|
|
|
|
|
"การบรรยายเรื่องสาระสำคัญของกฎหมายปกครองฝรั่งเศส"
ช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมค่อนข้างยุ่งเป็นพิเศษเพราะมี Visiting professor จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส คือ ศาสตราจารย์ ดร. René HOSTIOU มาทำการบรรยายที่คณะและหน่วยงานอื่นๆอีกสองแห่งคือ สำนักงานศาลปกครอง และคณะกรรมการกฤษฎีกา
ศาสตราจารย์ ดร. René HOSTIOU กับผมรู้จักกันมาหลายปีแล้ว และนับได้ว่าเป็น เพื่อน ที่ดีต่อกัน แม้อายุจะต่างกันถึง 20 ปี เมื่อครั้งผมเขียนหนังสือเรื่องสัญญาทางปกครอง หลักพื้นฐานกฎหมายปกครองฝรั่งเศส และแม้กระทั่ง พจนานุกรมศัพท์กฎหมายมหาชนฝรั่งเศส-ไทย ที่ผมกำลังปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ก็ได้รับความช่วยเหลือทางด้านวิชาการเป็นอย่างดีจาก ศาสตราจารย์ HOSTIOU
ในการบรรยาย 3 ครั้งที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ผมได้ทำหน้าที่เป็น ผู้แปล เนื่องจากผู้บรรยายทำการบรรยายเป็นภาษาฝรั่งเศส ในการบรรยายครั้งหนึ่ง
ผู้บรรยายได้บรรยายถึงสาระสำคัญของกฎหมายปกครองฝรั่งเศสที่แยกออกเป็นสองเรื่องใหญ่ๆ คือ อำนาจรัฐและบริการสาธารณะ สำหรับนักกฎหมายมหาชนหรือคนที่เรียนกฎหมายมหาชนอยู่ก็คงไม่เห็นว่าเรื่องที่บรรยายเป็นเรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องแปลกอะไร ซึ่งผมเองก็คิดเช่นนั้นในตอนต้นเหมือนกันครับ แต่เมื่อฟังการบรรยายจนจบก็ต้องยอมรับว่าเกิด มุมมอง ใหม่ขึ้นอีกมุมมองหนึ่งที่ค่อนข้างจะ วิตก พอสมควรกับ สถานะของความเป็นรัฐ โดยหัวข้อในหัวข้อแรก เรื่องอำนาจของรัฐนั้น ผู้บรรยายได้เล่าให้ฟังว่าในอดีตรัฐมีอำนาจมากเหลือเกิน ทฤษฎีกฎหมาย
ปกครองต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับอำนาจรัฐที่มีอยู่เหนือเอกชน จะเห็นได้จากการออกกฎออกคำสั่งต่างๆ ของฝ่ายปกครองที่มีผลบังคับได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยอะไรทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบัน ผู้บรรยายได้ชี้ให้เห็นว่าอำนาจรัฐกำลังคลายความเด็ดขาดลง สังเกตได้จากแรงผลักดันของกระบวนการต่างๆ รวมทั้งพลังของประชาชนที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆของรัฐ จึงเกิดกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆเป็นจำนวนมากที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการของรัฐ เป็นการกำหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่รัฐจะดำเนินการบางอย่าง ดังเช่น การเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น หรืออาจเป็นในกรณีการออกคำสั่งของฝ่ายปกครองใดๆที่จะมีผลกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ ก็จะต้องเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นได้ชี้แจงหรือได้รับทราบข้อกล่าวหาก่อนที่จะมีคำสั่ง เป็นต้น ในประเด็นนี้เองที่ผู้บรรยายก็ได้ชี้ให้เห็นว่า อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐที่เคยมีมาแต่อดีตกำลังจะค่อยๆคลายความเด็ดขาดลง ดังนั้น นักกฎหมายมหาชนจึงจำเป็นต้องปรับวิธีคิดและปรับวิธีการทำงานของตนจากเดิมที่คิดถึงประโยชน์ของฝ่ายปกครอง มาเป็นการ คิดถึงประชาชน ให้มากขึ้น ส่วนในหัวข้อที่สอง เรื่องบริการสาธารณะ ผู้บรรยายได้ชี้ให้เห็นถึงอำนาจของรัฐที่มีมาแต่เดิมในการที่จะ ผูกขาด การจัดทำบริการสาธารณะแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีปัญหา เพราะภายใต้หลักเกณฑ์สำคัญแห่งสหภาพยุโรปที่ไม่ต้องการให้เกิดการ ผูกขาด และสนับสนุน การแข่งขันอย่างเสรี ดังนั้น บริการสาธารณะที่รัฐผูกขาดดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวมาเป็นเวลานานก็จะต้องถูก แปรรูป ไปเป็นของเอกชน และในที่สุดแล้ว บริการสาธารณะประเภทที่เป็นสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการก็คงจะกลายไปเป็นกิจการของเอกชน ส่วนรัฐก็คงต้องรับภาระในการจัดการปกครองประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ความเปลี่ยนแปลงทั้งสองกรณีที่ผู้บรรยายได้ชี้ให้เห็นทำให้เราพอคาดเดา หน้าตา และ ภารกิจ ของรัฐในวันข้างหน้าออกบ้างและหากคาดเดาไม่ผิด คงจะเกิดความวุ่นวายและความสับสนในหมู่ผู้ปกครองประเทศและในหมู่พลเมืองเป็นอย่างมากว่า ใครเป็นผู้มี อำนาจ ในการปกครองประเทศที่แท้จริงครับ !!!
ในสัปดาห์นี้เรามีการแนะนำหนังสือใหม่หนึ่งเล่มเกี่ยวกับ พรรคการเมืองที่สาม ที่ในวันนี้แม้จะมีการกล่าวอ้างกันว่า พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่เป็นพรรคทางเลือกที่สาม แต่ก็คงต้องไปดูกันอีกทีนะครับว่า สอดคล้อง กับข้อเสนอดั้งเดิมของนักวิชาการที่ต้องการให้มีพรรคทางเลือกที่สามหรือไม่ หนังสือเล่มนี้คงตอบคำถามนี้ได้ดีครับ ส่วนบทความในครั้งนี้ก็จะเป็นบทความเรื่อง คุณค่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับนัยของการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ ของ ดร.เชาวนะ ไตรมาศ แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมก็ต้องขอขอบคุณ ดร. เชาวนะฯ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 9 สิหาคม 2547 ครับ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|