หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 210
12 เมษายน 2552 17:39 น.
ครั้งที่ 210
       สำหรับวันจันทร์ที่ 13 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2552
       
       “ว่าด้วยความเสื่อมถอยของประเทศไทย”
       

       เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีความสำคัญยิ่งของไทยเพราะเป็นเดือนที่เคยนับกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาในอดีตซึ่งในปัจจุบันเราก็ยังคงเฉลิมฉลองกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายนปีนี้หดหู่กว่าเดือนเมษายนในปีอื่น ๆ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองของเราก็ยังคงวุ่นวายอย่างไม่รู้จบ และนับวันก็ยิ่งทวีความวุ่นวาย สับสนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น คำถามที่ว่าแล้วเหตุการณ์ไม่สงบนี้จะจบลงเมื่อไหร่และอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ถามกันมาตลอดระยะเวลา 3 ปีจึงยังคงเป็นคำถามที่ “ไร้คำตอบ” อยู่จนทุกวันนี้ครับ
       วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 วันนั้นถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ควรจดจำเพราะความวุ่นวายทั้งหลายในบ้านเมืองของเรา “น่าจะ” เริ่มต้นมาจากวันดังกล่าวไม่มากก็น้อยเพราะเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้มีการกำหนดให้วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคฝ่ายค้านในวันนั้น (ในวันนี้คือรัฐบาล) ได้ปฏิเสธไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง จากนั้นความวุ่นวายต่าง ๆ ก็ตามมาระลอกแล้วระลอกเล่า สร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นกับพลเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของเรา กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งภายในประเทศที่ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงวันนี้แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 3 ปีก็ตาม
       ในสายตานักวิชาการนั้น 3 ปีที่ผ่านมาเป็น 3 ปีที่แย่มาก ๆ สำหรับประเทศไทย เป็น 3 ปีที่เราถอยหลังไปไม่รู้กี่ก้าวและเป็น 3 ปีที่ทำให้องค์กรและสถาบันต่าง ๆ ในบ้านเราเสื่อมถอยลงอย่างไม่น่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อความวุ่นวายและความไม่สงบภายในประเทศเกิดขึ้นเราก็มุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่การแก้ปัญหาภายในประเทศจนทำให้เราละเลยที่จะให้ความสนใจในเรื่องที่สำคัญกว่า เช่น ปัญหาเศรษฐกิจระดับโลก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองที่ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากพยายามหาหนทางที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับทวีปและระดับโลก แต่เรากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับประเทศต่าง ๆ ก็คือ มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว วิธีการแก้ปัญหาในประเทศของเราที่ทำกันอยู่ก็คือสร้างความนิยมในหมู่ประชาชน ดังนั้น จึงเกิดการกู้เงินมาแจกประชาชนเพื่อแลกกับการได้รับความนิยมภายในประเทศซึ่งก็คิดกันอย่างง่าย ๆ ว่าจะสามารถ “ซื้อใจ” ประชาชนได้และจะทำให้ประชาชน “เข้าข้าง” ตนจนทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง “หมดพลัง” และ “ฝ่อตาย” ไปในที่สุด ซึ่งก็หมายความว่าน่าจะทำให้ปัญหาภายในประเทศไทยจบสิ้นลงไปด้วย เพราะฉะนั้น การที่เรา “ละเลย” ในเรื่องที่ควรจะให้ความสนใจก็เป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเสื่อมถอยไปมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยในขณะที่เราสามารถแก้ปัญหาภายในประเทศได้แล้ว แต่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของเราก็ยังคงมีอยู่และอาจมีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะแม้เราจะพยายามเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่ในวันนี้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกลับไม่ได้รับการปฏิบัติตามเหมือนเช่นที่เคยกล่าวกันไว้ในโอกาสต่าง ๆ แม้ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลนี้ด้วยก็ตาม การแจกเงินเพื่อ “ช็อปช่วยชาติ” กับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่น่าจะเป็นการเดินทางเดียวกันเพราะหากรัฐบาลไปกู้เงินมาแจกประชาชนเพื่อให้ประชาชนไป “ช็อปช่วยชาติ” รัฐบาลคงจะกล่าวอ้างไม่ได้นะครับว่ากำลังเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง!!!
