หน้าที่แล้ว   หน้า 1 | หน้า 2 | หน้า 3

           ข. การป้องกันภยันตรายของราษฎรและรักษาความสงบในท้องที่
           มาตรา ๙๓
เวลามีการประชุมชนมากในที่ใด เช่น ในเวลามีการนักขัตฤกษ์ เป็นต้น กรมการอำเภอกับกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลนั้น ต้องจัดการรักษาความเรียบร้อยในที่ประชุมชน
           มาตรา ๙๔ กรมการอำเภอต้องคอยตรวจตราตักเตือนกำนันผู้ใหญ่บ้านให้มีเครื่องหมายสัญญาเรียกลูกบ้านช่วยกันดับไฟ หรือระงับเหตุภยันตรายอย่างอื่น หรือจับโจรผู้ร้ายทุกหมู่บ้าน
           มาตรา ๙๕ เมื่อกรมการอำเภอได้ปรึกษากำนันผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้นแล้ว เห็นว่าหมู่บ้านใดอยู่ในที่ซึ่งสมควรจะจัดการล้อมรั้วป้องกันโจรได้ให้กรมการอำเภอนำเสนอต่อผู้ว่าราชการเมือง เมื่อผู้ว่าราชการเมืองเห็นชอบด้วยแล้ว ก็ให้กรมการอำเภอชี้แจงและสั่งผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรในหมู่บ้านนั้นทำรั้วล้อมรอบหมู่บ้าน มีประตูเป็นทางเข้าออกกี่แห่งแล้วแต่ชาวบ้านนั้นจะเห็นสมควร เวลากลางคืนให้ผู้ใหญ่บ้านจัดราษฎรผลัดเปลี่ยนกันรักษาประตูป้องกันโจรผู้ร้ายให้ทั้งหมู่บ้าน
           มาตรา ๙๖ หมู่บ้านใดตั้งอยู่ใกล้ป่าพง อันเป็นเชื้อไฟเมื่อถึงฤดูพงแห้ง ให้กรมการอำเภอสั่งราษฎรในหมู่บ้านนั้น ให้ช่วยกันถางพงให้เตียนออกไปห่างบ้านเรือน ป้องกันอย่าให้เป็นอัคคีภัยแก่หมู่บ้านนั้น
           มาตรา ๙๗ เมื่อกำนันตำบลรายงานมาว่าเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในเหย้าเรือนแห่งใดที่ร้างหรือทรุดโทรม ไม่กระทำการตามคำสั่งให้จัดการซ่อมแซมรักษาเรือนนั้นให้ดีตามความที่กล่าวไว้ในมาตรา ๕๕ ให้กรมการอำเภอไต่สวนและบังคับตามควรแก่การ ถ้าไม่ทำตามบังคับ ให้กรมการอำเภอมีอำนาจรื้อเรือนนั้นได้ และเรียกเอาค่ารื้อแก่เจ้าของ
           มาตรา ๙๘ ราษฎรผู้ใดไปปลูกเรือนในที่เปลี่ยว อันน่ากลัวอันตรายด้วยโจรผู้ร้าย หรือน่ากลัวจะเป็นที่ซ่อนของโจรผู้ร้ายก็ดี เมื่อกรมการอำเภอได้ปรึกษากับกำนันในท้องที่นั้นเห็นด้วยแล้ว ก็ให้บังคับให้ผู้นั้นย้ายเข้ามาอยู่เสียในหมู่บ้าน
           มาตรา ๙๙ ในเวลาอัตคัดอาหาร ให้กรมการอำเภอประกาศตักเตือนราษฎรให้เก็บรักษาข้าวไว้ให้พอบริโภค
           มาตรา ๑๐๐ ถ้าแห่งใดข้าวไม่พอแก่ราษฎรในเวลาอัตคัดให้กรมการอำเภอรีบรายงานและกะประมาณจำนวนข้าวที่ขาด อันราษฎรจะไม่พึงขวนขวายหาเองได้ แจ้งต่อผู้ว่าราชการเมือง ถ้าและรัฐบาลจัดส่งข้าวหลวงมาแก้อัตคัดไซร้ เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะจัดการจำหน่ายข้าวตามวิธีที่สมควร คือ
           ข้อ ๑ ผู้ใดมีทุนพอซื้อ ให้ผู้นั้นซื้อได้เท่าราคาทุน
           ข้อ ๒ ผู้ใดทำนาไว้ยังไม่ได้ผล ให้ผู้นั้นยืมโดยสัญญาส่งข้าวเมื่อขายข้าวใหม่ได้เท่าราคาทุนที่รับข้าวไปในเวลานั้น หรือใช้ด้วยข้าวใหม่เมื่อทำได้คิดตามราคาข้าวใหม่ในเวลานั้นเท่าทุนที่รัฐบาลให้ยืมไป
           ข้อ ๓ ผู้ใดทำการเพาะปลูกหรือหาสินค้าป่า อันอาจจะหาสินค้ามาแลกข้าวได้ ก็ยอมรับสินค้าจากผู้นั้นแลกข้าว โดยคิดราคาตามสมควรและพอใจทั้งสองฝ่าย
