หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 159
29 เมษายน 2550 22:54 น.
ครั้งที่ 159
       สำหรับวันจันทร์ที่ 30 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2550
       
       “การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส (3)”
       
       ผมอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาครับ
       ก่อนหน้านี้ ในช่วงเวลาที่การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปอย่างดุเดือด ผมไปอยู่ที่เมือง Nantes และก็เช่นเดียวกับทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา ผมอาศัยอยู่กับเพื่อนชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน ผมจึงอยู่ใน “บรรยากาศ” ของการหาเสียงเลือกตั้งแบบฝรั่งเศสแท้ ๆ ได้ฟังความคิดเห็นของคนฝรั่งเศส ทั้งจากเพื่อน เพื่อนของเพื่อน จากอาจารย์คนอื่น ๆ ที่ได้พูดคุยกัน เพราะฉะนั้น ผมจึงได้ “รับทราบ” ความคิดเห็นของคนฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับ “ว่าที่” ประธานาธิบดีของเขา
       ตามกฎหมาย การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสสิ้นสุดลงเมื่อเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 20 เมษายน ก่อนหน้านี้ทุกเย็น สถานีโทรทัศน์ของรัฐจะเชิญผู้สมัครมาออกรายการคนละ 15 นาที ในระหว่างช่วงเวลา 20.30 ถึง 20.45 น. ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่คนฝรั่งเศสนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ และเมื่อผู้สมัครพูดจบ คนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งก็จะโทรศัพท์วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ได้ยินไปเมื่อสักครู่กันอย่างออกรสครับ แต่พอวันเสาร์ที่ 21 เมษายน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเมืองก็หายเงียบไปจากจอโทรทัศน์และสถานีวิทยุ คงมีแต่ใน Internet เท่านั้นที่ข้อมูลการหาเสียงของผู้สมัครทุกคนยังอยู่ครบและรอให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการ ส่วนหนังสือพิมพ์นั้นก็มีข่าวการเลือกตั้งลักษณะทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะลงรูปของผู้สมัครทั้ง 12 คน พร้อมประวัติ แต่ไม่สามารถนำเสนอนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเพราะต้องห้ามตามกฎหมายครับ ส่วนการเสนอผลการสำรวจความคิดเห็น (poll) ก็ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ในช่วงหลังเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 20 เมษายน เช่นกันครับ
       การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชนทั้งประเทศ เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 8 ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 ครับ และในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 12 คน
       ผมขอเล่าถึง “กระบวนการ” เลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสก่อนที่จะเล่าให้ฟังถึง “บรรยากาศ” ของการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2550 ที่ผ่านมาครับ
       การออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้นมีขึ้นในหน่วยเลือกตั้งที่จัดขึ้นในทุกเทศบาล (commune) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา โดยปกติแล้วประชาชนสามารถไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ในระหว่างเวลา 8.00-18.00 น. แต่ก็มีบางเทศบาลที่กฎหมายขยายเวลาไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้ เช่นในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงคือกรุง Paris และปริมณฑล ประชาชนสามารถไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ถึง 20.00 น. ส่วนเมืองใหญ่ ๆ บางแห่ง เช่น Rennes, Nantes หรือ Angers นั้นก็ได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 1 ชั่วโมงครับ
