|
|
การควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ : ข้อเสนอสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย คุณ สโรช สันตะพันธ์ 15 ตุลาคม 2549 23:10 น.
|
ในรัฐเสรีประชาธิปไตยที่เคารพหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย องค์กรต่าง ๆ ของรัฐจึงถูกจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะของอำนาจที่องค์กรนั้นมีและใช้คือ องค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหารและองค์กรตุลาการ แต่ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ใช้บังคับคือ สถานะขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจใดในอำนาจอธิปไตย อยู่ใน ฝ่าย ใดของสถาบันหลักทั้งสาม และปัญหาว่าการใช้อำนาจขององค์กรดังกล่าวจะสามารถถูกควบคุมตรวจสอบได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่ง ณ จุดนี้ ผู้เขียนขอจำแนก องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. องค์กรตามรัฐธรรมนูญประเภทศาล ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรมและศาลทหาร
2. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจในตัวเองซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.)
3. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ไม่มีอำนาจในตัวเอง ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำหรับคำว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญในบทความนี้ จะหมายความถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญประเภทที่มีอำนาจในตัวเองเท่านั้นเพราะอาจใช้อำนาจนั้นกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ ซึ่งเป็นปัญหาว่าการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้จะสามารถถูกควบคุมตรวจสอบได้หรือไม่ และโดยองค์กรใด
ดังได้กล่าวแล้วว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ สร้าง ระบบ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นโดย สร้าง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ ใช้อำนาจ ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และได้เกิดปัญหาตามมา (โดยมิได้เป็นความตั้งใจของผู้ใด) เพราะรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดถึง ระบบ การควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนว่ามีอยู่หรือไม่ อย่างไร และ องค์กร ที่มีเขตอำนาจในการควบคุมตรวจสอบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวถ้าหากมี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิด อุบัติเหตุทางรัฐธรรมนูญ ขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิก ผู้เขียนจึงเริ่มมองถึง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้น จะมีแนวทางหรือมาตรการอย่างไรที่จะควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
1. การกระทำ ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อาจถูกทบทวนตรวจสอบได้หรือไม่ อย่างไร
ทฤษฎีเกี่ยวกับการตรวจสอบการกระทำหรือการใช้อำนาจของรัฐ
1.1 หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย (la séparation des pouviors)1 ซึ่งอธิบายอย่างสั้น ๆ ได้ว่า ในรัฐ รัฐหนึ่งจะมีการแบ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่การแบ่งแยกนั้นมิได้ปราศจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยด้วยกัน กล่าวคือ แต่ละองค์กรย่อมถูกตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and balance) ได้โดยองค์กรอื่นเสมอนั่นเอง
1.2 หลักนิติรัฐ (Letat de droit) หมายความว่า รัฐอยู่ภายใต้กฎหมาย การกระทำของรัฐต้องเคารพและเป็นไปตามกฎหมาย (ซึ่งผ่านความเห็นชอบของผู้แทนปวงชน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำที่เป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ และการกระทำนั้นต้องเป็นไปตามวิธีการ รูปแบบ และวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเกิดหลักการที่เรียกว่า ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของรัฐ (le principe de légalité หรือ juridicité) ขึ้น
และหากรัฐกระทำการใดโดยฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้วก็จะต้องมีกลไกและกระบวนการที่จะให้มีองค์กรของรัฐเข้าไปควบคุมหรือตรวจสอบการกระทำนั้นได้ ที่เรียกว่า การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของรัฐ (le contrôle de légalité) ซึ่งในทุกระบบกฎหมายทั่วโลกก็มอบหน้าที่ในการควบคุมนี้ให้แก่องค์กรตุลาการหรือศาล ซึ่งอาจจะเป็นศาลยุติธรรม อย่างในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ กับศาลปกครองอย่างในฝรั่งเศส เยอรมันก็ได้ และกำหนดให้มีองค์กรควบคุมความชอบด้วยกฎหมายนี้เองที่ทำให้หลักนิติรัฐมีประสิทธิผลบังคับได้จริง มิใช่หลักการบนกระดาษเท่านั้น
ด้วยหลักการดังกล่าวนี้เอง จึงอธิบายได้ว่า การกระทำขององค์กรของรัฐทุกองค์กร สามารถถูกควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยองค์กรตุลาการได้ทั้งสิ้น