           ข้อ ๔ ผู้ใดอาจจะทำการได้แต่ด้วยแรง ก็หางานอันประกอบด้วยสาธารณประโยชน์ เช่น ขุดสระน้ำ ทำถนน หรือซ่อมแซมสถานที่ทำราชการ เป็นต้น ให้ผู้นั้นรับจ้างทำ คิดข้าวให้ตามราคาทุนเป็นค่าจ้าง โดยอัตราสูงกว่าที่เขาจ้างกันทำการในที่นั้นหนึ่งในสี่ส่วน คือ ถ้าอัตราค่าจ้าง เขาจ้างกันโดยปกติวันละบาทหนึ่ง ให้ให้ข้าวเท่าราคาวันละหนึ่งบาทยี่สิบห้าสตางค์ เป็นต้น
           ข้อ ๕ ห้ามมิให้ๆข้าวแก่ผู้ที่ยังสามารถกระทำการแลกได้ด้วยประการใด ๆ แต่ผู้ซึ่งไม่สามารถกระทำการแลกได้จริง ๆ เช่น คนเจ็บไข้ ชรา ทุพลภาพหรือทารกนั้น ควรให้ได้รับข้าวของหลวงพอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตในเวลาอัตคัดนั้น
           ค. การที่เกี่ยวด้วยความแพ่งและความอาญา
           มาตรา ๑๐๑
หน้าที่และอำนาจของกรมการอำเภอในการที่เกี่ยวด้วยความอาญานั้น มีดังต่อไปนี้ คือ
           ข้อ ๑ บรรดาอำนาจซึ่งกฎหมายกำหนดไว้สำหรับผู้ใหญ่บ้านและกำนันนั้น ให้กรมการอำเภอใช้ได้ทุกอย่าง
           ข้อ ๒ ความอาญาเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอใด หรือตัวจำเลยมาอาศัยอยู่ในท้องที่อำเภอใด ให้กรมการอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งให้จับผู้ต้องหามาไต่สวนคดีเรื่องนั้นในชั้นต้น
           ข้อ ๓ ในการไต่สวนในชั้นต้นก็ดี หรือจัดการตามหมายอย่างใด ๆ หรือตามคำสั่งของศาล หรือคำสั่งในทางราชการอย่างใด ๆ ก็ดี ให้กรมการอำเภอมีอำนาจที่จะออกหมายเรียกตัวคนมาสาบานให้การเป็นพยาน หมายค้นบ้านเรือน หรือหมายยึดสิ่งของได้
           ข้อ ๔ ในการค้นบ้านเรือน หรือยึดสิ่งของนั้น ถ้านายอำเภอไปค้นหรือยึดเองไม่ต้องมีหมาย ถ้าจะแต่งให้ผู้แทนไปค้นหรือยึด ก็ให้นายอำเภอมีหมายสั่งเจ้าพนักงานผู้ถือหมายมีอำนาจที่จะค้นและยึดได้ตามหมาย
           ข้อ ๕ ตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งได้ตัวมาต่อหน้ากรมการอำเภอนั้นโดยปกตินายอำเภอควรยอมให้มีประกัน แต่ถ้านายอำเภอเห็นว่ามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะกล่าวในมาตรานี้ ก็ให้เอาตัวไว้ คือ
           (ก) เป็นคดีฉกรรจ์ที่ต้องด้วยโทษจำคุกตั้งแต่สิบปี ขึ้นไปอย่างหนึ่ง หรือ
           (ข) ถ้าผู้ต้องหาหลบหนีจะจับได้โดยยากอย่างหนึ่ง หรือ
           (ค) เห็นได้ว่าถ้าปล่อยผู้นั้นไปจะทำให้เกิดเหตุอันตรายอย่างหนึ่ง หรือ
           (ง) ถ้าปล่อยไปจะขัดข้อง หรือลำบากแก่การไต่สวนคดีในชั้นต้นอย่างหนึ่ง
           ข้อ ๖ การไต่สวนคดีในชั้นต้นนั้น ต้องลงมือภายในสี่สิบแปดชั่วโมงตั้งแต่เวลาที่จับผู้ต้องหา นายอำเภอต้องรีบจัดการโดยเร็วที่จะทำได้แล้วส่งตัวผู้ต้องหายังเมือง ให้ส่งต่อไปยังศาลซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีนั้นโดยวิธีที่กล่าวต่อไปนี้
           ถ้าเป็นตำบลที่มีศาลซึ่งมีอำนาจ และที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ด้วยกันให้ส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง ตั้งแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้ตกมาอยู่ในความควบคุมของกรมการอำเภอ