       ปัจจุบัน มีพลเมืองชาวฝรั่งเศสจำนวน 44.5 ล้านคนที่ไปลงทะเบียนเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครับ ในฝรั่งเศสนั้น ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่มีอายุครบ 18 ปี จะเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ที่นั่นเขามีระบบที่ให้ประชาชนผู้สนใจและประสงค์จะไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งต้องไปแจ้งที่เทศบาลว่าตนเองประสงค์จะไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เมื่อแจ้งแล้ว เทศบาลก็จะออกบัตรประจำตัวผู้เลือกตั้ง (carte électorale) ให้ ซึ่งเจ้าของบัตรก็จะสามารถไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ 12 ครั้งในการเลือกตั้งทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือระดับสหภาพยุโรปครับ ในปีนี้ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่ามีผู้ไปลงทะเบียนเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 44.5 ล้านคน โดยจำนวนนี้มี 820,000 คนที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งผู้อยู่ต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะไปออกเสียงเลือกตั้งที่สถานทูตฝรั่งเศสในแต่ละประเทศล่วงหน้า 1 วัน คือเมื่อวันเสาร์ที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมาครับ



การไปออกเสียงเลือกตั้งนั้น ในบัตรประจำตัวผู้เลือกตั้งจะกำหนดเอาไว้ว่าเจ้าของบัตรจะไปออกเสียงเลือกตั้งที่หน่วยลงคะแนนใด ในช่วงสัปดาห์ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งทุกประเภทก็จะส่งเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครทุกคน โดยใส่รวมไว้ในซองเดียวกันไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคน พร้อมทั้ง “บัตรรายชื่อ” ผู้สมัครทั้ง 12 คน ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องเลือกเอาบัตรรายชื่อของผู้ที่ตนประสงค์จะเลือกไปหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง โดยในการออกเสียงเลือกตั้งนั้น ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องนำบัตรประจำตัวผู้เลือกตั้งหรือบัตรประชาชนไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย พร้อมลงลายมือชื่อ จากนั้นก็นำเอาบัตรรายชื่อผู้สมัครที่ตนต้องการเลือกไปหย่อนลงในหีบเลือกตั้งก็เป็นอันเสร็จพิธีการเลือกตั้งครับ
       มีข้อน่าสังเกตอยู่สองประการเกี่ยวกับการออกเสียงเลือกตั้งครับ ข้อสังเกตประการแรกคือ คนฝรั่งเศสสามารถ “ฝาก” ให้คนอื่นออกเสียงเลือกตั้งแทนตนได้ โดยผู้ที่ไม่สามารถไปออกเสียงเลือกตั้งในวันเลือกตั้งจะต้องไปทำเรื่องแจ้งที่สถานีตำรวจ (commissariat de police) ว่าตนไม่สามารถไปลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้งได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะให้กรอกแบบฟอร์มซึ่งมีทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของฝ่ายที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและผู้ที่บุคคลดังกล่าวจะมอบสิทธิให้ไปออกเสียงเลือกตั้งแทน เมื่อตำรวจรับแจ้งแล้วก็จะส่งสำเนาแบบฟอร์มดังกล่าวไปยังเทศบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งไปยังหน่วยเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวต่อไปครับ ผมถามเพื่อนชาวฝรั่งเศสซึ่งก็มอบสิทธิให้ผู้อื่นไปออกเสียงแทนตนว่า เชื่อได้อย่างไรว่าผู้นั้นจะเลือกคนที่ตนเองต้องการ เพราะ “ผู้รับฝาก” อาจใช้สิทธิที่ฝากไปเลือกคนที่ตนเองชอบแทนก็ได้ เพื่อนผมก็บอกว่าทุกอย่างอยู่ที่ความเชื่อถือในเกียรติของกันและกันครับ ! ส่วนข้อสังเกตประการที่สองคือ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้มีการนำเอาระบบการออกเสียงลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ด้วยใน 82 เมืองใหญ่ทางตะวันออก เช่น Brest, Lorient, Le Mans และ Saint Malo เป็นต้น การออกเสียงลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นทำโดยหีบบัตรลงคะแนนจะมีปุ่มกดอยู่ข้างบนหีบบัตร 12 ปุ่มตามเบอร์ผู้สมัคร ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเข้าไปในคูหาเลือกตั้งกดปุ่มที่มีเบอร์ของผู้สมัครที่ตนจะเลือกครับ การลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกซึ่งก็เกิดปัญหาอยู่บ้าง แต่คงไม่ไปไกลถึงขนาดทำให้การเลือกตั้ง “เสียเปล่า” เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบ้านเราครับ !
       สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งที่กฎหมายห้ามตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 20 เมษายนที่ผ่านมานั้น รวมไปถึงการชุมนุม ประชุม ติดประกาศ เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นด้วยครับ โดยกฎหมายห้ามไปจนถึงเวลา 20.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน ซึ่งเป็นเวลา “ปิดหีบ” การเลือกตั้งในทุกพื้นที่ครับ
       ในวันเลือกตั้ง ผม “บังเอิญ” ไปอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งที่ไม่ไกลจากเมือง Nantes เท่าไรนัก เกาะแห่งนี้เป็นเกาะเล็ก ๆ ขนาด 6 ตารางกิโลเมตรที่มีประชาชนอยู่อาศัยเพียง 800 คนเศษ และมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเพียง 613 คนครับ เกาะนี้มีคนไปเที่ยวจำนวนมากโดยเฉพาะหน้าร้อน เพราะมีความสวยงามทั้งที่เป็นธรรมชาติและบ้านเรือนต่าง ๆ บนเกาะ เกาะนี้มีชื่อว่า Ile aux Moines ซึ่งอยู่ในอ่าวขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Le Golf du Morbihan ครับ ผมไปถึงเกาะประมาณเที่ยง สิ่งแรกที่ผมทำก็คือรีบไปยังที่ทำการเทศบาล (mairie) ของเกาะเพื่อสังเกตการเลือกตั้ง ก็ออกจะผิดหวังครับเพราะเห็นคนไปใช้สิทธิไม่กี่คนครับ ตอนที่นั่งทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารใกล้กับที่ทำการเทศบาลก็ไม่ได้ยินการสนทนาเกี่ยวกับการเลือกตั้งเลย ทั้ง ๆ ที่มีคนอยู่รอบ ๆ ตัวผมมาก ผมกลับมาถึงที่พักตอนค่ำก็ดูโทรทัศน์ ซึ่งประมาณ 3 ทุ่มเศษ หลังปิดหีบบัตรเลือกตั้งไปเพียงชั่วโมงเดียว ชาวฝรั่งเศสก็ “คาดเดา” ได้แล้วว่า ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 2 คนที่จะต้องเข้าไป “ตัดเชือก” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคมจะเป็นใครครับ



ก่อนจะพูดถึงผู้สมัครสองคน ก็ต้องขอเล่าให้ฟังเล็กน้อยว่า จากการดูโทรทัศน์ทุกช่องตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของเย็นวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน อันเป็นเวลาที่กฎหมาย “คืน” สิทธิทางการเมืองให้กับประชาชนและผู้สมัครเลือกตั้งทุกคนนั้น สถานีโทรทัศน์ของรัฐทุกช่องก็มีรายการคล้าย ๆ กับที่บ้านเราทำกัน มีการเชิญนักการเมือง นักวิชาการมาออกรายการ มีการรายงานผลการเลือกตั้งแต่ละเทศบาลด้วยระบบตัววิ่งครับ บางช่องก็ไปถ่ายภาพบรรดา “กองเชียร์” ของผู้สมัครต่าง ๆ มานำเสนอ ก็ดูไม่ต่างจากบ้านเราเท่าไรนัก
       ผู้สมัคร 2 คนแรกที่ได้คะแนนสูงสุดก็เป็นไปตามคาดของผู้คนส่วนใหญ่ คนแรกคือ Nicolas Sarkozy และคนที่สองซึ่งเป็นผู้หญิงคือ Ségolène Royal ครับ
       สำหรับประวัติความเป็นมาของทั้ง 2 คนนั้น คนแรกเป็นนักการเมืองฝ่าย “ขวา” เกิดเมื่อปี ค.ศ.1955 ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นมาแล้วหลายตำแหน่ง เป็นรัฐมนตรีมาก็หลายกระทรวง ที่ “โด่งดัง” ก็สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี ค.ศ.2002 ครับ ส่วนคนหลังเป็นนักการเมืองจากค่าย “สังคมนิยม” เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1953 และก็เช่นเดียวกับคนแรก คือเป็นนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นมาแล้ว รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมด้วยครับ



ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจาก “ปิดหีบ” เลือกตั้ง ก็ทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2550 มีประชาชนชาวฝรั่งเศสไปใช้สิทธิเลือกตั้งเกือบ 37 ล้านคน เทียบเท่าได้กับร้อยละ 82 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ก็ยังทราบว่ามีผู้ไม่ประสงค์ออกเสียง คือ ไปปรากฏตัวที่หน่วยเลือกตั้งแต่ไม่ประสงค์ที่จะเลือกใครเลยร้อยละ 1.44 ส่วนที่เหลือก็คือไม่ไปออกเสียงเลือกตั้งครับ
