|
|
|
|
ครั้งที่ 180 |
17 กุมภาพันธ์ 2551 08:44 น. |
|
|
|
|
ครั้งที่ 180
สำหรับวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2551
"ตำแหน่งกับความสามารถ"
บทบรรณาธิการครั้งที่แล้วเป็นอีกบทบรรณาธิการหนึ่งที่มีคนพูดถึงทั้งในแง่บวกและแง่ลบ มีการนำไปเปิดประเด็นโต้เถียงกันในหลายๆที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในกรอบแนวคิดที่ผมได้เสนอไป ผมจึงต้องขอชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องดังกล่าวในที่นี้ว่า เจตนาจริงๆของผมที่เสนอให้มีการตั้ง "คตส.2" ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบทั้งการดำเนินการต่างๆของคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่ทำงานอยู่ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งจนถึงวันที่เราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เพื่อการ "แก้แค้น" ใดๆทั้งสิ้น แต่เพื่อต้องการให้มีการ "ตรวจสอบ" ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดและก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนหรือไม่อย่างไรเท่านั้น ในช่วงเวลาเริ่มต้นของการรัฐประหารและมีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เรายังคงจำกันได้ว่าสารพัดโครงการที่ทำโดยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ถูกนำมา "ขึง" เพื่อที่จะหาว่ามีการกระทำผิดหรือมีผู้กระทำผิดหรือไม่ ขนาดคำที่นำมาใช้เรียกกลุ่มคนว่า "รากหญ้า" ก็ยังถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายและเปลี่ยนเป็นคำว่า "รากแก้ว" แทนเลยครับ !!! การดำเนินการดังกล่าว 10 เดือนหลังจากที่มีการรัฐประหารเราก็ได้พบว่ามีหลายกิจกรรมทางการเมืองที่ดำเนินการโดยรัฐบาลคุณทักษิณฯ ที่ดูๆแล้วน่าจะ "มีปัญหา" ซึ่งผมเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของคณะรัฐประหารและรัฐบาลเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะอย่างน้อยผู้ที่ทำผิดต่อแผ่นดินก็ต้องถูกลากเข้ามารับผิดชอบ ด้วยเหตุนี้เองที่ผมเสนอให้มีการเลือกตั้ง คตส.2 ขึ้นมาเพื่อการตรวจสอบการดำเนินการต่างๆของคณะรัฐประหารและรัฐบาลชุดที่ผ่านมาด้วยว่ามีการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดและก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติหรือไม่อย่างไรครับ หากเราพบว่ามีกิจกรรมของคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลที่ผิดกฎหมายทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียประโยชน์ ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศหากเราสามารถ "แก้ไข" สิ่งที่ผิดเหล่านั้นและนำตัวคนผิดมาลงโทษเช่นเดียวกันครับ และหากจะคิดไปให้ไกลกว่านั้น การตรวจสอบคณะรัฐประหารและรัฐบาลของคณะรัฐประหารภายหลังจากที่เรากลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ เพราะทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็มักจะได้ยินข่าวที่ไม่เป็นมงคลเกี่ยวกับเงินๆทองๆหรือผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ถ้าเราสามารถตรวจสอบได้และนำเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หากมีผู้ใดคิดจะทำรัฐประหารกันอีกก็จะได้ละทิ้งความคิดแบบเดิมๆที่คิดว่าภายหลังรัฐประหารแล้วตนเองคือ "รัฐฐาธิปัตย์" มีอำนาจรัฐทุกชนิดอยู่ในมือ สามารถทำอะไรก็ได้ ตรวจสอบคนอื่นได้หมด เพราะในวันข้างหน้าเมื่อประเทศเข้าสู่ระบบปกติเมื่อใดตนเองก็จะต้องถูกตรวจสอบเช่นเดียวกันครับ หากเราทำให้การตรวจสอบดังกล่าวเป็น "มาตรฐาน" ของประเทศได้ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลและรัฐบาลชุดที่ผ่านมาต้องถูกตรวจสอบ ก็จะทำให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจระมัดระวังตัวมากขึ้นและหลีกเลี่ยงที่จะกระทำความผิดในวันข้างหน้า ถึงวันนั้นบ้านเมืองเราก็คงเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไม่ยากครับ