           ถ้าเป็นที่อื่น ให้ส่งตัวผู้ต้องหายังศาลโดยเร็วที่จะทำได้ และห้ามมิให้กักขังตัวไว้ที่ ๆ ว่าการอำเภอเกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมง โดยไม่มีเหตุจำเป็น
           ถ้าเมื่อส่งผู้ต้องหาไปยังศาล นายอำเภอทำการไต่สวนคดีในชั้นต้นยังไม่สำเร็จ ก็ให้เจ้าพนักงานเมืองร้องต่อศาลขอผัดให้มีเวลาไต่สวนต่อไปตามสมควร
           ข้อ ๗ ในการไต่สวนความอาญา ถ้านายอำเภอเห็นว่าไม่มีหลักฐานข้างฝ่ายโจทก์ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป ถ้าผู้ต้องหาต้องด้วยหมายสั่งจับของศาลอยู่แล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานเมืองร้องขอต่อศาลให้สั่งปล่อยตัวผู้ต้องหา
           มาตรา ๑๐๒ กรมการอำเภอต้องจัดพนักงานออกตรวจตระเวนรักษาความเรียบร้อย และคอยสืบจับโจรผู้ร้ายในท้องที่ของตน
           มาตรา ๑๐๓ เมื่อมีเหตุผู้คนถูกกระทำร้ายตายลงในท้องที่อำเภอใดก็ดี ฟกช้ำ หรือมีบาดแผลเจ็บป่วยสาหัสก็ดี ผู้ที่ถูกกระทำร้าย ฟกช้ำ หรือมีบาดแผลมาขอให้ชันสูตรก็ดี เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะตรวจชันสูตรพลิกศพตามพระราชบัญญัติ และจดคำให้การพร้อมด้วยพยาน และทำหนังสือชันสูตรไว้เป็นหลักฐาน
           มาตรา ๑๐๔ เมื่อเกิดเหตุเสียทรัพย์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เช่น ถูกโจรภัยเป็นต้น เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะทำคำตราสินตามคำขอร้องของเจ้าทรัพย์หรือเพื่อหลักฐานในราชการ
           มาตรา ๑๐๕ ความผิดอย่างใด ๆ อันต้องตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่น กำหนดเป็นลหุโทษก็ดี ความผิดล่วงละเมิดพระราชบัญญัติภาษีอากร อันเบี้ยปรับกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติไม่เกินสองร้อยบาทก็ดี เมื่อกรมการอำเภอไต่สวนเห็นว่าจำเลยมีพิรุธ ให้กรมการอำเภอมีอำนาจที่จะเปรียบเทียบให้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกันได้ก็ดี หรือกรมการอำเภอเห็นว่าโทษของจำเลยเกินกว่าปรับสองร้อยบาท หรือเป็นโทษทั้งปรับทั้งจำ หรือโทษปรับอย่างเดียวก็ดี ก็ให้ส่งคดีเรื่องนั้นไปยังเมือง
           มาตรา ๑๐๖ ถ้ามีผู้ขอร้องอายัดตัวคน หรือสิ่งของโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะรับอายัด และทำหนังสือหลักฐานในการอายัดนั้น
           มาตรา ๑๐๗ เงินกลาง หรือของกลางในคดีที่จะต้องรักษาไว้ในอำเภอนั้น หรือจะต้องนำส่งไปยังเมือง เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะจัดการรักษาและนำส่ง
           มาตรา ๑๐๘ นายอำเภอมีอำนาจฝ่ายตุลาการในทางความแพ่งดังต่อไปนี้ คือ
           (๑) ความแพ่งที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นในอำเภอนั้น หรือผู้ถูกร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอนั้น ถ้าผู้ร้องมาร้องขอต่อนายอำเภอ ให้เรียกผู้ถูกร้องมาไกล่เกลี่ยและเปรียบเทียบให้แล้วต่อกัน โดยไม่ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาล ก็ให้นายอำเภอมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ถูกร้องมาไกล่เกลี่ยและเปรียบเทียบได้
