ครั้งที่ 144

1 ตุลาคม 2549 21:40 น.

       ครั้งที่ 144
       สำหรับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2549
       
       “อาลัยรัฐธรรมนูญ 2540”
       
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ถูกยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ที่ว่าดีที่สุดก็ด้วยสองเหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรกเป็นเหตุผลทางด้านรูปแบบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยผู้แทนจากทุกจังหวัดของประเทศและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ในขณะที่ทำการร่างรัฐธรรมนูญก็มีการให้ข่าวสารแก่ประชาชนตลอดเวลาและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อบทบัญญัติต่าง ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ในด้านรูปแบบจึงถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำ “มากที่สุด” ในประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญของไทย จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมี “ชื่อเล่น” ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ส่วนเหตุผลที่สองเป็นเหตุผลทางด้านเนื้อหา เพราะนอกจากกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจำนวนมากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ก็ได้วางกลไกในเรื่องการรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพจำนวน 40 มาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้สร้างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพที่ดีมาก ๆ ให้กับประชาชน และนอกจากนี้แล้วรัฐธรรมนูญก็ยังประกอบด้วยบทบัญญัติต่าง ๆ ที่มีผลเป็นการเพิ่มบทบาทของประชาชนในด้านการเมืองเอาไว้อีกหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมไปถึงการออกเสียงประชามติในกิจกรรมสำคัญของประเทศด้วย ด้วยเนื้อหาเหล่านี้เองที่ทำให้ประชาชนเรียกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ครับ
       เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ได้ถึงแก่กาลอวสานลงอย่าง “เฉียบพลัน” โดยไม่ทันตั้งตัว แม้ในมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะได้บัญญัติถึงกลไกในการป้องกันการปฏิวัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” ก็ตาม แต่ก็ไม่มีผู้ใดอ้างบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ การจบสิ้นของรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าวจึงเป็นการจบสิ้นที่ถ้าเทียบกับคนก็คงตายเพราะหัวใจวายหรือตายด้วยอุบัติเหตุนั่นเองครับ ในฐานะนักกฎหมายมหาชนคนหนึ่ง เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศและได้ออกประกาศฉบับที่ 5 ให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน มีส่วนร่วมในทางการเมืองและเสนอแนวคิดในการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ ผมก็เลยต้องใช้เวทีนี้เป็นที่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอาไว้ด้วยครับ
       คงต้องเริ่มจากการทำรัฐประหารเมื่อคืนวันอังคารที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมาก่อน จนถึงวันนี้เราคงพอมองเห็นภาพได้ชัดเจนแล้วว่า รัฐประหารครั้งนี้เป็นการกระทำเพื่อ “ขับไล่” ตัวบุคคลให้ออกจากตำแหน่งและเป็นการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มีฐานกำลังประชาชนสนับสนุนมากที่สุดนับแต่เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ภายหลังการรัฐประหาร แทนที่ฐานกำลังประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเดิมจะลุกขึ้นมามีปฏิกิริยาโดยนำบทบัญญัติในมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้ การก็กลับไปในทางตรงข้าม เหตุการณ์ต่าง ๆ กลับดำเนินไปอย่างราบเรียบและสงบ แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีการคัดค้านการทำรัฐประหารครั้งนี้เลยก็ว่าได้ครับ เหตุผลก็คงเป็นอย่างที่เราทราบกันดีนะครับว่า อย่างน้อย การทำรัฐประหารครั้งนี้ก็ทำให้เราพบทางออกให้กับปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา
       แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ก็ตาม แต่ภายหลังความสับสนและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมานาน ทุกฝ่ายพยายามหาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศแต่ก็ไม่มีผู้ใดพบทางออก ในที่สุดทางออกก็ถูกค้นพบโดยการทำรัฐประหารที่ทำให้ระบอบทักษิณและปัญหาทั้งหลายจบลง (และยังมีท่าว่าจะถูกถอนรากถอนโคนให้หมดสิ้นด้วย) ผมคงต้องขอกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ผมเห็นด้วยในผลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารครั้งนี้เพราะทำให้ปัญหาทั้งหลายจบลง แต่ผมไม่เห็นด้วยในเหตุก็คือการทำรัฐประหาร เพราะเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการปฏิวัติรัฐประหารนั้นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย การทำรัฐประหารเป็นการใช้ “กำลัง” เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการกระทำที่ “ตรงข้าม” กับการดำเนินการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยครับ ผมเห็นด้วยที่จะให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปตามระบบมากกว่าที่จะทำการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาอันส่งผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องสะดุดหยุดลงครับ!! ผมต้องขอแสดงความเห็นส่วนตัว “คัดค้าน” การทำรัฐประหารไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       ภายหลังการทำรัฐประหารจนกระทั่งถึงวันเขียนบทบรรณาธิการนี้ จะเห็นได้ว่ายังคงมีทหารอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มีรถติดอาวุธจอดอยู่ในหลาย ๆ จุดที่สำคัญไม่เว้นแม้แต่ย่านนักเรียนอย่างสยามแสควร์ ท่ามกลางความชื่นชมของประชาชนที่ไปถ่ายรูปกับทั้งทหารและรถของทหารอย่างสนุกสนานนั้น เราคงต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งแล้วก็ยังมีความ “กังวล” อยู่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะแม้ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรีผู้สูญเสียอำนาจจะ “ยอมรับ” กับการรัฐประหารครั้งนี้ซึ่งทำให้เรื่องจบลงอย่างสันติแต่เราก็ยังเห็นทหารติดอาวุธอยู่เต็มเมือง ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ ยังมีการห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ยังมีการห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเคลื่อนไหว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรยากาศไม่น่าไว้วางใจเท่าไรนักในสายตาประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งตัวผมเองด้วยครับ
       ผลต่อมาของการรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป จริงอยู่ที่แม้ประชาชนในประเทศจะไม่คัดค้าน แต่เสียงที่มาจากภายนอกประเทศก็เป็นสิ่งที่เราต้องรับฟังด้วยเช่นกันเพราะเราไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวครับ ก็คงต้องย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่าการรัฐประหารนั้นแม้ผู้คนส่วนหนึ่งคิดว่าเป็น “ยารักษาโรค” ได้ แต่ก็ไม่ควรถือเป็นแบบอย่างและไม่ควรใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาของประเทศในวันข้างหน้าได้เพราะไม่ใช่วิถีทางที่ “ถูกต้อง” ครับ ประชาชนเองก็ต้องเร่งสร้าง “ความเข้าใจที่ถูกต้อง” ในระบอบประชาธิปไตย “ที่ถูกต้อง” ให้กับตนเองด้วยเช่นกัน คงต้องแยกแยะให้ออกว่าพึงพอใจกับ “การรัฐประหาร” หรือ “ผลของการทำรัฐประหารนี้ทำให้ปัญหาใหญ่ของประเทศจบลง” ครับ!!


       ผมยังมีความสงสัยอยู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ “ความรู้” เกี่ยวกับประชาธิปไตยของเราครับ! ผมไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจคำว่า “ประชาธิปไตย” กันดีแค่ไหน เพราะหลาย ๆ อย่างที่เราแสดงออกและหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นถึง “มาตรฐาน” ของความรู้ความเข้าใจในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของเราว่ายังอยู่ห่างไกลจากผู้คนในส่วนต่าง ๆ ในโลกนี้ ทั้ง ๆ ที่วันนี้ เราอยู่ในโลกที่เรียกกันได้ว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ในความหมายตะวันตกกันเกือบทั้งโลก จริงอยู่ แม้ประเทศไทยเราจะเป็นประชาธิปไตยมาไม่ถึง 100 ปีก็ตาม แต่เราก็มีความพยายามที่จะให้การ “ศึกษา” กับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เมื่อแรกเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 นั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าประชาชนคนไทยยังไม่มี “การศึกษา” มาก ก็วางกลไกเอาไว้สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยผู้แทนราษฎรที่ได้รับแต่งตั้ง ช่วงที่สอง ภายใน 6 เดือนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้มีผู้แทนราษฎร 2 ประเภท คือ แต่งตั้งและเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน ช่วงที่ 3 เมื่อราษฎรทั่วประเทศสอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ ก็ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกวางขั้นตอนต่าง ๆ เอาไว้เช่นนี้ก็เพราะต้องการให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างเพียงพอก่อนที่จะจัดให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ แต่อย่างไรก็ตาม 40 ปีเศษผ่านไป เราก็กลับมาเริ่มกระบวนการในการให้ “การศึกษา” ประชาธิปไตยกับประชาชนอีก โดยภายหลังการปฏิวัติในปี พ.