หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 203
4 มกราคม 2552 21:01 น.
ครั้งที่ 203
       สำหรับวันจันทร์ที่ 5 มกราคมถึงวันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม 2552
       
       “ส.ส.แบบสัดส่วนกับการยุบพรรค”
       
       สวัสดีปีใหม่ 2552 ครับ หวังว่าในช่วงวันหยุดยาวฉลองเทศกาลปีใหม่ 5 วันที่ผ่านมาพวกเราคงได้พักผ่อนกันอย่างเต็มที่และพร้อมที่จะกลับมาต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ที่หลายๆฝ่ายก็ออกมา “ขู่” กันล่วงหน้าไว้แล้วว่าน่ากลัวเหลือเกินครับ
       
       บรรยากาศทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีความตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความตื่นเต้นที่ “รู้คำตอบ” อยู่แล้วเพราะ “ทิศทาง” ของสังคมในวันนี้หันไปทางรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นในวันนี้ ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็คง “รอด” ไปได้ทุกอย่างเพราะมีผู้ให้ความสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ ก็ควรจะให้เวลารัฐบาลทำงานสัก 6 เดือนก่อนจึงค่อยมา “ประเมิน” กันดูว่ารัฐบาลนี้มี “ความสามารถเพียงพอ” ที่จะบริหารประเทศได้หรือไม่ครับ
       
       ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอนำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการยุบพรรคการเมือง 3 พรรคเมื่อวันที่ 2ธันวาคม 2551 มาวิเคราะห์ โดยปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนที่ได้มาจากการลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชนให้กับพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ว่าสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ถูกยุบต้องสิ้นสุดไปกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบด้วยหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ก็มีผู้ออกมาให้ความเห็นที่แตกต่างกันไป บ้างก็ว่าสมาชิกสภาพของ ส.ส. แบบสัดส่วนสิ้นสุดลงพร้อมกับพรรคการเมือง บ้างก็ว่าไม่สิ้นสุด ซึ่งในประเด็นนี้เองที่ปัจจุบันได้มีผู้ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคการเมืองพ้นสภาพไปพร้อมกับพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีองค์กรใดออกมาให้คำตอบอย่างเป็นทางการครับ
       
       ก่อนที่จะเข้าไปวิเคราะห์ถึงปัญหาสมาชิกภาพของส.ส.แบบสัดส่วน คงต้องมาดูกันก่อนว่าส.ส.แบบสัดส่วนคืออะไร เพราะส.ส.แบบสัดส่วนตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เหมือนกับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 ครับ วิธีการได้มาซึ่งส.ส.แบบสัดส่วนนั้น ได้มีการแบ่งพื้นที่เลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มจังหวัดมีส.ส.แบบสัดส่วนได้ 10 คน รวมมีส.ส.แบบสัดส่วนได้ 80 คนทั่วประเทศ การเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหลายมาตราด้วยกัน สรุปความได้ว่า พรรคการเมืองจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนครบตามจำนวนส.ส.แบบสัดส่วนที่จะมีได้ในเขตเลือกตั้ง และในวันเลือกตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 เสียง ส่วนการคำนวนสัดส่วนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งนั้นก็มีวิธีการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และเมื่อส.ส.แบบสัดส่วนผ่านกระบวนการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากในวันหนึ่งปรากฎว่า ตำแหน่งส.ส.แบบสัดส่วนว่างลง ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในเขตเลือกตั้งนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง
       
       จากที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่า ส.ส.แบบสัดส่วนจำนวน 80 คนนั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยประชาชน 1 คนมีสิทธิที่จะเลือกบัญชีรายชื่อส.ส.แบบสัดส่วนในเขตเลือกตั้งของตนได้ 1 บัญชีครับ ซึ่งที่มาของส.ส.แบบสัดส่วนจำนวน 80 คนนี้ แม้จะแตกต่างจากที่มาของส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 420 คนก็ตาม แต่เมื่อ ส.ส.ทั้ง 2 ประเภทผ่านการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะพบว่า รัฐธรรมนูญมิได้แบ่งแยกหรือกำหนดอำนาจหน้าที่ของส.ส.ทั้ง 2 ประเภทให้มีความแตกต่างกันเลย เพราะส.ส.ทั้งหมดมีสถานะเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ครับ
       
       เมื่อได้ทราบถึง “ที่มา” ของส.ส.แบบสัดส่วนแล้ว ก็จะขอนำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง 3 พรรคว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองแล้วจะมีผลทำให้ ส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ถูกยุบยังมีสถานภาพเป็นส.ส.อยู่หรือไม่ และสามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้หรือไม่ และนอกจากนี้ บัญชีรายชื่อส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคจะยังคงมีอยู่ภายหลังการยุบพรรคหรือไม่ และหากยังคงมีอยู่จะสามารถนำบัญชีดังกล่าวไปไว้กับพรรคการเมืองอื่นได้หรือไม่
       