       นอกเหนือจากความเสื่อมถอยระดับประเทศที่กล่าวไปอันมีที่มาจากวิกฤตภายในประเทศในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว หากเราศึกษาดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนับแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาเราก็จะพบว่าระบอบประชาธิปไตยในบ้านเราก็เสื่อมถอยลงไปอย่างมากด้วยเช่นกัน จริงอยู่ที่เราไม่สามารถให้คำนิยามหรือคำตอบได้อย่างแน่ชัดว่าอะไรคือประชาธิปไตยสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 แล้วก็จะพบว่าคณะผู้ก่อการต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบที่ใช้กันอยู่ในประเทศตะวันตกในขณะนั้นให้มีขึ้นในประเทศไทย ด้วยเหตุผลนี้เองที่รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับต่างก็พยายามสานต่อ “ความฝัน” ของคณะผู้ก่อการให้เป็นจริงโดยก้าวข้ามบริบทที่สำคัญไปคือ ความเข้าใจพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย พยายาม “ยัดเยียด” สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือในระบบต่าง ๆ ของประเทศตะวันตกเอาไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในระบบของไทยโดยลืมไปว่า “คน” ของเรานั้นต่างจาก “คน” ของเขาอย่างไรบ้าง วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ฝังรากลึกในบ้านเราไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ต่าง ๆ การหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ การไม่เคารพต่อตัวบทกฎหมายขั้นพื้นฐาน การไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น การทุจริตคอรัปชั่น ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่แทบจะไม่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น “เป็นปกติ” ในบ้านเรา จึงทำให้เราไม่สามารถเดินไปสู่จุดที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแบบที่เกิดขึ้นในต่างประเทศได้
       จริงอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่หากมองอีกด้าน รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างระบบต่าง ๆ รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา ความเป็นประชาธิปไตยของเราถอยหลังไปมากเมื่อมีการนำเอากลไกต่าง ๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาใช้เพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเอง ให้กับพวกพ้อง ให้กับพรรคการเมืองด้วยการกระทำหลาย ๆ อย่าง รวมไปถึงการเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่สำคัญคือ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จนทำให้กลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในประเทศไทยใช้ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง ผลของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
       รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้สร้างความเสื่อมถอยให้กับฝ่ายนิติบัญญัติทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรด้วย โดยในส่วนของวุฒิสภานั้นจะพบว่า เจตนารมณ์ที่ให้มีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิม ๆ ที่เคยมีมาก็เพื่อให้วุฒิสภา “มาจาก” ประชาชนและเข้ามาทำหน้าที่สำคัญ ๆ “แทน” ประชาชน แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา “สภาแห่งคุณธรรม” ก็กลับกลายเป็น “สภาผัวเมีย” ทำให้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารต้องเสียไป ความฝัน ความหวังของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ต้องการให้วุฒิสภาเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจึงต้องเสียไปด้วย และในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้น จริงอยู่แม้ว่าเราได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและเราได้พรรคการเมืองพรรคใหญ่เข้ามาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นพรรคเสียงข้างมากที่คุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรัฐบาล แต่ “เสียงข้างมาก” ดังกล่าวก็กลับถูกใช้ไปในทางที่ผิดเมื่อมีการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลและกิจการเป็นพิเศษ เป็นการใช้ “อำนาจ” บริหารเสนอร่างกฎหมายและใช้ “อำนาจ” นิติบัญญัติผลิตกฎหมายออกมาตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร เพียงแค่กรณีที่กล่าวมาก็ทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า การดำเนินการบางประการของฝ่ายนิติบัญญัติในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้สร้างความเสื่อมถอยให้กับระบอบประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย
       มามองดูที่ฝ่ายบริหารกันบ้าง ช่วงเวลาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นช่วงเวลาที่ “ท่านผู้นำ” ของเรามีความสุขกายสบายใจกับการใช้อำนาจผ่านทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร แถมยังเลยไปไกลถึงผ่านองค์กรและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และผ่านกลไกของข้าราชการประจำได้อย่างสนิทสนมกลมกลืน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมท่านผู้นำของเราจึงเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการแบ่งแยกอำนาจของเราต้องเสื่อมถอยไปอย่างมาก
       ส่วนฝ่ายตุลาการนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้สร้างศาลขึ้นมาใหม่หลายศาลด้วยกัน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในภาพรวม ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาให้กับตนเองด้วยคำวินิจฉัยกรณีซุกหุ้น ศาลตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายตุลาการเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อมี “ตุลาการ” บางคนได้พยายามใช้ประโยชน์จากสถานการณ์บางอย่างสร้างกระแส “ตุลาการภิวัตน์” ขึ้นมาครับ
       เรื่องตุลาการภิวัตน์นั้นผมได้เคยเขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 206 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 แล้วว่า สำหรับผม “ตุลาการภิวัตน์” ก็คือการใช้อำนาจตุลาการที่ออก “นอกกรอบ” อำนาจของตุลาการอันเป็นการกระทำที่ผิดแผกไปจากการกระทำของบรรพตุลาการที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมา โดย “หัวหอก” ของกระบวนการตุลาการภิวัตน์พยายามที่จะชี้ให้สังคมเห็นว่า ในเมื่ออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร “เสื่อมถอย” อำนาจตุลาการจึงเป็นอำนาจเดียวที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศได้
       ที่ผ่านมา 3 ปี นับแต่มีความ “พยายาม” ปลุกเร้ากระแสตุลาการภิวัตน์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านกันมาก ฝ่ายสนับสนุนที่ “ไม่ได้เป็นผู้ได้ประโยชน์” จากตุลาการภิวัตน์ก็จะแสดงความชื่นชมกับการกระทำที่เกิดขึ้นจากตุลาการภิวัตน์ ส่วนฝ่ายที่ “เป็นผู้ได้ประโยชน์” ก็แน่นอนอยู่แล้วที่จะต้องแสดงความพอใจและขยายผลด้วยการสร้างภาพออกไปให้มากขึ้น ๆ เพื่อให้เห็นว่าฝ่ายตุลาการเท่านั้นที่มีอำนาจและมีความเหมาะสมที่สุดที่จะเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองได้ แต่ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับ “ตุลาการภิวัตน์” (เช่นผม) ก็มองอีกแบบและคิดง่าย ๆ อย่างนักกฎหมายระดับธรรมดา ๆ ว่าศาลต้องอยู่เฉย ๆ จะไปยุให้คนเขาฟ้องกันไม่ได้ ถ้ามีคนฟ้องก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง จะทำนอกกรอบไม่ได้ ใช้อารมณ์ ใช้ความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาตัดสินคดีไม่ได้ นอกจากนี้หากเป็นเรื่องการเมืองศาลก็ยิ่งต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษไม่ให้ตัวเองต้องเข้าใกล้ “ไฟ” มากเกินไปเพราะหากเข้าใกล้ไฟมากไปก็อาจ “ไหม้” ได้ครับ อย่างไรก็ตาม กระแสตุลาการภิวัตน์ก็ได้เข้าไปใกล้ “ไฟ” ในหลาย ๆ กรณี เริ่มมาจากการล้มการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง การจำคุกกรรมการการเลือกตั้ง 3 คนโดยศาลอาญา การยุบพรรคการเมืองหลายพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