ศ.2519 นั้น คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศสำเร็จและต่อมาก็ได้จัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2519) ขึ้น อารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้วางกลไกในการพัฒนาประชาธิปไตยไว้ว่าว่า จำเป็นที่จะต้องกอบกู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหมาะสม โดยจัดให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ รวม 3 ระยะ ระยะละ 4 ปี คือ ในระยะสี่ปีแรกเป็นระยะฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในระยะนี้สมควรให้ราษฏรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินโดยทางสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะเดียวกันก็จะเร่งเร้าให้ประชาชนเกิดความสนใจและตระหนักในหน้าที่ของตน ในระยะสี่ปีที่สอง สมควรเป็นระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น โดยจัดให้มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ทั้งสองสภานี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่าเทียมกัน ในระยะสี่ปีที่สาม สมควรขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้น และลดอำนาจของวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้ ต่อจากนั้นไปถ้าราษฎรตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อชาติบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีแล้ว ก็อาจยกเลิกวุฒิสภาให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร ไม่น่าเชื่อนะครับว่าในเวลาอีก 30 ปีหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2519 ได้วางกลไกในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ประเทศไทยก็ยังคงตกอยู่ในวังวนปัญหาของ “ระบอบประชาธิปไตย” และประชาชนก็ยังคงไม่เข้าใจ “ประชาธิปไตย” อย่างต่อเนื่องจนเกิดการรัฐประหารเมื่อไม่กี่วันมานี้เองครับ!
       กลับมาพูดถึงรัฐธรรมนูญ “ผู้ล่วงลับ” ของเรากันดีกว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ได้กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง วันดังกล่าวถือเป็นวัน “มรณะ” ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ใช้กันมาเกือบ 9 ปีครับ ซึ่งในเรื่องของรัฐธรรมนูญนี้เองที่ผมอยากแสดงความเห็นอย่างชัดแจ้งว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการ “ฆ่า” รัฐธรรมนูญด้วยการทำรัฐประหารเพราะผมมองดูแล้วไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 จะ “ไม่ดี” ถึงขนาดที่จะต้องยกเลิกทั้งฉบับครับ! ผมได้เคยเสนอความคิดเห็นของผมในเรื่องเกี่ยวกับการ “ปฏิรูปการเมือง” ไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 132 สำหรับวันจันทร์ที่ 12 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2549 ว่า หากจะโทษกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 สร้างปัญหาวิกฤติให้กับประเทศชาติ คงต้องพิสูจน์ข้อหาดังกล่าวก่อนด้วยการทำการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดและเป็นระบบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 นั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือเป็นปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ เพราะเท่าที่ผมมองดูนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 น่าจะมีปัญหาอยู่ไม่กี่ประการ ประการแรกก็คือ กระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งปัญหานี้เราก็ทราบดีว่าไม่ใช่เป็นเพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพราะเราเกิดไปมีพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้กว่า 80% ก็เลยทำให้ระบบการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถดำเนินการได้ ปัญหาประการที่สองก็คือ วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบ “แปลก ๆ” ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะมี “ข้อผิดพลาด” ของการออกแบบ จึงทำให้เราได้สมาชิกวุฒิสภาที่มีความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบกับพรรคการเมือง อันส่งผลทำให้เกิดปัญหาประการที่สามตามมาก็คือ วุฒิสภาซึ่งมีหน้าที่ “เลือก” บุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งขององค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ก็เลยพลอยทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยองค์กรเหล่านั้นเป็นไปได้อย่างไม่ดีเท่าที่ควรเพราะมี “คน” ที่ “ไม่เป็นกลาง” เข้าไปอยู่ในองค์กรตรวจสอบ ข้อผิดพลาดสำคัญ ๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่อง “ร้ายแรง” ก็คงมีอยู่แค่นี้ครับ ด้วยข้อผิดพลาดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาสามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างเต็มที่และไม่มีขอบเขต โดยไม่หวั่นเกรงการตรวจสอบทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อันนำไปสู่ปัญหาวิกฤติของประเทศในเวลาต่อมาครับ