           (๒) ถ้านายอำเภอเปรียบเทียบแล้ว แต่คู่กรณีไม่ตกลงกัน ก็ให้ยกเลิกคดีเรื่องนั้น ให้คู่กรณีไปยื่นฟ้องต่อศาล
           (๓) ในการเปรียบเทียบความแพ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าคู่กรณีสัญญาจะยอมตกลงตามคำพยานหรือคำชี้ขาดของผู้ใด ให้นายอำเภอมีอำนาจออกหมายเรียกผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือชี้ขาดให้คดีเรื่องนั้นเป็นอันระงับไปได้
           (๔) ในการเปรียบเทียบความแพ่งนี้ ถ้าคู่กรณีตกลงยอมกันแล้วให้นายอำเภอจดข้อความที่ตกลงกัน และให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายกับนายอำเภอลงลายมือชื่อในใบยอมนั้น แล้วมอบให้ทั้งสองฝ่ายถือไว้ฝ่ายละฉบับ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามยอม ให้อีกฝ่ายหนึ่งนำใบยอมนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาตามยอมได้
           (๕) คดีที่นายอำเภอเปรียบเทียบคู่กรณียอมกันแล้ว ให้ถือว่าเหมือนคดีที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเป็นเด็ดขาด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเอาคดีนั้นกลับไปรื้อร้องฟ้องอีกไม่ได้
           (๖) ในการเปรียบเทียบความแพ่ง ให้เรียกค่าธรรมเนียมดังนี้ ค่าหมาย และค่าเขียนคำร้องรวมกันห้าบาท ค่าทำใบยอมสิบบาท ค่าธรรมเนียมนี้ควรเรียกเก็บจากฝ่ายที่ต้องรับผิด แต่ถ้าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอมจะช่วยกันเสียก็ให้เรียกเก็บตามยอม หากผู้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมยากจนไม่มีเงินจะเสียก็ให้นายอำเภอใช้ดุลพินิจที่จะงดเก็บค่าธรรมเนียมเช่นว่านั้นได้
           (มาตรา ๑๐๘ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๗)
           ง. การป้องกันโรคร้าย
           มาตรา ๑๐๙ กรมการอำเภอต้องคอยระวัง อย่าให้โรคร้ายแพร่หลายไปในประชุมชน ต้องคอยดูแลป้องกัน หรือเมื่อโรคเกิดขึ้นก็ต้องจัดการรักษาอย่าให้ติดต่อลุกลามมากไป
           มาตรา ๑๑๐ เพราะเหตุที่โสโครกเป็นแดนเกิดของโรคร้าย เช่น อหิวาตกโรค และกาฬโรค เป็นต้น กรมการอำเภอต้องคอยตรวจตราว่ากล่าวคนในท้องที่อย่าให้ทอดทิ้งหรือปล่อยให้เกิดความโสโครกอันจะเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชน
           มาตรา ๑๑๑ กรมการอำเภอต้องเอาเป็นธุระตรวจตราอุดหนุนให้แพทย์ประจำตำบลดูแลการรักษาพยาบาล คือ การปลูกทรพิษ และจำหน่ายยาหลวง เป็นต้น และให้ราษฎรได้รับความป้องกัน และรักษาโรคตามสมควรแก่การที่จะเป็นได้
           มาตรา ๑๑๒ ในเวลาเกิดโรคร้ายติดต่อขึ้นในอำเภอนั้น หรือในท้องที่อำเภออื่น ซึ่งอาจจะลุกลามมาถึงอำเภอนั้น ให้กรมการอำเภอประกาศตักเตือนแก่ราษฎรให้จัดการป้องกันและรักษาโรค ถ้าหากว่าจะควรจัดการป้องกันได้อย่างใดหรือว่าควรจะรีบร้องเรียนต่อผู้ใหญ่ขอกำลังอุดหนุนประการใด ก็ให้กรมการอำเภอจัดการตามสมควร
