มุ่งที่จะแก้ไขและจัดระบบการเมืองการปกครองประเทศใหม่ตามแนวทางของประเทศตะวันตก ผลที่ได้ก็คือ อำนาจนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง อำนาจบริหารเชื่อมโยงกับอำนาจนิติบัญญัติ ส่วนอำนาจตุลาการที่มีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังเช่นอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารและไม่ได้มี “ที่มา” ที่เชื่อมโยงกับประชาชน เช่น อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ประกอบกับอำนาจตุลาการมีไว้ใช้เพื่อการระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน ที่ผ่านมาจึงไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้น แต่ต่อมาหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ เกิดศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองซึ่งมีเขตอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” และ “การปกครองประเทศ” ปัญหาต่างๆ จึงเริ่มเกิดขึ้น และในที่สุด เมื่อ “การเมือง” สร้าง “ทางตัน” ให้กับการปกครองประเทศ ผู้พิพากษาตุลาการจำนวนหนึ่งจึงสร้างกระแส “ตุลาการภิวัตน์” ขึ้น เพื่อให้ความชอบธรรมกับการที่ศาลจะเข้าไปมีบทบาททบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลและขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการขยายอำนาจของศาลออกไปมากกว่าอำนาจศาลที่เคยมีมาในอดีต ดังนั้น เมื่อผู้พิพากษาตุลาการใช้อำนาจของตนเองเข้ามา “เกี่ยวข้อง” กับการเมืองซึ่งมีที่มาที่เชื่อมโยงกับประชาชนได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบตุลาการใหม่ รวมไปถึงการสร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการด้วยครับ
       ผมไม่มีข้อเสนอในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องใหญ่มากและจะไปกระทบกับผู้พิพากษาตุลาการส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับ “ตุลาการภิวัตน์” คงต้องไปต่อว่าผู้ที่ดึงศาลเข้าไปยุ่งกับการเมืองเอาเองครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคงต้องขอเปิดประเด็นเอาไว้ตรงนี้ด้วยว่า หากผู้พิพากษาตุลาการซึ่งก็เป็น “คน” เหมือนกัน สามารถรักได้ เกลียดได้และมีความศรัทธาทางการเมืองได้เหมือนกับ “คน” ทั่ว ๆ ไป บิดเบือนการใช้อำนาจ ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบครับ
       ในวันนี้ อำนาจตุลาการควรจะต้อง “โยง” เข้าหาประชาชนเหมือนกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารหรือไม่ เป็นสิ่งที่สมควรทำการศึกษาวิเคราะห์ให้ละเอียดชัดเจนต่อไปครับ
       มีคำตอบเมื่อไร เราก็คงจะรู้ว่า “ใครคุมใคร” ครับ!!!
       
       สัปดาห์นี้ เรามีหนังสือใหม่จำนวนหนึ่งจาก สถาบันพระปกเกล้า มานำเสนอใน "ข่าวประชาสัมพันธ์" ครับ และเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระของบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอนำเสนอบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "ผู้พิพากษาหรือตุลาการย่อมถูกตรวจสอบจากองค์กรอื่นได้" นอกจากบทความดังกล่าว เรายังมีบทความที่น่าสนใจอีกบทความหนึ่งจาก อาจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง "ปัญหาว่าด้วยการถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544