หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 170
30 กันยายน 2550 22:17 น.
ครั้งที่ 170
       สำหรับวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2550
       
       “ มหาวิทยาลัยนอกระบบ ”
       

       สองสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากข่าวคราวของการรวมกลุ่มของบรรดานักการเมือง “อาชีพ” ที่สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ข่าวที่มาแรงอีกข่าวหนึ่งก็คือ ข่าวที่นักการเมือง “จำเป็น”
       3 คน ที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันถือครองหุ้นอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันว่าแม้จะไม่ “ต้องห้าม” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะมีบทเฉพาะกาลยกเว้นเอาไว้ แต่เนื่องจากการที่บุคคลทั้ง3เข้ารับตำแหน่งเป็นการเข้ารับตำแหน่งก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งในตอนนั้นการถือครองหุ้นของรัฐมนตรีต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่ถือครองหุ้นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวจึงทำผิดกฎหมายครับ ขณะเขียนบทบรรณาธิการนี้อยู่ รัฐมนตรีทั้ง 3 คน ก็ลาออกไปเรียบร้อยแล้ว โดย 2 คนลาออกด้วยความ “สมัครใจ” แต่คนสุดท้ายลาออกด้วยความ “จำใจ” เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะ “ต่อต้าน” อยู่มากในสังคมของเรา ก็ดีครับ ผมคิดว่า ระบบก็ต้องเป็นระบบและก็ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือเป็นรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งก็ควรที่จะต้องรักษามาตรฐานที่ดีเอาไว้ครับ ส่วนข่าวสุดท้ายที่ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมไม่แพ้ข่าวที่กล่าวไปข้างต้นก็คือ ข่าวที่ว่า ผู้บัญชาการทหารบกที่กำลังจะเกษียณอายุ กำลังจะก้าวเข้าสู่วงการเมือง ข่าวนี้ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนักเมื่อเทียบดูกับประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะอย่างที่เราทราบนะครับว่า การรัฐประหารสำเร็จลงได้ถ้าผู้ทำเป็นผู้คุมกำลังทหาร หัวหน้าคณะรัฐประหารหากยังคุมกำลังทหารอยู่ ก็สามารถดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้เพราะมี “ฐานอำนาจ” รองรับ แต่เมื่อใดก็ตามที่อำนาจจากไป สถานะก็เริ่มตกและก็ต้องระมัดระวังการกระทำทุกอย่างมากขึ้น เพราะอย่างน้อยกลุ่มผู้สูญเสียจากการรัฐประหารก็ยังอยู่และก็ไม่แน่ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นจะเริ่ม “เอาคืน” เมื่อไร ที่ดีที่สุดก็คือต้อง“หาทาง” อยู่ในอำนาจต่อไปครับ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเจ้าตัวจะพูดตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะไม่เล่นการเมืองและพูดลักษณะนี้ออกมาอีกหลายต่อหลายครั้ง แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว ยากครับที่จะออกจากวงการเมืองไปได้ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า หากรัฐบาลนี้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะไปอยู่ตรงไหนของ “อำนาจ” ครับ ! ส่วนในกรณีที่หากตัดสินใจที่จะเข้าร่วมรัฐบาลนี้ ผมก็อยากฝากเป็นข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า การที่ประธาน คมช. ซึ่งมีค่าตอบแทนจะไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีซึ่งมีค่าตอบแทนเช่นกันนั้น เป็นเรื่องควรหรือไม่ เช่นเดียวกับการที่ประธาน คมช. ซึ่งโดยผลของรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นผู้ “คุม” รัฐบาลอยู่แล้วจะกลายมาเป็นผู้ร่วมรัฐบาล ซึ่งถูกตัวเองคุมอยู่ ทั้ง 2 ประเด็นคงก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมอย่างมากมายถึง “ความเหมาะสม” และ “บทบาท” ของผู้นั้นครับ ตามดูกันต่อไปแล้วกันครับ
       
       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ผมได้ทราบข่าวมาว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบไปแล้ว ด้วยความอยากรู้ผมก็เลยไปหากฎหมายมาอ่าน จริงๆ แล้วในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรามีมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งออกนอกระบบไปแล้ว แต่ผมก็มิได้นำมากล่าวถึงในที่นี้ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ในวันนี้เมื่อมหาวิทยาลัย “ขนาดใหญ่” ของประเทศไทยแห่งหนึ่งออกนอกระบบ ผมจึงต้องหันกลับมาดูเนื้อหาของกฎหมายว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ผมก็ได้มีโอกาสอ่านกฎหมายฉบับของประเทศฝรั่งเศสเกี่ยวกับการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ดังนั้นในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจึงขอพูดถึงระบบการจัดการมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศครับ
       เริ่มต้นจากของฝรั่งเศสก่อนนะครับ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสมีกฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยออกมาครับ กฎหมายฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า รัฐบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพและความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ( Loi relative aux libertés et responsabilités des universités ) ครับ กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เข้าไปแก้ไขประมวลกฎหมายว่าด้วยการศึกษา ( Code de l’ éducation ) ซึ่งในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสชอบออกกฎหมายเฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เนื้อหาของกฎหมายที่อยู่ในกฎหมายเฉพาะนั้นกลับไปแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว กฎหมายใหม่บางฉบับมีอยู่ประมาณ 20 มาตรา แต่ละมาตราก็ไปแก้ไขกฎหมายเดิมแต่ละฉบับ ผลก็คือกฎหมายใหม่ 1 ฉบับ เข้าไปแก้กฎหมายเก่าหลายสิบฉบับครับ การเขียนกฎหมายลักษณะเช่นนี้ดูแล้วไม่ยากนัก แต่สร้างความยากลำบากกับผู้ใช้งานมากเพราะอ่านกฎหมายใหม่ฉบับเดียวแล้วไม่รู้เรื่องต้องไปอ่านกฎหมายฉบับที่กฎหมายใหม่ไปแก้ประกอบด้วยครับ เช่นเดียวกันกับกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพและความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่เข้าไปแก้ไขประมวลกฎหมายว่าด้วยการศึกษา ซึ่งผมเองก็ไม่มีประมวลกฎหมายว่าด้วยการศึกษาอยู่ด้วย ก็เลยลำบากพอควรที่จะทำความเข้าใจทั้งหมด เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ผมจึงขอนำมาเล่าให้ฟังเฉพาะเท่าที่มีข้อมูลอยู่ในมือแล้วกันนะครับ
       กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพและความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น 6 หมวด ประกอบด้วยเนื้อหารวม 51 มาตราด้วยกัน โดยใน หมวดแรก ได้แก่หมวดว่าด้วยบริการสาธารณะประเภทการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้นั้นกล่าวถึง ภารกิจของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับสูงเอาไว้ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง เช่น การจัดการศึกษา การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การให้คำแนะนำด้านการประกอบอาชีพ การเผยแพร่วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคนิคต่างๆ รวมไปถึงความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย ภารกิจที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้มีลักษณะอย่างกว้างๆ และเป็นภารกิจที่ “เสริม” ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายว่าด้วยการศึกษาครับ
       หมวดที่ 2 เป็นเรื่องการบริหารมหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงที่มาของตำแหน่งและองค์กรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยรวมไปถึงอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและของผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วย รวมทั้งยังกล่าวถึงการ “ควบรวม” มหาวิทยาลัย ว่าสามารถทำได้แต่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดครับ ลองมาดูในส่วนของอธิการบดีมหาวิทยาลัยนะครับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมีที่มาจากการคัดเลือกของสภามหาวิทยาลัย จากอาจารย์ อาจารย์พิเศษ หรือนักวิจัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติฝรั่งเศสก็ได้ครับ วาระการดำรงตำแหน่งคือ 4 ปี  อธิการบดีมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ต่างๆ หลายประการ เช่น เป็นประธานสภามหาวิทยาลัย จัดเตรียมสัญญาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการดำเนินคดีต่างๆ เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงหรือสัญญา เป็นผู้สั่งจ่ายเงินของมหาวิทยาลัย เป็นผู้บังคับบัญชาบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นผู้แต่งตั้งกรรมการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องความสงบเรียบร้อยภายในเขตมหาวิทยาลัย และเป็นผู้ดูแลในการจัดให้มีการเข้าศึกษาของผู้พิการประเภทต่างๆ ด้วย ส่วนสภามหาวิทยาลัยนั้น กฎหมายก็กำหนดว่ามหาวิทยาลัยสามารถมีกรรมการได้ระหว่าง 20 - 30 คน โดยในจำนวนดังกล่าว 8 - 14 คน เป็นตัวแทนของคณาจารย์และนักวิจัย 7 - 8 คนมาจากบุคคลภายนอก อันได้แก่หัวหน้าหน่วยงานและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้แต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการรับรองโดยกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทแรก สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลายประการ เช่น ให้ความยินยอมในการทำสัญญาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ให้ความเห็นชอบในข้อตกลงต่างๆ ของมหาวิทยาลัย อนุมัติงบประมาณของมหาวิทยาลัย ออกกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย ออกกฎเรื่องการสอบ อนุมัติรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัย เป็นต้น นอกจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยแล้ว ในหมวดที่ 2 ยังได้กล่าวถึง องค์ประกอบของมหาวิทยาลัยว่าประกอบด้วย หน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการศึกษา ห้องทดลอง ศูนย์วิจัยต่างๆ ซึ่งการตั้งหน่วยงานหรือศูนย์ทั้งหลายสามารถทำได้โดยมติสภามหาวิทยาลัย และนอกจากนี้แล้วมหาวิทยาลัยยังอาจประกอบด้วย โรงเรียนหรือสถาบันในเครือซึ่งจะจัดตั้งได้โดยกฤษฎีกาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบด้านการศึกษาครับ