           มาตรา ๑๑๓ ถ้าเกิดโรคร้ายที่ติดต่อขึ้นในอำเภอใด ให้กรมการอำเภอนั้น รีบบอกข่าวโดยทางอย่างเร็วที่สุดที่จะบอกได้ให้ผู้ใหญ่เหนือตนทราบ แล้วให้รายงานเหตุความไข้นั้นต่อไปเนือง ๆ จนกว่าโรคจะสงบ
           จ. บำรุงการทำนาค้าขายป่าไม้และทางไปมาต่อกัน
           มาตรา ๑๑๔ กรมการอำเภอต้องตรวจให้รู้ทำเลที่ทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎรในอำเภอนั้น คือ ที่นา ที่สวน ที่จับสัตว์น้ำ เป็นต้น และต้องสอบสวนให้รู้ว่าที่เหล่านั้นอาศัยสายน้ำทางใด ควรทำบัญชีมีทะเบียนไว้ในที่ว่าการอำเภอ
           มาตรา ๑๑๕ การบำรุงผลประโยชน์ในการหาเลี้ยงชีพของราษฎรก็ดี การป้องกันภยันตรายมิให้เกิดแก่การหาเลี้ยงชีพของราษฎรก็ดี อันต้องการความพร้อมเพรียงช่วยกันในหมู่ราษฎร ยกตัวอย่างดังบางคราวจะต้องทำทำนบปิดน้ำ บางคราวต้องระบายน้ำสำหรับการเพาะปลูก การเหล่านี้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องเอาใจใส่คอยตรวจตราและปรึกษากำนันผู้ใหญ่บ้าน ถ้ามีการสมควรจะต้องทำเพื่อให้เจริญผลประโยชน์แก่ราษฎรก็ดี หรือเพื่อป้องกันความเสียหายแก่ผลประโยชน์นั้นก็ดี ให้กรมการอำเภอเรียกราษฎรช่วยกันทำการนั้น ๆ ให้สำเร็จทันฤดูกาล
           มาตรา ๑๑๖ การรักษาผลประโยชน์ในการหาเลี้ยงชีพของราษฎร เช่น การปิดน้ำ และระบายน้ำ เช่นกล่าวมาในมาตราก่อน เป็นต้น ตลอดจนอย่างอื่น ๆ ถ้าหากเกิดเกี่ยงแย่งกันในประโยชน์ที่จะพึงได้ ยกตัวอย่างดังเช่น ชาวนาต้องการให้ปิดน้ำ ชาวเรือต้องการให้เปิดน้ำให้เรือเดิน เป็นต้น ให้กรมการอำเภอเรียกกำนันประชุมปรึกษาหาวิธีที่จะรักษาประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือถ้าจะให้ได้ประโยชน์ไม่ได้ทั้งสองฝ่าย ก็ให้รักษาประโยชน์ใหญ่โดยยอมทิ้งประโยชน์น้อยด้วยความจำเป็น
           เมื่อเห็นด้วยกันโดยมากประการใด ก็ให้กรมการอำเภอจัดการตามนั้น
           มาตรา ๑๑๗ ห้วย คลอง และลำน้ำต่าง ๆ ย่อมเป็นของที่รัฐบาลปกปักรักษา เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องตรวจตราอย่าให้เสีย และอย่าให้ผู้ใดทำให้เสียสาธารณประโยชน์ ถ้าจะต้องซ่อมแซมตกแต่งให้กรมการอำเภอเรียกราษฎรช่วยกันทำอย่างกับปิดน้ำฉะนั้น
           มาตรา ๑๑๘ กรมการอำเภอมีหน้าที่จะต้องตรวจตรา และจัดการรักษาทางบก ทางน้ำ อันเป็นทางที่ราษฎรไปมาค้าขาย ให้ไปมาโดยสะดวกตามที่จะเป็นได้ทุกฤดูกาล การอันนี้ถ้าจะต้องทำการซ่อมแซม หรือแก้ไขความขัดข้อง ให้กรมการอำเภอเรียกราษฎรช่วยกันทำอย่างว่ามาแล้ว
           มาตรา ๑๑๙ กรมการอำเภอต้องตรวจตรารักษาป่าไม้ ซึ่งรัฐบาลหวงห้ามตามข้อบังคับการป่าไม้
           มาตรา ๑๒๐ ที่ว่างซึ่งรัฐบาลอนุญาตให้ราษฎรทำการเพาะปลูกนั้นเป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะต้องตรวจตราจัดการป้องกันการเกี่ยงแย่งระหว่างราษฎรที่ไปตั้งทำการเพาะปลูกก่อนได้รับโฉนด
           มาตรา ๑๒๑ ที่น้ำอันเป็นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะตรวจตรารักษาป้องกันมิให้พืชพันธุ์สัตว์น้ำสูญไป
