หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 220
30 สิงหาคม 2552 23:24 น.
ครั้ง 220
       สำหรับวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน 2552
       
       “การลงทุนของรัฐต่างด้าวในไทย”
       
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนนักวิชาการและนักปฏิบัติหลายคนซึ่งแสดงความเป็นห่วงในเหตุการณ์บ้านเมืองที่ยังหาทางออกไม่ได้และนับวันก็จะยิ่งทวีความยุ่งเหยิงมากขึ้นไปอีก ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมพากันให้ความสนใจกับปัญหาการเมืองจนละเลยข่าวสำคัญหลาย ๆ ข่าวที่อาจมีผลกระทบกับประเทศไทยในวันข้างหน้าได้ ผู้ที่ผมได้พูดคุยเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งให้ผมฟังเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรครับ
       เรื่อง “คลื่น” เป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวพันกับความมั่นคงของชาติ ในอดีตที่ผ่านมา “คลื่น” ทำให้คนร่ำรวยกันมาแล้วเป็นจำนวนมากเพราะการที่รัฐเอา “คลื่น” มาให้กับเอกชนเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างง่าย ๆ แต่ในวันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็ได้บัญญัติ “คุ้มครองคลื่น” เอาไว้ว่า เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ประกาศใช้บังคับ ก็ได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ขึ้นโดยมีองค์กรสำคัญที่ถูกตั้งขึ้นมาเพียงองค์กรเดียว คือ คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทำหน้าที่เป็นผู้ “คุ้มครองคลื่น” ครับ
       ผมได้ยินเพื่อน ๆ ถกเถียงทางวิชาการว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า คลื่นเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วสมควรที่จะให้เอกชนต่างด้าวหรือรัฐต่างด้าวเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้รับสัมปทานหรือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบในกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ ซึ่งประเด็นข้อถกเถียงดังกล่าวนั้นผมคิดว่าน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่ก่อนที่จะตอบเราคงต้องมาดูเหตุการณ์ที่ “เคย” เกิดขึ้นมาแล้วกันก่อนเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการตอบคำถามที่ง่ายขึ้น โดยผมจะขอยกตัวอย่างจากเหตุที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศคือ ประเทศไทยและประเทศเวเนซูเอลา
       ยังคงจำกันได้ถึง “ต้นเหตุ” สำคัญประการหนึ่งอันเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยของเราต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นั่นก็คือกรณีอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้น บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น ให้กับ Temasek Holdings ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากในช่วงเวลานั้นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการ “ขายสมบัติของชาติ” และก็ยัง “อาจ” กระทบกับ “ความมั่นคงของประเทศ” ด้วยเพราะ กลุ่มชินคอร์ปฯ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์มือถือแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังทำกิจการโทรทัศน์ กิจการสื่อสารดาวเทียมและกิจการการบินภายในประเทศด้วย หากกลุ่ม Temasek ซึ่งได้หุ้นไปแล้วกว้านซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นต่อไปและไม่ขายให้กับคนไทย ในวันข้างหน้าก็เป็นที่แน่นอนว่า กิจการต่าง ๆ ซึ่งเป็น “สมบัติของชาติ” ก็จะต้องตกไปอยู่ในมือของคนต่างชาติทั้งหมดและก็เป็นที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นเหตุกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้ไม่ยากนัก