       ในบรรดาผู้เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้ง 12 คนนั้น มีผู้ได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 10 อยู่ 4 คน คือ Nicolas Sarkozy ได้ร้อยละ 31.11 Ségolène Royal ได้ร้อยละ 25.83 François Bayrou ได้ร้อยละ 18.76 และ Jean-Marie Le Pen ได้ร้อยละ 10.69 จากจำนวนคะแนนเสียงดังกล่าว นอกจากจะทำให้ 2 คนแรกได้เข้าไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการออกเสียงเลือกตั้งครั้งที่สองในวันที่ 6 พฤษภาคมแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ ทั้ง 2 คนจะ “มีสิทธิ” ได้เสียงสนับสนุนจากผู้สมัครรายอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก 2 รายหลังหรือไม่ เพราะลำพังเสียงสนับสนุนของตนเองคงไม่เพียงพอที่จะทำให้คนใดคนหนึ่งได้คะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งเป็นแน่ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ผู้สมัครคนแรกเป็น “ฝ่ายขวา” ผู้สมัครที่สองเป็น “สังคมนิยม” ในคณะที่ผู้สมัครรายที่ 3 มีนโยบายเป็น “กลาง” ไม่ซ้ายหรือขวา ส่วนผู้สมัครรายสุดท้ายเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็น “ขวาตกขอบ” เพราะฉะนั้น คะแนนเสียงที่ “น่าสนใจ” ที่สุดคือ คะแนนเสียงของ François Bayrou ที่มีถึงเกือบร้อยละ 19 และเป็นคะแนนเสียงที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะ “เท” ให้กับผู้สมัครฝ่ายขวาหรือฝ่ายสังคมนิยม เพราะในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ François Bayrou ได้แสดงความเป็น “กลาง” ของตนอย่างชัดเจนโดยได้กล่าวปราศรัยกับผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนตนว่าสุดแล้วแต่ว่าจะสนับสนุนผู้ใด ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าก่อนถึงวันออกเสียงเลือกตั้งจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ครับ
       นี่แหละครับ การเมืองของฝรั่งเศสที่มีความ “ชัดเจน” ในเรื่องนโยบาย ประชาชนชาวฝรั่งเศสจะชี้ชะตาตนเองในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคมนี้ว่า จะยังคงเป็น “ขวา” ตามที่เป็นมาอยู่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หรือจะกลับไปเป็น “สังคมนิยม” ในรูปแบบเดิมที่เคยเป็นมาในอดีตครับ
       ผมขอจบการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสไว้เพียงแค่นี้ ผมนำข้อมูลทางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสกลับมาอย่างครบถ้วน ใครสนใจก็มาขอยืมไปดูได้นะครับ
       ตอนนี้ร่างรัฐธรรมนูญของไทยก็ปรากฎโฉมออกมาให้เห็นแล้ว ผมเองก็เพิ่งได้เห็นร่างเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่ก็ทราบอย่างไม่เป็นทางการมาระยะหนึ่งแล้วว่า ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องขอเวลาอ่านดูสักพักหนึ่งก่อนที่จะออกมาแสดความคิดเห็นครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกจากคุณชำนาญ จันทร์เรือง “คนเก่ง” ของเราที่ไม่ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เราก็ยังได้อ่านบทความจากคุณชำนาญฯ อย่างสม่ำเสมอ ในสัปดาห์นี้ คุณชำนาญฯ ส่งบทความเรื่อง “๑๙ ก.ย. ๔๙ : รัฐประหารครั้งสุดท้ายของไทย” มาร่วมกับเรา ส่วนบทความที่สอง เป็นบทความที่ผู้เขียนคือ คุณสมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล อดีตประธานหอการค้าไทย-สหรัฐอเมริกาส่งมาทาง webmaster@pub-law.net เรื่อง “ข้อเสนอ หลักในการรับรัฐธรรมนูญ ฉบับ สสร. 2 หัวข้อ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา” ผมก็ต้องขอขอบคุณผู้เขียนทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       ก่อนจบบทบรรณาธิการนี้ ขอแจ้งให้แฟนประจำทราบว่า ปีนี้เรายังมีการ “แจก” หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจาก www.pub-law.net เล่ม 6” อยู่เช่นเดิม ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์ โดยมีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดพิมพ์เช่นเดียวกับ 5 เล่มที่ผ่านมาครับ ผมขอขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า ณ ที่นี้เป็นเบื้องต้นก่อน หนังสือน่าจะพร้อมแจกได้ในเดือนมิถุนายนครับ ใครสนใจก็ต้องติดตามความคืบหน้าในบทบรรณาธิการนี้ต่อไปครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544