       ในประเด็นแรกที่ว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองแล้วจะมีผลทำให้ส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ถูกยุบยังมีสถานะเป็นส.ส.อยู่หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาจากตัวบทของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง จะพบว่า แม้วิธีการได้มาซึ่งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งกับส.ส.แบบสัดส่วนจะแตกต่างกัน แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐธรรมนูญก็มิได้แบ่งแยกหรือกำหนดให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อตรวจสอบผลของการยุบพรรคการเมืองแล้ว มาตรา 106(8) แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ถึงกรณีของการสิ้นสุดลงของสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น บทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องนำมาใช้กับส.ส.แบบสัดส่วนด้วย หาไม่แล้ว การยุบพรรคการเมืองก็จะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย เพราะมาตรา 237 แห่งรัฐธรมนูญซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองได้กำหนดบทลงโทษไว้เพียง 2 กรณีคือ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาและกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องและกำหนดบทลงโทษยุบพรรคการเมืองที่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือทราบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รัฐธรรมนูญมิได้มีบทบัญญัติใดเลยที่กล่าวถึงการสิ้นสุดสมาชิกภาพของส.ส.แบบสัดส่วนที่พรรคการเมืองถูกยุบ หากคำตอบอยู่ที่ว่าสมาชิกภาพของส.ส.แบบสัดส่วนสิ้นสุดลงพร้อมกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบก็เท่ากับว่าเป็นการ “แปลความ” รัฐธรรมนูญที่เกินขอบเขตของบทบัญญัติในเรื่องการยุบพรรคการเมืองและเป็นการ “ขยายอำนาจ” ของศาลรัฐธรรมนูญให้กว้างมากไปกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งยังเป็นการแปลความที่มีผลกระทบต่อสิทธิของส.ส.แบบสัดส่วนโดยตรงอีกด้วย ดังนั้น ในประเด็นแรก ผมจึงมีความเห็นว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง แต่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ประเภทก็ยังคงมีอยู่ต่อไป หากสามารถเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นครับ โดยส.ส.แบบสัดส่วนแต่ละคนต่างก็สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใดก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปอยู่พรรคการเมืองเดียวกันทั้ง 10 คนตามบัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกเข้ามา ทั้งนี้ ดังที่ได้เสนอความเห็นไปแล้วข้างต้นว่า เฉพาะวิธีการได้มาซึ่งส.ส.สองประเภทเท่านั้นที่มีความแตกต่างกัน เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ละคนต่างก็มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าเทียมกัน เมื่อพรรคการเมืองที่แต่ละคนสังกัดอยู่ถูกยุบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนจึงมีความสามารถที่จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้ตามความประสงค์ที่ต้องตรงกันของพรรคการเมืองพรรคใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครับ
       
       ส่วนในประเด็นที่สองที่ว่า บัญชีรายชื่อส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคการเมือที่ถูกยุบพรรคจะยังคงมีอยู่ภายหลังการยุบพรรคหรือไม่นั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมิได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้โดยตรง แต่เมื่อพิจารณาจากตรรกะของการมีบัญชีรายชื่อตามมาตรา 109 แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า เมื่อตำแหน่งส.ส.แบบสัดส่วนว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในเขตเลือกตั้งนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง แล้วจะพบว่า เมื่อไม่มีพรรคการเมืองก็ไม่สามารถเลื่อนคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งให้เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างได้ ดังนั้น เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อซึ่ง “ยังมิได้มีสิทธิใดๆในทางการเมือง” และ “ยังมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน” จึงไม่สามารถ “ย้าย” ไปอยู่กับพรรคการเมืองใหม่ตามมาตรา 106 (8) แห่งรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคจึงต้อง “หายไป” เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบครับ
       
       ก็เป็นความเห็น 2 ประการเกี่ยวกับสถานะของส.ส.แบบสัดส่วนภายหลังจากที่พรรคการเมืองทั้ง 3 ถูกยุบไป เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมาครับ คงต้องรอดูกันต่อไปว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องจะให้ความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ถ้ามีความเห็นไม่แตกต่างจากของผม ก็คงจะไม่เกิดปัญหาอะไร แต่หากเป็นความเห็นที่ตรงกันข้าม คือ สมาชิกภาพของส.ส.แบบสัดส่วนต้อง “สิ้นสุด” ลงเมื่อมีการยุบพรรคการเมือง คงเกิดปัญหาวุ่นวายตามมาแน่ๆ เพราะในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนจำนวนหนึ่งจะขาดสมาชิกภาพไปในทันทีหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค รวมไปถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นที่เป็นส.ส.แบบสัดส่วนด้วยครับ!!! ก็ไม่ทราบว่าถ้าเป็นไปตามนี้จะแก้ปัญหากันอย่างไร และข้อสำคัญก็คือต้องหานายกรัฐมนตรีกันใหม่อีกรอบหรือเปล่าครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ใหม่แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนบทความเรื่อง “สถานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนเมื่อมีการยุบพรรคการเมือง” บทความนี้แม้จะมีความเห็นไม่ตรงกับที่ผมได้นำเสนอไว้ในบทบรรณาธิการข้างต้น แต่ก็เป็นความเห็นของนักวิชาการคนหนึ่งที่กล้าแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว ซึ่งผู้อ่านก็คงจะต้องวิเคราะห์พิจารณากันต่อไป ส่วนบทความที่สอง คือบทความของคุณ ชำนาญ จันทร์เรือง ที่ในคราวนี้ได้เขียนเรื่อง “ตุลาการเทศนา” มานำเสนอ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองที่ส่งบทความมาร่วมกับเราอย่างสม่ำเสมอ นอกจากบทความแล้ว เราก็ยังมีหนังสือใหม่อีกหลายเล่มจากสถาบันพระปกเกล้ามาแนะนำใน “ข่าวประชาสัมพันธ์” ครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544