2. ในกรณีที่การกระทำขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถถูกทบทวนตรวจสอบได้ กรณีจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด
การจะตอบคำถามดังกล่าวเราต้องพิจารณาถึงลักษณะ สถานะขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตลอดจนลักษณะของการใช้อำนาจและรูปแบบของการกระทำขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว
2.1 ลักษณะและสถานะขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
หากเราจะพิจารณาที่มาทางประวัติศาสตร์ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็จะพบ ร่องรอย ของการจัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะ คล้าย กับองค์กรเหล่านี้มาแล้ว หากแต่ ชื่อ สถานะ องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่อาจแตกต่างจากที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เช่น
- ก.ก.ต. มีอำนาจบริหารจัดการเลือกตั้ง ซึ่งหน่วยงานเดิมที่มีหน้าที่นี้คือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นส่วนราชการ เป็นองค์กรฝ่ายบริหาร
- ป.ป.ช. เดิมก็คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เป็นฝ่ายบริหาร
- ค.ต.ง. เดิมก็คือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) ซึ่งเป็นส่วนราชการ ก็เป็นฝ่ายบริหารเช่นกัน
ดังนั้น หากดูภาพความเป็นมาจากอดีตถึงปัจจุบันก็พอจะเห็นภาพว่าสถานะหรือลักษณะองค์กรประเภทนี้ก็คือองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารนั่นเอง เพราะมีหน้าที่ในการบังคับใช้ (enforcement) กฎหมายมิใช่หน้าที่ออกกฎหมายหรือวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท หากแต่การที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 สถาปนาองค์กรเหล่านี้ขึ้น โดยบอกว่าเป็น องค์กรอิสระ นั้นก็หมายถึงความเป็นอิสระจาก ฝ่ายการเมือง หรือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนั่นเอง เพราะที่ผ่านมา ผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ตรวจสอบ ส่งผลให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่มีประสิทธิผล จึงต้องแยกองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้พ้นจากการบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล แต่โดยสภาพขององค์กรแล้วยังคงต้องจัดอยู่ในฝ่ายบริหาร
2.2 ลักษณะของการใช้อำนาจและรูปแบบของการกระทำ2
แม้องค์กรประเภทนี้จะมีลักษณะของการใช้อำนาจและรูปแบบของการกระทำที่หลากหลาย เช่น
- การออกกฎเกณฑ์หรือระเบียบ อันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ เช่น ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน สอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2542
- การใช้อำนาจในเชิงบริหารทั่วไป ได้แก่ งานด้านธุรการ
- การสั่งการหรือวินิจฉัยที่มีผลทางกฎหมายกระทบต่อสิทธิของปัจเจกบุคคล เช่น การสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การชี้มูลความผิดว่าจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
แต่ลักษณะขององค์กรที่มีการใช้อำนาจเช่นนี้ก็พบเห็นได้ทั่วไปในองค์กรของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะมีทั้งอำนาจออกกฎเกณฑ์ อำนาจในเชิงบริหารทั่วไป อำนาจสั่งการ และอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท เช่น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รูปแบบการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองทั้งสิ้น เพราะมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายไปกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของปัจเจกบุคคล ทั้งในรูปของกฎหรือคำสั่ง จึงต้องถือว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญกลุ่มนี้เป็นองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารประเภทหนึ่งซึ่งใช้อำนาจบริหาร (Executive Power) แต่มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของฝ่ายการเมืองคือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
ดังนั้น ณ จุดนี้จึงสรุปได้ว่า การที่รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์สร้างองค์กรเหล่านี้เป็น องค์กรอิสระ นั้นน่าจะหมายความว่า เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง คือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร และ ไม่เป็นอิสระหรือหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำ โดยองค์กรตุลาการ
2.3 การตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญโดยศาล
ปัญหาว่าศาลใดจะมีเขตอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
การจะพิจารณาเขตอำนาจศาลต้องเริ่มพิจารณาจากศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะและจำกัด แล้วจึงพิจารณาศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป
1) ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บัญญัติกรณีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ 16 กรณีแบ่งได้เป็น 6 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- เขตอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งก่อนและหลังประกาศใช้
- เขตอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
- เขตอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในกิจการต่าง ๆ ของพรรคการเมือง
- เขตอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินงานภายในวงงานของรัฐสภา
- เขตอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยสถานภาพความเป็นรัฐมนตรี สมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา และคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- เขตอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
แต่มีเพียง 2 กลุ่มซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
(1) เขตอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งก่อนและหลังประกาศใช้ จะเห็นได้ว่าคำว่า บทบัญญัติ แห่งกฎหมายที่จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 198, 262 และ 264 นั้นต้องเป็นกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ในขณะที่ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ออกโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญย่อมไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ หากแต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง (ดู พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 11 (2)) 3
(2) เขตอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาในด้าน ความสัมพันธ์ ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ ขัดแย้ง กันในเรื่อง อำนาจหน้าที่ มิใช่เขตอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญได้4
จากการพิจารณาเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้วพบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญได้ จึงต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองซึ่งมีเขตอำนาจในการพิจารณา คดีปกครอง เป็นการทั่วไปเป็นลำดับถัดไป
2) ศาลปกครอง
เขตอำนาจของศาลปกครองเคยถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 276 และได้ เปิดช่อง ในการกำหนดเขตอำนาจศาลปกครองให้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้โดยกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังถ้อยคำท้ายมาตรา 276 ที่ว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
คดีปกครองจึงหมายถึง บรรดาข้อพิพาททั้งหลายระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชน หรือหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง โดยพิพาทกันในเรื่องเกี่ยวกับกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย การละเลยต่อหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น และสัญญาทางปกครอง5 (มาตรา 3 และมาตรา 9 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542)
จากที่ผู้เขียนได้อธิบายถึงสถานะ รูปแบบการกระทำและลักษณะการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญข้างต้นแล้วจึงสรุปได้ว่า
(1) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีสถานะเป็น หน่วยงานทางปกครอง ตามนิยามของ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 6 ซึ่งมีความหมายครอบคลุม หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และครอบคลุมถึงคณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่งหรือมีมติใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลด้วย
(2) ลักษณะการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็น งานทางบริหาร และรูปแบบของการกระทำอันหลายหลายซึ่งมีทั้งการออกกฎ คำสั่ง คำวินิจฉัยชี้ขาด ก็เป็น การใช้อำนาจทางปกครอง ที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล
(3) ศาลที่มีเขตอำนาจในการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำหรือการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อันได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.) คือ ศาลปกครอง7
3. ข้อเสนอสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวข้างต้นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้จัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่มิได้กำหนดถึงการควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านั้นไว้อย่างชัดเจนว่าองค์กรใดจะเป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านั้น จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว
หากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 จะกำหนดให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้อีกในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ผู้เขียนจึงขอเสนอให้มีการบัญญัติถึงเขตอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ความเห็นและข้อเสนอของผู้เขียนจะถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ก็ขอให้ ครู ทางกฎหมายมหาชนทั้งหลายได้โปรดชี้แนะผู้เขียนซึ่งยังเป็น น้องใหม่ ในวงการกฎหมายมหาชนด้วยเถิด.