       ใน หมวดที่ 3 เป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบใหม่ๆ ของมหาวิทยาลัย โดยมีการกล่าวถึง ความรับผิดชอบในด้านงบประมาณและการบริหารงานบุคคล มีการบัญญัติให้มหาวิทยาลัยต้องทำสัญญากับรัฐเพื่อกำหนดจำนวนเงินที่รัฐจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นค่าจ้างบุคลากร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการลงทุนต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในการทำสัญญานั้น มหาวิทยาลัยต้องมีแผนงานที่ชัดเจนทุกด้าน รวมทั้งจำนวนบุคลากรที่แน่นอนด้วย หากจำนวนบุคลากรเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในส่วนที่เกินครับ และในกฎหมายก็ได้วางระบบการตรวจสอบทางการเงินเอาไว้ด้วย ส่วนการบริหารบุคลากรเป็นเรื่องที่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำงานของบุคลากรด้านการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งงานอื่นที่อาจมอบให้บุคลากรคนใดคนหนึ่งทำเป็นการเฉพาะด้วย ( เช่น ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ต่างๆ ) และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับค่าตอบแทนต่างๆ นอกจากนี้แล้วกฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่จะจ้างลูกจ้างถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ และสามารถจ้างบุคคลมาเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ในหมวดนี้ได้พูดถึงเรื่องสาระสำคัญอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการให้อิสระแก่มหาวิทยาลัยที่จะตั้งมูลนิธิที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแต่มีอิสระด้านการเงิน การที่รัฐสามารถโอนทรัพย์สินของรัฐไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นสำหรับการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้แก่มหาวิทยาลัยได้ตามคำขอของมหาวิทยาลัย แต่จะต้องทำสัญญาระหว่างกันเพื่อกำหนดความรับผิดชอบในการดูแลรักษาหากทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่รัฐเป็นผู้ดูแลอยู่ มีการพูดถึงรายได้ของมหาวิทยาลัยว่ามาจากการขายทรัพย์สิน ได้มรดก รับบริจาค ให้บริการต่างๆ รวมไปถึงค่าลิขสิทธิ์ ค่าทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น มีการพูดถึงการอนุมัติปริญญา ซึ่งมีทั้งปริญญาของรัฐและปริญญาของมหาวิทยาลัย ใน หมวดที่ 4 ได้กำหนดถึงวิธีการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการมหาวิทยาลัยกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งรวมถึงอาจารย์และนักวิจัยไว้ด้วยว่า ให้เป็นหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการศึกษาระดับชาติและการศึกษาชั้นสูง ( le médiateur de l’éducation nationale et de l’enseignement supérieur ) ที่จะทำหน้าที่รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ ส่วนใน หมวดที่ 5 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา ในดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส และใน หมวดสุดท้าย เป็นบทเฉพาะกาลครับ
       จะเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดเบื้องต้นที่น่าสนใจมาก เสียดายที่ไม่มีเวลามากและไม่มีข้อมูลครบถ้วนในมือก็เลยทำให้เล่ารายละเอียดมากไปกว่านี้ให้ฟังไม่ได้ ส่วนที่ว่าไม่เห็นมีการพูดถึงนักศึกษาเลย ก็เพราะโดยปกตินั้น การศึกษาเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่รัฐรับผิดชอบอยู่แล้ว ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยของนักศึกษาแต่ละคนนั้นรัฐก็ช่วยออกให้เกือบทั้งหมด ก็เลยไม่มีประเด็นที่จะต้องนำมาพูดถึงในกฎหมายฉบับครับ