       การเข้ามาซื้อหุ้น บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น โดย Temasek มีนัยสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “แอบแฝง” เข้ามาซื้อหุ้นบางส่วนโดยผ่านบริษัท “นอมินี” ทั้งหลายของ Temasek ที่ต้องทำเช่นกันก็เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อ “เลี่ยง” พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ไม่อนุญาตให้บุคคลและนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมเกินร้อยละ 49 การ “เลี่ยง” กฎหมายดังกล่าวโดยการตั้งบริษัท “นอมินี” ขึ้นมาถือหุ้นแทนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เพราะเรื่องดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาในบ้านเราเป็นเวลานานแล้ว ถึงแม้ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้วางเกณฑ์ในการพิจารณาคำว่า “คนต่างด้าว” ไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นกันโดยทั่วไปว่า มีคนต่างด้าวเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการหรือทำกิจการในประเทศกันเป็นจำนวนมากโดยผ่าน “นอมินี” ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นบริษัท
       กรณีของ Temasek ก็เช่นเดียวกัน มีการจัดตั้งนิติบุคคลสัญชาติไทยขึ้นมาเพื่อเป็น “ตัวแทน” ในการถือหุ้นของ Temasek เพราะฉะนั้น เมื่อ Temasek เข้ามาซื้อหุ้นของ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น ไปถึง ร้อยละ 92 ปัญหาสำคัญของประเทศจึงเกิดขึ้น มีคำถามตามมามากมายว่า สมควรหรือไม่ที่ผู้รับสัมปทานซึ่งในตอนขอสัมปทานต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีสัญชาติไทยจะขายหุ้นในบริษัทของตนเองให้กับต่างชาติซึ่งส่งผลทำให้บริษัทต่างชาติกลายมาเป็นผู้รับสัมปทานแทนบริษัทของคนไทย และยิ่งเมื่อทราบว่าบริษัทดังกล่าวเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ของประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็น “คู่แข่ง” ที่สำคัญของไทยก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทยจำนวนมากลามไปจนถึงการ “ประท้วง” เลิกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS ในครั้งนั้นด้วย ประเด็นต่าง ๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลายเป็นวิกฤตต่อเนื่องของประเทศ ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 ก็ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการขายหุ้นของ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษีเลยเพราะเป็นการ “ขายผ่านตลาด” และการใช้นอมินีเข้ามาเป็นตัวแทนนิติบุคคลในการดำเนินกิจการต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ก็ไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้น คนไทยเราช่างลืมง่ายเสียเหลือเกินครับ นอกจากนี้แล้ว กรณีของ Temasek กับ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น นั้น ยังทำให้คำว่า “คนต่างด้าว” หรือ “นิติบุคคลต่างด้าว” พัฒนาไปไกลกว่าที่ควรจะเป็นเพราะ Temasek ก็คือ “รัฐต่างด้าว” นั่นเอง เพราะฉะนั้น คำถามที่ตามมาที่เป็นคำถามที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ สมควรหรือไม่ที่จะให้ “รัฐต่างด้าว” เข้ามาประกอบกิจการที่เป็น “บริการสาธารณะ” อันเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ “รัฐไทย” ครับ???
       ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น ผมมีตัวอย่างของความ “ชาตินิยม” ที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซูเอลามานำเสนอเป็นตัวอย่างที่สองต่อจากการขายหุ้น บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น ครับ คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วถึง “ชื่อเสียง” ของประธานาธิบดี Chavez แห่งเวเนซูเอลานะครับ!!! รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซูเอลาฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 6 ว่าด้วยระบบสังคมและเศรษฐกิจ โดยมีมาตราที่น่าสนใจอยู่หลายมาตรา เช่น ในมาตรา 301 ได้บัญญัติไว้ว่ารัฐสงวนสิทธิในการใช้นโยบายด้านการค้าเพื่อปกป้องการดำเนินการทางเศรษฐกิจของกิจการของรัฐและกิจการของเอกชน และไม่สามารถให้ผลประโยชน์แก่กิจการ องค์กร บุคคล หรือระบบของต่างชาติมากกว่าที่ให้กับกิจการ องค์กร บุคคล หรือระบบที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่วนการลงทุนของคนต่างชาติก็ต้องเป็นไปในเกณฑ์เดียวกันกับการลงทุนของคนในชาติ มาตรา 303 บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในด้านอธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองของชาติ รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือรัฐอาจตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจดังกล่าวร่วมกันได้ ส่วนในมาตรา 304 ก็ได้บัญญัติให้น้ำเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะต้องมีกฎหมายหนดมาตรการในการคุ้มครองและปรับปรุงให้ดี สำหรับมาตรา 305 ก็ได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตร และในมาตรา 307 ก็ได้บัญญัติว่าการถือครองที่ดินจำนวนมากเป็นการกระทำที่ขัดต่อประโยชน์ของสังคม และต้องมีกฎหมายกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อไม่ให้เกิดการถือครองที่ดินจำนวนมาก
       
ตัวอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกเรื่อง “ชาตินิยม” นั้นยังคงมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือในต่างประเทศบางประเทศ ซึ่งความรู้สึกชาตินิยมนี้ก็คงเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปคือมีทั้ง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ในตัวของตัวเองครับ
       ย้อนกลับมาถึงคำถามสำคัญก็คือ สมควรหรือไม่ที่จะให้ “ต่างด้าว” เข้ามาประกอบกิจการที่เป็น “บริการสาธารณะ” ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ “รัฐไทย” หากจะต้องตอบก็คงต้องดูหลายกรณีและหลายกฎหมายประกอบกัน โดยถ้าต่างด้าวนั้นเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลธรรมดา ซึ่งระบบกฎหมายไทย “ห้าม” เข้ามาประกอบกิจการอยู่แล้ว หากจะ “ยอมรับ” ก็คงต้องแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้ “นอมินี” ลอยนวลอยู่เต็มประเทศไปหมดเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ในประเทศไทย แต่ถ้าหากเป็น “รัฐต่างด้าว” ซึ่งอาจ “แฝง” ตัวเข้ามาในรูปแบบของ “บริษัท” หรือ “รัฐวิสาหกิจ” ก็คงจะต้องวางเกณฑ์กันให้ชัดเจนไปเลยว่าจะต้องไม่ทำให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นคนไทยหรือนิติบุคคลไทยได้รับความไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจและจะต้องทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในการประกอบธุรกิจดังกล่าวด้วย รวมทั้งจะไม่มีการใช้ “เอกสิทธิ์” ของความเป็นรัฐใด ๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการเจรจา ต่อรอง ตกลงต่าง ๆ เพราะเหตุว่า เมื่อ “รัฐต่างด้าว” ลดตัวลงมาทำธุรกิจแข่งกับเอกชนอื่น ๆ แล้ว รัฐต่างด้าวนั้นก็ควรที่จะอยู่ในสถานะเดียวกับเอกชนทั่ว ๆ ไป เมื่อทำผิดข้อตกลงตามสัญญาเราก็สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครับ
       แต่ถ้าเกิดว่าจะไม่ให้ทั้ง “บุคคลต่างด้าว” “นิติบุคคลต่างด้าว” หรือ “รัฐต่างด้าว” เข้ามารับมอบอำนาจจากรัฐไทยให้จัดทำบริการสาธารณะด้วยวิธีการให้สัมปทานหรือการทำสัญญาร่วมทุน ก็ต้องเขียนเอาไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเลยทำนองเดียวกับที่คุณ Chavez ประธานาธิบดีแห่งเวเนซูเอลาได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหลาย ๆ มาตราที่ได้แปลมาให้ดูข้างต้นครับ
       ผมขอฝากเรื่องดังกล่าวไว้กับสมาชิกรัฐสภาว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... ขอให้ช่วยกรุณาพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้รอบคอบด้วยครับ เพราะในวันนี้เท่าที่ทราบข้อมูลมามี “รัฐต่างด้าว” แฝงตัวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่หลายราย คงต้องตัดสินใจกันแล้วว่าจะเขียน “ให้” หรือเขียน “ห้าม” เรื่องดังกล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติ เอากันให้ชัดเจนไปเลยครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว บทความดังกล่าวเป็นการถอดคำบรรยายพิเศษของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ในการประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เรื่อง "อุดมศึกษากับการปฏิรูปการเมือง” ผมต้องขอขอบคุณ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ไว้ ณ โอกาสนี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544