       คำถามที่ต้องถามก็คือ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 (รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน!!!) ครับ คำถามนี้คงไม่มีคำตอบเพราะขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่ถ้าเรามาดูประกาศคณะปฏิรูปการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับต่อ ๆ มาที่ออกมาภายหลังการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ไปแล้วก็จะพบว่า มีการ “นำ” เอาบทบัญญัติต่าง ๆ ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกลับมา “ใช้งาน” อีกจำนวนหนึ่ง เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงการ “รับรอง” หน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่นซึ่งมีส่วน “เชื่อมโยง” กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาดูกฎหมายและหน่วยงานที่คณะปฏิรูปฯ ให้การรับรองแล้วนั้น คงต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วจะยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ไปทำไมครับ เพื่อให้รัฐธรรมนูญคงอยู่ต่อและเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ คณะปฏิรูปฯ “น่าจะ” ใช้วิธีเดียวกับกรณีที่คณะปฏิรูปฯ “ยุบ” ศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ประกาศให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดสิ้นสุดลง จากนั้นก็แต่งตั้งผู้ที่เป็นกลางและมีคุณสมบัติดีเลิศเข้าไปเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กรดังเช่นที่คณะปฏิรูปฯได้แต่งตั้งบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปแล้ว เมื่อเรามีองค์กรทุกองค์กรที่เป็นกลางและไว้ใจได้ ต่อไปก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ผมคิดว่าหากดำเนินการเช่นนี้ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครับ! หรือว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็เพียงเพื่อไม่ให้การทำรัฐประหารเป็นการกระทำที่ “ขัด” ต่อมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็น่าเสียดายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่อุตส่าห์ใช้กันมาได้ตั้งนานต้องมาเลิกไปก็ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญเลยครับ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ก็ผ่านจุดดังกล่าวไปแล้ว และความเห็นดังกล่าวก็เป็นความเห็นของผมเพียงคนเดียวซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้ ผมก็คงต้องขอฝากประเด็นดังกล่าวไว้เท่านี้จะเหมาะสมกว่าครับ
       ในวันนี้ เราคงเข้ามาสู่ “ยุค” ของการปฏิรูปการเมืองกันอีกครั้งหนึ่ง บรรยากาศจะเป็นอย่างไร จะ “คึกคัก” เหมือนตอนที่ สสร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี พ.ศ.2540 หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไป เพื่อเป็นการ “สอดรับ” กับบรรยากาศ ในสัปดาห์นี้เรามีบทความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่ 3 บทความด้วยกัน โดยในเรื่องแรกที่จะนำเสนอนั้น ไม่ใช่บทความแต่เป็นเอกสารเรื่อง“New Paradigm – กระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2549 – 2550)” ของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ในวันนี้มีคนพูดถึงกันมาก เอกสารชุดนี้เป็นเอกสารที่ใช้ประกอบการบรรยายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2549 ที่ผ่านมานี้เองครับ แม้เอกสารชุดนี้จะมีความยาวมาก ๆ แต่เราก็นำมาลงไว้ทั้งหมดครับ บทความที่สองเป็นของ คุณวันชัย เยี่ยมสมถะ แห่งสำนักกฎหมาย Baker&McKenzie ซึ่งได้ส่งบทความภาษาอังกฤษเรื่อง“The Recent Coup in Thailand and its Legal Consequences” มาร่วมกับเรา ส่วนบทความที่สาม คุณชำนาญ จันทร์เรือง ได้ส่งบทความเรื่อง “ปฏิวัติ รัฐประหารหรือกบฏ” มาร่วมเผยแพร่กับเราด้วย ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 3 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       จริง ๆ แล้ว ผมมีบทความที่อ่านแล้วชอบมาก ๆ อยู่บทความหนึ่ง คือ บทความที่มีชื่อว่า “บทความที่ไม่มีชื่อ” ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ได้ลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนไปเมื่อไม่กี่วันมานี้เองครับ อยากให้ได้อ่านกันก็เลยทำ link มาไว้ด้วย ใครสนใจก็ลองเข้าไปอ่านดูได้นะครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2549 ครับ
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=985
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 16:36 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)