       กระแสตุลาการภิวัตน์คงเดินต่อไปเรื่อย ๆ หลังจากที่มีรัฐบาลที่คณะรัฐประหารเป็นผู้นำเสนอ ก็เกิดการยุบพรรคการเมืองและเกิดการตัดสินคดีการเมืองกันมาก ผู้คนก็มีทั้งชื่นชมและไม่เห็นด้วยกับกระแสตุลาการภิวัตน์แต่ก็ไม่ได้มีอะไรที่ “ร้ายแรง” และ “น่ากังขา” เท่าไรนัก เหตุการณ์ในบ้านเมืองทวีความรุนแรงขึ้น การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจนขึ้น จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้เองเกิดข้อ “กังขา” ขึ้นในสังคม เมื่อมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งออกมาให้ข่าวว่าก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คนกลุ่มหนึ่งนัดพบกันที่บ้านพลเรือนคนหนึ่งโดยคนกลุ่มนั้นประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลฎีกา ข้าราชการระดับสูง และองคมนตรีเข้าร่วมหารือกัน ข่าวบอกว่าการพบกันดังกล่าวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาครับ เพราะช่วงภายหลังการรัฐประหารนั้น มีข่าวออกมามากถึงผู้ที่อยู่ใน “ข่าย” ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีชื่อของประธานศาลปกครองสูงสุดรวมอยู่ด้วย และในช่วงเวลาเดียวกันก็มีข่าวปาระเบิดหรืออะไรทำนองนั้นที่บ้านประธานศาลปกครองสูงสุดแต่บังเอิญเจ้าของบ้านไม่อยู่ไปต่างประเทศครับ และหลังจากการรัฐประหาร 1 ในบุคคลที่เข้าร่วมในการพูดคุยก็ได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และอีก 1 คนก็ได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารครับ
       แม้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพบกันในครั้งนั้นบางคนจะออกมาปฏิเสธว่า การพบกันดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร แต่คำถามที่ค้างคาใจคนหลายคนอยู่ก็คือ ทำไม บุคคลจากหลายวงการซึ่งมีทั้งทหาร องคมนตรี ตุลาการระดับสูง ปลัดกระทรวง จึงได้มานัดพบกันและพบกันด้วยเรื่องอะไร และนอกจากนั้น ทำไมในเวลาต่อมา บุคคลที่ไปพบกันในครั้งนั้นส่วนหนึ่งจึงกลายเป็น “ตัวละคร” ที่สำคัญในบ้านเมืองของเราครับ
       คงลำบากที่จะ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” ใด ๆ ทั้งนั้น ในวันนี้ผู้คนจำนวนหนึ่งมองไกลไปกว่านี้แล้ว ผมมีความวิตกส่วนตัวอยู่ว่า หากผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่าการพบกันในครั้งนั้นเป็น “ที่มา” หรือเป็น “เหตุ” ให้เกิดการรัฐประหาร ความเสื่อมถอยก็จะเข้ามาสู่สถาบันอย่างน้อย 2 สถาบันคือสถาบันองคมนตรีและสถาบันศาลครับ ซึ่งในส่วนของสถาบันองคมนตรีนั้นผมคงไม่ขอพูดและวิจารณ์ในที่นี้เพราะ “เสี่ยงเหลือเกิน” กับการถูกกล่าวหาด้วยข้อหาที่ “ร้ายแรง”!!! ส่วนสถาบันศาลนั้นผมเคยกล่าวไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 206 แล้วว่า วันหนึ่งผู้จุดกระแสตุลาการภิวัตน์และผู้ลากเอาตุลาการเข้าไปร่วมวงดังกล่าวจะต้อง “เสียใจ” เป็นอย่างมากที่ตนเองเป็นผู้ลากเอา “สถาบันตุลาการ” เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ทำให้สถาบันต้องเสื่อมถอยไปโดยไม่จำเป็นครับ แต่ถ้าหาก “วันนั้น” ยังมาไม่ถึงก่อนที่จะสายเกินไป ใน “วันนี้” ผมอยากเรียกร้องให้บรรดาผู้พิพากษาตุลาการที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการอาชีพโดยไม่หวังที่จะใช้ “อาชีพ” ของตน “ไต่เต้า” ไปสู่ “ตำแหน่ง” อื่น ๆ ได้โปรด “เรียกร้อง” ให้คนเพียงไม่กี่คนในหมู่พวกท่านที่ลากเอาสถาบันของท่านเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้โปรด “หยุด” การกระทำดังกล่าว หยุดพูดเรื่องตุลาการภิวัตน์ และหากเป็นไปได้ก็ควรจะ “ไป” ให้พ้นจากสถาบันศาลอันทรงเกียรติด้วยครับ!!! อย่าทำให้สถาบันศาลต้อง “เสื่อมถอย” ไปเพราะการกระทำของคนเพียงไม่กี่คนเลยครับ !!!
       
       ผมจะเดินทางไปเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale ที่ตั้งอยู่ ณ เมือง Brest ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 15 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 ครับ บทบรรณาธิการคราวหน้าก็จะส่งตรงมาจากฝรั่งเศสเช่นที่เคยทำมา และหากเป็นไปได้ก็คงมีอะไรที่น่าสนใจเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความเพียงบทความเดียว คือบทความเรื่อง "ต้องเปิดไต่สวนสาธารณะกรณีรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙" ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้
       
       สุขสันต์วันสงกรานต์และวันหยุดต่อเนื่องครับ แม้จะมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น เพียงการพักผ่อนอยู่กับบ้านสบายๆเป็นเวลาหลายๆวันก็คงทำให้มีความสุขสบายขึ้นมาได้บ้างและพร้อมที่จะ “รับมือ” กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังวันหยุดต่อเนื่องครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544