|
|
|
|
ครั้งที่ 179 |
7 กุมภาพันธ์ 2551 10:11 น. |
|
|
|
|
ครั้งที่ 179
สำหรับวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551
คตส.2
ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ประเทศไทยเรากำลังค่อยๆ กลับหลังหันทางการเมือง ไปสู่จุดเริ่มต้นที่เคยเป็นมาก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เราได้สภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เราได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เราได้นายกรัฐมนตรีแล้ว และเรากำลังจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ก็คงต้องกล่าวแสดงความยินดีต้อนรับ ประชาธิปไตย กลับเข้าบ้านอีกครั้งหนึ่งครับ
สำหรับบรรดาคอการเมืองทั้งหลายคงจะ สะใจ กันไปตามๆ กัน ที่เห็นพรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เห็นสีหน้าอันสดชื่นของบรรดาแกนนำของพรรคการเมืองหลายๆ พรรคที่จะได้กลับเข้าสู่อำนาจ ในขณะที่สีหน้าของบรรดาแกนนำของคณะรัฐประหารนั้น ดูไปดูมาก็คงไม่ต่างไปจากสีหน้าของบรรดานักการเมืองในช่วงแรกๆ ที่เกิดการรัฐประหารคือวิตกกังวลและมองไม่เห็นอนาคตตัวเองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ผมไม่แน่ใจประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารในบ้านเราที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทราบแต่ว่าหากทำการรัฐประหารไม่สำเร็จก็ต้องถูกจับกุมในข้อหา กบฏในราชอาณาจักร ซึ่งเท่าที่จำได้ก็เคยมีผู้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตไปแล้วก็มี ข้อหากบฎในราชอาณาจักรนี้ถูกนำมาใช้กับบรรดาผู้ทำการปฏิวัติแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งคำว่าไม่สำเร็จในที่นี้ผมไม่แน่ใจว่าจะจำกัดความอยู่เฉพาะการยึดอำนาจไม่สำเร็จหรือจะรวมไปถึงยึดอำนาจสำเร็จ แต่แก้ไขเหตุที่ทำให้ต้องมีการยึดอำนาจไม่สำเร็จด้วย เพราะหากรวมไปถึงกรณีหลังด้วยแล้ว วันนี้ คมช. คงต้องถูกจับข้อหากบฏในราชอาณาจักรอย่างแน่นอนเพราะเหตุแห่งการรัฐประหารที่อ้างมาทั้ง 4 ข้อ นั้นมีความเลื่อนลอยและไม่ชัดเจน แถมการแก้ปัญหาของประเทศก็ไม่สำเร็จตามที่ได้ให้ข่าวเอาไว้และก็ยังไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐอีกต่างหาก ในวันนี้จึงเป็นธรรมดาที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารคงจะต้องเตรียมหาทางหนีที่ไล่กันไว้บ้าง เพราะไม่ว่าอะไรก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอครับ
มายิ่งนึกๆ ดูแล้วก็อดเห็นใจบรรดานักการเมืองอาชีพไม่ได้ 16 เดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ถูกกล่าวหาในเรื่องร้อยแปดบางเรื่องถูกกล่าวหาวันเดียวแล้วผู้กล่าวหาก็เงียบไปปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องดิ้นรนเพื่อพิสูจน์ตนเอง ขนาดบางคนเหล็กจากการก่อสร้างอาคารข้างบ้านหล่นลงมาใส่บ้านตนเองยังกลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้ วันนี้คงพิสูจน์ได้บ้างแล้วว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ในประเทศไทย เพราะไม่ว่าจะมีการกดดันจากที่ใดก็ตาม ในที่สุดแล้วเราก็ยังได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งๆที่ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งก็มีข่าวออกมาตลอดว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้คือพรรคพลังประชาชนเป็น นอมินี ของพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะที่เกิดรัฐประหาร หากข่าวดังกล่าวเป็นจริงก็จะทำให้รัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นกลายเป็น รัฐบาลนอมินี ไปด้วยโดยปริยาย