เชิงอรรถ
1.ผู้สนใจรายละเอียดโปรดดู สมภพ โหตระกิตย์, คำสอนชั้นปริญญาตรี กฎหมายรัฐธรรมนูญ (ภาค 2) (พระนคร: น่ำเซียการพิมพ์, 2512), หน้า 50 60, วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ, 2530), หน้า 226 244, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 1 วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่าง ๆ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), หน้า 69 71, มนตรี รูปสุวรรณ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2545), หน้า 131 138, เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน ว่าด้วยรัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2548), หน้า 167 194 และ บรรเจิด สิงคะเนติ. การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. เผยแพร่ใน www.pub-law.net ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2544 11 พฤศจิกายน 2544
2.รายละเอียดโปรดดู หนังสือชี้แจงของประธานศาลปกครองสูงสุดถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 84/2544 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ใน สวัสดิการสำนักงานศาลปกครอง, ข้อเท็จจริงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองต้องอยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับของรัฐบาลหรือไม่: กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กรุงเทพฯ : สวัสดิการสำนักงานศาลปกครอง, 2547) ,หน้า 121 - 122 และคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี (นายบุญอนันต์ วรรณพาณิชย์) เรื่องคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องในคดีที่ผู้อุทธรณ์เป็นผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการกระทำของคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งที่ 30 กรุงเทพมหานคร และประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (คดีหมายเลขดำที่ 1609/2544 หมายเลขแดงที่ 47/2544) วันที่ 12 กันยายน 2544 หน้า 51 58
3.ดู บรรเจิด สิงคะเนติ, บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้ง เรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง, เผยแพร่ใน www.pub-law.net แบ่งเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม 10 มิถุนายน 2544 ตอนที่ 2 ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน 24 มิถุนายน 2544
4.ดู สุรพล นิติไกรพจน์ และคนอื่น ๆ, ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิบัติพันธกิจตามรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2546), หน้า 195 216
5.อำพน เจริญชีวินทร์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครอง (กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2545), หน้า 1
6.หน่วยงานทางปกครอง หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง
7.อย่างไรก็ตาม ดูความเห็นต่างใน
(1) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ที่มาของกฎหมายมหาชนและหลักความชอบด้วยกฎหมาย, ใน คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง (กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2547), หน้า 70 71 ซึ่งเห็นว่า ก.ก.ต. ไม่ใช่ ฝ่ายปกครอง และ คำบรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง ของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในการบรรยายครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 หน้า 357 360 ซึ่งเห็นว่า กรณีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
(2) บรรเจิด สิงคะเนติ, ปัญหาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, วารสารวิชาการศาลปกครอง 1 : 3 (กันยายน 2544) : 1 49 และคำพิพากษาวิเคราะห์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2546 (เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3)), วารสารนิติศาสตร์ 34 : 1 (มีนาคม 2547) : 132 155 ซึ่งเห็นว่า การตรวจสอบการกระทำขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอาจเป็นคดีรัฐธรรมนูญหรือคดีปกครอง ต้องพิจารณาโดย ทฤษฎีที่มาแห่งอำนาจ เป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยก โดยพิจารณาว่าถ้ากรณีใดที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะก็เป็น การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ากรณีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ก็อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
บรรณานุกรม
หนังสือ
เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์. หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน ว่าด้วยรัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2548
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. กฎหมายมหาชน เล่ม 1 วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ 8 . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548
มนตรี รูปสุวรรณ. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2545
วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ, 2530
สมภพ โหตระกิตย์. คำสอนชั้นปริญญาตรี กฎหมายรัฐธรรมนูญ (ภาค 2). พระนคร: น่ำเซียการพิมพ์, 2512
สุรพล นิติไกรพจน์ และคนอื่น ๆ. ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิบัติพันธกิจตามรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2546
สวัสดิการสำนักงานศาลปกครอง. ข้อเท็จจริงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองต้องอยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับ
ของรัฐบาลหรือไม่: กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง. กรุงเทพฯ : สวัสดิการสำนักงานศาลปกครอง, 2547
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา. คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง. กรุงเทพฯ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2547
อำพน เจริญชีวินทร์. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2545
บทความ
บรรเจิด สิงคะเนติ. การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. เผยแพร่ใน www.pub-law.net ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2544 11 พฤศจิกายน 2544
______________. คำพิพากษาวิเคราะห์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2546 (เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3)). วารสารนิติศาสตร์ 34 : 1 (มีนาคม 2547) : 132 155
______________. บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้ง เรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง. เผยแพร่ใน www.pub-law.net แบ่งเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม 10 มิถุนายน 2544 ตอนที่ 2 ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน 24 มิถุนายน 2544
______________. ปัญหาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ. วารสารวิชาการศาลปกครอง 1 : 3 (กันยายน 2544) : 1 49
เอกสารอื่น ๆ
คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี (นายบุญอนันต์ วรรณพาณิชย์) เรื่องคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องในคดีที่ผู้อุทธรณ์เป็นผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการกระทำของคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งที่ 30 กรุงเทพมหานคร และประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (คดีหมายเลขดำที่ 1609/2544 หมายเลขแดงที่ 47/2544) วันที่ 12 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2544
หนังสือชี้แจงของประธานศาลปกครองสูงสุดถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 84/2544 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=987
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 01:15 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|