หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 95
16 ธันวาคม 2547 12:29 น.
"ปัญหาภาคใต้"
       ผมกลับมาถึงประเทศไทยได้สองสัปดาห์แล้วและก็เป็นธรรมดาเหมือนทุก ๆ ครั้งที่พอจากบ้านไปไกลก็มีเรื่องที่ต้องทำมากมายเมื่อกลับมา แต่ครั้งนี้ออกจะ “หนัก” กว่าครั้งก่อน ๆ เพราะได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปทำงานใหม่ในอีกหลาย ๆ หน้าที่ จนบัดนี้ก็เลยยังยุ่ง ๆ อยู่แล้วก็ยังจัดการกับเรื่องที่คั่งค้างอยู่ไม่เสร็จเสียทีครับ เข้าใจว่า น่าจะใช้เวลาอีก 1-2 สัปดาห์กว่าจะหายใจได้คล่องครับ
       แม้ตอนที่ผมอยู่ต่างประเทศ ผมจะติดตามข่าวสารของเมืองไทยอยู่ตลอดเวลาโดยผ่านทาง website ของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็ตาม แต่ผมก็ “ตกข่าว” อยู่หลายเรื่องด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดี ข่าวใหญ่ ๆ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ก็เป็นข่าวหนึ่งที่ผมได้รับทราบจากทั้งหนังสือพิมพ์ไทยและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศครับ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจึงขอกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของเราที่ผมพยายาม “หลีกเลี่ยง" ไม่นำมากล่าวถึงใน website แห่งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่คราวนี้คงต้องขอพูดถึงบ้างครับ
       ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ “ตากใบ” ผมยังอยู่ที่ฝรั่งเศส ผมมีโอกาสได้เห็นข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสที่ “พยายาม” สรุปสถานการณ์ในบ้านเราว่า ไม่ได้เลวร้ายและไม่เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง แต่เชื่อไหมครับ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นไม่กี่วันผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคนฝรั่งเศสคนหนึ่ง เขากลับมองเหตุการณ์ในบ้านเราว่า “น่ากลัว” ครับ โดยในการมองของเขานั้น เขามองด้วยสายตาของ “นักท่องเที่ยว” คนหนึ่งที่เห็นว่า ประเทศเราน่าจะเป็นประเทศที่ “ไม่ปลอดภัยที่สุด” เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ละแวกเดียวกับเราเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้นมัน “เรื้อรัง” อย่างน้อยก็เกิดขึ้นตลอดปีนี้ทั้งปีครับ ดังนั้น ในสายตาของนักท่องเที่ยว จึงควรหลีกเลี่ยงประเทศไทยและหันไปเที่ยวประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ละแวกเดียวกับเรามากกว่า
       ผมไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธความเห็นของคนที่พูดกับผม แต่ผมก็อดคิดและวิตกไม่ได้เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้นี้เป็นเหตุการณ์ที่คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็วิตกและผมเองก็เข้าใจว่ารัฐบาลคงวิตกมากกว่าประชาชนหลาย ๆ เท่าเพราะมีแต่ความ “สูญเสีย” เท่านั้นที่เราได้รับจากเหตุการณ์ภาคใต้ครับ
       ผมคงไม่พูดถึงเรื่องต่างๆ เพราะรายละเอียดของเหตุการณ์และความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนรับทราบกันดีอยู่แล้ว สิ่งเดียวที่ผมอยากพูดภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ 85 ศพก็คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นมีความ “รุนแรง” มากและผมก็นั่งวิตกอยู่ว่า เหตุการณ์นั้นจะลามปามไปเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงกว่านั้นอีกหรือเปล่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมต้องย้อนกลับมาคิดทบทวนดูว่า การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมานั้น ล้มเหลวหรือผิดพลาดหรือไม่ หรือเป็นเพียง “โชคร้าย” ของฝ่ายปกครองที่ทำให้ต้องมาเจอกับสิ่งที่ทำให้ตนเองและประชาชนต้องวิตกเป็นทุกข์อย่างเช่นกรณี “ตากใบ” ที่ผมเข้าใจว่าคงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นหรืออยากจะให้เกิดขึ้นหรอกครับ!!! เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียง “โชคร้าย” ของทั้งฝ่ายปกครองที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการ “แก้ปัญหา” จนเกิดเป็น “ปัญหาใหญ่” ตามมาในขณะนี้ และเป็น “โชคร้าย” ของผู้เกี่ยวข้องอีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องมาประสบเคราะห์กรรมร่วมกันโดยไม่มีฝ่ายใดตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้นครับ
       จริง ๆ แล้ว หากเราสนใจปัญหาบ้านเมืองกันบ้างก็พอจะทราบได้ว่า ปัญหาทางภาคใต้นั้นมีมานานแล้ว แต่เราก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้นในรัฐบาลของ “ท่านผู้นำ” นี่เองครับ ผมไม่อาจคาดเดาหรือสันนิษฐานได้ด้วยตัวเองว่าทำไมเหตุการณ์ในภาคใต้ถึงได้รุนแรงขึ้นในช่วงเวลาที่ “ท่านผู้นำ” ปกครองประเทศ หลาย ๆ คนอาจ “โยน” ไปเป็นเรื่องว่ารัฐบาลใช้นโยบายที่ผิดหรือใช้วิธีที่ผิด คือการใช้กำลังเข้าปราบปราม หลาย ๆ คนอาจ “โยน” ไปให้ต่างประเทศก็โดยนำไปโยงเข้ากับกรณี 9/11 ในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ปัจจุบันสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับว่าจะเกิด “สงคราม” ขึ้นแล้วในบ้านเราเพราะดูจากหนังสือพิมพ์ “ยอดนิยม” ของคนไทยจะเห็นข่าวพาดหัวว่า มีการฆ่ากันตายทุกวันที่ภาคใต้และวิธีการก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขนาด “ฆ่าตัดคอ” กันแล้วครับ!!!
       เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลเองก็คงหนักใจพอสมควร แต่จริง ๆ แล้วผมเข้าใจว่าประเด็นสำคัญที่เราควรจะมองกันให้ทะลุก็คือ “วิธีการ” ในการแก้ปัญหาว่า ควรจะ “เลือก” วิธีการใดระหว่าง “สันติวิธี” ตามแบบของรัฐบาลกับ “การปราบปราม” ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้ทั้งสองวิธีแน่ ๆ ครับ แต่จนกระทั่งวันนี้เราก็คงพอมองเห็นตรงกันแล้วว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมาล้มเหลว จึงควรมองหาทางอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีที่มีผู้คนจำนวนมากพยายามเสนอทางออกที่ว่านี้ เช่นคุณหมอประเวศ วะสี หรือคณาจารย์จำนวน 144 คนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แต่ผมเข้าใจว่าข้อเสนอเหล่านั้นบังเอิญยังไม่ “โดนใจ” ของ “ท่านผู้นำ” เข้า ก็เลยยังไม่มีการนำมาขยายผลครับ คงต้องฟัง ๆ กันบ้าง อย่างน้อยลองดูสักครั้งหนึ่งก็คงไม่เสียหายอะไรครับ
       ก่อนจะจบเรื่องนี้ ก็ต้องขอพูดเรื่องหนึ่งที่แม้อาจ “โดนใจ” ท่านผู้นำ แต่ก็ต้องขอพูดล่ะครับ!!! ผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 เกี่ยวกับการประชุม ครม.นอกสถานที่นัดพิเศษเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ข่าวเล่าหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งการที่ “ท่านผู้นำ” ของเรา “เบรกแตก” พูดออกมาหลาย ๆ เรื่องรวมถึงเรื่อง.... การปราบโจรใต้และการสู้รบ.... ผมอดวิตกไม่ได้นะครับกับคำพูดของ “ท่านผู้นำ” ยังไง ๆ ก็คงต้องระวังกันหน่อยนะครับ การพูดเรื่องการปราบโจรและการสู้รบ จะทำให้เกิด “ภาพ” ที่ไม่สู้ดีในสายตาของต่างประเทศและจะยังอาจทำให้เกิด “แรงผลักดัน” จากคนเหล่านั้นอีกด้วย ที่เหมาะสมควรหาทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีจะดีกว่าครับ!!!
       เข้ามาสู่สาระทางวิชาการของเรากันดีกว่าครับ ผมตั้งใจว่าจะเขียนบทความดี ๆ สัก 2-3 เรื่อง แต่ก็ยังติดเรื่องที่ “ไม่มีเวลา” อยู่ ก็เอาไว้ก่อนนะครับ ในสัปดาห์นี้ผมขอเสนองานวิจัยของผมเรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งลงเป็นตอนที่ 4 แล้ว และในสัปดาห์นี้เรามีบทความจากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสมานำเสนอใน “นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน” ครับ เป็นบทความของนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นักศึกษาระดับ DEA สาขากฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยปารีส 12 ประเทศฝรั่งเศส ที่เขียนเรื่อง “บทบาทของรัฐในการก่อให้เกิดตลาดการค้าเสรี” ผมคงต้องขอขอบคุณผู้เขียนไว้ ณ ที่นี้ที่ส่งบทความชิ้นนี้มาให้และหวังว่านักเรียนไทยคนอื่น ๆ ที่พอมีเวลาอยู่บ้างจะส่งบทความมาร่วมกับเราด้วยนะครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544