       กลับมาดูกฎหมายของมหาวิทยาลัยนอกระบบของไทยกันบ้างอย่างสั้นเมื่อดูจาก พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 พบว่ามีการแบ่งหมวดออกเป็น 10 หมวด ( รวมบทเฉพาะกาลด้วย ) ผมขอกล่าวถึงเฉพาะ “จุดเด่น” บางประการอย่างสั้นๆ แล้วกันนะครับ โดยใน มาตรา 5 ได้บอกไว้ว่า มหาวิทยาลัยไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ อำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยใน มาตรา 8 นั้น ก็ดูไม่แตกต่างไปจากอำนาจหน้าที่ทั่วๆ ไปของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จะมีที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยก็ในส่วนของ มาตรา 15 ที่ให้มหาวิทยาลัยสามารถออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนได้ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมหรือมีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องกำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจเช่นนี้นอกจากนี้ในมาตราเดียวกันก็ยังให้อำนาจมหาวิทยาลัยที่จะกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ สวัสดิการ สิทธิประโยชน์หรือประโยชน์อย่างอื่นให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ “ห่วงกันเหลือเกิน” ของบรรดาหลายๆ คนที่เรียกประเด็นนี้ว่าเป็น “ความอิสระ” ของมหาวิทยาลัยครับ !! จริงๆ แล้วผมไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากนัก เพราะวันหนึ่งข้างหน้า มหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ก็คงต้องออกนอกระบบเหมือนกัน ที่ผมสนใจและพยายามค้นหาดูจากกฎหมายก็คือ ส่วนที่กล่าวถึงนิสิต นักศึกษาและค่าเล่าเรียน ซึ่งผมก็ไม่พบอะไรทั้งนั้น อาจมีที่พอจะเอามาเทียบเคียงหรือปรับใช้ได้อยู่ 3 มาตรา ก็คือ ใน มาตรา 17 ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่มหาวิทยาลัยรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยและนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงให้มีโอกาสเรียนจบสำเร็จปริญญาตรี ซึ่งในมาตรานี้ก็ได้ให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อบังคับว่าการขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับใน มาตรา 16 เรื่องรายได้ของมหาวิทยาลัยที่เขียนเสียยาวเชียว โดยใน (4) ก็ได้เขียนให้ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทนและค่าบริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยด้วย และเมื่อไปดูอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ใน มาตรา 24 (4) ที่ให้อำนาจสภามหาวิทยาลัย ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อพิจารณาทั้ง 3 มาตรา นี้แล้ว ก็พอจะสรุปในใจได้ว่า สภามหาวิทยาลัยคงจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรเป็นหลักประกันไว้ในกฎหมายเลยว่า ผู้ใช้บริการจะไม่เสียค่าบริการที่แพงเกินไป ดูๆ แล้ว ก็น่าน้อยใจแทนนักศึกษานะครับว่า กฎหมายให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบนี้มีขึ้นเพื่อฝ่ายใดกันแน่ระหว่างฝ่ายมหาวิทยาลัยกับฝ่ายผู้ใช้บริการ ห่วงกันมากเหลือเกินเรื่องอิสระด้านการเงิน เขียนกันซะจนแทบจะไม่มีช่องโหว่ของกฎหมายเลยครับ ลองดู มาตรา 16 วรรค 3 ที่ว่า “ในกรณีที่รัฐบาลได้ปรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดแก่ข้าราชการ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมแก่มหาวิทยาลัยในสัดส่วนเดียวกัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้พนักงานในมหาวิทยาลัยด้วย” อ่านแล้วจะว่าดีก็ดีนะครับเพราะผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยนอกระบบ “ไม่เสียอะไรเลย” มีแต่ “ได้” กับ “ได้” ครับ ผมอยากเห็นมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่จะออกนอกระบบมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ “นักศึกษา” ไว้สักส่วนหนึ่งในกฎหมายจะได้ไหมครับ อย่างน้อยก็ควรจะมีหลักประกันอะไรบางอย่างที่จะไม่ให้มหาวิทยาลัย “เอาเปรียบ” ผู้เข้ามาใช้บริการนะครับ เพราะจะอย่างไรก็ตามการศึกษาก็ยังคงเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประชาชนอยู่ อย่าลืมนะครับว่า คนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติอยู่ที่การ “สร้าง” โดยกระบวนการเรียนรู้จากสถานศึกษาต่างๆครับ หากคนไม่มีโอกาสได้เข้าศึกษาหรือมีความยากลำบากที่จะเข้าสู่ระบบเพื่อศึกษาหาความรู้ ประเทศชาติก็จะประกอบด้วยคนที่ไม่มีการศึกษาส่วนหนึ่ง แล้วเราจะไปไกลได้แค่ไหนกันครับ !!!
       ผมคงไม่เปรียบเทียบกฎหมายมหาวิทยาลัยของทั้ง 2 ประเทศ เพราะเป็นเพียงการเล่าสู่กันฟังและ “การบ่น” ของผมเท่านั้นครับ ก็ต้องขอโทษทางมหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำเอากฎหมายของมหาวิทยาลัยมาเป็น “ตัวอย่าง” ของ “การเล่าสู่กันฟัง” และ “การบ่น” ของผมนะครับ ถ้ามีโอกาส ผมจะเขียนเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่งครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกซึ่งจริงๆ แล้วก็คือบทความประจำขนาดยาวของเราที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง "สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒" ในคราวนี้เราได้เพิ่มเนื้อหาเข้าไปอีกประมาณ 20 หน้ากระดาษพิมพ์ ครับ ส่วนบทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "หญิงข่มขืนชายเป็นความผิดทางอาญาแล้ว"  ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 2 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544