ขณะที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ รัฐบาลใหม่ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้ผมไม่ทราบว่าในที่สุดแล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันจะได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลชุดที่ถูกคณะรัฐประหารโค่นล้มลงไปมากน้อยเพียงใด เพราะนโยบายของรัฐบาลนั้นจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของประเทศไทยว่าเราจะเดินทางไปในแนวใดต่อไปครับ วันนี้เราคงเห็นเพียงแต่โฉมหน้าของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย โดยส่วนตัวแล้วผมมีความเห็นว่ารัฐบาลจะมี "อายุ" ได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการซึ่งรวมไปถึงคุณภาพของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยครับ ความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลนี้กับผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองอันเนื่องมาจากการยุบพรรคไทยรักไทยทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลชุดใหม่บางคนมีความ "ไม่สง่างาม" และ "ไม่เหมาะสม" ซึ่งดูๆไปแล้วผมว่าน่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเมื่อปีพ.ศ. 2548 ที่ในครั้งนั้นเราเรียกสภาทั้งสองว่า "สภาผัวเมีย" เพราะในครั้งนี้มีการ "ส่ง" ภรรยาเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกันหลายคนทีเดียวครับ!!! แถมบางคนก็ยังเป็นที่น่าสงสัยถึงความรู้ความสามารถและประวัติการศึกษาซึ่งเป็น "คนละเรื่อง" กับงานระดับประเทศที่ตนต้องรับผิดชอบอีกด้วยครับ ก็เรียกได้ว่าเป็นสิ่งแปลกพอสมควรเลยทีเดียวที่ทั้งหมอและพยาบาลสามารถเข้ามารับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจการคลังของประเทศได้ครับ
ผมไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เท่าไหร่นักเพราะผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่คงมองเห็นปัญหากันแล้ว สำหรับผมนั้นตำแหน่งต้องมาพร้อมความสามารถของแต่ละบุคคลครับ รัฐมนตรีบางคนรีบให้ข่าวว่าแม้ตนจะไม่มีความรู้ในศาสตร์ที่ต้องใช้ในกระทรวงที่ตนรับผิดชอบแต่ตนก็สามารถตั้งที่ปรึกษาเก่งๆได้ หรือมี "ผู้ใกล้ชิด" ที่คนคิดว่าเก่งที่จะสามารถช่วยการทำงานของตนได้ สิ่งเหล่านี้คงเป็น "สิ่งที่ไม่ถูกต้อง" และน่าจะเป็นสิ่งที่ "แย่" สำหรับระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งมีขึ้นภายหลังการรัฐประหารด้วย เพราะในเวลาเช่นนี้ เราต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศให้ลุล่วงไปอย่างดีและรวดเร็ว หากเราได้ "ใครก็ไม่รู้" มาเป็น "ผู้นำ" ที่มี "ที่ปรึกษา" อยู่รอบๆตัวจำนวนมาก หากมีปัญหาเกิดขึ้นอย่าลืมนะครับว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งยังต้องไปตอบคำถามในสภาแต่เพียงผู้เดียวอีกด้วย การตั้งคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถให้ตรงกับงานจะทำให้เกิด "รอยด่าง" ในรัฐบาลและรอยด่างดังกล่าวก็จะเป็น "จุดโจมตี" ที่เปราะบางตลอดอายุของรัฐบาลครับ ในบางครั้งผมก็ไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้เท่าไรนัก ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนจำนวนหนึ่งถึงขอมีตำแหน่งหรืออยากมีตำแหน่งทั้งๆที่มองเห็นอยู่แล้วว่าตนเองไม่เหมาะสมหรือไม่คู่ควรกับตำแหน่งดังกล่าว แล้วคนที่คิดหรือทำเช่นนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงนักการเมืองนะครับ ในวงการที่ผมใกล้ชิดก็มีผมได้พบได้เห็นสิ่งที่น่าผะอืดผะอมหลายอย่าง บางคนเสนอผลงานแล้วไม่ผ่านการพิจารณาก็โวยวาย ตีโพยตีพาย วิ่งเต้นทุกรูปแบบเพื่อที่จะให้มีการพิจารณาใหม่หรือเปลี่ยนตัวผู้พิจารณาใหม่ พยายาม "ชี้แนะ" ผู้ใดควรจะมาเป็นผู้พิจารณาคนใหม่ พยายามทุกวิถีทางบางคนใช้เวลาเป็นปีกว่าจะได้ตำแหน่ง พอได้ตำแหน่งแล้วก็เดินอย่างสง่าผ่าเผยโดยพยายามที่จะลืมว่าตนเอง "ใช้วิธีการอย่างไร" เพื่อให้ตนเองได้ตำแหน่งมา