           มาตรา ๑๒๒ ที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ คือ ที่เลี้ยงปศุสัตว์ที่จัดไว้สำหรับราษฎรไปรวมเลี้ยงด้วยกัน เป็นต้น ตลอดจนถนนหนทางและที่อย่างอื่นซึ่งเป็นของกลางให้ราษฎรใช้ได้ด้วยกัน เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตรารักษาอย่าให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว
           มาตรา ๑๒๓ ที่วัด หรือกุศลสถานอย่างอื่นซึ่งเป็นของกลางสำหรับมหาชน ก็ให้อยู่ในหน้าที่กรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตราอุดหนุนผู้ปกปักรักษาอย่าให้ผู้ใดรุกล้ำเบียดเบียนที่อันนั้น
           ฉ. บำรุงการศึกษา
           มาตรา ๑๒๔
กรมการอำเภอต้องปรึกษาด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้อุปการะการศึกษาในท้องที่ มีพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ช่วยกันแนะนำและจัดให้มีสถานที่เล่าเรียนให้พอแก่เด็กในอำเภอนั้น
           มาตรา ๑๒๕ กรมการอำเภอต้องตรวจตราปรึกษาด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้อุปการะการศึกษาในท้องที่ จัดบำรุงการสั่งสอนอย่าให้เสื่อมทราม
           มาตรา ๑๒๖ กรมการอำเภอต้องคอยชี้แจงตักเตือนแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดา มารดา และผู้ปกครองเด็กให้ส่งบุตรหลานไปเล่าเรียน
           ช. การเก็บภาษีอากร
           มาตรา ๑๒๗
บรรดาภาษีอากร ซึ่งมิได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับให้พนักงานอื่นเก็บแล้ว เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะจัดการเก็บในอำเภอนั้น
           มาตรา ๑๒๘ ในการเก็บภาษีอากร กรมการอำเภอต้องคอยตรวจตราเวลาเกิดอุปัทวเหตุ หรือเป็นเวลาราษฎรอัตคัดขัดสนเมื่อถึงกำหนดที่จะเก็บภาษีอากรนั้น ๆ ให้รู้และรายงานพร้อมทั้งความเห็นที่ควรจะจัดการผ่อนผันอย่างใดให้ผู้ว่าราชการเมืองทราบ
           มาตรา ๑๒๙ เงินหลวงที่เก็บภาษีอากรได้ก็ดี หรือที่ได้จากประเภทอื่นก็ดี ซึ่งจะต้องนำส่งพระคลัง เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะรักษาและนำส่งถึงพระคลัง
           ซ. หน้าที่เบ็ดเสร็จ
           มาตรา ๑๓๐
ในหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะจัดการทั้งปวงในอำเภอให้เรียบร้อยนั้น ถ้าหากว่ากรมการอำเภอเห็นวิธีการงานอย่างใดยังบกพร่อง ให้รายงานชี้แจงความเห็นต่อผู้ว่าราชการเมือง ขออนุญาตแก้ไขตามที่คิดเห็นว่าเป็นอย่างดี
           มาตรา ๑๓๑ กรมการอำเภอมีหน้าที่จะต้องช่วยราชการของอำเภออื่นที่ใกล้เคียง แม้ต่างเมืองกัน และในการที่ช่วยนี้ไม่จำจะต้องรอจนอำเภอนั้นขอให้ช่วย ถ้ารู้เหตุการณ์ซึ่งเห็นว่าตนควรจะช่วยเหลือจึงจะเป็นประโยชน์แก่ราชการ ต้องช่วยเหลือทีเดียว
           มาตรา ๑๓๒ หน้าที่ของกรมการอำเภอนอกจากที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่นี้ ยังต้องทำตามความซึ่งกำหนดไว้ในพระราชกำหนดกฎหมายอย่างอื่น ๆ อันกำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ แม้พระราชกำหนดกฎหมายใดมิได้ระบุไว้ในพระราชกำหนดกฎหมายนั้น ๆ ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ใด ก็ให้พึงเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้น ๆ