เมื่อตอนที่มีการตั้งพรรคพลังประชาชนใหม่ๆ มีข่าวออกมามากมายว่าเป็นพรรคการเมืองนอมินี ตอนนี้เมื่อคุณสมัคร สุนทรเวช ได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาว่าเป็นนายกนอมินีอีกเช่นกัน สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าคนไทยส่วนหนึ่งนั้น รับรู้ ถึงความ เชื่อมโยง ระหว่างพรรคไทยรักไทยกับพรรคพลังประชาชน และระหว่างพรรคพลังประชาชนกับคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผู้ที่รับรู้เรื่องดังกล่าวส่วนหนึ่งก็เป็นผู้เลือกพรรคพลังประชาชนเข้ามา ดังนั้นในวันนี้เราจึงได้ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ถูกเรียกว่าเป็นนอมินี เราทราบว่ารัฐบาลนี้ถูกจัดตั้งขึ้นโดย มือที่มองไม่เห็น ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามโดยส่วนตัวแล้วผมไม่ได้ติดใจอะไรทั้งนั้นเพราะไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปรังเกียจหรือกลัว นอมินี หรือ มือที่มองไม่เห็น เพราะหากสิ่งนั้นสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ก็จะทำให้เราหลุดพ้นจากปัญหาและวิกฤติต่างๆที่อยู่กับเรามาเป็นปีๆแล้ว ! แต่สิ่งที่ผมกังวลใจคงมีอยู่บ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเหมาะสมหรือระยะเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการอะไรบางอย่างที่อาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน รัฐบาลคงต้องไม่ลืมว่าสาเหตุหลักที่ประชาชนเลือกพรรคพลังประชาชนเข้ามาบริหารประเทศก็เพราะต้องการให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่เข้ามาเพื่อ นิรโทษกรรม นักการเมืองของพรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง (ที่แม้คนส่วนหนึ่งรวมทั้งตัวผมด้วยจะเห็นว่าการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นโทษซึ่งก็เป็นเหตุผลอันสมควรที่จะมีการนิรโทษกรรมให้การใช้กฎหมายย้อนหลังที่เป็นเรื่องที่ ผิด กลับมาเป็นเรื่องที่ ถูก ก็ตาม)ไม่ใช่เข้ามาเพื่อ ฟอก คุณทักษิณฯ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อ เช็คบิล คณะรัฐประหารครับ คงต้องรอเวลาที่เหมาะสมก่อนจึงค่อยคิดการใหญ่ครับ
ในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้คือบทบรรณาธิการครั้งที่ 177 ที่ได้ลงเผยแพร่ไปในระหว่างวันที่ 7-20 มกราคม ที่ผ่านมานั้น ผมได้เสนอข้อเรียกร้องในสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรจะทำเป็นเรื่องเร่งด่วนเอาไว้ 2 เรื่อง ด้วยกัน คือ เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง 2 ทีม ทีมแรกเป็นทีมที่ต้องพาประเทศรุกไปข้างหน้าอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เรากลับไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่ ส่วนทีมที่สองก็ต้องย้อนกลับไปดูปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดในช่วงเวลา 16 เดือน ที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เรื่องต่อมาคือการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาหาทางแก้ไขการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องและสืบต่อมาจากการรัฐประหารและก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น กฎหมายที่มีปัญหา การทำงานของรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา เป็นต้น โดยข้อเสนอของผมในครั้งนั้นเป็นข้อเสนอแบบ สร้างสรรค์ คือ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพื่อหาเรื่องหรือเพื่อล้างแค้น แต่ในวันนี้ผมต้อง เปลี่ยนข้อเสนอ ของผมใหม่เสียแล้วเพราะจากการที่รับทราบข่าวจากสื่อต่างๆ ในช่วงปลายของรัฐบาลที่ผ่านมามีการดำเนินการ 2 อย่างที่ ยอมรับไม่ได้ เกิดขึ้นคือการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ด้วยเงินจำนวนมหาศาลและการให้ รางวัล แก่ ทีมงาน คมช. ครับ ในเรื่องการซื้อเครื่องบินขับไล่นั้น โดยมารยาทคงต้องรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเหมาะสมกว่าเพราะการใช้เงินของประเทศจำนวนมากในขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ในขณะที่ประชาชนต้องการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น รถไฟใต้ดิน เป็นต้น เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่มีความหมายมากครับ ในเรื่องนี้รัฐบาลใหม่คงต้อง รื้อ และตรวจสอบอย่างละเอียดว่า ทำไม จึงต้องซื้อในช่วงเวลานั้น ส่วนเรื่องการ ตกรางวัล ให้กับทีมงาน คมช. นั้น ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ผลที่เกิดจากการรัฐประหารนั้นทำให้ประเทศเราอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อย่างมาก แถมการรัฐประหารก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ตามที่กล่าวอ้างแต่แรก ที่ถูกแทนที่จะตกรางวัลน่าจะเปลี่ยนเป็น ตัดเงินเดือน จะเหมาะสมกว่าหรือไม่ ประเด็นนี้ผู้อ่านต้องเป็นผู้ช่วยตอบด้วยครับ !!!
ที่เหมาะสมที่สุดที่ผมอยากจะขอนำเสนอไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ซึ่งหลายคนอาจ วิพากษ์ ว่าเป็น ข้อเสนอที่ไม่สร้างสรรค์ แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องทำคือการที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการตั้ง คตส. ขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อ ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ครับ ความเสียหายแก่รัฐที่ว่านี้ หมายความถึงการดำเนินการทุกอย่างที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐไม่ว่าจะเกิดจากคณะรัฐประหาร เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2540 หรือเกิดจากการดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง โดยผมขอเสนอให้มีการตรวจสอบกันตั้งแต่วันที่มีการรัฐประหารจนถึงวันที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า การดำเนินการของคณะรัฐประหารและที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดนั้นทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียไปเท่าไหร่ ในช่วงแรกผมขอเสนอให้ตรวจสอบเฉพาะเรื่อง "ความสูญเสียทางการเงิน" แต่เพียงเรื่องเดียวก่อนดีกว่าเพราะมีข้อมูลหลายอย่างที่เราไม่ทราบหรือบางคนอาจจะทราบแต่ก็ ลืม ไปแล้วก็ได้ ผมเคยเห็นตัวเลขที่น่าตกใจซึ่งผมขอ คัด ข้อมูลบางส่วนที่พิมพ์เผยแพร่อยู่ในหนังสือ ฟ้าเดียวกัน ปีที่5 มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ ก่อนครับ ในฟ้าเดียวกันฉบับดังกล่าวได้นำเอาข้อมูลของการสูญเสียทางการเงินของประเทศในช่วงต้นๆของการรัฐประหารมานำเสนอโดยกล่าวว่า คณะรัฐประหารใช้งบประมาณ 500,000 ,000 บาท สำหรับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตั้งเงินเดือนให้ตัวเองในฐานะคมช. ซึ่งมีสมาชิกเป็นทหาร 8 คน รวม 890, 220 บาท ต่อเดือน (ไม่รวมเงินเดือนประจำและรายจ่ายอื่นๆ) ซึ่งครบรอบ 1 ปี เป็นจำนวนเงิน 10,682,640 บาท ส่วนงบประมาณกระทรวงกลาโหมก็เพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 34.97 ในปีงบประมาณ 2550 จาก 85,219,000,000 บาท ในปีที่แล้ว มาเป็น 115,024,014,800 บาท คิดเป็นร้อยละ 7.344 ของงบประมาณทั้งประเทศ
ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลของการใช้จ่ายเงิน บางส่วน และเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นของการรัฐประหารครับ จากนั้นก็มีสิ่งต่างๆ ตามมาอีกมากมายที่ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงิน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกำหนดให้ข้าราชการที่ไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับเงินเดือนได้สองทางซึ่งเป็นเรื่องที่ ผิดทั้งตรรกะ ขัดต่อกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ ต่อจากนั้นก็เป็นการที่คณะรัฐประหารได้ใช้วิธีเดียวกันนี้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญที่รับเงินสองทางเช่นกัน แต่ว่าไม่อาจทำรัฐธรรมนูญให้ดีเท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้ แถมยังสร้างปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญต่างๆตามมาให้กับประเทศไทยอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่พูดกันตามตรงว่า เหลือจะรับได้ จริงๆครับ แถมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่คณะรัฐประหารเป็นผู้ร่าง และก็ไม่ทราบว่ามีผู้ร่างรัฐธรรมนูญประเทศไหนที่ กล้า เขียนบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญของเขาหรือไม่ นั่นก็คือบทบัญญัติมาตรา 309 อันลือลั่น นั่นเองครับ อย่างนี้สมควร เช็คบิล ไหมครับ !!! คงต้องหาทางเอาเงินคืนกลับให้ประเทศให้ได้นะครับ ส่วนค่าใช้จ่ายก้อนโตอีกก้อนหนึ่งก็คือ การออกเสียงประชามติ ที่มีปัญหา ทุจริต ในหลายกระบวนการ เช่นการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนจนป่านนี้ก็ยังไม่ทราบว่าความผิดก็อยู่กับผู้ใด ค่าใช้จ่ายหลายพันล้านบาทที่ต้องใช้ไปในกระบวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในขณะนั้น คมช. รวมทั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองต่างก็ออกมาบอกว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นถึง คุณภาพ ของร่างรัฐธรรมนูญว่าคุ้มค่าหรือไม่กับเงินที่ต้องสูญเสียไป เงินทั้งหลายที่เราต้องสูญเสียไปและผมได้นำเอามาเสนอข้างต้นเพียงบางส่วนสามารถเปลี่ยนเป็น สาธารณูปโภค อย่างดีให้กับประชาชนได้ สามารถสร้างโรงพยาบาลอย่างดีในท้องที่ทุรกันดารได้หลายโรงพยาบาลหรือสามารถสร้างโรงเรียนได้หลายแห่ง ก็คงต้องฝากรัฐบาลใหม่เอาไว้ด้วยนะครับว่าเห็นทีจะต้อง ตรวจสอบ บรรดาการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐกันบ้างแล้ว ส่วนจะตรวจสอบเรื่องอะไรนั้นก็สุดแล้วแต่ แต่ผมขอฝากให้มีการตรวจสอบความสูญเสียทางการเงินพ่วงเข้าไปด้วยนะครับ เราจะได้รู้กันเสียทีว่า ยอดรวมของความสูญเสียทางการเงินของเราจากการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาเป็นจำนวนกี่พันกี่หมื่นล้านบาทกันครับ แล้วถ้าเรียกคืนได้ก็ต้องหาทางเรียกคืนมาเอามาสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลยังจะเกิดประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากกว่าครับ
เราว่างเว้นจากการแนะนำหนังสือใหม่ไปเสียนาน ในสัปดาห์นี้ มีหนังสือออกใหม่จำนวนมากที่น่าสนใจจากสถาบันพระปกเกล้ามานำเสนอครับ ผู้อ่านท่านใดสนใจหนังสือเหล่านี้สามารถติดต่อได้โดยตรงที่สถาบันพระปกเกล้า โทร. 02527-7830 - 9 ในวันและเวลาทำการปกติครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 2 บทความ บทความแรกเป็นตอนต่อของบทความขนาดยาวของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2 ซึ่งผู้เขียนก็ได้แจ้งให้ทราบว่า บทความใกล้จะถึงตอนจบแล้วครับ ส่วนบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "ต้องห้ามมิให้เข้าสู่ตำแหน่งนายกฯหรือรัฐมนตรีเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกจริงหรือ" ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ด้วย ณ ที่นี้ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|