ภาคภูมิใจในตำแหน่งที่ตนเองได้รับแต่ผู้คนรอบข้างที่ทราบความจริงก็ได้แต่ตั้งข้อสงสัยกันว่าผู้นั้นเป็นผู้มีความสามารถที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนั้นหรือไม่ บางคนก็น่าเบื่อหน่ายยิ่งขึ้นไปอีกโดยมีการนำวิธีการเดิมๆที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่ตั้งหน้าตั้งตา "แจกของขวัญ" คุณครู อยากเปลี่ยนงานใหม่ก็ถือกระเช้าของขวัญไปให้ผู้มีอำนาจ อยากได้ตำแหน่งก็วิ่งเต้นทุกวิถีทาง พอได้ตำแหน่งแล้วก็คุยโตโอ้อวดโดยลืมไปว่าตนได้ตำแหน่งมาโดยวิธีใด รูปแบบและวิธีการของการได้ตำแหน่งที่พูดไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่ตำแหน่งจำนวนหนึ่งของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆในบ้านเรา ระบบเส้นสายหรือระบบอุปถัมภ์จึงทำให้บรรดาผู้นำในสังคมของเราส่วนหนึ่งไม่ได้ประกอบด้วยผู้ที่มีความชำนาญและผู้ที่มีความสามารถจริง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาสำคัญของประเทศขึ้น ปัญหาเหล่านั้นจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วเพราะผู้ดำรงตำแหน่ง "หย่อนความสามารถ" ซึ่งก็นำมาสู่การ "นัดประชุมที่ปรึกษา" หรือ "กลับไปถามที่บ้าน" ก่อนครับ
วันนี้ในบ้านเมืองของเรายังมีคนเก่งอีกเป็นจำนวนมาก เพียงแต่คนเก่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่มีความสนิทสนมกับ "การเมือง" เก่งเหล่านี้หากเอาเขาเข้ามาทำงานมาแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ก็จะดีกว่าเอาใครก็ไม่รู้ ที่เรียนอะไรมาก็ไม่รู้หรือชำนาญเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ประสบการณ์และความสามารถส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการเป็นนักการเมือง ผมขอฝากไปถึงใครก็ตามที่มีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรีว่า ในการปรับคณะรัฐมนตรีงวดหน้าก็อย่าลืมเลือกคนเก่ง คนดี คนมีความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารประเทศด้วยครับ
สิ่งที่ผมบ่นไปข้างต้นคงเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ง่ายนักในสังคมเราครับ คนดีคนเก่งที่ไม่มีเส้นสายก็ต้องทำหน้าที่ "รับใช้" คนไม่ดีคนไม่เก่งที่มีเส้นสายกันต่อไปครับ
เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า "รัฐมนตรีนิรนาม" จำนวนหนึ่งที่อยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันจะทำงานกันได้ดีแค่ไหน ถ้าดีก็ต้องถือว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยครับ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามมีปัญหาเกิดขึ้นจากการที่ผู้ดำรงตำแหน่งไม่มีความสามารถเพียงพอก็คงต้องขอร้องผู้นำประเทศซึ่งผมไม่ชัดเจนว่าคือ "นายกรัฐมนตรี" หรือ "มือที่มองไม่เห็น" กันแน่ให้หาคนที่มีความสามารถตรงกับตำแหน่งเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ ต้องไม่ลืมนะครับว่าตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ใช่ของขวัญ ไม่ใช่รางวัล และไม่ใช่สถานที่ฝึกงาน แต่เป็นตำแหน่งที่จะต้องให้คนที่มีความสามารถมากที่สุดในแผ่นดินเข้ามาทำงาน เพื่อแก้ปัญหาของประเทศไปสู่จุดหมายที่ดีซึ่งการจะไปถึงจุดหมายดังกล่าวได้ขึ้นอยู่กับ "ความสามารถเฉพาะตัว" ของรัฐมนตรีเป็นหลักครับ
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความเพียงบทความเดียวคือ บทความเรื่อง ระบบรัฐบาลเงาและข้อคิดบางประการ ของอาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ผมขอขอบคุณอาจารย์พรสันต์ฯ ที่ส่งบทความมาร่วมกับเราครับ ก่อนจะจบบทบรรณาธิการ ขอโฆษณาว่าหนังสือ หลักพื้นฐานกฎหมายปกครองฝรั่งเศส ของผมที่ขาดตลาดไปนานและมีผู้ถามหากันมากนั้น บัดนี้ได้จัดพิมพ์ใหม่และวางตลาดแล้ว สนใจติดต่อได้ที่สำนักพิมพ์วิญญูชน โทรศัพท์ 02-996-9471 ถึง 3 หรือลองไปหาดูที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็ได้ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2551 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|