           ประกาศมา ณ วันที่ ๔ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นวันที่ ๑๓๓๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

           (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑ หน้า ๒๒๙ วันที่ ๑๗ กรกฏาคม ๒๔๕๗)

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๑๔ หน้า ๕๐๔ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๘๖)
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๙
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๘๓ หน้า ๘๑๖ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๙)
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๑ ฉบับพิเศษ หน้า ๔ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐)

หมายเหตุ
           เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายภายในเขตหมู่บ้าน เป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของผู้ใหญ่บ้าน แต่ในปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในด้านอื่น ๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่มีตามกฎหมายอย่างกว้างขวาง และผู้ใหญ่บ้านก็มีแต่เพียงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในกิจการต่าง ๆ ตามที่ผู้ใหญ่บ้านจะมอบหมายให้ ผู้ใหญ่บ้านยังไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายโดยตรง จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงเห็นสมควรกำหนดให้มี "ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ" ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายและเพื่อให้เห็นความแตกต่างกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปัจจุบัน จึงได้เปลี่ยนชื่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองโดยให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านร่วมกันพิจารณาคัดเลือกได้ไม่เกิน ๕ คน นอกจากนี้ กรรมการหมู่บ้านและกรรมการตำบลตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่เป็นการเหมาะสมและไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานซึ่งเพิ่มเติมขึ้นอย่างรวดเร็วของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรจะได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๖

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๑๐๗ หน้า ๑ วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๖)

หมายเหตุ
           เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๖๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดคุณสมบัติผู้ใหญ่บ้านให้มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาตอนต้นหรือที่กระทรวงศึกษาเทียบไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาตอนต้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแต่ปรากฏว่าบางหมู่บ้านซึ่งเป็นท้องที่กันดาร ชายแดนหรือเป็นท้องถิ่นที่มีชาวเขาอยู่อาศัย ราษฎรยังไม่อาจเลือกผู้ใหญ่บ้านที่มีพื้นความรู้ดังกล่าวได้ เป็นอุปสรรคแก่การเร่งรัดพัฒนา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเว้นหรือลดหย่อนพื้นความรู้ของผู้ใหญ่บ้านในบางท้องที่ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๕

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๒๑ ฉบับพิเศษ หน้า ๗ วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕)

หมายเหตุ
           เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
           ๑. เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ เพราะตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันไม่ต้องรับผิดชอบด้านการปราบปรามอาชญากรรม ทั้งอาจจะแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้ชายได้อยู่แล้ว
           ๒. เพื่อให้ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเท่านั้น เป็นผู้ใหญ่บ้านได้
           ๓. เพื่อกำหนดมิให้ข้าราชการการเมือง เป็นผู้ใหญ่บ้านให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๗

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๑๒ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗)

หมายเหตุ
           เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ได้กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการเปรียบเทียบความแพ่ง ค่าธรรมเนียมหมายเรียกและคำร้องรวมกัน และค่าธรรมเนียมทำใบยอมไว้ในอัตราที่ยังไม่เหมาะสมกับค่าของเงินตราและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์และอัตราค่าธรรมเนียมเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๓๒

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๑๔ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๒)

หมายเหตุ
           เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านไว้ว่าต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ทำให้ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งถ้าอุปสมบทหรือบรรพชา เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิอุปสมบทหรือบรรพชาได้ เช่นเดียวกับข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สมควรกำหนดให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิลาอุปสมบท หรือบรรพชาได้เป็นเวลาติดต่อกันไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๕

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๔๒ หน้า ๙๐ วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๕)

หมายเหตุ
           เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไว้ว่า ต้องมีอายุตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนานที่สุด ถึงสามสิบห้าปี ประกอบกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ยังไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรกำหนดระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านเป็นวาระ คราวละห้าปีและกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๗๐ ก หน้า ๑ วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๒)

หมายเหตุ

            เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่แทนราษฎรควรมีหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๕ บัญญัติให้ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว สมควรแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญด้วย และโดยที่การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ว่าที่ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนการออกจากตำแหน่งของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิยังบัญญัติไว้ไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งเมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับตำแหน่งใหม่สามารถคัดเลือกตัวบุคคลมาร่วมปฏิบัติงานในท้องที่ในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ตามความต้องการแก่การบริหารและการปกครองท้องที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

หน้าที่แล้ว   หน้า 1 | หน้า 2 | หน้า 3